'ฉาย บุนนาค' เซียนหุ้น 'รุ่นจูเนียร์' กับพอร์ตหุ้น 200 ล้านบาท ศิษย์เอก 'เสี่ยป๋อง' วัชระ แก้วสว่าง
เปิดตัวนักศึกษาปริญญาโทศศินทร์ วัย 27 ปี กับพอร์ตการลงทุนที่ไม่ธรรมดา ไต่จาก "หลักแสน" กระโดดมาเป็น 200 ล้านบาท ภายในไม่กี่ปี เทรดหุ้นเฉลี่ยเดือนละหลัก "พันล้านบาท"...เส้นทางโลดแล่นในยุทธจักรตลาดทุนของ "ฉาย บุนนาค" ศิษย์เอก "เสี่ยป๋อง" วัชระ แก้วสว่าง เขาคือเซียนหุ้น "รุ่นใหม่" อายุน้อยที่สุดในวงการที่ "เปิดตัว" เป็นรายล่าสุด
------------------------------------------
ผมเป็นคนเข้าออกเร็ว ไม่อยู่กับหุ้นตัวไหนนานมาก ถ้าไม่ใช่หุ้นลงทุนจริงๆ ส่วนใหญ่ผมจะกำไรจากหุ้นขาลง จะกำไรตอนรีบาวด์มากกว่าตอนขาขึ้น เพราะผมไม่ใช่คนถือหุ้นนาน
-----------------------------------------
มูฟเมนท์การเข้าไปโฉบวอร์แรนท์ "STAR-W" จากกลุ่มผู้บริหารและผู้ถือหุ้น สตาร์ ซานิทารีแวร์ 19.6 ล้านหน่วย หรือ 14.44% และเทขายออกหมดเกลี้ยง ในวันแรกที่เข้าซื้อขายในตลาดเมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา
ล่าสุด กับการมาเหนือเมฆ ดอดเข้าไปเก็บหุ้น พีเออี (ประเทศไทย) หรือ PAE 5.03% ก่อนจะเทขายออกมา 3.40% ในอีก 2 วันถัดมา ในห้วงจังหวะที่หุ้น PAE ถูกปลุกขึ้นมาเก็งกำไรด้วยสตอรี่ "ผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่" จากดูไบ และการย้ายจากหมวดก่อสร้าง ไปกลุ่มพลังงาน
ชื่อของ "ฉาย บุนนาค" เริ่มฉายแววจาก "นักลงทุนโนเนม" สู่ "แบรนด์เนม" และเข้ามาอยู่ใน "จอเรดาร์" ในทันที
พาสปอร์ตสู่ความสำเร็จของฉาย ทำให้เกิดประเด็นข้อสงสัยไม่น้อยว่า หนุ่มน้อยรายนี้เป็น "นอมินี" ให้กับใครหรือไม่ เหตุใด! จึงรู้จังหวะเข้าเร็ว-ออกเร็ว ใน "หุ้นบางตัว" ราวกับมีพรายกระซิบ
ยิ่งเมื่อพบกับตัวจริงของฉาย ด้วยอายุเพียง 27 ปี และกำลังเป็นนักศึกษาปริญญาโทด้านไฟแนนซ์ ที่ศศินทร์ เส้นทางท่องยุทธจักรของ "เสือน้อย" รายนี้ ยิ่งน่าสนใจ จนกรุงเทพธุรกิจ BizWeek ต้องค้นหาความจริงว่า "ฉาย" ฉายแววอัจฉริยะด้านการลงทุน จนมีพอร์ตหุ้น 200 ล้านบาท เขาเป็นใครมาจากไหน เล่นหุ้นอย่างไรถึงมาไกลถึงเพียงนี้ ทั้งที่มี "วัยกระเตาะ" เพียงแค่เลยเบญจเพสมาเพียง 2 ปี
