Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ฐานเศรษฐกิจ : ศาสตราจารย์สติกลิตซ์ ต้องการบอกอะไรกับสังคมไทย  

หากลงซ้ำ ขออภัยครับ
ฐานเศรษฐกิจ

ศาสตราจารย์สติกลิตซ์ ต้องการบอกอะไรกับสังคมไทย

เมื่อ วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้รับฟังคำบรรยายของศาสตราจารย์โจเซฟ สติกลิตซ์ (Joseph E. Stiglitz) เกี่ยวกับปัญหาการนำผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP (Gross Domestic Products) และ GDP ต่อประชากร มาใช้ในการวัดระดับการพัฒนาประเทศ จึงได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ จากนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของโลกท่านนี้ จึงอยากนำความคิดของท่านมาเล่าสู่กันฟัง

ถ้าผู้อ่านอยู่ในแวดวง เศรษฐศาสตร์คงเคยได้ยินชื่อนักเศรษฐศาสตร์ท่านนี้กัน บ้าง แต่บางท่านอาจจะไม่คุ้นเคยกับชื่อนี้ ผมจึงขอแนะนำอย่างคร่าวๆ ศาสตราจารย์สติกลิตซ์ ได้รับปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเส็ตส์ (Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT) ผ่านงานสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกหลายแห่ง เคยเป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และรองประธานอาวุโสของธนาคารโลก (World Bank) และได้รับรางวัลโนเบล (Nobel Prize) สาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2544 ศาสตราจารย์สติกลิตซ์มีผลงานทางวิชาการมากมาย รวมทั้งได้นำเสนอแนวความคิดใหม่ๆ ที่มีอิทธิพลต่อแนวทางของวิชาเศรษฐศาสตร์ในหลายด้านด้วยกัน

การ บรรยายของศาสตราจารย์สติกลิตซ์ครอบคลุมหลายประเด็นสำคัญ แต่ผมขอเขียนเฉพาะเรื่องที่ท่านเน้นในวันนั้นคือ การใช้ตัวเลข GDP และ GDP ต่อประชากร เป็นดัชนีชี้วัดระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการใช้ตัวเลข GDP ต่อประชากร หรือผลผลิตต่อประชากร ในการเปรียบเทียบระดับการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่างๆนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะอันที่จริง GDP เป็นการวัดระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจเท่านั้น การใช้ตัวชี้วัดที่ไม่ถูกต้องเป็นเป้าหมายในการพัฒนา จะนำไปสู่การดำเนินนโยบายที่ผิดได้ และยังอาจจะทำให้การพัฒนาจบลงด้วยความเสียหายมากกว่าผลดี

ผมขอสรุป ประเด็นสำคัญจากการบรรยาย นั่นคือ การใช้ตัวเลข GDP และ GDP ต่อประชากร มีปัญหา 3 ประการด้วยกัน คือ (1) การตีความ GDP และ GDP ต่อประชากร (2) การคำนวณหรือวัด GDP และ (3) ความยั่งยืนของการพัฒนาเศรษฐกิจ

(1) การตีความ GDP และ GDP ต่อประชากร โดยสรุปว่าขนาดหรือมูลค่าที่สูงขึ้นของ GDP และ GDP ต่อประชากร เป็นการแสดงว่าระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ปัญหาของการตีความก็คือ GDP ต่อประชากรเป็นมูลค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ แม้จะมีค่าสูงขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนส่วนใหญ่จะมีความเป็นอยู่ดี ขึ้นไปด้วย เพราะประโยชน์อาจจะตกอยู่กับเฉพาะคนบางกลุ่ม นอกจากนี้ การวัดการพัฒนาด้วยตัวเลขดังกล่าวก็ไม่สะท้อนถึงปัญหาอื่นๆ เช่น สภาพแวดล้อมที่เลวร้ายลง ความผูกพันระหว่างบุคคลในสังคมน้อยลง ซึ่งปัญหาต่างๆนี้อาจจะทำให้คนในประเทศส่วนใหญ่ไม่ได้มีความสุขมากขึ้นตาม การเพิ่มขึ้นของขนาด GDP และ GDP ต่อประชากร

การตีความ GDP ยังก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ว่าประชาชนได้รับประโยชน์มากขึ้นตามขนาด GDP ที่สูงขึ้น การลงทุนบางประเภทไม่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยตรง เช่นการก่อสร้างทัณฑสถานหรือคุก ท่านยกตัวอย่างว่าในสหรัฐฯ มีการสร้างคุกมากกว่ามหาวิทยาลัยเสียอีก ซึ่งการก่อสร้างนั้นทำให้ GDP และ GDP ต่อประชากรสูงขึ้น ทว่าก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนได้ประโยชน์หรือมีความสุขมากขึ้น

