|
รู้ไว้ใช่ว่ากับภาษี
|
|
ต้องขอออกตัวก่อนว่าดิฉันไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาษี แต่วันนี้ อยากจะนำเกร็ดเกี่ยวกับภาษีที่ได้ประสบมาแบ่งปันกับท่านผู้อ่าน
เพราะตอนนี้ย่างเข้าสู่ฤดูกาลยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว
เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมากในการอัดฉีด เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจในปี 2552 ติดลบมากเกินไป วิธีการหนึ่งที่รัฐบาลทำ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียกเก็บเงินภาษี และมีผู้ให้ข้อสังเกตว่า รัฐบาลใช้วิธีคืนเงินภาษีช้าๆ เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในระบบของรัฐ เท็จจริงแค่ไหนไม่ทราบ แต่จนป่านนี้ดิฉันเองก็ยังไม่ได้รับคืนภาษีเงินได้ของปี 2551 ที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายเกินไป
ผู้คนที่ดิฉันสนทนาด้วยบอกว่า ไม่ได้ว่าอะไรที่กรมสรรพากรจะใช้เวลาตรวจสอบนาน แต่ที่รู้สึกโกรธแค้น คือ ขอเอกสารทีละหน่อย ละหน่อย ทำให้เสียเวลา เวลาขอแจ้งว่าส่งทางโทรสารก็ได้ แต่พอส่งแล้วก็แจ้งมาขอตัวจริงอีก โดยเฉพาะผู้ที่ยื่นเอกสารผ่านอินเทอร์เน็ต ดิฉันรวบรวมข้อควรรู้มาให้ท่านทราบดังนี้
ยื่นแบบแต่เนิ่นๆ ท่านที่ยื่นแบบในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน มี.ค.จะพบว่าทุกช่องทางแน่นไปหมด ยื่นด้วยเอกสารก็มีคิวยาว ไปรอเป็นวันๆ เสียเวลาทำงานอย่างมาก ยื่นด้วยอินเทอร์เน็ตก็เข้าสู่ระบบยาก ค่อนข้างช้า แม้ว่าในปีที่แล้วจะดีขึ้นแล้วก็ตาม
กรมสรรพากรได้พัฒนาการลงทะเบียนยื่นภาษีผ่านอินเทอร์เน็ต และได้ปรับปรุงจนใช้งานค่อนข้างสะดวกแล้ว หากไม่มีรายการมากมาย คือ มีเพียงรายได้จากเงินเดือน และโบนัส ท่านยื่นผ่านอินเทอร์เน็ตอาจสะดวกกว่าค่ะ
หากมีเอกสารหรือมีรายการมาก ไม่ควรยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต อันนี้เจ้าหน้าที่สรรพากรบอกดิฉันเอง
ทราบหรือไม่ว่า ค่าลดหย่อนเลี้ยงดูบุพการี 30,000 บาทนั้น ไม่สามารถหักลดหย่อนได้หากบุพการีมีรายได้เกิน 30,000 บาท ไม่ว่าจะเป็นรายได้ประเภทใด ทั้งดอกเบี้ย เงินปันผล ฯลฯ
เงินบริจาคหากมีชื่อมากกว่า 1 คน ต้องหารเฉลี่ยเท่ากันทุกคนเวลานำมาใช้ลดหย่อน เว้นแต่ระบุลงไปว่าเป็นเงินบริจาคจากใครจำนวนเท่าใด ถ้าจะให้ดี แยกชื่อบริจาคจะสะดวกกว่าค่ะ ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้ทำบุญร่วมกัน
หากสมรสจดทะเบียน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะกู้ในนามสามีหรือภรรยา สามารถนำมาหักลดหย่อนได้คนละครึ่ง
เบี้ยประกันชีวิต ที่จะนำมาหักลดหย่อน คู่สามีภรรยา สามารถหักลดหย่อนแต่ละคนได้ ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินคนละ 100,000 บาท
