Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
'ณฤทธิ์ เจียอาภา'.. ลงทุนอย่าง 'เต่า' ก็รวยได้  

นักลงทุน 'พันล้าน' เจ้าของหุ้น CFRESH และอาคารชาร์เตอร์ สแควร์ บนถนนสาทร 'ณฤทธิ์ เจียอาภา' เปิดสูตรสร้างความมั่งคั่ง
ส่วนตัวเป็นคน Low Profile แต่ดำเนินธุรกิจแบบ High Profit  มาตลอดชีวิต ณฤทธิ์ เจียอาภา ผู้คร่ำหวอดยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ บนอาชีพส่งออกอาหารทะเลแช่แข็ง และเป็นผู้ก่อตั้ง บมจ.ซีเฟรชอินดัสตรี ในปี 2552 ที่ผ่านมาบริษัทของเขามีกำไรสุทธิสูงที่สุดในรอบ 8 ปี จำนวน 183 ล้านบาท และเป็นกิจการที่ไม่มีหนี้สิน ณฤทธิ์ หรือ สตีเฟ่น เป็นชาวมาเลเซียที่โชคนำพาให้มาอยู่เมืองไทย ยังคงดำเนินวิถีคิดแบบคอนเซอร์เวทีฟ ก้าวแต่ละก้าวของเขาเน้นมั่นคง มองไกล และไม่หวือหวา

การเลือกทำในสิ่งที่เชี่ยวชาญและชอบ และค่อยๆ ก้าวเป็นสูตรสร้างความมั่งคั่งทำให้อาณาจักรธุรกิจของณฤทธิ์เติบใหญ่มูลค่า "หลายพันล้านบาท" ปัจจุบันบริษัทในกลุ่มของเขานอกจาก บมจ.ซีเฟรชอินดัสตรี แล้ว ยังมี บริษัท ไทย เค.บอยเลอร์ ประกอบธุรกิจผลิตเครื่องกำเนิดไอน้ำ บริษัท แมนนูแฟคเจอริ่ง ซิสเต็ม อิมพลีเมนเทชั่น ประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายโปรแกรมไอทีสำเร็จรูป Oracle ERP บริษัท ศาลาแดงเพลส ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ บริษัท ชาร์เตอร์ สแควร์  โฮลดิ้ง ประกอบธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่า “อาคารชาร์เตอร์ สแควร์” สูง 33 ชั้น บนถนนสาทรเหนือ มีพื้นที่สำนักงานให้เช่ารวม 33,500 ตารางเมตร

อีกบทบาทหนึ่งของณฤทธิ์ ยังเป็นนักลงทุนราย ใหญ่ในตลาดหุ้นที่มีพอร์ตในระดับ "พันล้านบาท" ปัจจุบันถือหุ้น เช่น PPC, SUC, BECL, SSF, SVOA, BAY, KTB และ THCOM เป็นต้น เขาเริ่มเข้าสู่ตลาดหุ้นตอนดัชนีประมาณ 200 จุด (ปี 2541) มั่นใจว่าตลาดหุ้นตอนนั้นคงไม่ตกลงไปมากกว่านี้อีกแล้ว และเงินที่ลงทุนไป ตอนแรกได้กำไรกลับคืนมาจำนวนมาก เมื่อหลายปีก่อนชื่อของเขาโดดเด่นขึ้นหลังปรากฏชื่อติดอันดับ 4 เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน บมจ.ไอทีวี (ITV) จำนวน 24.58 ล้านหุ้น สัดส่วน 2.04% มูลค่ามากกว่า 250 ล้านบาท  

ณฤทธิ์ เจียอาภา ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีเฟรชอินดัสตรี เปิดเผยกับ กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ว่า พอร์ตลงทุนใน ตลาดหุ้นของเขาไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อ 4 ปีที่แล้วมากนัก ส่วนตัวเป็นคนซื้อหุ้นแล้วไม่ค่อยขาย ที่ผ่านมาก็แทบไม่ซื้อเพิ่มอีกเลย มูลค่าน่าจะเท่าๆ เดิมคือ “หลักพันล้านบาท”