ปัจจุบัน นอกจากถือหุ้น PAE ฉายยังถือหุ้นในอินเตอร์ไฮด์ (IHL) ประมาณ 5% หรือ 3 ล้านหุ้นเศษ และยังนั่งเป็นกรรมการในเจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง (GEN) นอกจากนี้ ยังเข้าๆ ออกๆ เก็งกำไรในหุ้นหลายตัว โดยหุ้นที่ยังถือไว้ในพอร์ตตอนนี้ เช่น TOP, QH, NEP-W ฯลฯ รวมทั้งลงทุนใน TFEX หรือตลาดอนุพันธ์อีกด้วย
ฉายเล่าว่า เข้าสู่วงการหุ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2546 หลังเรียนจบปริญญาตรีด้านไฟแนนซ์จาก LSE (London School of Economics) ที่อังกฤษ เพราะ "โดนเพื่อนหลอกให้มาเล่น"
ตั้งแต่เรียนจบ เคยทำงานมาแล้วหลายที่ ทั้งที่บริษัทเอิร์นแอนด์ยัง, ฝ่ายวาณิชธนกิจ (Investment Banking) ของ บล.ซีมิโก้ และที่สุดท้ายคือ บล.นครหลวงไทย ก่อนจะลาออกมาเรียนปริญญาโทที่ศศินทร์ อย่างเต็มตัวในปัจจุบัน
เริ่มเล่นหุ้นตั้งแต่เพิ่งเรียนจบอายุ 22-23 ปี ตั้งแต่ตอนตลาดยังดีๆ ตอนนั้นเริ่มจากเงินตั้งต้นไม่กี่แสนบาท แต่เพียงปีแรกก็ขาดทุนย่อยยับ จนต้องขอให้ทางบ้านเข้ามาช่วย "ซัพพอร์ต"
ฉายยอมรับว่า ช่วงนั้นกดดันมาก เพราะเรียนจบไฟแนนซ์จากมหาวิทยาลัยแถวหน้ามา ย่อมต้องมีอีโก้และความมั่นใจเกินร้อย
"ตอนนั้น ผมเล่นจากทฤษฎี เล่นจากความโลภเลย!" ฉายรับตรงๆ ประสบการณ์ "เจ็บตัว" ที่จำจนถึงทุกวันนี้ คือ โดดเข้าไปเล่นเดย์เทรด "หุ้น KMC" ตอนราคา 26 บาท เข้าไปซื้อเป็นล้านๆ หุ้น สุดท้ายวันนั้นต้องยอม Cut Loss วันเดียวขาดทุนไปเป็นล้าน
"ตอนที่ขาดทุนเยอะๆ ถือเป็นจุดเปลี่ยน ทำให้ผมมานั่งทบทวนว่า ผมต้องศึกษาเรียนรู้กับมันจริงๆ...ตลาดดีขนาดนั้น ผมขาดทุนได้ยังไง"
ขาดทุนครั้งแรก ทำเอาเสียศูนย์ถึงขั้นหยุดเล่นหุ้นไปนานครึ่งปี กลับไปตั้งหลักลับคมวิทยายุทธ์ใหม่ ทั้งอ่านหนังสือด้วยตัวเอง ทำงานเก็บเงินก้อนใหม่
"เมื่อก่อนถึงขนาดรับจ้างแปลรายงานประจำปีของพวกบริษัทต่างๆ เลยนะ และเอาเงินโบนัสมาลงทุนด้วย"
เขาเริ่มสะสมชั่วโมงบิน จนวิชาเริ่มแกร่งกล้าจริงๆ ตั้งแต่ปี 2548 เรื่อยมา โดยเฉพาะในปีนี้ เป็นปีที่ฉายบอกว่า "พอร์ตโตมากที่สุด" มูลค่ากระโดดขึ้นเท่าตัว จาก 100 ล้านบาท มาทะลุ 200 ล้านบาท..." เพราะหุ้นอินเตอร์ไฮด์ ราคาขึ้นมาเยอะ บวกกับได้กำไรจาก TFEX ค่อนข้างเยอะ"
