|
ความคิดเห็นที่ 3 |
xBT> USA:"โอบามา"เตรียมลงนามกฎหมายปฏิรูปภาคการเงินฉบับประวัติศาสตร์ในวันพุธหน้า
วอชิงตัน--17 ก.ค.--รอยเตอร์
ทำเนียบขาวเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบามาจะลงนามรับรอง กฎหมายปฏิรูปภาคการเงินฉบับประวัติศาสตร์ในวันที่ 21 ก.ค.นี้ ทั้งนี้ สภาคองเกรสสหรัฐให้ความเห็นชอบต่อร่างกฎหมายปฏิรูปกฎระเบียบ ทางการเงินที่มีความครอบคลุมมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่แล้ว และได้ยื่นต่อปธน.โอบามาเพื่อลงนามรับรองเป็นกฎหมาย วุฒิสภาได้ลงมติเมื่อวันพฤหัสบดีด้วยคะแนน 60 ต่อ 39 เห็นชอบมาตรการ ครั้งใหญ่ในการปรับกฎระเบียบในภาคการเงินให้เข้มงวดขึ้นเพื่อป้องกันการซ้ำรอย วิกฤติการเงินดังเช่นในปี 2007-2009 อีกครั้ง ที่ผ่านมา ภาคธุรกิจในย่านวอลล์สตรีทพยายามขัดขวางเพื่อล้มกฏหมาย ดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแทบทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมการเงิน โดยกฏหมาย ฉบับนี้จะให้การคุ้มครองต่อผู้บริโภค, ให้อำนาจมากขึ้นต่อผู้ควบคุมกฏระเบียบในการ ปิดกิจการบริษัทที่มีปัญหา และจำกัดขอบเขตกิจกรรมการซื้อขายที่มีความเสี่ยงที่จะ กระทบต่อผลกำไรของภาคธนาคาร วุฒิสภาใช้เวลามากกว่า 1 ปีในความพยายามออกกฏหมายฉบับนี้ หลังปธน.โอบามาเสนอการปฏิรูปในเดือนมิ.ย.2009 ขณะที่สภาผู้แทนราษฎร สหรัฐได้อนุมัติร่างกฏหมายดังกล่าวเมื่อเดือนที่แล้ว อย่างไรก็ดี ผลการสำรวจออนไลน์ของบริษัท Ipsos Public Affairs ระบุว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับร่างกฎหมายปฏิรูปกฎระเบียบทางการเงิน ของสหรัฐ ผลการสำรวจพบว่า ชาวอเมริกัน 38% ไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับการปฏิรูป ภาคการเงิน และ 33% เคยได้ยินเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่แทบไม่ทราบอะไรเลยเกี่ยวกับ ร่างกฎหมายดังกล่าว ส่วนอีก 18% กล่าวว่า พวกเขาทราบ"เล็กน้อย" เกี่ยวกับ ร่างกฎหมายนี้ ขณะที่มีเพียง 3% ที่มีความคุ้นเคยอย่างมากกับร่างกฎหมายดังกล่าว และ 8% ค่อนข้างคุ้นเคย ในบรรดาผู้ที่ทราบเกี่ยวกับการปฏิรูปภาคการเงิน ราว 1 ใน 3 กล่าวว่า พวกเขาไม่ทราบมากพอที่จะกล่าวถึงผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจ, การใช้จ่าย, การลงทุน และเสถียรภาพทางการเงิน ต่อไปนี้เป็นเนื้อหาสำคัญในร่างกฎหมายฉบับนี้ที่มีความยาว 2,300 หน้า:-
มาตรา 1 -- ความเสี่ยงต่อระบบ จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการผู้ควบคุมกฎระเบียบที่มีรัฐมนตรีคลังทำหน้าที่ เป็นประธาน โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีชื่อเรียกว่า คณะกรรมการกำกับดูแลเสถียร ภาพทางการเงิน (The Financial Stability Oversight Council) และ จะมีหน้าที่สอดส่องดูแลความเสี่ยงในระบบการเงินในวงกว้าง โดยทางคณะกรรมการ จะระบุว่าบริษัทใดบ้างที่เป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพ และจะให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เข้ามาคุมเข้มการกำกับดูแลบริษัทแห่งนั้น ซึ่งเฟดและคณะกรรมการชุดนี้ สามารถดำเนินการแตกกิจการบริษัทที่ไม่ตอบรับต่อมาตรการข้างต้นและเป็นภัย คุกคามอย่างเร่งด่วนต่อระบบ
