|
ความคิดเห็นที่ 2 |
ในที่สุดก็ถึงคิว กรุงไทย กับกองทุนฟื้นฟู เพราะต้องปิดตัวลงใน 2556 แต่ก่อนถึงตรงนั้น ราย ของ TMB ต้องจบให้สวยหรูนะครับท่าน นี่ก็คงใกล้แล้วซินะ เพราะ ถึงคราวกรุงไทย หุ้นก็มากโขอยู่ 55.31%
เอาข่าวเก่ามาให้อ่านกัน
จับตาหุ้น KTB คิวต่อไป ไม่ง่ายอย่างที่คิด
วันพฤหัสบดีที่ 08 กรกฏาคม 2010
สองเดือนมานี้ ราคาหุ้นธนาคารอย่าง TMB และ TCAP รวมทั้ง CIMBT กลายเป็นหุ้นมาแรงผิดหูผิดตา มีข่าวในสื่อทีไร ราคาหุ้นวิ่งฉิวทีนั้น อย่างน้อยก็ 2 วันขึ้นไปเสมอ คำถามไม่ใช่อยู่ที่ว่าทำไม เพราะเหตุผลรู้กันอยู่แล้วว่า หุ้นธนาคารทั้งสามรายนี้ ได้พ้นพงหนามไปแล้ว หลังจากที่กองทุนฟื้นฟูฯ (ชื่อเต็มว่า กองทุนเพื่อการพัฒนาและฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน) ได้ขายหุ้นให้กับกลุ่มทุนที่สนใจเข้าซื้อเอาไปจัดการกันเองเต็มตัวแล้ว ฐานะทางการเงินของกิจการทั้งสามราย ก็เลยเริ่มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผลกำไรที่ชัดเจน มีหนี้เน่าค้างคาน้อยลง แถมยังอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังผงกหัวเพื่อรองรับการฟื้นตัวหลังวิกฤตโลกครั้งใหญ่ผ่านไปแล้ว ดังนั้น คำถามใหม่จึงเกิดขึ้นมาว่า แล้วคิวต่อไปจะเป็นหุ้นธนาคารอะไร ที่ยังอยู่ในมือของกองทุนฟื้นฟูฯ คำตอบคือ KTB ธนาคารหมายเลข 2 ของประเทศนั่นเอง ก่อนจะถึงคำตอบนั้น ต้องย้อนดูข้อมูลและเหตุผลที่ควรจะเป็นเสียก่อน กองทุนฟื้นฟูฯ ถูกจัดตั้งขึ้นมาหลังจากที่เกิดวิกฤตสถาบันการเงินครั้งใหญ่ในช่วงปี 2526-2528 นับแต่กรณี ตึกดำ ของกลุ่มรามาทาวเวอร์ที่มีบุญชู โรจนเสถียร อยู่เบื้องหลัง ภายใต้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย ปลายปี 2528 ภายใต้กรอบนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย บทบาทในระยะแรกของกองทุนฟื้นฟูฯผ่านไปด้วยดี ทำให้เมื่อเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 เป็นต้นมา รัฐบาลก็ได้ใช้กองทุนฟื้นฟูฯเข้าไปถือหุ้นในสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์หลายแห่ง และได้เข้าไปบริหารทรัพย์สิน เร่งรัดติดตามหนี้สินที่ได้รับจากการให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงิน ตั้งแต่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 แต่ได้ลดบทบาทลงมานับแต่ในปี 2546 เหลือเพียงการค้ำประกันการจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยแก่ผู้ฝากเงินเท่านั้น ผลพวงจากการเข้าไปโอบอุ้มธนาคารและสถาบันการเงินเพื่อแปลงหนี้ภาคเอกชนของสถาบันการเงิน 56 แห่งที่ล้มลงไปให้กลายเป็นหนี้สาธารณะ ทำให้กองทุนฟื้นฟูฯได้ก่อหนี้สาธารณะที่ยังไม่มีทางออกมาถึงปัจจุบันเป็นจำนวนมากถึง1.4ล้านล้านบาท แต่ในปัจจุบันเหลืออยู่ 1.1 ล้านล้านบาท ในช่วงรัฐบาลทักษิณ รัฐบาลได้พยายามแก้ไข จนได้ข้อยุติว่า มีการออกพันธบัตรเพื่อชดเชยความเสียหายกองทุนฟื้นฟูฯที่ได้รับโดยออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับ คือ 1. พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง พ.ศ. 2545 2. พระราชกำหนดโอนทรัพย์สินบางส่วนในบัญชีสำรองพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา พ.ศ. 2545 และ 3. พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยเงินตรา พ.ศ. 2501 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 สาระสำคัญของ 3 พ.ร.ก.ดังกล่าวคือ รัฐบาลออกพันธบัตรออมทรัพย์ช่วยชาติ เพื่อจะได้รับเงินสดไปลดยอดหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ กระทรวงการคลังจะรับภาระการจ่ายดอกเบี้ย โดยกันงบประมาณทุกปี ปีละกว่า 6 หมื่นล้านบาท นานถึง 30 ปี เพื่อจ่ายเฉพาะภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นรวมประมาณ 1 ล้านล้านบาท ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรับภาระการจ่ายชำระคืนเงินต้น เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้ของการดำเนินการ จึงมีการจัดตั้งบัญชีของธนาคารแห่งประเทศไทย 3 บัญชี คือ 1) บัญชีทุนสำรองเงินตรา (FIDF1) จำนวน 500,000 ล้านบาท ซึ่งได้จ่ายเงินต้นไปแล้วประมาณ 36,724 ล้านบาท 2) บัญชีสำรองพิเศษ (FIDF2) เป็นบัญชีพันธบัตรกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 112,000 ล้านบาท ธปท.ได้ชำระหมดแล้ว 3) บัญชีผลประโยชน์ประจำปี (FIDF3) จำนวน 689,651 ล้านบาท จากบัดนั้นถึงบัดนี้ ผลประกอบการแบงก์ชาติมีแต่ขาดทุนหรือกำไรก็แต่เพียงเล็กน้อยเพียงแค่กว่าแสนล้านบาทเท่านั้น ทำให้ภาระตกหนักอยู่ที่รัฐบาลในการจ่ายดอกเบี้ยปีหนึ่งๆ ซึ่งรวมๆแล้วจ่ายไปถึง 6 แสนล้านบาท ปัญหานี้ มีความพยายามแก้ไขมาโดยตลอด แต่ไม่เคยบรรลุเป้าหมาย โดยเฉพาะข้อเสนอรวมบัญชี ผลที่ตามมาคือ ความเสียหายบานปลายไปเรื่อยๆ อย่างสูญเปล่า สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน. ได้พยายามเสนอให้แบงก์ชาติซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าท้องตลาดหรือ 0% ซึ่งจะทำให้แต่ละปีรัฐบาลก็จะประหยัดเงินจ่ายดอกเบี้ยได้มากถึงกว่า 6 หมื่นล้านบาท แต่ก็ไม่เป็นผล รัฐบาลชุดปัจจุบันนี้ก็มีความพยายามแก้ไข ก็ยังทำไม่ได้อีก ได้แต่ซื้อเวลาไปเรื่อยๆ เพราะถือว่าเป็นหนี้ภายในประเทศ ไม่เกี่ยวข้องกับเจ้าหนี้ในต่างประเทศ นับตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2551 