Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
BTS ยุคงูกินช้าง  

BTS ยุคงูกินช้าง
โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( สิงหาคม 2553)

--------------------------------------------------------------------------------
“พูดง่ายแต่ทำยาก” เป็นวลีที่คีรี กาญจนพาสน์ หรือหว่อง ท่ง ซัน ประธานกรรมการบริหาร BTS Group Holding ย้ำให้ฟังอยู่หลายครั้ง เมื่อถูกถามถึงกระบวนทัศน์และศักยภาพการฟื้นฟูกลุ่มธุรกิจ BTS และธนายงกรุ๊ป

ตลอดสิบปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ หนี้สินลดลงจากหลักแสนล้านเหลือเพียงหมื่นล้านบาท คีรีใช้ยุทธศาสตร์การบริหารธุรกิจยามวิกฤติด้วย Survival Strategies ที่พลิกวิกฤติเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนใหม่ได้อย่างไร?

ปรากฏการณ์ “งูกินช้าง” ที่เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่าง BTS กับธนายง หลังจากออกจากกระบวนการแผนฟื้นฟูกิจการ ถือเป็นหนึ่งยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้แล้วในแผน แม้ว่าจะล่าช้าไปเป็นปีเพราะปัจจัยไม่เอื้ออำนวย แต่เมื่อดีล BTS+TYONG สำเร็จเมื่อพฤษภาคม 2553 ก็ทำให้เกิดมูลค่าหุ้นในตลาดกว่า 5 หมื่นล้าน โดยยกเลิกใช้ชื่อ TYONG เปลี่ยนชื่อเป็น BTS รวมทั้งได้ ย้ายจากหมวดอสังหาริมทรัพย์มาอยู่ในหมวดขนส่งและโลจิสติกส์ ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้วย

“ธนายงปีที่แล้วมีกำไรสองร้อยล้าน ผมถึงเปรียบเทียบเหมือนงูที่ตัวเล็กกว่ากินช้าง นี่เป็นภาษาจีนที่ใช้กันมากในฮ่องกง ผมนำมาอธิบายว่าบริษัทเล็กกินบริษัทใหญ่ พอ merge เสร็จ บริษัทก็จะมั่นคงสมบูรณ์และเดินหน้าได้แล้ว” คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ BTS Group Holding PCL เล่าให้ฟัง

หากเปรียบเทียบก่อนและหลังควบรวมกิจการซื้อบริษัท BTSC จะพบว่าโครงสร้างรายได้-กำไร-ฐานะการเงินของ TYONG หรือ BTS เปลี่ยนไปในทางดีขึ้น เช่น รายได้เดิมก่อนควบรวม ส่วน ใหญ่ TYONG มีรายได้จากค่ารับเหมาก่อสร้างสูงถึง 71.6% แต่คาดว่าปีหน้ารายได้หลัก 61.3% จะมาจากค่าโดยสาร ส่วนกำไรจากเดิมที่เคยขาดทุนประมาณปีละ 165 ล้านบาท ก็จะพลิกฟื้นเป็นกำไรสุทธิที่ 674 ล้านบาท โดยมีบริษัท VGI Global Media สร้างผลกำไรจากธุรกิจโฆษณานอกบ้าน (Out of Home Media) ได้มากถึง 58% ของกำไรสุทธิทั้งหมด รองมาก็คือกำไรจากธุรกิจรถไฟฟ้า (ดูตารางผลประกอบการ)

ด้วยเหตุนี้ ฐานะการเงินก่อนปรับโครงสร้างหนี้ BTSC ที่เคย ติดลบ 16,247 ล้านบาทและมีภาระหนี้สินสูงมาก 59,834 ล้านบาท แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการแผนฟื้นฟูได้มีการปรับโครงสร้างหนี้โดยการชำระหนี้ เป็นเงินสดรวมราว 23,514 ล้านบาท แปลงหนี้เป็นทุน อีก 16,339 ล้านบาท และปลดภาระหนี้ในส่วนดอกเบี้ยราว 19,343 ล้านบาท ภายหลังออกหุ้นกู้จำนวน 11,873.63 ล้านบาทในปี 2552 จึงทำให้บริษัทสามารถลดภาระหนี้สินลงได้สูงถึง 47,359 ล้านบาท เหลือเพียง 12,475 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 38,703 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553

