|
ความคิดเห็นที่ 7 |
วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4249 ประชาชาติธุรกิจ
ชีวิตคนกรุง ชีวิตลอยฟ้า อยู่สบาย...สไตล์คอนโดฯ
มหานครกรุงเทพฯกล่าวได้ว่า นับวันการอยู่อาศัยและการใช้ชีวิตประจำวันของคนกรุง ยุคใหม่แทบจะไม่แตกต่างจากเมืองใหญ่อีกหลายเมืองทั่วโลก โดยเฉพาะการอยู่อาศัยในย่านใจกลางเมืองหรือทำเลในเมือง ที่ปัจจุบันกลายเป็นทางเลือกอันดับแรกไปแล้ว จากเดิมนิยมเลือกซื้อบ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮาส์เป็นหลัก
จากกจำนวนประชากรล่าสุด ณ สิ้นปี 2552 อ้างอิงสถิติของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่ 5.7 ล้านคน แยกเป็นประชากรชายกว่า 2.7 ล้านคน และหญิงกว่า 2.9 ล้านคน เฉพาะส่วนที่เป็นประชากรที่มีทะเบียนบ้านในกรุงเทพมหานคร
ไม่นับรวมจำนวนประชากรแฝงที่เข้ามาอยู่อาศัยและทำงานในกรุงเทพมหานคร และที่เดินทางเข้ามาแบบเช้า-เย็นกลับอีกในปริมาณเกือบเท่า ๆ กัน รวมแล้วมีประชากรที่อยู่อาศัยและทำงานในกรุงเทพมหานครมากถึงกว่า 10 ล้านคน จึงเป็นไปได้สูงที่ภายในปี 2576 หรืออีก 23 ปีข้างหน้า กรุงเทพมหานครจะกลายเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่เรียกว่า "เมกะซิตี้" หรือ "มหานคร" มีอัตราความหนาแน่นของประชากรและการเจริญเติบโตเทียบเท่าเมืองขนาดใหญ่แห่งอื่น ๆ ในโลก
อันดับ 7 เมืองตึกระฟ้าของเอเชีย
"กทม." ถูกจัดให้เป็นเมืองขนาดใหญ่อันดับที่ 31 ในโลก จากการจัดอันดับของเว็บไซต์ www.citypopulation.de ที่จัดอันดับ "เมืองมหานคร" อันหมายถึงเมืองที่มีจำนวนประชากรพักอาศัยมากกว่า 10 ล้านคนขึ้นไป
ทั้งนี้ทั้งนั้นที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ การจัดอันดับเมืองใหญ่ที่มีตึกระฟ้ามากที่สุดในเอเชีย ณ เดือนสิงหาคม 2553 ปรากฏว่ากรุงเทพมหานครติด 1 ใน 10 อันดับ โดยรั้งอันดับ 7 จากท็อป 10 เมืองที่มีตึกสูงมากที่สุดในเอเชีย ประกอบด้วย
อันดับ 1 เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จำนวนตึกสูง 1,157 ตึก อันดับ 2 เขตปกครองพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน 631 ตึก อันดับ 3 เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 441 ตึก อันดับ 4 เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน 399 ตึก อันดับที่ 5 เมืองฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน 359 ตึก
อันดับที่ 6 เมืองโซล เกาหลีใต้ 323 ตึก อันดับที่ 7 กรุงเทพมหานคร 305 ตึก อันดับที่ 8 เมืองกว่างโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน 279 ตึก อันดับที่ 9 เมืองปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน 277 ตึก และ อันดับที่ 10 สิงคโปร์ 264 ตึก
"เมืองเปลี่ยน ไลฟ์สไตล์ก็เปลี่ยนตาม" จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ปัจจุบันบริษัทพัฒนาที่ดินทั้งรายเล็ก รายใหญ่ต่างแข่งกันลอนช์โปรดักต์รองรับดีมานด์ตลาดที่อยู่อาศัยในฐานะเมกะซิตี้ โดยเฉพาะเมื่อข้อมูลเชิงสถิติบ่งชี้ชัดเจนว่า อัตราการเติบโตของโครงการตึกสูงในมหานครกรุงเทพฯไม่เป็นสองรองใครในภูมิภาคเอเชีย เรียกว่ายืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ทีเดียวเชียว
