Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
รายการ สุรนันท์ วันนี้ บทสัมภาษณ์ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร  

วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2552
เล่นหุ้นอย่างไรในภาวะวิกฤต

รายการ สุรนันทน์วันนี้ ออกอากาศเมื่อวันที่ 26 ต.ค. โดยมี ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ผู้เชี่ยวชาญด้าน Value Investment และเจ้าของผลงานหนังสือเกี่ยวกับหุ้นหลายเล่ม และเล่มล่าสุดคือ “เล่นหุ้นในภาวะวิกฤต” มาร่วมสนทนาถึงการลงทุนในตลาดหุ้น

สุรนันทน์ : ในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มีเทคนิคมากมายที่จะแยกแยะวิธีการลงทุน แล้วก็จังหวะในการลงทุน วันนี้ผมอยู่กับ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ผู้เชี่ยวชาญด้าน Value Investment ซึ่งเป็นการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ อาจารย์มองสถานการณ์ทั้งในตลาดหลักทรัพย์โลก และในตลาดหลักทรัพย์ไทย บรรยากาศการลงทุนมันเริ่มฟื้นจากวิกฤตเศรษฐกิจหรือยังครับ

ดร.นิเวศน์ : ผมคิดว่าฟื้น เพราะจริงๆปีนี้ขึ้นมา 60% แล้ว ถือว่าฟื้นแล้วทั้งในไทยและในต่างประเทศ ต่างประเทศต้องถือว่าฟื้นจริงๆเพราะทั่วโลกขึ้นมาพอๆกันหมด ทุกคนเชื่อว่าเศรษฐกิจตอนนี้ถึงไม่ฟื้นมันก็ไม่ลงแล้ว มันถึงก้นเหวไปแล้ว เข้าใจว่ามันจะฟื้นขึ้น แต่จะพื้นช้าพื้นเร็วเท่านั้นเอง

สุรนันทน์ : เราเกี่ยวกับโลกเยอะ เพราะฉะนั้นเราจะฟื้นเร็วแค่ไหน

ดร.นิเวศน์ : ดูเหมือนว่าจะฟื้นค่อนข้างเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าทั่วโลกโหมกำลังเข้ามา มันก็เลยมีแรงผลักดันที่แรงมาก แต่ที่หุ้นมันขึ้นๆลงๆเพราะความไม่แน่ใจ ซึ่งก็ยังมีอยู่ ก็เลยทำให้ช่วงนี้บางวันขึ้นแรงบางวันตกแรง ตลาดหุ้นไทยตอนนี้จริงๆอิงกับโลกเกือบทั้งหมด

สุรนันทน์ : จริงๆเราดูตลาดดาวน์โจนส์ หรือเราดูจีน หรือเราดูอะไร

ดร.นิเวศน์ : จีนอย่างไรก็เป็นตลาดปิดอยู่ เราจะติดกับฮ่องกงเยอะแล้วก็ดาวน์โจนส์โดยเฉพาะฮ่องกง ประเทศจีนตอนนี้เขาไม่มีปัญหาเลย เศรษฐกิจเติบโตแน่นอน ดาวน์โจนส์อาจจะมีอะไรนิดหน่อย

สุรนันทน์ : ปัจจัยเสี่ยงของเราคืออะไร

ดร.นิเวศน์ : ปัจจัยเสี่ยงของเราตอนนี้มันก็มีในประเทศด้วย ตอนหลังบ้านเรารู้สึกว่ามันวุ่นวายมาก ในสายตาต่างประเทศเขารู้สึกว่าเราจักการอะไรไม่ค่อยได้ เขางงๆว่ามันหาหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนไม่ค่อยได้

สุรนันทน์ : เอาที่อยากจะเป็นก่อน ถ้ามองจากมุมมองของนักลงทุนต่างประเทศ วันนี้เขาอยากจะเห็นอะไร

ดร.นิเวศน์ : เขาก็อยากจะเห็นว่าทุกอย่างมันมีกติกาชัดเจน แล้วก็มีระบบที่เขามั่นใจว่าวันที่เขาตัดสินใจทุกอย่างมันดีขึ้น ไม่ใช่ว่าถึงเวลาเข้ามาแล้วมันเปลี่ยนกระทันหัน

