|
ความคิดเห็นที่ 1 |
การวิเคราะห์ตามปัจจัยพื้นฐาน ก็มีรากฐานแก่นแท้มาจากการเก็งกำไรเหมือนกัน เพียงแต่เรียกให้ดูดีในคำที่แตกต่างกันไป เช่น เรา Estimate ว่า, เรา Forecast ว่า, เรา project ว่า, เรา think ว่า, เรา evaluate ว่า, เรา calculate ว่า, เรา appraise ว่า, เรา compute ว่า ……
จริงๆแล้วก็คือ เรา Guess ว่า … นั่นเอง เพราะโลกของความเป็นจริงใครจะมาทำนายทายได้อย่างแม่นยำล่วงหน้าเป็นปีๆ เพียงแต่การวิเคราะห์ตามปัจจัยพื้นฐาน มันดีกว่าการเดาสุ่มแทงสูงต่ำ เพราะเป็นการคาดการณ์บนพื้นฐานที่มีหลักมีเกณฑ์
เห็นบางทีให้ราคาเป้าหมาย 12 เดือนเท่านั้นเท่านี้ พอหุ้นร่วงลงมา “เรายังคงคำแนะนำซื้อด้วยราคาเป้าหมายเท่านั้นเท่านี้” พอหุ้นร่วงลงอีก นักวิเคราะห์ก็มาบอกอีก “เรายังคงคำแนะนำให้ซื้อด้วยราคาเป้าหมายเท่านั้นเท่านี้” พอหุ้นร่วงลงสุดๆ นักวิเคราะห์ก็เปลี่ยนคำแนะนำ “อ้อ โทษที เราปรับประมาณการรายได้ลงมาแล้ว เราแนะนำขาย ปรับราคาเป้าหมายลงเหลือ xxx บาท” แป่ววววววว! นี่ก็แสดงว่า เก็งกำไรผิดแล้วนะซิ
ในเมื่อเป็นอย่างนี้ แล้วเราจะเกี่ยงไปทำไมครับว่าหุ้นตัวไหนเป็นหุ้นพื้นฐาน หุ้นตัวไหนเก็งกำไร
ก็ตัวไหนมันจะวิ่งขึ้น เราก็ซื้อตัวนั้น ไม่ดีกว่าหรือครับ
อ้าว แล้วเราจะรู้ได้ไงล่ะว่าหุ้นตัวไหนจะขึ้น
ผมไปเจอคุณอาคนนึงในห้องค้า แกบอกว่า แกไม่เชื่อใครทั้งนั้น แกวิเคราะห์เอง ว่าแล้วแกก็วางฟอร์มว่ามีความรู้ ขอข้อมูลมหาศาลจากทางโบรกเกอร์เพื่อมาวิเคราะห์หุ้น กว่าท่านจะวิเคราะห์เสร็จราคาหุ้นก็ไปไหนต่อไหนแล้วครับ
ถ้าท่านอยากประสพความสำเร็จอย่าทำเป็นเก่งมาวิเคราะห์หุ้นเอง นอกเสียจากท่านจะมั่นใจว่าท่านมีความสามารถในการวิเคราะห์บริษัทนั้นๆได้ดีกว่าต่างชาติ กองทุน รายใหญ่ และนักวิเคราะห์
ขนาดกองทุนต่างชาติยังต้องมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญมาประจำในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมเลย แล้วท่านจะเก่งขนาดไหนครับถึงจะสามารถประมาณภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราการเจริญเติบโตของจีดีพี อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และ ราคาน้ำมัน ในอนาคตได้แม่นยำกว่าเขา
ถ้าท่านบอกว่า ท่านวิเคราะห์กิจการเป็น คำถามคือ ท่านสามารถประมาณการความต้องการสินค้า และ อัตราการเจริญเติบโตในอุตสาหกรรมนั้นๆได้แม่นยำกว่าเขาหรือเปล่า ท่านสามารถประมาณการจำนวนยอดขายและราคาขายในอนาคตได้แม่นยำกว่าเขาหรือเปล่า