สูตรการบริหารการลงทุนของฉาย จะแบ่งน้ำหนักการลงทุน 30% เป็นการลงทุนใน TFEX ซึ่งเขาบอกว่าได้ผลตอบสูงและเร็ว แต่ความเสี่ยงสูง ส่วนที่เหลืออีก 70% เป็นการลงทุนในหุ้น โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็นหุ้นที่ถือลงทุนระยะยาวประมาณ 25% ที่เหลือ 75% เป็นหุ้นเก็งกำไร
ทุกวันนี้เปิดบัญชีเล่นหุ้นอยู่หลายโบรกฯ แต่ส่วนใหญ่จะเทรดผ่าน บล.นครหลวง, ซิกโก้, เคจีไอ และมีผ่าน บล.บีฟิท บ้าง "พวกนี้ผมจะย้ายไปย้ายมา แล้วแต่มาร์เก็ตติ้ง"
ถึงแม้จะจัดเป็น "คลื่นลูกใหม่" ที่เข้ามาโลดแล่นในตลาดหุ้นได้แค่ 4-5 ปี แต่ฉายก็รวยคอนเนคชั่น รู้จักคุ้นเคยกับนักลงทุนรายใหญ่ "รุ่นพี่" หลายคนในวงการ รวมถึงกลุ่มนักลงทุนที่หาดใหญ่
หนึ่งในรุ่นพี่ที่ฉายนับถือและพูดคุยแลกเปลี่ยนด้วยมากที่สุดคนหนึ่ง ก็คือ "เสี่ยป๋อง" วัชระ แก้วสว่าง (นั่งประจำอยู่ที่ บล.เอเซีย พลัส) ที่เป็นเหมือน "อาจารย์" ช่วยติวเรื่อง "เทคนิเคิล" ในการเล่นหุ้น
"พี่ป๋องและพวกเพื่อนๆ เขา จะเป็นคนสอนเทคนิเคิลผมมาตลอด เป็นคนที่ผมเคารพ เขาสอนอะไรผมมาเยอะ แต่ลักษณะการลงทุนจะต่างกัน พี่ป๋องจะเป็นลักษณะแบบนักลงทุนที่มีอายุแล้ว มีครอบครัว มีลูกแล้ว เขาจะซื้อหุ้นที่ค่อนข้างปลอดภัยหน่อย ส่วนผมอายุยังไม่เยอะ ก็จะให้น้ำหนักที่หุ้นตัวเล็กมากกว่า กล้าที่จะลงทุนมากกว่า"
"อย่างเมื่อวานผมซื้อ ปตท.ไปแสนหุ้น ซื้อวันเดียวผมขายวันเดียวจบ" ฉายเล่าให้ฟัง หรือยกตัวอย่างดีล STAR-W ที่ฉายซื้อล็อตใหญ่มาจากผู้ถือหุ้น STAR ก่อนเข้าตลาด... ได้มาในราคาที่ค่อนข้างโอเค วันแรกที่ STAR-W เข้าตลาด ผมเทขายออกหมดเลย แต่ตัวนี้กำไรไม่เยอะ แต่ยอมรับว่าหลังจากดีลนี้ ทำให้เริ่มถูกจับตามากขึ้น
ฉายบอกว่า ส่วนใหญ่มักจะถือหุ้นไม่นาน แต่ถ้าสมมติตัวไหนต้องการถือไว้ ก็ถือนานเหมือนกัน ยกตัวอย่าง TOP ถือเอาไว้ ถ้าราคาปรับตัวขึ้นไปแรงๆ อาจจะขายบ้าง แล้ววกมารับกลับใหม่ ผมจะไม่ค่อยถือยาวไปเลย จะมีซื้อๆ ขายๆ พอถึงจุด Over Bought (ซื้อมากเกินไป) ก็จะขาย และพอถึงจุด Over Sold (ขายมากเกินไป) ก็ค่อยเข้าไปซื้อใหม่"
ยกตัวอย่าง หุ้น PAE ที่ใช้วิธีซื้อๆ ขายๆ เช่นกัน ยกเว้นแค่หุ้นอินเตอร์ไฮด์ (IHL) ที่ฉายถือไว้เยอะติดอันดับต้นๆ ในพอร์ต ตัวนี้ซื้อเก็บอย่างเดียว เพราะสภาพคล่องมันน้อย ยังไม่มีประโยชน์ที่จะขาย สู้ถือเอาไว้ก่อนดีกว่า
ปัจจุบัน ฉายถือหุ้น IHL สัดส่วนประมาณ 5% และมี โฉมพิศ บุนนาค แม่ของฉาย อดีตเคยเป็นผู้บริหารใน บง.เอกธนกิจ (ฟินวัน) ร่วมถือหุ้นอยู่ด้วยอีก 4%