มาตรา 2 -- การยุติมาตรการกอบกู้กิจการ ร่างกฎหมายนี้จะจัดตั้งกระบวนการ "ขายทอดกิจการอย่างเป็นระเบียบ" เพื่อให้รัฐบาลสหรัฐนำมาใช้ในกรณีฉุกเฉิน โดยรัฐบาลจะนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ ในการดำเนินการแตกกิจการบริษัทที่ใกล้จะล้มละลาย แทนที่จะใช้กระบวนการล้มละลาย หรือมาตรการเข้าช่วยเหลือกอบกู้บริษัทแห่งนั้น เป้าหมายของมาตรการนี้คือการยุติความเชื่อที่ว่า บริษัทบางแห่งมี "ขนาด ใหญ่เกินกว่าที่จะปล่อยให้ล้มละลาย" และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบในปี 2008 ขึ้นอีก โดยในขณะนั้น ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชได้เข้าฟื้นฟู บริษัท AIG และบริษัทอื่นๆ แต่ไม่ได้เข้ากอบกู้บริษัทเลห์แมน บราเธอร์ส และการ ล้มละลายของเลห์แมนในเวลาต่อมาก็ส่งผลให้ตลาดทุนเข้าสู่ภาวะชะงักงัน ภายใต้กฎใหม่นี้ บริษัทต่างๆจำเป็นต้องมี "แผนปิดกิจการ" โดยแผน ดังกล่าวจะระบุถึงวิธีการที่สามารถนำมาใช้ในการปิดกิจการบริษัทดังกล่าวได้อย่าง รวดเร็ว ต้นทุนที่บรรษัทประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) จะนำ มาใช้ในการดำเนินกระบวนการขายทอดกิจการนี้ จะได้รับการชดเชยในระยะสั้น จากวงเงินสินเชื่อของกระทรวงการคลังสหรัฐ และได้รับการชดเชยในเวลาต่อมา จากการขายสินทรัพย์ของบริษัทดังกล่าว และถ้าหากยังคงมีต้นทุนบางส่วนที่ยังไม่ได้ รับการชดเชย ต้นทุนดังกล่าวก็จะได้รับการชดเชยด้วยการเรียกคืนเงินที่จ่ายให้แก่ เจ้าหนี้ที่สูงเกินกว่ามูลค่าในการขายทอดกิจการ และจากค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บ จากบริษัทขนาดใหญ่แห่งอื่นๆ FDIC สามารถค้ำประกันหนี้สินของธนาคารที่มีประกันและมีความสามารถ ในการชำระหนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกระแสการแห่ถอนเงินออกจากธนาคาร อย่างไรก็ดี FDIC สามารถกระทำสิ่งนี้ได้ก็ต่อเมื่อคณะกรรมการของ FDIC และเฟดตัดสินใจแล้วว่าเสถียรภาพทางการเงินกำลังเผชิญกับภัยคุกคาม, กระทรวง การคลังอนุมัติเงื่อนไขในเรื่องนี้ และประธานาธิบดีประกาศใช้กระบวนการเร่งด่วน เพื่อให้สภาคองเกรสอนุมัติเรื่องนี้
มาตรา 3 -- การกำกับดูแลธนาคาร ร่างกฎหมายนี้จะส่งผลให้มีการปิดกิจการสำนักงานกำกับดูแลสถาบันเงินออม (OTS) ของสหรัฐ ซึ่งเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในช่วงก่อนเกิดวิกฤติสินเชื่อในปี 2007-2009 โดยภารกิจส่วนใหญ่ของ OTS จะถูกโอนย้ายไปยังสำนักงานคลัง (OCC) ของสหรัฐ จะมีการสั่งห้ามธนาคารต่างๆจากการดัดแปลงกฎบัตรของตนเพื่อหลีกเลี่ยง มาตรการทางกฎหมาย จะมีการปรับเพิ่มอย่างถาวรสำหรับวงเงินฝากที่ได้รับการค้ำประกันจาก FDIC โดยปรับเพิ่มสู่ 250,000 ดอลลาร์ต่อคน จาก 100,000 ดอลลาร์
มาตรา 4 -- กองทุนเฮดจ์ฟันด์ กองทุนเอกชนและเฮดจ์ฟันด์ที่มีสินทรัพย์ตั้งแต่ 150 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป จำเป็นต้องจดทะเบียนกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลให้ทางกองทุนได้รับการตรวจสอบมากยิ่งขึ้น ที่ปรึกษาทางการลงทุนที่บริหารสินทรัพย์ตั้งแต่ 100 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป จะอยู่ภายใต้กฎระเบียบของรัฐบาลกลางสหรัฐ โดยตัวเลขนี้เป็นการปรับเพิ่มขึ้น จากระดับปัจจุบันที่ 30 ล้านดอลลาร์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะส่งผลให้ บริษัทขนาดเล็กที่เคยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของก.ล.ต. ออกมาอยู่ภายใต้ การกำกับดูแลของรัฐบาลระดับรัฐแทน