(2) การคำนวณหรือวัด GDP ในการคำนวณ GDP จะรวมการค้าและบริการของภาครัฐเข้าไว้ด้วย ปัญหาเกิดจากบริการของภาครัฐส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้แก่ประชาชนจึงไม่ มีการซื้อขายเกิดขึ้น ทำให้ไม่สามารถวัดมูลค่าของบริการในราคาตลาดได้ ดังนั้นในการคำนวณ GDP จึงต้องใช้ตัวเลขต้นทุนของบริการนั้นๆแทนมูลค่า ส่งผลให้การคำนวณมูลค่า GDP ที่ได้ต่ำกว่าความจริง ในปัจจุบัน มูลค่าของบริการภาครัฐของเกือบทุกประเทศสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทำให้เมื่อเวลาผ่านไปการคำนวณ GDP ที่ได้จะต่ำกว่าระดับที่ควรจะเป็นมากขึ้น

นอกจากนี้ ในการคำนวณ GDP ยังมีปัญหาที่เกิดจากโลกาภิวัตน์ที่เงินทุนเคลื่อนย้ายไปทั่วโลก ในประเทศที่มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมูลค่าสูง ซึ่งจะทำให้ GDP เพิ่มขึ้น ทว่าการใช้ GDP เป็นการวัดมูลค่าการผลิตไม่ใช่รายได้ของประชากร ดังนั้นแม้ GDP อาจจะเพิ่มมาก แต่ประชากรอาจจะได้เพียงแค่ค่าแรง และภาครัฐได้รายได้ในรูปต่างๆ เช่นภาษีเงินได้และค่าสัมปทานเท่านั้น แต่บริษัทต่างประเทศที่ลงทุนในประเทศได้กำไร และอาจจะโอนกำไรที่ได้กลับประเทศตน ดังนั้นแม้ว่า GDP จะคำนวณได้เพิ่มมากขึ้นจากการลงทุนและการผลิตของบริษัทต่างประเทศ แต่ก็ไม่ได้แสดงว่าประชากรในประเทศจะได้ประโยชน์เท่ากับ GDP ที่สูงขึ้น ในระบบโลกาภิวัตน์ การลงทุนจากต่างประเทศที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การคำนวณ GDP ไม่ตรงกับความจริงมากขึ้นตามไปด้วย

เรื่องสุดท้าย คือ ความยั่งยืนของการพัฒนาเศรษฐกิจ ตัวเลข GDP จะไม่รวมผลเสียต่างๆที่เกิดจากการพัฒนา นอกจากนั้น GDP ยังเป็นการวัดมูลค่าเศรษฐกิจในขณะใดขณะหนึ่ง ซึ่งไม่ได้รวมผลกระทบเศรษฐกิจในอนาคต ตัวอย่างเช่น การเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ ทำให้ GDP ในขณะนั้นเพิ่มขึ้นสูงมากแต่ไม่ยั่งยืน เพราะเมื่อฟองสบู่แตกก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอยหรือชะลอตัว นั่นคือ GDP ในอนาคตจะลดลง ดังนั้นการใช้ GDP วัดว่า เศรษฐกิจดีขึ้นหรือไม่อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป

จากที่ผมสรุป มาทั้งหมด ผู้อ่านคงเห็นภาพว่าการใช้ GDP และ GDP ต่อประชากรมีปัญหาอยู่หลายด้านที่ไม่เหมาะสมในการใช้วัดระดับการพัฒนาและ ความเป็นอยู่ของประชาชน ปัญหาของประเทศไทยก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ นั่นคือรัฐบาลมักจะใช้การเติบโตของ GDP เป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จในการบริหารประเทศที่สำคัญ ทว่าการใช้เครื่องชี้วัดที่ผิดพลาด ก็อาจจะนำไปสู่นโยบายที่ผิดพลาดได้

การ บรรยายของศาสตราจารย์สติกลิตซ์ในครั้งนี้ อาจทำให้เราฉุกคิดและหันมาสำรวจว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะมีต้นทุนที่ต้องจ่ายไปพร้อมกับการพัฒนาเพื่อให้ GDP เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น สภาพแวดล้อมที่เสื่อมทรามลง สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ความผูกพันทางสังคมและระหว่างสมาชิกในครอบครัวที่ลดน้อยลง ดังนั้นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต จะต้องพิจารณาแบบองค์รวมที่คำนึงถึงปัจจัยทางสังคมและอื่นๆประกอบด้วย ที่สำคัญที่สุดก็คือการชี้วัดผลของการพัฒนาจะต้องนำปัจจัยอื่นๆประกอบไม่ใช่ ใช้เพียง GDP และ GDP ต่อประชากรเท่านั้น

http://news.quickze.com/content_%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%8B%E0%B9%8C+%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2_11453.html

จากคุณ : tonytui
เขียนเมื่อ : 6 ม.ค. 53 15:42:39




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com