"ส่วนใหญ่ผมกับแม่จะถือหุ้นใกล้ๆ กัน แต่แม่ผมจะซื้อเก็บไปเลย แต่ผมจะซื้อๆ ขายๆ และช่วยบริหารให้แม่ด้วยเป็นบางพอร์ต"
ฉายยังเป็นลูกชายของ "ยุทธ ชินสุภัคกุล" เจ้าของ เอส.แพ็ค แอนด์ พริ้นท์ (SPACK) และโรงพิมพ์ตะวันออก (EPCO) แต่เขามีกฎเหล็กส่วนตัวว่า หุ้นที่บ้านจะไม่เข้าไปเล่น และไม่ซื้ออย่างเด็ดขาด
ส่วนหุ้น GEN ฉายเป็น "ตัวแทน" แม่เข้าไปนั่งเป็นกรรมการเพียงอย่างเดียว ส่วนตัวไม่ได้ถือหุ้นนี้ไว้ในพอร์ต
ผมเป็นคนเข้าออกเร็ว ไม่อยู่กับหุ้นตัวไหนนานมาก ถ้าไม่ใช่หุ้นลงทุนจริงๆ ส่วนใหญ่ผมจะกำไรจากหุ้นขาลง จะกำไรตอนรีบาวด์มากกว่าตอนขาขึ้น เพราะผมไม่ใช่คนถือหุ้นนาน
สูตรการลงทุนของฉาย จะซื้อหุ้นตามจังหวะฟันด์โฟลว์ และเป็นหุ้นที่ต้องมี สตอรี่ ซัพพอร์ตดีๆ ยกตัวอย่าง หุ้นถ่านหินอย่าง BANPU ที่ฉายโปรดปราน และเลือกลงทุนมาตั้งแต่ต้น
ฉายเปรียบเทียบว่า หุ้นต่อให้ดีแค่ไหน แต่ถ้าฟันด์ยังไม่โฟลว์เข้ามา ก็เหมือนกับของมันดีแต่คนยังไม่สนใจ หุ้นมันก็ยังขึ้นไม่ได้ ถึงต้องดูทั้งสองอย่างประกอบกัน คือ พื้นฐานดี และมีฟันด์โฟลว์เข้ามา
แต่ถ้าเป็นลักษณะการเข้าไปหุ้นเก็งกำไรแบบไม่กี่วัน ฉายบอกว่าจะดูแค่ที่เทคนิเคิลและวอลุ่มกันล้วนๆ เขาอธิบายว่า เทคนิเคิล จะเป็นตัวที่บ่งบอกว่าหุ้นตัวนี้ ป๊อปปูล่าร์ แค่ไหน คนชอบไม่ชอบ เป็นตัวสะท้อนถึงจิตวิทยาในการลงทุน
หุ้นก็เหมือนผู้หญิง ถึงสวยแต่ไม่รู้จักโปรโมทตัวเอง ก็ไม่มีประโยชน์ บางคนไม่สวย แต่ป๊อปปูล่าร์มาก มีแต่คนรู้จัก ก็ไปได้ไกล หรือเหมือนกับรถออดี้กับรถเบนซ์ จริงๆ Performance ของออดี้ อาจจะดีกว่าเบนซ์ แต่คนไม่ชอบ ราคาก็ไม่ดี เป็นต้น
ฉายบอกว่า ตลาดหุ้นไทยค่อนข้างผันผวน ดังนั้น เราต้องสามารถเป็นได้ทุกอย่าง ทั้งนักเก็งกำไร นักลงทุนระยะยาว เพื่อจัดและไดเวอร์วิฟายด์พอร์ต สอดคล้องตามสภาวะ เหมือนถ้าเป็นสัตว์ก็ต้องเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ถ้าเป็นปลาก็ต้องเป็นทั้งปลาน้ำจืดน้ำเค็ม
เมื่อมองเห็นโอกาสว่าเงินอยู่ตรงไหน นักลงทุนที่ดีก็ต้องวิ่งเข้าไปเอา และต้องหาโอกาสนั้นให้เจอ แต่ถ้าอยู่ดีๆ มีคนมาโทรบอกว่า ซื้อตัวนี้สิ จำไว้เถอะของดีจริงๆ เขาไม่ค่อยบอกกันหรอก ถ้าดีจริงๆ ก็คือ เขาขอซื้อก่อน และให้เราช่วยต่อยอดให้หน่อย...