สุรนันทน์ : นักลงทุนฝรั่งกับตลาดหุ้นไทยคนเขาจะมองว่ามันไม่สำคัญหรอก หรือมันสำคัญมาก

ดร.นิเวศน์ : จริงๆเวลานี้โลกของตลาดทุนมันถึงกันทั่วโลก ก็คือเงินมันเวียนทั่วโลก แล้วเราจะเห็นทิศทางชัดเจนว่า เอเชียในช่วงหลังเงินเขาเข้าตลอดทุกประเทศที่เปิดเงินฝรั่งเข้าตลอด แล้วเศรษฐกิจบ้านเราติดต่อกับต่างชาติมากกว่า GDP บ้านเราเสียอีก เพราะฉะนั้นเราจะบอกว่าอย่าไปยุ่งกับฝรั่งมันไม่ได้

สุรนันทน์ : แต่มันก็มี 2 ส่วน ส่วนแรกคือฝรั่งที่มาลงทุนจริงๆเราก็อยากได้ แต่พวกที่เคยมาสร้างปัญหาพวกเฮดจ์ฟันด์ พวกนี้เรามองอย่างไร

ดร.นิเวศน์ : พูดตามตรงว่าเดี๋ยวนี้แยกยาก ที่มาลงทุนบ้านเราก็ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า เฮดจ์ฟันด์ เยอะเดี๋ยวนี้ เพราะเหตุว่า ตลาดบ้านเราเล็กเกินไป สองบ้านเราในสายตาฝรั่งถ้าเป็นหุ้นเก็งกำไร พื้นฐานเราไม่แน่น ถ้าเป็นกองทุนที่เป็นระยะยาวจริงเขาไม่มา เขายังไม่อยากมาเพราะมันขึ้นๆลงๆ

สุรนันทน์ : แต่ในขณะเดียวันเราก็มีบริษัทที่มั่นคง อย่างปตท. อย่างซีเมนต์ไทย  หรือแบงก์ต่างๆฝรั่งเขาไม่สนใจหรือ

ดร.นิเวศน์ : คือมันไปโดนความเสี่ยงระดับประเทศคลุมอีกชั้นหนึ่ง เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่ที่เข้ามารอบหลังเป็นเฮดจ์ฟันด์ กองทุนใหญ่จริงๆเขาบอกว่ายังมีปัญหาเยอะ ถึงตอนนี้บ้านเราก็ยังไม่สงบดีในสายตาของเขา

สุรนันทน์ : เฮดจ์ฟันด์ มันอันตรายเหมือนเมื่อก่อนหรือเปล่า

ดร.นิเวศน์ : แน่นอนเพราะเฮดจ์ฟันด์ เข้าเร็วออกเร็ว ถ้าเกิดมีอะไรขึ้นมาเขาพร้อมจะไปได้ตลอด

สุรนันทน์ : ถ้ามองจากมุมมองของนักลงทุนไทย  นักลงทุนไทยควรจะดูปัจจัยอะไร ของโลก

ดร.นิเวศน์ : ก็ต้องติดตามตลอดโดยเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจ เรื่องของราคาน้ำมัน เรื่องของเงินเฟ้อ สามเรื่องนี้เป็นประเด็นที่จะต้องจับตา เงินเฟ้อก็เรื่องใหญ่เพราะว่าหลังจากเกิดวิกฤตแล้วดอกเบี้ยมันตกต่ำ จากนี้ถ้าดอกเบี้ยมันขึ้นเรื่อยๆ แล้วมีประเทศต่างๆตามกันขึ้นก็ต้องระวัง เพราะอัตราดอกเบี้ยกับดัชนีหุ้นมันมักจะไม่ค่อยสัมพันธ์กัน

สุรนันทน์ : เพราะฉะนั้นนักลงทุนไทยก็ต้องดูข่าวต่างประเทศด้วย ดูสภาพเศษฐกิจของประเทศใหญ่ๆ