สไตล์การลงทุนจะเน้นถือยาวทั้งหมด จะเลือกลงทุนใน หุ้นปันผลดีๆ ไว้ก่อน ผลตอบแทนตั้งแต่ 2-8% บางตัวไม่มีเงินปันผลก็ถือว่าซื้ออนาคต เหมือนซื้อตึกถ้าชอบก็ซื้อไม่ชอบก็ไม่ซื้อ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาผลตอบแทนที่ได้รับจากตลาดหุ้นดีกว่าเงินฝากแน่นอน เพราะเก็บหุ้นปันผลดีๆ ไว้เยอะ

ทุกการตัดสินใจซื้อหุ้น ณฤทธิ์จะพิจารณาจากพื้นฐานเป็นหลัก และทุกหุ้นที่เข้าไปก็มีเหตุผลที่มาที่ไป ซึ่งเคล็ดลับในการเลือกหุ้นนั้นไม่มีสูตรที่ตายตัว จะมีตัวแปรหลายๆ อย่างประกอบกัน เช่น ประสบการณ์ การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน ดูประวัติของบริษัท ต้องรู้ว่าเจ้าของหุ้นเป็นใคร มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ต้องใช้ประสบการณ์มองเหตุการณ์ให้ออกว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทนี้

ในธุรกิจบางประเภท เขาบอกว่าต้องมองการเชื่อมโยงกับตลาดโลกให้ออก (เช่น สินค้าโภคภัณฑ์) ที่สำคัญหุ้นที่เราจะลงทุนมากๆ ต้องรู้สึกว่าสัมผัสได้ อาจจะลองซื้อน้อยๆ ดูก่อน ค่อยๆ สัมผัสดู แล้วศึกษาธรรมชาติของมัน เราต้องมองให้ออกว่าผู้บริหารบริษัททำอย่างนี้มีจุดประสงค์เพื่ออะไร อย่างเช่นเริ่มออกข่าวหนังสือพิมพ์ หุ้นมันก็น่าจะวิ่ง ซึ่งเราต้องมองเกมว่าจะเป็นช่วงเริ่มขาย หรือ เริ่มซื้อ

เขาออกตัวก่อนว่าไม่ถึงขั้นเป็น "แวลูอินเวสเตอร์" การที่จะถูกเรียกแบบนั้นได้ต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล โดยถ่อมตัวว่าตัวเองคง "ยังไม่ถึงขั้น" แต่สามารถเรียกได้เต็มปากว่า "วันนี้ผมคือนักลงทุน" ที่มองอะไรจะ "มองยาว" หวังผลระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นหุ้น อสังหาริมทรัพย์ หรือธุรกิจอื่นๆ

"ผมไม่ถือว่าตัวเองเป็นนักเล่นหุ้นถ้าจะเป็นต้องซื้อขายบ่อยๆ ผมแค่นำเงินไปฝากไว้กับตลาดหุ้น ส่วนราคาหุ้นปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกลไกตลาด"

ณฤทธิ์ ยกตัวอย่างหุ้น THCOM (ถืออยู่ 6,976,600 หุ้น) ที่เพิ่มเข้ามาในพอร์ตมองว่าอนาคตธุรกิจสื่อสารน่าจะไปได้ดี แต่มาติดตรงปัญหาการเมืองที่ทำให้หุ้นตัวนี้ยังไม่สะท้อนมูลค่า โดยส่วนตัวจะไม่ชอบเล่นข่าว “อินไซด์” เพราะทำให้เจ็บตัว ส่วนหุ้น BECL (ถืออยู่ 8,773,800 หุ้น) KTB และ BAY สามตัวนี้ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลต่อปีมากที่สุด ส่วนใหญ่เวลาซื้อหุ้นไปแล้วจะไม่ตามราคาหุ้นเลย เพราะถือว่าการตัดสินใจซื้อครั้งแรกคิดดีแล้ว