ช่วงหลังมานี้ ผมว่ารายย่อยตายกันไปเยอะนะ เพราะตลาดมันผันผวนมาก คนที่ยังไม่ตาย คือ คนที่ต้องฉลาดขึ้นและปรับตัวได้ พวกโดนลากไปเชือดตายก็เยอะ ศพไม่สวยนี่ก็หลายคน ประเภทส.ส.บอกมา เจ้าของบอกมา คนนี้บอกมา ผมเห็นตายกันเกลี้ยง
จังหวะการลงทุนของฉาย ยังมีสไตล์ส่วนตัว คือ ชอบซื้อหุ้นตอนจุด Over Sold หรือจุดที่มีแรงขายออกมาเยอะเกินความเป็นจริง ยกตัวอย่างหุ้น TTA ตอนสมัยหนึ่งที่ราคาหล่นมาต่ำกว่า 20 บาท หรือล่าสุดเร็วๆ นี้ ที่ราคาลงมาจาก 70 บาท เหลือ 40 กว่าบาท ตอนนั้นพอ Over Sold ผมเข้าไปตอนประมาณราคา 48 บาท แล้วออกไปตอนราคาประมาณ 51 บาท คือ เล่นช่วง Gap สั้นๆ ถ้ามันยืนได้ ก็ค่อยเข้าไปซื้อใหม่
ส่วนหุ้นที่ฉายจะระมัดระวังไม่เข้าไปเด็ดขาด คือ หุ้นที่ไม่มีความสม่ำเสมอในสภาพคล่อง
ประเภทวันดีคืนดี จะเทรดกัน ก็มี Bid เป็นล้านๆ หุ้น พอจะถอนก็ถอน กระโดดจากหลักล้าน มาเหลือหลักหมื่น หลักพัน อย่างนี้เขาเรียกหุ้นสันดานเสีย คือ ถ้าหุ้นตัวไหนมีสภาพคล่อง ก็ต้องมีต่อเนื่อง ถ้ามี Bid ก็ต้องมีตลอด สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ หุ้นที่ซื้อแล้วขายไม่ได้ หุ้นตัวไหนถึงชอบมาก แต่ถ้าไม่มี Bid กับ Offer สม่ำเสมอ ผมจะไม่ซื้อ
ส่วนกรณีถ้าติดหุ้น ฉายจะยึดหลักว่า ถ้าติดลบไม่เกิน 5% และหุ้นนั้นมีวอลุ่มซื้อขาย เขาจะ Cut Loss ทันที แต่ถ้าหุ้นนั้นยังพอมีโอกาสให้ ลุ้น จะใช้วิธี Cut Loss แล้วลงมารับกลับ
อย่างวันก่อน ผมพลาดเข้าไปซื้อหุ้น TRUE ทั้งๆ ที่ฟันด์ยังไม่โฟลว์เข้ากลุ่มสื่อสาร ผมเลยต้อง Cut Loss ทิ้งไปสดๆ ร้อนๆ แต่ตัวนี้ Cut แล้ว Cut เลย