ดร.นิเวศน์ : ยุโรป ญี่ปุ่น ก็ต้องดูหมด แต่ส่วนใหญ่มันก็เป็นแพ็คๆอยู่แล้ว เงินเฟ้ออเมริกาเขาน่ากลัวมากคือเขาปั๊มเงินออกมาเยอะ แล้วอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างจะอิงกับเงินเฟ้อ รวมไปถึงราคาน้ำมันตอนนี้มันก็ขึ้นมาเยอะ

สุรนันทน์ : ปัจจัยต่างประเทศถ้าผมเป็นนักลงทุนไทย ผมดูแล้วผมต้องคิดอะไรกับการลงทุน

ดร.นิเวศน์ : ตรงนี้ถ้ามันไม่เลยมากไปก็ยังพอรับได้ นอกจากน้ำมันขึ้นไปเป็น 140 หรือดอกเบี้ยพุ่งพรวดๆ แต่ถ้ามันขยับทีละนิดทีละหน่อยก็ยังพอไปได้ แต่ถ้ามันพรวดพราดก็อาจจะขายบางส่วนเป็นการลดน้ำหนักหุ้นลงก็ได้ ส่วนปัจจัยในประเทศก็ต้องดูเรื่องต่างๆที่มันเกิดขึ้น เรื่องการเมือง เรื่องดอกเบี้ยบ้านเราตอนนี้ก็ไม่ค่อยมีปัญหา เวลาผมตัดสินใจซื้อผมก็จะดูว่า ถ้าตราบใดมันยังอยู่ในมาตรฐานที่ยังพอรับได้เเราก็โอเคไป แต่ถ้าเกิดว่ามันเริ่มฉีกแนวไปเมื่อไหร่เราอาจจะต้องคิดเหมือนกัน ทุกอย่างเป็นเรื่องที่เราต้องตามไปเรื่อยๆดูว่าควบคุมได้หรือเปล่า

สุรนันทน์ : ตลาดหลักทรัพย์ไทยวันนี้ ความอ่อนไหวต่างๆมันมีมากน้อยแค่ไหน

ดร.นิเวศน์ : บ้านเราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าการเก็งกำไรเยอะมาก นักลงทุนจริงๆมีน้อย เพราะฉะนั้นแรงซื้อแรงขายทุกวันนี้เกิดจากการเก็งกำไรมโหฬาร แล้วก็เกิดจากส่วนบุคคลเยอะไม่ได้เกิดจากสถาบันการเงินหรือกองทุนต่างๆ ตลาดต่างประเทศเขาเป็นกองทุนทั้งนั้น เป็นผู้ที่รอบรู้ เรียนมาศึกษามานานแล้วก็มีเงินเยอะ แล้วก็ไม่ใช่เงินตัวเอง เขาก็มีกฎเกณฑ์ในการควบคุมอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นจะมีความสม่ำเสมอกว่าเราเยอะ ของเราการขึ้นลงขึ้นอยู่กับรายใหญ่ๆที่ทุ่มเข้าไป รวมๆกันแล้วก็เป็นหมื่นล้าน แล้วพวกนี้ก็เข้าแรงออกเร็ว ระบบบ้านเราต้องยอมรับว่ารายย่อยไม่เสียเปรียบเท่าไหร่ ถ้าเมืองนอกคุณเป็นรายย่อเสียเปรียบมาก เรื่องภาษีก็ไม่ได้ประโยชน์ ของเรารายย่อยได้เปรียบเพราะว่าซื้อขายหุ้นไม่เสียภาษี แล้วค่าคอมมิชชั่นของเขาถ้าเป็นรายย่อยก็ต้องแพง มันมีกฎหมายว่าถ้าถือระยะยาวแล้วคุณสามารถลดภาษีได้ คนเขาก็จะพัฒนาไปเรื่อยๆ มันต้องใช้เวลาเป็นสิบปีกว่าจะเปลี่ยนจากคนธรรมดามาเป็นสถาบัน