เมื่อพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝากมีผลบังคับใช้เป็นต้นมา บทบาทด้านการให้ความช่วยเหลือผู้ฝากเงินของกองทุนฯได้สิ้นสุดลง คงเหลือเพียงการทำหน้าที่บริหารสินทรัพย์เพื่อนำเงินไปชำระหนี้สินและภาระผูกพันที่มีอยู่ให้เสร็จสิ้น เพื่อชำระบัญชีและปิดกองทุนในที่สุด นี่คือที่มาและเหตุผลของการที่กองทุนฟื้นฟูต้องขายหุ้นออกจากมือ เพื่อนำไปชำระหนี้ที่ตกค้าง เพื่อลดภาระจ่ายดอกเบี้ยของกระทรวงการคลังปีละหลายหมื่นล้านบาท ที่ผ่านมา มีการทยอยขายหุ้นสถาบันโดยเฉพาะธนาคารออกจากมือของกองทุนฟื้นฟูฯไปแล้วเป็นระยะๆ ในรอบสองปีนี้ จะเห็นได้ว่า มีธนาคารขนาดกลาง 3 แห่งที่ถูกขายเปลี่ยนมือจากกองทุนฟื้นฟูฯไปสู่เอกชนดังเดิม แม้จะไม่ใช่เจ้าของเดิมอีก ธนาคารไทยธนาคาร หรือชื่อเดิม สหธนาคาร ได้ถูกกลุ่มซีไอเอ็มบี โดย CIMB Bank Berhad จากมาเลเซีย เข้าซื้อหุ้นจากกองทุนฟื้นฟูฯ พร้อมกับทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ผู้ถือหุ้นเดิมทั้งหมด โดยใช้เงินทั้งหมด 14,000 ล้านบาท และใช้เงินเพิ่มทุนอีกประมาณ 6,000 ล้านบาท โดยที่กระทรวงการคลังอนุมัติเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติในสถาบันการเงินจาก 25% เป็น 49% แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น ซีไอเอ็มบี ไทย ธนาคารทหารไทย ก็ถูกกลุ่มไอเอ็นจี ของเนเธอร์แลนด์ เข้าเสนอซื้อหุ้นจากกองทุนฟื้นฟูฯในราคา 1.60 บาทต่อหุ้นในสัดส่วนทั้งหมด 22% ตามราคาที่ตกลงกัน และขณะนี้ กระทรวงการคลังเองก็กำลังพิจารณาจะขายหุ้นที่เหลืออีก 22.56% ซึ่งทางกลุ่มไอเอ็นจี ก็ยังแสดงความสนใจ และกำลังอยู่ในช่วงการเจรจา ส่วนธนาคารนครหลวงไทย กลุ่มธนชาตได้บรรลุข้อตกลงในการซื้อขายหุ้นทั้งสิ้น 1,005 ล้านหุ้น ในราคา 32.50 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท จากกองทุนฟื้นฟูฯไปแล้ว และกำลังอยู่ในกระบวนการแปลงสภาพต่อไป การขายกิจการธนาคารหลายแห่ง ทำให้ภาระของกองทุนฟื้นฟูฯเบาลงไปก็จริง แต่เมื่อพิจารณาจากต้นทุนหนี้ที่ยังสูงมาก ก็ทำให้ความจำเป็นต้องขายธนาคารที่กองทุนฯถืออยู่ต้องเกิดขึ้นอีก แน่นอน เป้าหมายย่อมหนีไม่พ้นธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐมายาวนาน คำถามก็คือ รัฐบาลจะให้กองทุนฯขายให้ใคร จึงเป็นคำถามสำคัญ เพราะหากขายให้เอกชนเหมือนที่เคยทำมาก่อน ก็จะทำให้สภาพการเป็นธนาคารรัฐของ KTB หลุดลอยไป ซึ่งอาจจะไม่ใช่คำตอบ คำถามก็เลยไม่ได้เกี่ยวกับราคา แต่เป็นคำถามเก่าเรื่อง ขายสมบัติชาติ ซึ่ง เป็นประเด็นทางนโยบายการเมืองอีกครั้ง
จากคุณ |
:
ชื่อนี้ไม่เหมาะสม
|
เขียนเมื่อ |
:
7 ก.ย. 53 10:13:42
|
|
|
|
|