|
ค่าธรรมเนียมธนาคาร บริการลูกค้าแบบหน้าเลือด
|
|
ค่าธรรมเนียมธนาคาร บริการลูกค้าแบบหน้าเลือด
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 3 สิงหาคม 2553 19:27 น.
เป็นการรับน้องที่หนักหน่วง สำหรับ ประสาร ไตรรัตน์วรคุณ ว่าที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ ที่ยังไม่ทันจะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ แต่กลับถูกกระทุ้งทั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สื่อมวลชน นักวิชาการ และสังคม ให้ช่วยดูแลแก้ไขหน่อยเถอะว่า เหตุใดดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝากถึงได้มีช่องว่างมากมาย รวมถึงค่าธรรมเนียมหรือค่าต๋งที่ผู้ใช้บริการไม่เคยเข้าใจว่าทำไมต้องเก็บ เก็บไปให้ใคร แล้วที่เรียกเก็บทุกวันนี้ มันสมเหตุสมผลหรือเปล่า ถ้าไม่ ก็ช่วยทำให้สมเหตุสมผล ไม่เอาเปรียบประชาชนจะได้หรือเปล่า โปรดดูตัวเลขจากรายงานของ ธปท. ต่อไปนี้ พบว่า รายได้ของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายได้จากค่าธรรมเนียมบริการทางการเงิน มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 33,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,400 ล้านบาท จากไตรมาสแรกที่ 31,100 ล้านบาท อาจต้องใช้ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์พอสมควรถึงจะรู้จริงว่าตัวเลขนี้น่าตกใจหรือไม่ แต่กับคนบ้านๆ แน่นอนว่ามันเป็นตัวเลขที่ชวนอกสั่นขวัญแขวน และชวนให้รู้สึกว่ากำลังถูกแบงก์ใหญ่รวมหัวกันรีดเลือดจากปู เมื่อบัตรเอทีเอ็มคือส่วนหนึ่งของชีวิตยุคใหม่ ยากจะเลี่ยงการกดเงินสดหรือการโอนเงินผ่านเอทีเอ็ม แต่ประชาชนไม่เคยเข้าใจว่า ทำไมการทำธุรกรรมผ่านเอทีเอ็มต่างธนาคารจึงต้องเสียค่าธรรมเนียม 25 บาทบ้าง 35 บาทบ้าง หรือทำไมต้องมีค่านับเหรียญ หรือทำไมต้องมีค่ารักษาบัญชีปีละ 200 บาท ฯลฯ และนี่คือเรื่องราวความไม่เข้าใจจำนวนหนึ่งของผู้คนที่เราเดินกระทบไหล่... ค่าธรรมเนียมโหด มีที่มา จากงานศึกษาของ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการด้านนโยบายการแข่งขันทางการค้าและคุ้มครองผู้บริโภค ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจรายสาขา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่า เดิมทีมี บริษัท เอทีเอ็ม พูล จำกัด เป็นบริษัทกลางเพื่อเชื่อมโยงการให้บริการเอทีเอ็มเป็นเครือข่ายข้ามธนาคาร ซึ่งเกิดจากการลงขันของธนาคารพาณิชย์ที่มีตู้เอทีเอ็มให้บริการลูกค้า ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ จำกัด (ITMX) และเป็นผู้กำหนดโครงสร้างค่าใช้จ่ายการให้บริการการโอนบัญชีระหว่างธนาคาร ซึ่งธนาคารที่จะเข้าร่วมจะต้องเสียค่าสมาชิกถึงปีละ 1 ล้านบาท หรือถ้าจ่ายครั้งเดียวก็จะคิดค่าสมาชิก 15 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถใช้บริการเฉพาะถอนเงินสดและสอบถามยอด หากธนาคารสมาชิกต้องการใช้บริการโอนเงินด้วย ต้องชำระเพิ่มอีก 10 ล้านบาท รวมเป็น 25 ล้านบาท และยังมีค่าต่างๆ อีกยิบย่อย ซึ่งแน่นอนว่าภาระค่าใช้จ่ายนี้ จะถูกผลักให้ผู้บริโภคแบกรับผ่านการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม และนี่ก็เป็นที่มาหนึ่งของข้อกล่าวหาว่า ธนาคารพาณิชย์ ฮั้ว กันเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราสูงเกินจริง นักวิชาการอิสระคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การที่ธนาคารอ้างเรื่องต้นทุนที่สูง ทำให้ต้องเก็บค่าธรรมเนียมแพงๆ นั้น อาจกำลังหมายถึงว่า ธนาคารมีการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่ แต่ถ้ามีประสิทธิภาพ แล้วเหตุใดค่าธรรมเนียมจึงสูง หรือว่ากำลังหากำไรเกินกว่าที่ควรจะเป็น การแก้ปัญหาเรื่องค่าธรรมเนียมที่ไม่เป็นธรรมนี้ ดูเหมือนหลายฝ่ายจะเห็นตรงกันว่า จะต้องทำให้เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง เพื่อป้องกันการฮั้วกันเองระหว่างธนาคาร ชีวิตติด (ค่า) ธรรมเนียม เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเล่าให้ฟังว่า การร้องเรียนเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมต่างๆ ของธนาคารมีอยู่บ้าง แต่ถือว่าไม่มากเท่ากับกรณีอื่นๆ เจ้าหน้าที่คนนี้ยกตัวอย่างเรื่องค่านับเหรียญว่า ทำไมต้องมี ในเมื่อเราอยากส่งเสริมให้มีการออม แต่ถ้าเด็กทุบกระปุกออมสินเอาเงินไปฝากกลับต้องถูกชาร์จค่านับเหรียญ เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งของค่าธรรมเนียมที่เด็กรักประหยัดต้องพบพาน เมื่อเติบโตมีการมีงานทำ คุณอาจไม่ต้องเสียค่านับเหรียญอีกต่อไป แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเงินเดือนในบัญชีของคุณจะปลอดภัย ยิ่งเป็นวิถีชีวิตแบบคนเมืองด้วยแล้ว ยิ่งไม่อนุญาตให้คุณมีชีวิตโดยปราศจากค่าธรรมเนียมยิบย่อยของธนาคารที่คุณเปิดบัญชี อย่าง รัตนาพร มีแก้ว หญิงสาววัย 22 ปี พนักงานในบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง เธอมักจะต้องใช้บริการตู้เอทีเอ็มต่างธนาคารอยู่เป็นประจำ เพราะหาตู้เอทีเอ็มของธนาคารตัวเองไม่เจอ จนบางทีเวลาเจอตู้ของธนาคารที่ตนใช้เมื่อไหร่ เป็นต้องวิ่งเข้าไปกดไว้ก่อน แม้ว่าจะมีเงินอยู่ในกระเป๋าจำนวนหนึ่งแล้วก็ตาม ลำบากมากค่ะ บางทีต้องการใช้เงินด่วน ต้องเบิกต่างธนาคารจะรู้สึกเสียดายเงินมาก คิดว่าฝากเงินแล้วยังต้องเสียเงินค่าถอนอีก ถึงจะดูน้อย แค่ครั้งละ 5 บาท แต่หลายๆ ครั้งมันก็ไม่คุ้ม เงินของเรา เราควรจะมีสิทธิที่จะเบิกใช้เมื่อไรก็ได้ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมหักอะไรอีก ตอนนั้นที่ยังไม่ได้ทำงานก็เคยคิดว่ามันหยุมหยิมมากเสียๆ ไปเถอะ แต่พอทำงานแล้ว นี่มันคือเงินของเรา เงินเดือนของเรา ก็รู้สึกเสียดาย ในสภาพดอกเบี้ยออมทรัพย์ไม่ถึง 1 บาท ค่าธรรมเนียม 5 บาท คงสร้างความคับอกคับใจมากเอาการ เวลาเจอตู้ของธนาคารที่เราเปิดบัญชีจะต้องเข้าไปกดไว้ก่อนเลย เพราะตู้มันหายาก กดมาเก็บไว้บางทีก็สามสี่พันบาท เดินๆ ก็กลัวโดนล้วงกระเป๋าอยู่เหมือนกัน แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเราไม่อยากเสียค่าธรรมเนียมอะไรตรงนี้จริงๆ เธอบอกว่าเวลาต้องออกไปทำงานหรือไปเที่ยวต่างจังหวัด เธอจะกดเงินสดไว้ก่อนล่วงหน้า แล้วพกไปเป็นก้อนเลย ไม่ไปกดที่ตู้เอทีเอ็มต่างจังหวัดอีก เพราะเสียแพงมากโดยไม่จำเป็น โอ้โห ครั้งละ 20 บาทนี่ทำเอาอึ้งไปเลยนะ เคยกดอยู่ครั้งหนึ่งเพราะไม่รู้ว่ามันจะเสียมากขนาดนี้ ตอนหลังเวลาต้องออกจากกรุงเทพฯ เราจะกดเงินไว้ก่อนเลย จะไม่ยอมเสียอีกแล้ว แพงไปรับไม่ได้จริงๆ ทั้งๆ ที่มันควรจะอำนวยความสะดวกเรานะ แต่กลายเป็นว่าทำให้เราลำบากใจหนักขึ้น ต้องพกเงินสดทีละมากๆ ถ้าไปเที่ยวไกลๆ นี่พกไปทีละหกเจ็ดพันเลย เหลือดีกว่าขาด ถ้าปีกกล้าขาแข็งขึ้นอีกนิด คุณมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ต้องทำธุรกรรมทางการเงินทั้งในและนอกประเทศ ธนาคารถือเป็นที่พึ่งพิงที่เลี่ยงไม่ได้ ศิริพร ศิริบัญชาชัย เป็นหนึ่งในคนทำธุรกิจซึ่งต้องเสียค่าธรรมเนียมต่างๆ ให้แก่ธนาคารเดือนๆ หนึ่งเป็นจำนวนไม่น้อย มันมีค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ต้องเสียให้ธนาคารมากมาย ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมโอนเงิน การซื้อสมุดเช็ค นั่นทำให้ถ้าเป็นไปได้เราจะใช้เงินสดโอนเข้าธนาคารมากกว่า ส่วนในการรับเงิน ถ้าเรารับมาเป็นเช็คต่างสาขา ต่างธนาคารกัน ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมตามยอดเงินอีก ที่แย่ที่สุดเลยก็คือการโอนเงินระหว่างประเทศ ลูกค้าเราที่ประเทศต้นทางก็เสียค่าธรรมเนียมมาแล้วรอบหนึ่ง ทีนี้พอเราไปกดเงินออกมา เราก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมอีกรอบหนึ่ง เป็นการเสียซ้ำซ้อนสองรอบ โชคไม่ดีที่การทำธุรกิจของศิริพร บางครั้งก็รีรอไม่ได้ จึงเป็นเหตุให้เดือนหนึ่งๆ ค่าธรรมเนียมไม่ใช่ต้นทุนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีต้นทุนที่พ่วงตามมาแบบที่คนไม่ทำธุรกิจคงไม่มีวันรู้ การเสียค่าธรรมเนียมยังอาจหมายรวมถึงเงินอื่นๆ ที่เราต้องเสียไปด้วยนะ อย่างถ้าเราได้เช็คมา แล้วไม่อยากรอการเคลียริ่งก็ต้องเสียค่าน้ำมันขับรถไปขึ้นเช็คที่สาขานั้นของธนาคารที่ระบุเลย เนื่องจากบางทีการทำธุรกิจต้องใช้เงินหมุนเวียน จะรอให้ธนาคารค่อยๆ เคลียริ่งไม่ได้ เพราะบางทีมันก็นานเกินไปกินเวลาเป็นอาทิตย์ก็เคย จะอย่างไรการแบกภาระต้นทุนค่าธรรมเนียมของศิริพรอาจไม่หนักหนาเท่ากับคนหาเช้ากินค่ำอย่าง สมศักดิ์ (นามสมมติ) พนักงานส่งเอกสารของบริษัทแห่งหนึ่ง เขามีประสบการณ์ไม่โสภากับค่าธรรมเนียม โดยเฉพาะในยามชีวิตขัดสน คือผมเป็นคนทำงานกินเงินเดือนปกติที่มีภาระเยอะ มีบางเดือนที่เงินผมไม่พอใช้ ต้องยืมเงินน้องสาวที่อยู่ต่างจังหวัด ซึ่งบางทีในช่วงใกล้สิ้นเดือน ผมไม่มีเงินเหลือสักบาท ก็บอกให้น้องโอนมาให้สัก 500 แต่เนื่องจากน้องสาวผมโอนเงินจากเครื่องฝากเงินอัตโนมัติ ที่ต้องเสียค่าธรรมเนียม 25 บาท ทำให้ผมได้เงินจริงๆ มาแค่ 475 บาท กดมาใช้ได้จริงๆ ก็แค่ 400 เอง ผมจะบอกให้น้องโอนมาสัก 525 บาทก็ไม่ได้เพราะเครื่องฝากเงินมันไม่รับแบงก์ 