"วิธีการซื้อหุ้นของผม เมื่อตัดสินใจดีแล้ว มองพื้นฐานราคาและเหตุการณ์แวดล้อมทั้งหมดแล้ว ก็ไม่ควรจะรีรอ จะเข้าไปซื้อทันที เมื่อซื้อไปแล้วถ้าราคาลง ผมก็ยิ่งซื้อเยอะ ไม่ใช่เพราะต้องการถัวเฉลี่ยต้นทุน แต่เพราะวิเคราะห์แล้วว่าหุ้นตัวนี้ดีจึงมั่นใจ ส่วนจังหวะการขายหุ้นนั้นจะไม่สนใจในเรื่องของราคาว่าจะสูงมากเท่าไร แต่จะยึดปัจจัยพื้นฐานของหุ้นเป็นสำคัญว่าเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่ รวมถึงดูทิศทางอุตสาหกรรมนั้นๆ ในอีก 3-5 ปีข้างหน้าว่ายังแข็งแรงอยู่หรือไม่ แต่ต้องระวังบางบริษัทที่เข้มแข็งแต่ติดหลุมพรางเรื่องของกฎหมายอาจกระทบ ราคาหุ้นได้"

ประสบการณ์จากชีวิตนักธุรกิจกว่า 3 ทศวรรษ ณฤทธิ์ ได้ข้อสรุปว่า ทุกธุรกิจจะต้องมีวงจรขึ้นลงของมัน ถ้าคิดจะลงทุนต้องจับจังหวะรอบอุตสาหกรรมให้ดี ยกเว้นอุตสาหกรรมอาหารที่อาจจะมีช่วงการเติบโตที่นานหน่อยประมาณ 20 ปี

นอกจากหุ้น และอสังหาริมทรัพย์แล้ว ณฤทธิ์ บอกว่าไม่มีการลงทุนแบบอื่นอีกโดยเฉพาะทองคำหรือสัญญาฟิวเจอร์สเพราะดูเป็นการ “เก็งกำไร” มากกว่าลงทุน ในอนาคตถ้าเจอตึกที่ทำเลงามก็อาจจะขายหุ้นทั้งหมดมาซื้อตึกก็เป็นไปได้

นอกจากนี้เขามีกฎอยู่ข้อหนึ่งที่จะระลึกอยู่เสมอ จะต้องไม่แตะหุ้นที่ผู้บริหารไม่โปร่งใสเด็ดขาด สำหรับหุ้นปั่นก็จะไม่แตะ ถ้าไปหลงกับหุ้นเหล่านี้อีกหน่อยมันจะทำให้วิธีการลงทุนที่ดำเนินมาตลอดผิดเพี้ยนไป เพราะหลักการลงทุนจริงๆ แล้ว ต้องยึดตามปัจจัยพื้นฐาน

"คุณไปเล่นหุ้น (แข่ง) กับเจ้าของ จะชนะเขาได้อย่างไร เขามีข้อมูลทุกอย่างในมือ ฉะนั้นหุ้นที่บอกว่ามีคนดูแล หุ้นมีอินไซด์ บอกว่าเฟิร์สแฮนด์ เซคคั่นแฮนด์ ตรงนี้ผมไม่แตะ"

ณฤทธิ์ ยังคงย้ำจุดยืนของเขา คือ "Investor" (นักลงทุน) ไม่ใช่ "นักเล่นหุ้น" และตลาดหลักทรัพย์ก็เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งของการบริหารเงินเท่านั้น ที่ผ่านมา "ตระกูลเจียอาภา" ก็มักจะโยกเงินเข้าออกระหว่าง ตลาดหุ้น และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 15 ปี ยกเว้นหุ้น CFRESH ที่ยืนยันว่าจะไม่ขาย เพราะเป็นธุรกิจไม่ใช่การลงทุน

สำหรับมุมมองส่วนตัวต่อตลาดหุ้นไทย ณฤทธิ์มองว่า ระยะยาวยังสดใสแน่นอน แม้หุ้นส่วนใหญ่จะปรับตัวขึ้นมาแล้วค่อนข้างมาก แต่ราคา "ยังไม่แพง" เสียดายที่เรามีพื้นฐานดีแต่ติดเรื่องการเมือง SET Index น่าจะพุ่งไปอยู่ที่ 1,200-1,500 จุด ได้ตั้งนานแล้ว มองว่าปีนี้น่าจะลงทุนหุ้น "กลุ่มปิโตรเคมี" จากเหตุการณ์ที่มาบตาพุด ทำให้ซัพพลายชอร์ตราคาปิโตรเคมีน่าจะขึ้นในปีนี้ อีกหนึ่งกลุ่มคือ "ธนาคารพาณิชย์" เพราะธุรกิจกำลังดีน่าจะปล่อยสินเชื่อได้เยอะขึ้น

