|
ความคิดเห็นที่ 4 |
ตราสารหนี้มีกี่ประเภท การแบ่งตราสารหนี้เป็นประเภทต่าง ๆ ทำได้หลายวิธี วิธีที่ง่ายที่สุดคือ แบ่งกลุ่มของผู้ออก คือภาครัฐ และเอกชน ภาครัฐที่ออกตราสารหนี้ มี 3 กลุ่มคือ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และรัฐวิสาหกิจ ในส่วนภาครัฐจะมีการเรียกชื่อตราสารหนี้ที่ออกต่างกัน คือ ถ้าเป็นตราสารหนี้ที่อายุน้อยกว่า 1 ปี ( ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย) จะเรียกว่าตั๋วเงินคลัง ถ้ามีอายุ 1 ปีขึ้นไป จะเรียกว่าพันธบัตร (อาจต่อท้ายด้วยชื่อผู้ออกเช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธปท. พันธบัตร(ชื่อรัฐวิสาหกิจ) ส่วนในกรณีที่ตราสารหนี้ออกโดยเอกชน ถ้าอายุสั้นกว่า 1 ปี จะเรียกว่าตั๋วเงิน (B/E) หากยาวกว่า 1 ปี จะเรียกว่าหุ้นกู้ ตราสารหนี้ที่มีหลักประกัน หมายถึง มีการกำหนดว่า หากบริษัทที่ออกตราสารหนี้นั้น เกิดล้มละลาย จะมีการกันหลักทรัพย์ส่วนหนึ่ง (ที่ระบุว่าเป็นหลักประกัน) เพื่อใช้ในชำระหนี้ให้แก่ผู้ซื้อ โดยที่เจ้าหนี้อื่น จะไม่สามารถเอาหลักประกันนั้นไปได้ หรืออาจเป็นกรณีที่มีการค้ำประกันจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ เช่น รัฐบาล ว่าจะจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยให้อย่างแน่นอน ตราสารหนี้ด้อยสิทธิ จะเป็นการบอกว่า สิทธิในการได้รับเงินคืนในกรณีที่บริษัทที่ออกตราสารหนี้ ล้มละลาย จะอยู่ในลำดับที่น้อยกว่า ผู้ที่ซื้อตราสารหนี้ ปกติ (ตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิ) ตราสารหนี้ชนิดดอกเบี้ยลอยตัว บางครั้งบริษัทหรือหน่วยงานรัฐ อาจออกตราสารหนี้ที่ดอกเบี้ยไม่คงที่ โดยจะมีการอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยที่มีประกาศในตลาด เช่น พันธบัตรธปท. บางรุ่น จะใช้ดอกเบี้ย เงินฝากประจำ 6 เดือน (BIBOR) เป็นตัวอ้างอิง ซึ่ง จะทำให้ดอกเบี้ยที่ได้ อาจไม่เท่ากันในทุกงวด โดยอาจมากขึ้นหรือน้อยลง แล้วแต่ดอกเบี้ยในตลาดการเงิน ตราสารหนี้ที่สามารถเรียกคืนก่อนกำหนดได้ ตราสารพวกนี้ ผู้ออกสามารถเรียกคืน (ใช้เงินต้นคืน) ก่อนกำหนดได้ โดยทั่วไปหากมีการเรียกชำระหนี้ก่อนกำหนด ผู้ออกมักจะจ่ายค่าชดเชยให้ผู้ถือ (เงื่อนไขจะถูกกำหนดในรายละเอียดของการออกตราสารตั้งแต่วันจำหน่าย) ความเสี่ยงของการลงทุนในตราสารหนี้ ความเสี่ยงที่เข้าใจง่ายที่สุด คือความเสี่ยงของการที่ผู้ขาย ไม่ยอมจ่ายเงินต้น หรือดอกเบี้ยให้ผู้ซื้อ (default risk) ซึ่งจะเกิดในกรณีบริษัทเกิดวิกฤตทางการเงินอย่างรุนแรง ความเสี่ยงนี้ จะไม่มีในกรณีที่เป็นตราสารหนี้ของภาครัฐ เพราะตามหลัก รัฐจะมีวิธีหาเงินมาจ่ายเงินต้นของพันธบัตรได้แน่นอน (โดยการออกพันธบัตรชุดใหม่ เมื่อชุดเก่าจะครบอายุ) แต่กรณีรัฐวิสาหกิจ (ที่ไม่ได้ถูกค้ำประกัน) และ บริษัทเอกชน จะมีโอกาสดังกล่าวได้ เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าตราสารหนี้ที่เราซื้อมีความเสี่ยงต่อการไม่ได้เงินคืน ไม่ยากครับ ทุกครั้งที่บริษัทเอกชนจะออกตราสารหนี้ จะต้องมีการให้หน่วยงานภายนอกประเมินคุณภาพ และความเสี่ยงของการดำเนินธุรกิจ และแปลออกมาเป็นเครดิตเรตติ้ง เพื่อให้เราเข้าใจง่าย ๆ โดย เครดิตเรตติ้งของตราสารหนี้แต่ละตัว ก็จะมีตั้งแต่ AAA -> AA->A-> BBB->BB
.. ตามลำดับ ตราสารหนี้ที่ได้อัตรา AAA ก็หมายถึงว่า มีความมั่นคงมาก โอกาสที่จะล้มละลายน้อยมาก แต่ถ้าตราสารหนี้ที่ได้ BBB ก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้น อัตราเครดิตเรตติ้ง จะมีเครื่อง + หรือ กำกับด้วย เป็นการแยกลำดับย่อย เช่น A+ ดีกว่า A เป็นต้น เครดิตเรตติ้ง เปรียบเสมือนเทอร์โมมิเตอร์ ในการวัดความเสี่ยงของบริษัท โดยหน่วยงานที่ประเมิน อาจมีการปรับเปลี่ยนเครดิตเรตติ้งเมื่อเวลาผ่านไป ตัวอย่างเช่น บริษัทคิงพาวเวอร์ ถูกลด เครดิตเรตติ้ง จากBBB+ เป็น BBB- เมื่อมีกรณีพิพาทกับ ทอท. และมีแนวโน้มถูกยึดสัมปทาน ความเสี่ยงของการไม่ได้เงินต้นหรือดอกเบี้ยคืน เป็นความเสี่ยงที่เข้าใจง่าย แต่จริง ๆ แล้วยังมีความเสี่ยงอย่างอื่นอีก เช่น ความเสี่ยงของดอกเบี้ย (interest risk) อธิบายง่าย ๆ คือ หากตลาดการเงินมีแนวโน้มว่าดอกเบี้ยกำลังขึ้น หากเราใจร้อน ไปซื้อตราสารหนี้ที่อายุยาว ๆ ปรากฏว่า อีก 1-2 เดือน มีตราสารหนี้ตัวใหม่ ๆ ออกมา ที่อายุเท่ากัน เครดิตเรตติ้งเท่ากัน แต่ให้ดอกเบี้ยดีกว่า กลายเป็นว่าเราเสียจังหวะที่จะได้ลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เงินลงทุนถูกล้อคไว้กับตราสารหนี้ที่ผลตอบแทนไม่ดีนัก แล้วยังต้องถือยาวอีกด้วย ความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ย อาจเรียกอีกชื่อว่า price risk หรือความเสี่ยงด้านราคา หมายความว่า