เงินได้จากรางวัลต้องนำไปคำนวณภาษี โดยถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) เพราะฉะนั้นหากท่านเผอิญโชคดีส่งบัตรชิงโชคไปแล้วได้รับรางวัล ทางห้างร้านเขาจะตีมูลค่ารางวัลของท่านเป็นเงิน และหักภาษี ณ ที่จ่ายเอาไว้ 5% และท่านยังมีภาระต้องเสียภาษีส่วนที่เหลือตามฐานภาษีของท่านนะคะ อย่าคิดว่าหัก 5% ก็เรียบร้อยแล้ว และกรณีที่ได้รางวัลเป็นบริการ อาทิเช่น โรงแรมหรือสปา ถึงท่านจะใช้หรือไม่ใช้สิทธิก็ตาม ทางสรรพากรจะถือว่าท่านรับเงินได้ไปแล้วเท่ากับที่ห้างร้านเขาตีราคาเอาไว้ ท่านต้องเสียภาษีบนเงินได้นี้ด้วย เพราะฉะนั้น หากท่านได้รางวัล ให้สอบถามก่อนว่ารางวัลอะไร และถ้าเห็นว่ารางวัลนั้นท่านไม่ได้ใช้แน่ๆ ก็ไม่ควรรับมา มิฉะนั้น จะกลายเป็นทุกขลาภไป
อยากจะฝากห้างร้านที่ตีมูลค่ารางวัลด้วยว่าอย่าตีแบบเฟ้อค่ะ เข้าใจว่าเวลาโฆษณาดูเท่ดี เหมือนว่ารางวัลใหญ่ แต่มูลค่าจริงไม่ถึงที่ท่านตี และนอกจากนี้ เนื่องจากผู้รับรางวัลมีภาระภาษี 5-37% ของมูลค่าของรางวัล ไม่ได้ได้มาฟรีๆ ดังนั้น ท่านควรจะให้ผู้ได้รางวัลสามารถใช้รางวัลนั้นได้โดยไม่มีกำหนดอายุ มิฉะนั้น ท่านให้รางวัลเป็นเงินสดจะดีกว่าค่ะ ลูกค้าจะได้ไม่เสียความรู้สึก
ควรพยายามไม่ให้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเกินกว่าที่ควรจะเสีย ถ้าจะให้ดี หักไม่ครบและไปจ่ายภายหลังจะดีกว่า เพราะฉะนั้น กรณีเป็นพนักงานบริษัท เวลามีรายการลดหย่อนต่างๆ ต้องแจ้งฝ่ายบุคคลตั้งแต่ต้นปี อาทิเช่น วางแผนว่าจะซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพในช่วงปลายปี หรือตลอดทั้งปี ก็แจ้งฝ่ายบุคคลไว้ตั้งแต่ต้นปีเลย เพราะหากไปแจ้งในจุดที่ลงทุน ภาษีที่หักไปแล้วอาจจะเกินที่ควรจะต้องจ่าย ดังนั้น จึงต้องไปขอคืน ซึ่งกว่าจะได้คืนอาจต้องข้ามไปเป็นปี
ฝากกรมสรรพากรพิจารณาว่า จะดีกว่าหรือไม่ที่บังคับให้ยื่นเอกสารประกอบทุกชิ้นตามไปหลังการยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต โดย ทำให้การยื่นผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นเพียงการทดแทนการไปยืนเข้าคิว เป็นวันๆ เพราะในปัจจุบันท่านผลักภาระการเก็บเอกสารให้เป็นของผู้เสียภาษี และเอาเข้าจริงๆ ท่านก็ตรวจเอกสารทุกชิ้นอยู่ดี เพียงแต่ท่านมีเวลาตรวจยาวขึ้นเป็นปีๆ ถ้าผู้เสียภาษีส่งให้ท่านทั้งหมด อย่างน้อยท่านก็ต้องรีบตรวจเบื้องต้นภายในช่วงเวลาที่ยื่น คือ ภายใน 31 มี.ค.
เชื่อไหมคะว่าของภาษี 2551 ดิฉันยื่นผ่านอินเทอร์เน็ตก็แล้ว ถูกตามเอกสารก็แล้ว ถูกแจ้งให้ยื่นเป็นกระดาษใหม่ก็แล้ว ถูกตามรอบที่สามก็แล้ว รวมระยะเวลาการยื่น 11 เดือน ยังไม่มีวี่แววว่าจะได้คืนเลยค่ะ
หากรัฐบาลต้องการให้ผู้เสียภาษีบริจาคเงินภาษีที่จะได้คืนก็ขอกันดีๆ ได้ค่ะ ไม่ต้องยึกยื้อ ให้เสียความรู้สึกและเสียเวลากันเปล่าๆ โลกสมัยนี้พัฒนาไปมากแล้ว ส่งเอกสารกลับไปครั้งหนึ่งใช้เวลาตรวจ 3-5 เดือนแล้วส่งกลับมาขอเพิ่ม ขอใหม่ และขอเสนอว่า เงินภาษีที่ถูกหักเกินไป หากบริจาคให้กรมสรรพากร จะสามารถถือเป็นเงินบริจาคให้กับองค์กรการกุศล สามารถนำไปหักลดหย่อนในปีต่อไปได้ด้วย
วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/ceo-blogs/wiwan/20100208/99248/รู้ไว้ใช่ว่ากับภาษี.html
จากคุณ |
:
ขอบฟ้าบูรพา
|
เขียนเมื่อ |
:
8 ก.พ. 53 18:33:14
|
|
|
| |