20 นอกเหนือไปจากนั้น ในการโอนเงินกลับไปให้ที่บ้านในช่วงเวลาฉุกเฉินของเขาก็มีปัญหาเช่นกัน มีครั้งหนึ่งบ้านที่ต่างจังหวัดต้องรีบใช้เงินด่วน ผมซึ่งมีบัตรธนาคาร ก. ต้องโอนเงินไปให้ที่บ้านซึ่งใช้บัญชีของธนาคาร ข. ให้ได้ก่อนเที่ยง ที่ทำงานผมไม่มีตู้เอทีเอ็มของทั้งธนาคาร ก. และ ข. อยู่เลย ผมเลยเอาบัตรเอทีเอ็มธนาคาร ก. ที่มีไปโอนเงินเข้าธนาคาร ข. ผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคาร ค. อาจจะฟังดูงงๆ สักหน่อย แต่พอผมเห็นสลิปที่ออกมาผมงงกว่าอีก เพราะมันหักค่าธรรมเนียมไปสองเท่าเลย แพงมาก แต่ยังไงผมก็ต้องใช้วิธีนี้เพราะไม่มีทางเลือก ไม่มีทางเลือกก็ต้องทน แต่บางคนถึงกับทนไม่ได้ที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเวลากดเอทีเอ็มไม่ตรงตู้ของตัวเอง กฤตพจน์ พงศ์ถิรประสิทธิ์ เป็นหนึ่งในคนจำนวนนั้น เขาย้ายธนาคารเลย โดยสบโอกาสตอนที่ธนาคารแห่งหนึ่งโหมโฆษณาเรื่องกดตู้ไหนก็ไม่เสียค่าธรรมเนียม บวกกับจังหวะนั้น เขาถูกแจ้งจากธนาคารหนึ่งว่า บัญชีไม่มีการเคลื่อนไหว เขาต้องเสีย ค่ารักษาบัญชี ปีละ 200 บาท เขาเลยปิดบัญชีและมาเปิดใหม่ที่ธนาคารแห่งนี้ เราเสียค่าเปิดบัตรครั้งเดียว 500 บาท แล้วใช้ได้ 3 ปี แล้วเขาก็ไม่เก็บค่าอย่างอื่นอีก แล้วยังสามารถกดเงินจากตู้ข้ามธนาคาร ข้ามจังหวัดได้โดยไม่โดนชาร์จใดๆ ก็เลยโอเค คุ้มกว่าปีละสองร้อยแน่นอน ถึงกับยกเลิกของอันเก่าทิ้งลงคลองไปเลย เรารู้สึกว่าการเสียค่าบัตร แล้วต้องมาเสียรายปีอีก มันมากเกินไป ถึงแม้จะมาบอกว่าก็กดที่ตู้ของธนาคารที่เป็นเจ้าของบัตรเลยก็เถอะ แต่บางทีเราไม่มีเวลาเดินหาตู้หรอก ตอนก่อนที่จะเปลี่ยนธนาคารเราก็กดตามสะดวกเลย บางทีก็โดนค่าธรรมเนียมเวลากดต่างตู้ บางทีก็ไม่โดน ก็งง รู้สึกว่าทำไมไม่จัดการให้เป็นระบบเดียวไป ทำให้รู้สึกว่า เราเป็นลูกค้านะ เราเสียเงินซื้อบริการคุณ แต่ทำไมสร้างข้อแม้ให้เราเยอะแบบนี้ ทำให้เราต้องเสียเงินซ้ำซ้อนทั้งที่ไม่ควรจะเสีย
. คงไม่ใช่เรื่อง ที่จะห้ามการเก็บค่าธรรมเนียม เพราะอย่างไรก็ถือเป็นการบริการอย่างหนึ่งที่มีต้นทุน เพียงแต่ความสมเหตุสมผลนั่นต่างหากที่ผู้บริโภคคลางแคลง เป็นสิทธิที่พึงมีพึงได้ของผู้บริโภคมิใช่หรือ ที่ควรจะรู้ราคาของสินค้าและบริการ และก็เป็นหน้าที่ของธนาคารมิใช่หรือ ที่ควรจะชี้แจงรายละเอียดให้สังคมได้เห็นว่า ค่าธรรมเนียมหยุมหยิมที่คุณเรียกเก็บ มีที่มาที่ไปที่เข้าใจกันได้ ปัญหาคือแบงก์แทบจะไม่เคยบอกอะไรเราเลย ถามศิริพรว่า ค่าธรรมเนียมที่เสียไปนั้นเป็นสิ่งที่ชอบธรรมแล้วหรือไม่ โดยส่วนตัวแล้ว เราก็เข้าใจเรื่องค่าธรรมเนียมที่ธนาคารเก็บนะ แต่บางครั้งก็รู้สึกว่ามันมากเกินไป คือเราก็เป็นลูกค้าของธนาคารบางครั้งค่าธรรมเนียมนี่กินไปหลายร้อยเลยนะ ซึ่งเราคิดว่ามันไม่น่าจะต้องเสียเยอะขนาดนั้น
. เรื่อง : ทีมข่าว CLICK ภาพ : ทีมภาพ CLICK
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9530000107319
จากคุณ |
:
-= NAT =-
|
เขียนเมื่อ |
:
4 ส.ค. 53 09:51:57
|
|
|
| |