สุรนันทน์ : ถ้าจะเป็นนักลงทุนควรจะลงทุนในกองทุน หรือควรจะเล่นเอง

ดร.นิเวศน์ : ก็แล้วแต่ถ้าเรามีความรู้ในภาพใหญ่ๆ เพราะรู้ว่าถ้าลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นผลตอบแทนมันดีกว่าการฝากเงิน แต่ถ้าเลือกหุ้นไม่เป็นประสบการณ์น้อยก็ลงทุนในกองทุน แต่ถ้าศึกษาลึกซึ้งขึ้นมาหน่อย แล้วชอบตั้งใจ แล้วก็อยากจะรวยก็มาลงทุนในหุ้นเป็นตัวๆ แต่ก็ต้องศึกษาเยอะหน่อย

สุรนันทน์ : ถ้าเกิดผมเป็นนักลงทุนรายใหม่ เลือกเล่นเป็นตัวๆพื้นฐานมันต้องดูอะไร

ดร.นิเวศน์ : ก็ต้องดูตัวธุรกิจ อย่าไปดูดัชนีหุ้นราคาหุ้นมากเกินไป ต้องไปดูตัวธุรกิจเรียนรู้ว่าบริษัทเขาทำอะไร ขายอะไร ขายดีหรือเปล่า กำไรหรือเปล่า คู่แข่งเป็นอย่างไร นี่คือการศึกษาที่ตัวกิจการจริงๆ นี่คือการลงทุนที่เรียกว่า Value ถ้าไปลงทุนแบบเกาะกระดานขึ้นซื้อๆขายๆ อย่างนี้ผมคิดว่ามันเป็นการเก็งกำไร อย่างนี้อันตรายมาก ต้องศึกษาธุรกิจเพราะว่าหุ้นจริงๆแล้วมันคือธุรกิจ เราเข้าไปซื้อหุ้นเราเป็นเจ้าของธุรกิจ

สุรนันทน์ : แล้วอาจารย์ศึกษาจากไหน

ดร.นิเวศน์ : เริ่มต้นผมศึกษาจากหนังสือต่างประเทศ ก็มีเยอะแยะเรื่องของ Value Investment

สุรนันทน์ : อย่างหนังสือของอาจารย์บอกว่า “เล่นหุ้นในภาวะวิกฤต” อาจารย์จะบอกใช่ไหมว่าต้องทำอะไรบ้าง

ดร.นิเวศน์ : จริงๆผมเขียนมาเยอะ เล่มแรกที่เขียนขึ้นมาก็คือ “ตีแตก” เล่มนี้พื้นฐานดีเป็นการปูพื้นฐานให้ ส่วน “เล่นหุ้นในภาวะวิกฤต” เป็นการเขียนในสถานการณ์ ทุกปีผมจะมีหนังสือออกมาเล่มหนึ่ง โดยเฉลี่ยคือรวมรวมบทความ 52 บทความ ปีที่แล้วเป็นปีวิกฤต ผมก็เลยเขียนเรื่องเกี่ยวกับพวกนี้เยอะ

สุรนันทน์ : เล่มแรกคือตีแตก ตีอะไรบ้าง

ดร.นิเวศน์ : คือเวลาเราลงทุนทอะไรต่างๆเราต้องคิดว่าโอกาสชนะเราสูง โอกาสแพ้เราน้อย ถ้ายิ่งโอกาสชนะเราสูงมาก ตีแตกคือคุณต้องกล้าลงทุน

สุรนันทน์ : คือเทเท่าที่ตัวองรู้ว่าจะเทได้

ดร.นิเวศน์ : ใช่ การลงทุนไม่มี 100% อย่าไปลงจนหมดตัว แต่โดยหลักการก็คือถ้าเรารู้ว่าอันนี้ได้เปรียบมาก บริษัทนี้โอกาสที่จะกำไรมหาศาลเดี๋ยวหุ้นมันก็จะขึ้น เราก็เทใส่ไปเยอะหน่อย แล้วก็ถือหลายๆตัว

