ประเทศไทยอยู่จุดไหน..? ใน "ทฤษฎีการลงทุนประยุกต์"
|
|
บรรยากาศการลงทุนใน ตลาดหุ้นไทยยังคงคึกคัก ด้วยปริมาณการซื้อขายที่สูงเกินกว่า 2.8 หมื่นล้านบาททุกวัน
แม้ว่า นักลงทุนต่างชาติ จะไม่เข้ามาซื้อหุ้นในประเทศไทยในระยะ 1 เดือนที่ผ่านมา การปรับตัวขึ้นของ SET ยังดูโดดเด่นเมื่อเทียบกับภูมิภาคเอเชีย จากต้นปีดัชนีตลาดหุ้นไทยขยับสูงขึ้น 12.7% เทียบกับดัชนีโดยรวมของตลาดหุ้นเอเชียลดลงไป 5.6% หากดูผลตอบแทนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยหลังเหตุการณ์การประท้วงจบสิ้นในวันที่ 19 พฤษภาคมพบว่าเพิ่มขึ้น 8.3% ขณะที่ดัชนีเอเชียโดยรวมเพิ่มขึ้น 3.3%
ผม ได้อ่านงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ และคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อการลงทุน โดยผู้เขียนได้นำทฤษฎีการลงทุนประยุกต์ระหว่างภาพ เศรษฐกิจ และภาพตลาดการเงินเชื่อมโยงกัน ผู้อ่านลองพิจารณากันครับสถานการณ์ขณะนี้ เศรษฐกิจประเทศไทย และตลาดหุ้นกำลังอยู่ในเงื่อนไขใด
เราสามารถแบ่ง ความเชื่อมโยงของทั้งสองปัจจัยออกมาได้ 5 เงื่อนไข
กรณีแรก คือ ภาพเศรษฐกิจดี ตัวเลขดัชนีชี้วัดยังแสดงถึงการขยายตัวที่แข็งแกร่ง และขยายตัวต่อเนื่อง ตลาดการเงินดี แรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อต่ำ ในเงื่อนไขกรณีแรกนี้ ตลาดตราสารหนี้ค่อนข้างคงที่ ตลาดหุ้นปรับตัวได้ดีโอกาสทำกำไรจากการลงทุนในตลาดหุ้นยังเปิดกว้าง
กรณี ที่สอง คือ ภาพเศรษฐกิจดี ตัวเลขดัชนีชี้วัดยังแสดงถึงการขยายตัวที่แข็งแกร่ง และขยายตัวต่อเนื่องเช่นในกรณีแรก แต่ตลาดการเงินเริ่มตระหนักถึงภาวะอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มก่อตัวขึ้น ในกรณีที่สองนี้ การลงทุนในตลาดทุน และตลาดเงินจะเริ่มระมัดระวังต่อความเสี่ยง การคาดการณ์ต่ออัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในอนาคตจะเริ่มสะท้อนสู่ราคา พันธบัตรให้ปรับตัวลง (อัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้น) ราคาหุ้นจะเริ่มถดถอยขึ้นวัน-ลงวัน หรืออาจตกลงแรงในระยะเวลาหนึ่งจนกว่านโยบายการเงินที่เข้มงวดจะเริ่มหยุด
กรณี ที่สาม คือ ยุคทอง ภาพเศรษฐกิจ และการเงินสดใส เศรษฐกิจขับเคลื่อนดี การใช้กำลังการผลิตอยู่ใกล้ระดับเต็มกำลังการผลิต อัตราการว่างงานต่ำ การบริโภค และการผลิตอยู่ในระดับสมดุล ภาวะการลงทุนในเงื่อนไขนี้จะค่อนข้างอ่อนไหวต่อข่าว หรือดัชนีตัวเลขเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณว่าร้อนแรง นักลงทุนจะติดตามข่าวการเคลื่อนไหวทางด้านนโยบายการเงินใกล้ชิด ตลาดทุน และการเงินผันผวน
กรณีที่สี่ คือ ตัวเลขเศรษฐกิจหลายประเภทเริ่มส่งสัญญาณถดถอย การบริโภค การผลิตเริ่มตกลง อัตราการเลิกจ้างงานสูงขึ้น ข่าวทางตลาดการเงินไม่สู้ดี ภาวะในกรณีนี้ การลงทุนในตลาดตราสารหนี้จะคึกคัก ราคาพันธบัตรจะถีบตัวสูงขึ้น เพราะนักลงทุนจะคาดการณ์ถึงธนาคารกลางต้องมีการลดอัตราดอกเบี้ย ตลาดหุ้นแย่ เพราะกำไรบริษัทจดทะเบียนตกอย่างรุนแรง การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะแรกไม่สามารถหยุดการขายหุ้นของนักลงทุนได้
กรณี สุดท้าย คือ ตัวเลขเศรษฐกิจแย่สุด ๆ แต่สภาพคล่องการเงินสูง เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ หยุดนิ่ง แต่มีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้เนื่องจากดัชนีเศรษฐกิจทุกประเภทได้ผ่านจุดต่ำสุด ไปแล้ว ตลาดตราสารหนี้จะเริ่มชะลอ แต่สามารถทรงตัวได้จากเงื่อนไขสภาพคล่องการเงินดี อัตราดอกเบี้ยตกลงใกล้จุดต่ำสุด การคาดการณ์ต่อกำไรบริษัทจดทะเบียนจะดีขึ้น นักวิเคราะห์ปรับตัวเลขประมาณการกำไร ราคาหุ้นฟื้นตัวดีและให้ผลตอบแทนสูง
ผม หวังว่านักลงทุนเมื่ออ่านทฤษฎีการลงทุนประยุกต์จบแล้ว ก็น่าจะสามารถนำมาใช้กับการลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้ดีด้วย ลองพิจารณาดูครับว่าประเทศไทยของเราขณะนี้ กำลังอยู่ในภาวะเงื่อนไขใด เราจะได้บริหาร และวางกลยุทธ์พอร์ตลงทุนของเราได้ถูกต้องครับ
ชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ กล้าคิดกล้า ลงทุน / ผู้ช่วยกรมการผู้อำนวยการ บล.บัวหลวง http://www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/chaiyaporn/20100719/343519/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99..--%E0%B9%83%E0%B8%99-%E0%B8%97%E0%B8%A4%E0%B8%A9%E0%B8%8E%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B9%8C.html
จากคุณ |
:
ขอบฟ้าบูรพา
|
เขียนเมื่อ |
:
19 ก.ค. 53 22:48:46
|
|
|
|