Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
"รายละเอียดการทดสอบภาวะวิกฤติภาคธนาคารยุโรป"  

xBT> EUROPE:ปุจฉา-วิสัชนา "รายละเอียดการทดสอบภาวะวิกฤติภาคธนาคารยุโรป"
       บรัสเซลส์--12 ก.ค.--รอยเตอร์

       ประเทศต่างๆในสหภาพยุโรป (อียู) จะดำเนินการทดสอบภาวะวิกฤติ  
(stress test) ในธนาคารหลายแห่งและจะเปิดเผยผลการทดสอบในวันที่ 23  
ก.ค. โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำให้ตลาดการเงินมีความมั่นใจในสถานะของระบบ
การธนาคารของอียู
       ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับการทดสอบภาวะวิกฤติ:-

       * ธนาคารแห่งใดบ้างที่จะได้รับการทดสอบ
       ธนาคาร 91 แห่งที่ครองส่วนแบ่ง 65 % ในภาคธนาคารของยุโรป  
โดยมีตั้งแต่ธนาคารดอยช์ แบงก์ของเยอรมนีจนถึงธนาคารแบงก์ ออฟ วาลเลตตา
ของประเทศมอลตา และรวมถึงธนาคารระดับภูมิภาค 7 ใน 8 แห่งของเยอรมนี
ด้วย โดยธนาคารระดับภูมิภาคเพียงแห่งเดียวที่ไม่ได้เข้าร่วมไว้ในการทดสอบครั้งนี้
คือธนาคารซาร์ (Saar) ที่มีขนาดเล็กมาก ขณะที่ธนาคารออมทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียน
ในตลาดของสเปน หรือ caja ทั้ง 45 แห่งจะเข้ารับการทดสอบในครั้งนี้ โดยจะเข้า
รับการทดสอบในสถานะที่เหมือนกับว่าแผนการควบรวมกิจการธนาคารกลุ่มนี้ได้เสร็จสิ้น
ลงแล้ว ซึ่งแผนควบรวมดังกล่าวจะส่งผลให้จำนวน caja ลดลงครึ่งหนึ่ง
       ในประเทศสมาชิกอียูแต่ละประเทศนั้น ธนาคารที่เข้ารับการทดสอบจะเริ่ม
ตั้งแต่ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศนั้นและธนาคารลำดับรองลงไปเรื่อยๆจนกระทั่ง
ครอบคลุมส่วนแบ่งอย่างน้อย 50 % ในภาคธนาคารของประเทศดังกล่าว
       ในตอนแรกนั้น ผู้ควบคุมกฎระเบียบของอียูวางแผนที่จะทดสอบเพียงแค่
ธนาคารข้ามพรมแดนขนาดใหญ่ 25 แห่ง แต่คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) และ
คณะกรรมการผู้กำกับดูแลธนาคารยุโรป (CEBS) กดดันแต่ละประเทศให้เพิ่ม
จำนวนธนาคารที่เข้ารับการทดสอบ