มาตรา 5 -- ธุรกิจประกัน จะมีการจัดตั้งสำนักงานแห่งใหม่ของรัฐบาลกลางสหรัฐเพื่อสอดส่อง ดูแลอุตสาหกรรมประกัน แต่สำนักงานแห่งนี้จะไม่ควบคุมกฎระเบียบอุตสาหกรรม ประกัน โดยปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมประกันได้รับการสอดส่องดูแลเพียงแค่ในระดับ รัฐแต่ละรัฐเท่านั้น ซึ่งความเคลื่อนไหวในครั้งนี้จะช่วยลดกระแสต่อต้านการ ควบคุมกฎระเบียบแบบรวมศูนย์ เพราะรัฐบาลกลางสหรัฐจะยังคงไม่มีอำนาจ ที่แท้จริงในการควบคุมอุตสาหกรรมประกัน
มาตรา 6 -- กฎโวล์คเกอร์และมาตรฐานธนาคาร ภายใต้กฎที่เสนอโดยนายพอล โวล์คเกอร์ ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจ ประจำทำเนียบขาว ร่างกฎหมายนี้จะห้ามธนาคารที่ได้รับการสนับสนุนจาก รัฐบาล เข้าซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อบัญชีของธนาคารเอง โดยที่การซื้อขาย ดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความจำเป็นของลูกค้า ซึ่งรายละเอียดบางส่วน ในการบังคับใช้กฎหมายนี้จะได้รับการกำหนดโดยผู้ควบคุมกฎระเบียบในภายหลัง ธนาคารจะสามารถลงทุนในกองทุนเอกชนและเฮดจ์ฟันด์ได้ในระดับ ไม่เกิน 3 % ของเงินกองทุนขั้นที่หนึ่งของธนาคาร กฎโวล์คเกอร์ระบุว่า ถ้าหากธนาคารแห่งใดลงทุนในกองทุนเอกชน หรือเฮดจ์ฟันด์ในระดับที่สูงเกินเพดานใหม่นี้ ธนาคารก็จำเป็นต้องลดการลงทุน ดังกล่าวลงในอนาคต ความสามารถในการขยายกิจการของธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐ จะถูกจำกัดไว้ เนื่องจากจะมีการกำหนดเพดานใหม่ในเรื่องส่วนแบ่งในภาค ธนาคารด้วย สถาบันการเงินนอกภาคธนาคารที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเฟด จะต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องการค้าหลักทรัพย์เพื่อบัญชีของบริษัทเอง และ ข้อจำกัดเรื่องการลงทุนในกองทุนด้วยเช่นกัน บริษัทโฮลดิ้งธนาคารจะมีเวลา 5 ปีในการยุติการนับหลักทรัพย์ กึ่งหนี้กึ่งทุนและตราสารไฮบริดประเภทอื่นๆเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเงินกองทุน ขั้นที่หนึ่ง โดยมาตรการนี้ถือเป็นมาตรการสำคัญในการเสริมความแข็งแกร่ง ให้แก่งบดุลของธนาคาร บริษัทที่มีสินทรัพย์ต่ำกว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สามารถนับตราสาร กึ่งหนี้กึ่งทุนที่ถือครองอยู่ในปัจจุบันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเงินกองทุนขั้นที่หนึ่งได้ แต่ไม่สามารถนับรวมตราสารใหม่ได้ ร่างกฎหมายนี้จะส่งผลให้ธนาคารต้องนับรวมการลงทุนในสินเชื่อ ที่เกิดจากการทำธุรกรรมตราสารอนุพันธ์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเพดานการ ปล่อยกู้ของธนาคารด้วย ร่างกฎหมายนี้ระบุว่า มาตรฐานการดำรงเงินกองทุนของธนาคาร จะต้องไม่ลดต่ำลงไปจากระดับในบัญชีในปัจจุบัน และอาจมีการกำหนดให้ บริษัทที่เป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพทางการเงินต้องปฏิบัติตามเพดานสัดส่วน หนี้ต่อทุนที่ระดับ 15 ต่อ 1 ด้วย ร่างกฎหมายนี้จะกำหนดให้บริษัทโฮลดิ้งธนาคารต้องปฏิบัติตาม มาตรฐานการดำรงเงินกองทุนที่สูงขึ้นเหมือนที่ใช้กับธนาคารในเครือ นักวิเคราะห์คาดว่ากฎโวล์คเกอร์และกฎอื่นๆที่เกี่ยวข้องจะส่ง ผลกระทบต่อผลกำไรของธนาคารบางแห่ง ซึ่งรวมถึงแบงก์ ออฟ อเมริกา, โกลด์แมน แซคส์, มอร์แกน สแตนเลย์ และเจพีมอร์แกน เชส--จบ--
(รอยเตอร์ โดย ก้องเกียรติ กอวีรกิติ แปลและเรียบเรียง)
แก้ไขเมื่อ 20 ก.ค. 53 17:39:01
จากคุณ |
:
longde
|
เขียนเมื่อ |
:
20 ก.ค. 53 16:29:55
|
|
|
|
|