เมื่อดอกเบี้ยตลาดขี้น ตราสารหนี้ที่เราถืออยู่ หากเราจะไปขาย จะได้ราคาที่ลดลง หรือขาดทุนได้ แต่สหกรณ์ส่วนใหญ่คงไม่มีนโยบาย ซื้อ ๆ ขาย ๆ ดังนั้นความเสี่ยงตรงนี้ก็คงไม่มี ซื้อตราสารหนี้ได้ที่ไหน การซื้อตราสารหนี้ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน เราจะแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ ซื้อกับผู้ออกตราสารโดยตรง กับซื้อต่อจากผู้อื่น การซื้อกับผู้ออกตราสารโดยตรง เช่น การบินไทยต้องการออกตราสารหนี้เพื่อระดมทุน การบินไทยก็จะหาบริษัทช่วยขาย (เราเรียกบริษัทที่ทำหน้าที่ขายให้การบินไทยว่า underwriter) บริษัทที่ทำหน้าที่ขาย ก็จะออกข่าวให้คนที่สนใจมาจองซื้อ โดยทั่วไป การซื้อมือแรก (เราเรียกว่าซื้อในตลาดแรก) ราคาที่เขาเสนอจะเป็นราคาพาร์ หรืออธิบายง่าย ๆ ว่า เป็นราคาเท่ากับ ที่เราซื้อ เช่น ราคาที่เขาตั้งไว้หน่วยละ 1 พันบาท เมื่อครบกำหนดก็จะได้เงินคืน 1 พันบาท (แต่ระหว่างนั้นเราก็จะได้ดอกเบี้ยเป็นระยะตามที่เขากำหนดไว้) หากเป็นตราสารหนี้ในภาครัฐ อาจมีทั้งกรณีที่รัฐจัดจำหน่ายเอง หรือฝากให้คนอื่นช่วยขาย เช่นกรณีพันธบัตรออมทรัพย์ในปี 2550 กระทรวงการคลังก็ให้ธนาคารกรุงเทพเป็นผู้ทำหน้าที่ขาย กรณีที่ 2 การซื้อต่อจากผู้อื่น (เรียกว่าการซื้อในตลาดรอง) กรณีนี้จะค่อนข้างยุ่งยากต่อการทำความเข้าใจหน่อย เช่น นาย ก. ซื้อตราสารหนี้บริษัท A ที่มีอายุ 5 ปี ให้ดอกเบี้ย 4% ราคาหน่วยละ 1,000 บาท เป็นจำนวน 1,000 หน่วย ต่อมาเวลาผ่านไป 1 ปี (ตราสารหนี้อายุเหลือ 4 ปี นาย ก. มีความจำเป็นต้องการใช้เงิน จึงหาทางที่จะขายตราสารหนี้ดังกล่าว โดยอาจทำได้โดย บอกคนที่รอบข้างที่รู้จัก ว่าจะช่วยซื้อให้ได้หรือไม่ (ซึ่งมักจะยาก) กับอีกวิธีที่นิยมกันคือไปบอกบริษัทหลักทรัพย์ ว่าต้องการขายตราสารหนี้ดังกล่าว ช่วยหาคนซื้อให้หน่อย นาย ข. ได้ทราบข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์ว่า มีคนจะขายตราสารหนี้บริษัท A ที่มีอายุคงเหลือ 4 ปี นายข. ก็จะต่อรองราคากับบริษัทหลักทรัพย์ว่า ต้องการซื้อราคาเท่าใด หากตกลงได้ลงตัว (ได้ราคาซื้อที่นาย ข.ยอมรับได้ และนายก. ก็ยอมขาย โดยบริษัทหลักทรัพย์ ได้ผลประโยชน์พอสมควร) การซื้อขายเปลี่ยนมือก็จะเกิดขึ้น ความยุ่งยากจะอยู่ที่ราคาที่เหมาะสมที่ทั้ง 2 ฝ่าย พึงพอใจ ลองนึกภาพดูว่า ถ้า ณ เวลานั้น อัตราดอกเบี้ยธนาคารหรือมีการลงทุนในระยะ 4 ปี ที่ให้ผลตอบแทน 7% หากนาย ก. บอกว่าจะขายตราสารหนี้ A ในราคาพาร์(ราคา 1,000 บาทต่อหน่วย) นาย ข.