       * วิธีการทดสอบเป็นอย่างไร
       หน่วยงานกำกับดูแลของแต่ละประเทศ ซึ่งรวมถึงหน่วยงาน Bafin  
ของเยอรมนีจะทำการทดสอบ ซึ่งจะประสานงานโดย CEBS ซึ่งเป็นกลุ่มผู้กำกับ
ดูแลด้านการเงินที่ตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน  
       การทดสอบจะจำลองวิธีการรับมือของธนาคารต่อแรงกดดันทางการเงิน
ที่มีต่อเงินกู้และสินทรัพย์อื่นๆในภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ย่ำแย่ลง โดยจะมีการเปิด
เผยผลการทดสอบสำหรับธนาคารแต่ละราย อย่างไรก็ดี ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการ
เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนจะอยู่ในระดับที่มากเพียงใด โดยคาดกันว่าการกำหนด
รายละเอียดในเรื่องนี้จะเสร็จสิ้นลงในวันที่ 12-13 ก.ค. ซึ่งเป็นวันที่รัฐมนตรีคลัง
อียูมาประชุมกันที่กรุงบรัสเซลส์
       สถานการณ์ในการทดสอบครั้งนี้จะเป็นการตั้งข้อสมมุติว่ามูลค่าผลิตภัณฑ์
มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของอียูได้หลุดจากกรอบราว 3 % จากตัวเลข
คาดการณ์ของอีซีในช่วง 2 ปีข้างหน้า และจะเป็นการสมมุติว่าเกิด "ภาวะตื่น
ตระหนกเกี่ยวกับหนี้สินรัฐบาล" ขึ้น โดยในสถานการณ์ดังกล่าวนี้ ราคาพันธบัตร
รัฐบาลบางรายการจะร่วงลงไปอีกจากระดับที่ตกต่ำในช่วงต้นเดือนพ.ค.  
ขณะที่แหล่งข่าวกล่าวว่า พันธบัตรรัฐบาลกรีซจะถูกปรับลดราคาลง 16-17 %  
จากระดับในช่วงต้นเดือนพ.ค. ซึ่งนั่นหมายความราคาพันธบัตรดังกล่าวจะลดลง
ราว 40 % จากระดับปัจจุบันในการทดสอบครั้งนี้
       ธนาคารต่างๆจะได้รับการทดสอบเรื่องความแข็งแกร่งของเงินกองทุน
ขั้นที่ 1 (Tier 1 capital) ซึ่งเป็นตัววัดสำคัญสำหรับความแข็งแกร่งทางการเงิน  
โดยธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ต้องการที่จะดูว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 ต่อ
สินทรัพย์จะยังคงอยู่เหนือระดับอ้างอิงขั้นต่ำที่ 6 % ของสินทรัพย์ในระหว่างการ
ทดสอบหรือไม่ ทั้งนี้ ถึงแม้อัตราที่ใช้ในการทดสอบนี้อยู่สูงกว่าระดับขั้นต่ำทาง
กฏหมายที่ 4 % แต่ก็อยู่ต่ำกว่าระดับที่ผู้ถือหุ้นธนาคารส่วนใหญ่พอใจ โดยขณะนี้
ดอยช์แบงก์มีอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์สูงกว่า 11%  
       
       * จะมีการเปิดเผยผลการทดสอบเมื่อใด  
       จะมีการเปิดเผยผลการทดสอบในวันที่ 23 ก.ค.

       * การทดสอบมีแนวโน้มที่จะบ่งชี้อะไร  
       การทดสอบธนาคารขนาดใหญ่ 25 แห่งนั้นคาดว่าจะไม่บ่งชี้ถึงปัญหาที่รุนแรง  
โดยธนาคารเหล่านี้มีความแข็งแกร่งขึ้นโดยรวมนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินโลกในปี  
2007-2009 และยังคงมีความสามารถที่จะระดมทุนจากตลาดเงินทุนภาคเอกชน  
โดยแหล่งข่าวกล่าวว่าธนาคารดอยช์ แบงก์, คอมเมิร์ซแบงก์ และบาเยิร์นของ
เยอรมนีได้ผ่านการทดสอบไปแล้ว
       มีความวิตกอย่างมากเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ผลการทดสอบครั้งนี้
จะแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอในงบดุลบัญชีของธนาคารชั้นสองและชั้นสามที่มี
ขนาดเล็ก ซึ่งรวมถึงธนาคารระดับภูมิภาคของเยอรมนีและธนาคารออมทรัพย์
ของสเปน โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า รัฐบาลในแต่ละแคว้นของเยอรมนี
ซึ่งเป็นเจ้าของธนาคารระดับภูมิภาค ไม่ได้เปิดเผยถึงปัญหาของธนาคารกลุ่มนี้
อย่างเต็มที่ในช่วงที่ผ่านมา
       ธนาคารจำนวนมากในกรีซและโปรตุเกสไม่สามารถเข้าถึงตลาดทุน
ภาคเอกชนในช่วงที่เกิดวิกฤติหนี้สินในประเทศตน และต้องขอเงินกู้จากอีซีบี
ในช่วงที่ผ่านมา
       อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่จากอีซีบีและรัฐบาลต่างๆในอียูได้ยืนยันว่า  
การทดสอบภาวะวิกฤติจะแสดงว่าระบบการธนาคารของยุโรปมีความแข็งแกร่ง
โดยพื้นฐาน โดยนางคริสติน ลาการ์ด รมว.เศรษฐกิจฝรั่งเศสกล่าวว่า  
"และคุณก็จะได้เห็นว่าธนาคารในยุโรปมีความแข็งแกร่งและอยู่ในสถานะที่ดี"
       นักวิเคราะห์และนักการธนาคารหลายรายเชื่อว่า ในการเพิ่ม
ความน่าเชื่อถือของการทดสอบครั้งนี้โดยไม่ทำให้ตลาดตื่นตระหนกกับผล
การทดสอบนั้น ผู้ควบคุมกฎระเบียบจะเปิดเผยผลการทดสอบที่แสดงให้เห็น
ถึงปัญหาในแต่ละจุดที่ไม่เกี่ยวข้องกันในธนาคารบางแห่ง แต่ปัญหาดังกล่าว
จะไม่ร้ายแรงมากพอที่จะเป็นภัยคุกคามต่อระบบการธนาคารทั้งประเทศ
       
       * การทดสอบจะเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับตลาดหรือไม่    
       การทดสอบภาวะวิกฤติในวงจำกัดต่อธนาคารยุโรปจำนวนไม่กี่แห่ง
ในปีที่แล้วไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดได้ และไม่ได้มีการเปิดเผย
ผลการทดสอบของธนาคารแต่ละแห่งออกมาด้วย
       การทดสอบครั้งใหม่นี้มีความใกล้เคียงกับการทดสอบภาวะวิกฤติ
ในธนาคารสหรัฐ ทั้งในด้านขอบเขต, ความเข้มงวดและความโปร่งใส  
โดยการทดสอบในสหรัฐในครั้งนั้นประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งในการ
คลายความวิตกของนักลงทุน      
       อย่างไรก็ดี อาจจะเกิดความเสียหายขึ้นได้ถ้าหากนักลงทุนมองว่า
สถานการณ์ที่ใช้ในการทดสอบเป็นสถานการณ์ที่ไม่เลวร้ายมากพอ หรือถ้าหาก
มีการเปิดเผยผลการทดสอบเพียงบางส่วนต่อสาธารณชน เพราะการทำเช่นนี้
จะทำให้นักลงทุนมองว่าการทดสอบในครั้งนี้เป็นเพียงความพยายามปั่นความเห็น
ในตลาด และปกปิดปัญหาที่ฝังรากลึกอยู่ในระบบธนาคาร ซึ่งถ้าหากนักลงทุน
มองเช่นนี้ การทดสอบในครั้งนี้ก็จะส่งผลให้ความกังวลในตลาดเพิ่มสูงขึ้น
       อาจมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการที่ใช้ในการทดสอบครั้งนี้  
ยกตัวอย่างเช่น "ภาวะตื่นตระหนกเกี่ยวกับหนี้สินรัฐบาล" ที่ใช้ในการทดสอบ
ครั้งนี้ไม่ใช่สถานการณ์ที่ประเทศสมาชิกยูโรโซนผิดนัดชำระหนี้อย่างเต็มที่  
ขณะที่ธนาคารบางแห่งอาจหลีกเลี่ยงการรับรู้ยอดขาดทุนทางพันธบัตรใน
สถานการณ์ดังกล่าวด้วยการระบุว่า ทางธนาคารจะถือครองพันธบัตร
ดังกล่าวจนครบกำหนดไถ่ถอน แทนที่จะปรับลดราคาพันธบัตรในบัญชีลง
ตามราคาในตลาด
      สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างธนาคารสหรัฐกับธนาคารยุโรปในการ
ทดสอบภาวะวิกฤติก็คือว่า ปัญหาสำคัญสำหรับธนาคารยุโรปหลายแห่งไม่ใช่
คุณภาพของงบดุล แต่เป็นความสามารถในการระดมทุนด้วยอัตราดอกเบี้ย
ที่ไม่สูงเกินไป โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้นระหว่างธนาคารพุ่งขึ้นมา
แล้วเกือบ 0.20 % ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา ในขณะที่อีซีบีเริ่มต้นปรับลด
ระยะเวลาในการปล่อยกู้แก่ธนาคารในยุโรป และตลาดคาดว่าอีซีบีจะยุติ
นโยบายอัดฉีดเงินทุนอย่างไม่จำกัดจำนวนในเวลาไม่กี่เดือนข้างหน้า  
       เมื่อผลการทดสอบออกมา นักลงทุนจะต้องการดูว่า รัฐบาลของ
แต่ละประเทศจะเต็มใจและสามารถดำเนินการอย่างรวดเร็วในการแก้
ปัญหาใดๆ ที่ตรวจพบหรือไม่ ถ้าหากธนาคารไม่สามารถระดมทุนได้มาก
พอจากตลาด
       เจ้าหน้าที่อีซีบีได้เรียกร้องให้ประเทศต่างๆรับประกันว่า
มีโครงข่ายความปลอดภัยทางการเงินฉุกเฉินเพื่อสกัดกั้นการล้มละลาย
อย่างไม่เป็นระเบียบของธนาคารต่างๆที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย
การดำรงเงินกองทุนที่ 6% ในการทดสอบ  
       เนื่องจากงบดุลในภาคธนาคารมีความซับซ้อนและมีความ
ไม่แน่นอนเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่ตลาดอาจจะไม่
มั่นใจในภาคธนาคาร จนกว่าเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในยุโรป
จะเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ซึ่งกระบวนการนี้อาจกินเวลา  
1-2 ปีในประเทศทางตอนใต้ของยุโรป