ท่านสามารถประมาณการต้นทุนการผลิตในสินค้าแต่ละประเภท ในทุกๆองค์ประกอบของต้นทุนการผลิตได้แม่นยำกว่าเขาหรือเปล่า และ ท่านยังคาดการณ์ค่าใช้จ่ายในการขาย ค่าใช้จ่ายในการบริหารได้แม่นยำกว่าเขาอีกด้วยหรือเปล่า
และกว่าที่ท่านจะวิเคราะห์เสร็จ ราคามันไม่ไปไหนต่อไหนแล้วหรือครับ
ก่อนกองทุนไม่ว่าจะเป็นไทยหรือเทศก็ตามจะใส่เม็ดเงินลงทุนในหุ้นแต่ละตัวเป็นพันล้านหรือหลายพันล้าน เขาไม่ใช่ไร้สตินะครับ เขาวิเคราะห์ดีกว่าเรา เขามีทีมงาน ข้อมูล และเครื่องมือที่สมบูรณ์ครบถ้วนมากกว่าเรา และถ้าเขาวิเคราะห์ผิด กองทุนเขาเสียหายมากกว่าเราเยอะ
รายใหญ่ หรือ เจ้าของกิจการก็เช่นกันครับ ก่อนที่เขาจะอัดฉีดเม็ดเงินหลายร้อยล้านเข้าไปในหุ้นเก็งกำไร เขาต้องเช็คกราฟ เช็คข้อมูลภายใน จนเป็นที่แน่นอนแล้ว หรืออาจขอให้นักวิเคราะห์ไปวิเคราะห์มาให้เสร็จสรรพแล้ว เขาถึงจะอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามา
ก็ในเมื่อมันเป็นเช่นนี้ ทำไมเราจะไม่เกาะติดรายใหญ่ที่เขาทำการบ้านมาดี เกาะติดเม็ดเงินเขาไปล่ะครับ จะมาทำเก่งนั่งวิเคราะห์พื้นฐานกิจการเองอยู่ทำไม ด๊อกเตอร์ทางการเงินเจ๊งมามากต่อมากแล้ว จริงๆนะครับ
ถ้าช่วงนี้กองทุนต่างชาติเห็นแนวโน้มปิโตรเคมีดี ท่านจะไปดักซื้อกลุ่มธนาคารนั่งรอทำไมล่ะ ถ้าราคาน้ำมันมีแนวโน้มพุ่ง แต่ไปซื้อดักรอในหุ้นกลุ่มรับเหมาก็คนละเรื่อง ถ้ารถคันนี้จะออก ท่านกลับไปหาขึ้นรถเมลล์ที่มีที่นั่งว่างอยู่เพียบ แล้วเมื่อไหร่ท่านจะได้ออกจากท่ารถล่ะครับ
ถ้าท่านจะขายซีดี ก็คงต้องดูว่าช่วงนี้เขาฮิตอะไร ถึงราคาต้นทุนจะแพงหน่อย ก็ดีกว่าเพลงไทยเดิมต้นทุนต่ำแต่ไม่รู้จะไปขายใคร ใช่ไหมครับ
หุ้นก็เหมือนกัน ดูสักนิดนึงว่าเม็ดเงินทะลักเข้าไปเล่นกลุ่มไหนกันอยู่ ไม่งั้นตกรถแน่ แล้วยังชอบมาหลอกตัวเองอีกนะคนเรา ว่าเดี๋ยวมันก็คงจะมา
มีนักลงทุนฟูลไทม์อยู่ 2 ท่าน ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นความต่าง ท่านแรกเคยเป็นนักวิเคราะห์มือดีของโบรกเกอร์ดังแห่งหนึ่ง รอบรู้สารพัดที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์หุ้น ส่วนอีกท่านหนึ่งเป็นเซียนหุ้นหลายร้อยล้าน ผู้ชำนาญในการทำกำไร
ท่านแรกก็อยู่ในตลาดมาพอสมควร โดยเริ่มจากการเป็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ วิธีการเล่นหุ้นของท่านก็คือ ก่อนที่ท่านจะตัดสินใจเลือกลงทุนในหุ้นตัวไหน ท่านจะทำการศึกษากิจการของบริษัทมาเป็นอย่างดี แล้วค้นหารายชื่อผู้ถือหุ้น อ่านดูนโยบายบริษัทและนโยบายเงินปันผล แล้วทำการวิเคราะห์งบการเงิน แล้วเปรียบเทียบอัตราส่วนทางการเงิน เพื่อให้ทราบแนวโน้ม แล้วทำประมาณการกำไรขาดทุนจากการดำเนินงาน จากนั้นทำการประมาณการกระแสเงินสด เพื่อคำนวณหามูลค่ากิจการ เมื่อได้มูลค่ากิจการแล้ว จึงนำเอาจำนวนหุ้นมาหาร ผลลัพธ์ที่ได้คือ ราคาที่ควรจะเป็นต่อหุ้น