ในส่วนของผลตอบแทนส่วนตัว ในปี 2551 ช่วงที่เผชิญวิกฤติซับไพร์มยอมรับว่า "โดน" ไปเยอะจนไม่มีเงินจะเข้าไปช้อนเก็บราคาถูก แต่พอปี 2552 ผลตอบแทนก็กลับมาจน "เจ๊า" กับที่เจ๊งไป

"ปี 2553 ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติผลตอบแทนน่าจะได้ 20-30% จากหุ้นตัวเดิมๆ ที่ถืออยู่ แต่ถ้ามีปิดสนามบินอีกคราวนี้ตายแน่"

สำหรับแนวคิดในการลงทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจอื่นๆ จะมองผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ที่ 20% ต่อปี แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องได้ทันทีที่ลงทุนเพราะถ้าคิดอะไรสั้นๆ จะเป็นเพียงผู้พัฒนา (Developer) ไม่ใช่นักลงทุน

"แต่ผมจะมองเป็นการลงทุนระยะยาว ต้องคิดถึง 3-5 ปีข้างหน้า ว่า ที่ลงทุนไป แล้วจะเป็นอย่างไร ธุรกิจอาจจะแย่ใน 2 ปีแรก แต่ในอนาคตจะต้องได้รับผลตอบแทนคืน กรณีที่ไปซื้อของคนอื่นมาทำต่อราคาต้องมีส่วนลด 20% จากราคาตลาด เพราะเป็นความเสี่ยงที่เราต้องแบกรับ" นี่คือวิธีคิด

สำหรับ บริษัท ชาร์เตอร์ สแควร์  โฮลดิ้ง ประกอบธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่า “อาคารชาร์เตอร์ สแควร์” บริษัท ไทย เค.บอยเลอร์ ประกอบธุรกิจผลิตเครื่องกำเนิดไอน้ำ และ บริษัท แมนนูแฟคเจอริ่ง ซิสเต็ม อิมพลีเมนเทชั่น ประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายโปรแกรมไอทีสำเร็จรูป Oracle ERP ธุรกิจที่ลงทุนเหล่านี้ไม่ได้ขายของครั้งเดียวแล้วจบ แต่มีรายได้จากการเข้าไปบริการลูกค้า และเป็นรายได้ต่อเนื่อง

"ผมลงทุนธุรกิจออฟฟิศให้เช่าก็เพื่อเก็บรายได้เรื่อยๆ ธุรกิจซอฟต์แวร์กับบอยเลอร์เราก็ดูแลลูกค้าต่อเนื่อง ผมลงทุนพวกนี้ตั้งแต่ 20 ปีก่อน ช่วงนั้นอะไรก็น่าทำไปหมด เป็นการลงทุนเพื่อหวังตัวเงิน (เงินสด) ที่จะไหลเข้ามาทุกๆ ปี"

ณฤทธิ์ ปิดท้ายว่าสิ่งที่เล่าให้ฟังทั้งหมดนี้ขอให้เป็นเพียง “ความเห็นส่วนบุคคล” สไตล์การลงทุนหุ้นแบบของเขาอาจจะใช้ไม่ได้สำหรับยุคสมัยนี้แล้วก็ได้ เพราะเน้นลงทุนแบบคอนเซอร์เวทีฟเป็นหลัก ที่สำคัญหุ้นไทยมีความไม่แน่นอนสูงมาก

ทั้งหมดนี้คือ สมการรวย "ณฤทธิ์ เจียอาภา" นักลงทุนพันล้าน เจ้าของอาณาจักรธุรกิจน้ำซึมบ่อทราย มูลค่าหลายพันล้านบาท ลงทุนอย่างเต่าก็ชนะได้

Credit : http://www.thaivi.com/webboard/viewtopic.php?p=582529#582529

จากคุณ : คนจนที่อยากรวย
เขียนเมื่อ : 24 มี.ค. 53 20:14:53




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com