“วันนี้เจ้าหนี้รายใหญ่ของผมคือผู้ถือหุ้น ที่ถือพันธบัตรของ BTS โดยผมออกครั้งเดียวเมื่อสิงหาคมปีที่แล้ว อายุพันธบัตร 7 ปี เป็น Long term Liability แต่ที่มีการลดทุนเพิ่มทุนในอดีต ตอนนี้ เราคืนหนี้หมดแล้ว 2.2 หมื่นล้านบาท” คีรีชี้แจงการปลดหนี้ให้ฟัง

ปัจจุบันราคาหุ้นของ BTS สะท้อนภาพส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจได้ดี มูลค่าหุ้นในตลาด (Market Cap.) ราว 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะดึงดูดนักลงทุนสถาบันรายใหญ่เข้ามาสนใจลงทุน

“ตอนเพิ่มทุน เราไม่มี IPO มีแต่ RO หรือ Right Offering เราระดมทุนจากตลาดได้ 1.2 หมื่นล้านบาทและตัว BTS เอง ถ้าต้องการจะระดมทุนเพื่อซื้อรถไฟฟ้าขบวนใหม่ เราก็สามารถทำ ได้อีก”

ล่าสุดรถไฟฟ้าขบวนใหม่ 12 ตู้ที่ผลิตโดยบริษัทอุตสาหกรรม ยักษ์ใหญ่ของจีน Changchun Railway Vehicles ก็เพิ่งทำพิธีรับ มอบอย่างเป็นทางการที่ท่าเรือแหลมฉบังเมื่อปลายมิถุนายนที่ผ่าน มาโดยเจ้าภาพเชิญผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร, เอกอัครราชทูตจีน และ Dong Xiaofeng ประธานกรรมการบริษัท Changchun Railway ซึ่งถูกจับตามองถึงบทบาท การลงทุนตั้งโรงงานผลิตและประกอบรถไฟฟ้าระบบรางในภูมิภาค อาเซียน ที่แต่ละรัฐบาลจัดสรรงบประมาณมหาศาล เพื่อขยายโครงข่ายคมนาคมขนส่งระบบรางเชื่อมโยงถึงกันในอนาคต โดยผู้ลงทุนจะได้สิทธิประโยชน์ด้าน FTA ด้วย

“ถ้าหากในอนาคต เขาจะมาตั้งโรงงานที่นี่ก็ต้องตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาอีกบริษัทหนึ่ง เพื่อจะผลิตรถบนรางขายในไทยและภูมิภาคอาเซียนนี้ ถ้าเขาชวนผม ผมก็จะถือหุ้นน้อยมาก เพราะเราเป็นบริษัทเดินรถไฟฟ้า ไม่ใช่ Manufacturer หรือโรงงานอุตสาหกรรม” คีรียืนยันถึงจุดยืนของ BTS

ด้วยสายสัมพันธ์ Oversea Chinese Connections ของคีรี กาญจนพาสน์ ซึ่งเกิดในเมืองไทยแต่ไปใหญ่ในฮ่องกง ก่อนจะ มาปักหลักขยายฐานธุรกิจตนเองที่ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2531 เขาเป็นบุตรชายคนที่ 7 ใน 11 คนของมงคล กาญจนพาสน์ ไทคูนผู้สร้างฐานะความมั่งคั่งร่ำรวยมาจากธุรกิจนาฬิกาและเจ้าของอสังหาริม ทรัพย์ผืนใหญ่ทำเลงามหลายแห่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่นที่เมืองทองธานี ซึ่งปัจจุบันเป็นสินทรัพย์ที่บริหารโดยครอบครัวของพี่ชายคีรีคือ อนันต์ กาญจนพาสน์

คีรีกล้าก้าวไปใหญ่มากกว่าที่รุ่นพ่อเคยทำมา จากความมั่นใจที่เป็นผู้นำโมเดลการทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในฮ่องกง สู่เมืองไทยในต้นทศวรรษ 2530 ซึ่งถือว่าเป็นช่วงชีวิตรุ่งโรจน์ของคีรี ทำการสิ่งใดก็ประสบความสำเร็จโดยง่าย ไม่ว่าการลงทุนในธุรกิจที่ฮ่องกงด้านอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม ภัตตาคาร โดยใช้ฐาน การระดมทุนจากบริษัท วาเคไทย ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ฮ่องกง ทำธุรกิจหลากหลายประเภท เช่น พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นผู้ได้สิทธิ์เช่าใช้แบรนด์เนม Puma ทั่วเอเชีย ทำกิจการภัตตาคาร 40-50 แห่งในนาม “TIN TIN SEAFOOD restaurant” และธุรกิจโรงแรม Eastin

จากคุณ : Grand Marshal1
เขียนเมื่อ : 22 ส.ค. 53 20:00:39




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com