08:52 23/09/2010
(RPT)GOVT:คลังชี้บาทแข็งยังไม่กระทบความสามารถแข่งขันส่งออก,มองแข็งค่าได้อีก
(ข่วานี้ส่งครั้งแรกเมื่อ 22 ก.ย.เวลา 20.03 น.)
กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--รอยเตอร์
นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ระบุเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในขณะนี้ สะท้อนถึง
ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้น แต่ยังไม่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านการ
ส่งออกลดลง พร้อมมองว่าเงินบาทน่าจะแข็งค่าได้อีก จากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐ
เขากล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่า ยังไม่กระทบการการส่งออกของไทยในเดือนส.ค.
ที่ขยายตัวได้ถึง 23% แม้เริ่มชะลอลงจากระดับ 30-40% ในช่วงต้นปี
"ตั้งแต่ต้นปี เงินบาทแข็งขึ้นประมาณ 8% แต่ไม่กระทบความสามารถของ
ผู้ประกอบการไทย จนแข่งขันไม่ได้ เดือนสิงหาคมการส่งออกยังขยายตัวได้ถึง 23% แม้ว่า
เริ่มลดลงจากเมื่อต้นปี" นายกรณ์ กล่าวในการปาฐกถาหัวข้อ "ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ
ก้าวไกลในเวทีโลก"
บาท/ดอลลาร์วานนี้ อยู่ที่ 30.62/67 ซึ่งแข็งค่าแล้ว 8.8% จากต้นปีนี้ และ
เป็นระดับที่แข็งค่ามากที่สุดในรอบ 13 ปี
อย่างไรก็ตาม รมว.คลัง กล่าวว่า นอกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่เป็น
สาเหตุให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นแล้ว การอ่อนค่าของดอลลาร์จากปัญหาภายในของสหรัฐ ก็ยัง
จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์ จะต้องแข็งค่าขึ้นอีกอย่างแน่นอน
แต่เขายอมรับว่า มีความกังวลกับเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม
การดูแลเรื่องนี้จะเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ซึ่งเขาเห็นว่า ธปท.
ก็ยังทำหน้าที่ดูแลได้ดี แม้ไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางของเงินบาทได้ ก็ทำให้ความผันผวน
น้อยลง
"จากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งก่อนที่ทำให้เงินบาทอ่อน แล้วเราส่งออกได้มาก
มันเลยเหมือนการเสพติด ถ้าไม่มียามา ทำให้บาทอ่อนค่าแล้วก็กลัวว่าจะมีปัญหา แต่เรา
ก็ต้องปรับตัว" นายกรณ์ กล่าว
เขาเห็นว่า ในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า จะทำให้ค่าของเงินบาทมีมากขึ้นและ
มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น สิ่งที่ควรจะเร่งทำคือ การเร่งลงทุน เนื่องจากไทยยังจำเป็น
ต้องลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
เขาได้ยกตัวอย่างการลงทุนในระบบราง ที่รัฐบาลได้ใช้ทางลัดเจรจากับจีน
เพื่อเร่งลงทุนเรื่องดังกล่าว รวมทั้งจะต้องหาช่องทางลงทุนอื่นๆในขณะนี้ เพราะกำลัง
ซื้อของไทยมีเพิ่มขึ้น และการลงทุนโดยการซื้อสินค้าทุนจากต่างประเทศ ก็จะเป็นการ
ลดแรงกดดันของเงินบาทที่แข็งค่าด้วย
รวมถึงจะเป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยให้มีความสมดุลมากขึ้น
โดยเพิ่มกำลังซื้อของการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น --จบ--
(โดย กิติพงศ์ ไทยเจริญ รายงาน;บุญฤทธิ์ รัตนวราภรณ์ เรียบเรียง--บร--)
((boonrith.rattanavaraporn@thomsonreuters.com;โทร.0-2648-9725;
ReutersMessaging:boonrith.rattanavaraporn.thomsonreuters.com@reuters.net.))