       * รัฐบาลจะสามารถรับมือกับปัญหาที่ได้รับการเปิดเผย
ในผลการทดสอบครั้งนี้หรือไม่
       ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะสามารถรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้  
ถึงแม้ว่ากระบวนการนี้อาจจะต้องใช้เงินจำนวนมาก, ใช้เวลานาน  
และก่อให้เกิดความคิดเห็นขัดแย้งในทางการเมือง
       รัฐบาลต่างๆระบุว่า รัฐบาลได้สร้างโครงข่ายความปลอดภัย
แล้ว หรือเต็มใจที่จะดำเนินการต่อไปเพื่อปกป้องระบบการเงินหาก
จำเป็น      
       สเปนเป็นตัวอย่างหนึ่งในเรื่องนี้ โดยมีการจัดตั้งกองทุน
สำหรับการปรับโครงสร้างธนาคารเมื่อ 1 ปีที่แล้ว โดยมีทุนขั้นแรก  
9 พันล้านยูโรและสามารถกู้ยืมอีก 9 หมื่นล้านยูโรในตลาดตราสารหนี้
ที่รัฐบาลค้ำประกัน  
       แหล่งข่าวกล่าวว่า ถ้าหากธนาคารแห่งใดแห่งหนึ่งของเยอรมนี
ไม่ผ่านการทดสอบ ธนาคารกลางเยอรมนีจะขอให้ธนาคารดังกล่าวกู้เงิน
จากตลาดทุน หรือกู้เงินจากกองทุน Soffin ของเยอรมนี ซึ่งยังคงมีเงิน
ราว 3 แสนล้านยูโรอยู่ในกองทุน
       ภายใต้ข้อตกลงกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)  
นั้น รัฐบาลกรีซได้เตรียมออกกฏหมายเพื่อจัดตั้งกลไกสนับสนุนเงินทุน 1 หมื่น
ล้านยูโรสำหรับธนาคารต่างๆในกรณีที่อัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงลดลง  
และธนาคารดังกล่าวไม่สามารถระดมทุนจากตลาด
       นายโอลลี เรห์น กรรมาธิการเศรษฐกิจและการเงินของอียู  
กล่าวในวันที่ 5 ก.ค.ว่า ถ้าหากรัฐบาลประเทศใดขาดแคลนเงินทุนที่จะ
ใช้ในการเพิ่มทุนให้แก่ธนาคาร รัฐบาลประเทศนั้นก็จะสามารถกู้เงินจาก
วงเงินปล่อยกู้ฉุกเฉินจำนวน 5 แสนล้านยูโรที่อียูจัดตั้งไว้ในเดือนพ.ค.
ที่ผ่านมา
       สินเชื่อดังกล่าวอาจต้องใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ในการเตรียมการ  
แต่โครงการที่ได้รับการจัดตั้งในเดือนพ.ค.ระบุว่า อีซีบีสามารถเข้าแทรกแซง
ตลาดทุนได้ในทันทีเพื่อลดปัญหาด้านการระดมทุน โดยใช้วิธีเข้าซื้อพันธบัตร
ที่ธนาคารดังกล่าวถือครองไว้หรือพันธบัตรของประเทศที่ประสบปัญหา--จบ--  

       (รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปล; ก้องเกียรติ กอวีรกิติ เรียบเรียง)      
       ((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 0-2648-9741;    
Reuters Messaging: jit.phokaew.reuters.com@reuters.net))

จากคุณ : longde
เขียนเมื่อ : 12 ก.ค. 53 18:49:15




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com