สุรนันทน์ : แล้วเวลาจะเข้าออกควรจะทำอย่างไร

ดร.นิเวศน์ : จริงๆแล้วนานๆควรจะเข้าออก ไม่ใช่เข้าออกทุกวันหรือทุกๆเดือน ตีแตกหมายความว่าเราเห็นธุรกิจดีมาก ราคาก็ถูกมากแล้วเราคิดว่าอีกสามสี่ปีจะรวย หรือแม้กระทั่งอีกเดือนสองเดือนราคาหุ้นวิ่งก็ใส่เข้าไป เวลาผมลงทุนผมไม่ได้คิดว่าใส่เข้าไปวันนี้แล้วพรุ่งนี้ได้ ผมมองไป 3 ปี 5 ปี แต่เชื่อไหมครับว่าถ้ากิจการมันดีจริงเดี๋ยวราคาหุ้นมันก็ขึ้นไป แล้วมันไม่ได้ขึ้นแค่วันสองวันมันขึ้นเป็นปีๆ มันจะค่อยๆขึ้นไปเรื่อย ไม่ต้องไปห่วงมันมาก พูดง่ายๆว่าความเจริญความเสื่อมของเราอยู่ที่ความเจริญความเสื่อมของตัว กิจการ

สุรนันทน์ : แต่ในภาวะวิกฤตพอมันวูบลงมาจะขายเมื่อไหร่

ดร.นิเวศน์ : ภาวะวิกฤตสำหรับท่านที่ไม่ค่อยมีหุ้นเป็นโอกาสดีมาก เพราะราคามันลงมามาก หลายกิจการราคาลงมาเยอะจริงแต่ว่ากิจการไม่ได้ลงด้วย ยังขายได้กำไร จ่ายปันผลดี ถ้าอย่างนั้นกลายเป็นโอกาสแล้ว เราก็ไปซื้อไว้ พอหลังจากนั้นเมื่อวิกฤตมันผ่านไป แล้วกิจการพวกนี้ในขณะวิกฤตยังอยู่ได้ ถ้าไม่วิกฤตมันก็จะขึ้นไป เพราะฉะนั้นเราก็ไปซื้อหุ้นตอนราคาลงแล้วเรามั่นใจว่าเขากำไรดีตลอด ถ้าราคาหุ้นมันต่ำซื้อไว้ก็กำไร แล้วถ้ามันขึ้นมาเยอะๆจะขายก็ไม่ว่ากัน บางคนไม่ขายก็ถือต่อไป นี่คือศิลปะว่าจะขายเมื่อไหร่ ก็ไปอ่านในหนังสือได้ จริงๆแล้วในโลกสมัยใหม่เขาบอกเลยว่าต้องกระจายความเสี่ยง ลงทุนหลายๆอย่าง แล้วหุ้นก็เป็นอย่างหนึ่งที่ต้องลงเพราะว่ามันมีความเสี่ยงในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้วผลตอบแทนดี ประมาณ 10% ต่อปี ถ้าเรากล้าถือไป 3 ปี 5 ปี ในขณะที่ซื้อพันธบัตรตอนนี้ไม่เกิน 5% เงินฝากออมทรัพย์เปอร์เซ็นเดียว

สุรนันทน์ : สมมติชีวิตผมมีเงินอยู่ก้อนหนึ่ง หรือมีรายได้อยู่ก้อนหนึ่งมันควรจะเป็นเท่าไรของการลงทุน

ดร.นิเวศน์ : มีสูตรแบบง่ายๆก็คือเอา 80 ตั้ง ลบด้วยอายุของเรา ถ้าเราอายุ 50 ปี  80-50 เหลือ 30 ก็ซื้อหุ้น 30% จะเป็นกองทุนก็ได้เป็นอะไรก็ได้ แล้วก็กันเอาไว้อีก 20% เป็นเงินฝาก ที่เหลือก็เป็นพันธบัตร หรือกองทุนที่เขาลงทุนในพันธบัตร

http://www.posttoday.com/suranan.php?id=73821

จากคุณ : คนจนที่อยากรวย
เขียนเมื่อ : 17 ธ.ค. 52 21:12:50




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com