ปรากฏว่าเมื่อท่านได้ราคาที่ควรจะเป็นออกมาแล้วกลับทำใจซื้อไม่ลงอีก เพราะมีคนลุยซื้อไปตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วจนราคาขึ้นไปมาก สูงกว่าราคาที่ควรจะเป็นไปซะแล้ว ท่านเลยต้องเริ่มต้นทำการศึกษาหาหุ้นตัวอื่นแทน
ท่านที่สองคือ เสี่ย ม. ขออภัยที่ต้องพาดพิง …… เสี่ย ม. มีประสบการณ์สูงในตลาด ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย ท่านเป็นประเภท “Low profile, High Profit” ไม่โอ้อวด ไม่ขี้โม้ ชอบเก็บตัวอยู่ในห้อง VIP เล็กๆ แต่เก็บโกยกำไรมหาศาล แปลงตลาดหุ้นเป็นเครื่อง ATM ส่วนตัว วันแล้ววันเล่า …… ในช่วงตลาดดีๆ เทรดไปได้กว่าพันล้านบาทต่อเดือน
กลยุทธ์หลักของ เสี่ย ม. คือ “ยิ่งขึ้น ยิ่งซื้อ” ซึ่งความจริงแล้ว ก็เป็นกลยุทธ์เดียวกันกับเสี่ยพันล้านทั้งหลายที่เคยเรียนร่วมชั้นกันมา ไม่ว่าจะเป็น เสี่ย “ย.” หรือ เสี่ย “ป.” ผู้โด่งดัง
แต่ดูเหมือนว่า กลยุทธ์นี้จะตรงข้ามกันสุดโต่งกับวิธีการเล่นของคนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้น
คนสติปัญญาน้อยๆอย่างผมก็ไม่แน่ใจว่านี่เป็นอีกปัจจัยนึงหรือเปล่า ที่ทำให้เซียนต้น นักลงทุนรุ่นเยาว์ เศรษฐีหุ้นฟูลไทม์อายุ 29 สรุปว่า
“คนเล่นหุ้นเจ๊งมีมากกว่าคนเล่นหุ้นแล้วรวย คนส่วนใหญ่ชอบเข้าซื้อหุ้นตอนที่เขาเลิกเล่นกันหมดแล้ว เพราะมีความรู้สึกว่าซื้อได้ถูกลง”
แต่ที่แน่ๆ เสี่ยทั้งหลายใช้กลยุทธ์นี้กันทุกคน ไม่มียกเว้น
เดี๋ยวไปฟังเสี่ย ม. มั่ง แกคิดยังไง ทำไมยิ่งขึ้นต้องยิ่งซื้อ
“นี่นะคุณ ถ้ายิ่งซื้อยิ่งขึ้น ยิ่งซื้อยิ่งแพง แปลว่า หุ้นกำลังจะทะยานขึ้น เงินกำลังวิ่งเข้า”
“ก่อนที่เขาจะไล่ซื้อตัวไหนกันมากๆ เขาวิเคราะห์มาหมดแล้ว เราแค่เกาะกระแสเงินเขาไปก็พอ หาให้เจอว่าเงินกำลังวิ่งไปที่ไหน” ความลับของเสี่ยหุ้นที่มวลชนส่วนใหญ่ไม่อยากรู้ ถูกเปิดเผย
“ถ้าผมซื้อไปแล้วมันลง แล้วยังลงอีกให้ผมได้ซื้ออีกเรื่อยๆนะ ซวยแล้ว คุณรู้เปล่า ถ้ายิ่งซื้อได้ถูกลง ผมจะหยุดเลย สงสัยเราจะผิดแล้ว แล้วถ้ายังลงมาให้ซื้อได้ถูกลงเรื่อยๆอีก ผมขายทิ้งหมด” เสี่ย ม. เผยกลยุทธ์กล้วยๆที่ฝืนความรู้สึกของคนทั่วไป
ยิ่งกลัวยิ่งขึ้น ยิ่งกล้ายิ่งลง
จากคุณ |
:
กองกำลังปั้นฝัน
|
เขียนเมื่อ |
:
16 มิ.ย. 53 14:11:13
|
|
|
|
|