คงจะไม่ซื้อ (จะซื้อทำไม เมื่อเอาเงินไปลงทุนอย่างอื่นได้ผลตอบแทน 7% แต่ถ้าไปซื้อตราสารหนี้A ของนาย ก. ได้แค่ 4%) หากในภาวะดังกล่าว นาย ก.อาจต้องยอมที่ตั้งราคาที่ต่ำกว่าที่ซื้อมา นาย ข.อาจยอมซื้อเช่น ถ้าตั้งราคาที่หน่วยละ 900 บาท (ตอนครบอายุได้เงินคืนเต็ม 1,000 บาท) นาย ข.อาจสนใจ ( ในมุมของนายข. คือลงทุน 900 บาท ได้ดอกเบี้ย 4%หรือ 40 บาท ไปจนครบ 4 ปี และได้เงินต้นคืน 1,000 บาท) ในทางตรงกันข้าม หากช่วงนั้นอัตราดอกเบี้ยทั่วไปลดลงเหลือ 2% ตราสารหนี้ A กลับเป็นการลงทุนที่ดี เพราะให้ผลตอบแทนตั้ง 4% ถ้านาย ก. จะขายที่ 1,000 บาท ก็จะเป็นการขายที่ได้ราคาน้อยไปหน่อย เพราะ บางทีตั้งราคาที่ 1,100 บาท (ตอนครบอายุได้เงินคืน 1,000 บาท) ก็ยังมีคนยอมซื้อ อาจมีผู้อ่านสงสัยว่า ทำไมในตัวอย่าง มีการซื้อขายที่ราคาไม่เท่ากับ 1,000 บาท เช่นกรณีแรก ซื้อที่ 900 บาท หรือกรณีที่ 2 ซื้อที่ 1,100 บาท แต่ตอนครบกำหนด ได้เงิน 1,000 บาท เอาตัวเลข 1,000 บาท มาจากไหน (ตัวเลข 900 บาทหรือ 1,100 บาท ได้มาจากการที่ผู้ซื้อและขายพึงพอใจที่จะซื้อขายในราคานั้น) คำตอบคือว่า 1,000 บาทเป็นคำสัญญาของบริษัท A ครับ ที่จะจ่ายเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนดของตราสารหนี้ บริษัท A ไม่สนใจว่า ตราสารนั้นจะขายไปกี่มือ แค่บอกว่า ตอนนี้ใครเป็นเจ้าของตราสารหนี้หน่วยนั้น ๆ บริษัทA ก็จะตามไปจ่ายดอกเบี้ย 4% ที่กำหนดไว้หน้าตราสาร ( ถ้าซื้อตราสารหนี้จากคนอื่นแล้วไม่แจ้งโอน ดอกเบี้ยก็ไม่ได้นะครับ เพราะเจ้าของเก่าเขาก็จะได้รับดอกเบี้ยไปเรื่อย ๆ) และเมื่อตราสารหนี้นั้นครบอายุ บริษัทA ก็จะดูว่าใครเป็นเจ้าของและตามไปจ่ายเงิน 1,000 บาท ตามสัญญา จะเห็นว่าการซื้อตราสารหนี้ในตลาดรองค่อนข้างจะยุ่งยาก และมีข้อมูลหลายอย่างที่ต้องมาตัดสินใจ บทความนี้เป็นเพียงแค่การให้ข้อมูลขั้นต้น ว่า การซื้อขายตราสารหนี้ มีรูปแบบเป็นอย่างไร ในเบื้องต้น ผมแนะนำว่า ถ้าสนใจลงทุนในพันธบัตรตราสารหนี้ ให้ซื้อในตลาดแรกเป็นหลักครับ และให้ถือจนครบกำหนด เมื่อใดคิดว่ามีความชำนาญพอ ค่อยขยับขยายมาใช้วิธีที่ซับซ้อนขึ้น
จากคุณ |
:
krit587
|
เขียนเมื่อ |
:
27 ม.ค. 53 20:13:20
|
|
|
|
|