ควบคู่กันไปกับภาวะ "บูม" ของโครงการตึกสูงในเขตเมืองหลวงกรุงเทพฯ เมื่อเจาะลึกลงรายละเอียดไปเรื่อย ๆ ก็พบว่าโครงการตึกสูงดังกล่าวจะเกาะกลุ่มการลงทุน 2-3 โปรดักต์หลัก ๆ ได้แก่ โรงแรม ออฟฟิศบิลดิ้ง และคอนโดมิเนียม
กล่าวสำหรับตลาดคอนโดมิเนียม ทางศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) หรือ REIC ระบุมียอดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในโครงการคอนโดมิเนียมครองแชมป์ต่อเนื่อง ประเมินจากสถิติปี 2552 ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยรวมในกรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล 160,563 หน่วย มียอดโอนคอนโดมิเนียมสูงสุด 56,107 หน่วย ทาวน์เฮาส์ 51,479 หน่วย บ้านเดี่ยว 33,118 หน่วย อาคารพาณิชย์ 15,314 หน่วย และบ้านแฝด 4,545 หน่วย
เทียบปี 2551 ยอดโอนกรรมสิทธิ์รวม 146,451 หน่วย แบ่งเป็นคอนโดฯ 45,815 หน่วย ทาวน์เฮาส์ 47,947 หน่วย บ้านเดี่ยว 32,338 หน่วย อาคารพาณิชย์ 15,741 หน่วย และบ้านแฝด 4,610 หน่วย
เทียบปี 2550 ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยรวม 134,932 หน่วย เป็นคอนโดฯ 39,197 หน่วย ทาวน์เฮาส์ 44,243 หน่วย บ้านเดี่ยว 31,457 หน่วย อาคารพาณิชย์ 15,977 หน่วย และบ้านแฝด 4,058 หน่วย
จากข้อมูลดังกล่าวพบว่ายอดโอนกรรมสิทธิ์หน่วยที่เป็นห้องชุดหรือคอนโดฯเดิมเคยมีจำนวนน้อยกว่าทาวน์เฮาส์ในปี 2550 และ 2551 เมื่อย่างเข้าปี 2552 ยอดโอนกรรมสิทธิ์ก็กลับมามีจำนวนมากกว่า เหตุผลเป็นเพราะโครงการคอนโดฯเมื่อมีการจองซื้อแล้ว กว่าจะส่งมอบหรือโอนกรรมสิทธิ์จะต้องใช้เวลา 1 ปีครึ่ง-2 ปี แสดงให้เห็นว่า การเลือกซื้อคอนโดฯได้รับความนิยมอย่างน้อยที่สุดตั้งแต่ช่วงปลาย ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน
สรุปได้ว่า ตลาดคอนโดมิเนียมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะคอนโดฯ ระดับราคาปานกลาง 1-3 ล้านบาท ที่บูมต่อเนื่องมานานหลายปี เนื่องจากเซ็กเมนต์นี้มีฐานตลาดค่อนข้างกว้าง กลุ่มลูกค้ากระจายอยู่หลายทำเลทั่วกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ซึ่งเป็นเขตรอยต่อปริมณฑลอย่างนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ฯลฯ
ปุจฉา : ทำไมต้อง "อยู่คอนโดฯ"
"คอนโดมิเนียม" จากที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยรูปแบบใหม่และมีกลุ่มลูกค้าค่อนข้างจะจำกัด ต่อมาเมื่อมีผู้ริเริ่มพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวสูงในยุคแรก ๆ ช่วงก่อน ปี 2520 เวลาผ่านไปกว่า 30 ปี ทำให้ตลาดคอนโดมิเนียมมีการพัฒนาหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการดีไซน์ การวางคอนเซ็ปต์โครงการ การทำการตลาดและส่งเสริมการขาย
ควบคู่กันไป ทางหน่วยงานภาครัฐก็ได้มีความพยายามพัฒนาและปรับปรุงกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาโครงการคอนโดฯ เพื่อยกระดับมาตรฐานในการพัฒนาโครงการ ยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคที่เลือกซื้อคอนโดฯ สำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัย
อาทิ กฎหมายอาคารชุดฉบับแรก พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 กฎกระทรวงที่ออกภายใต้ พ.ร.บ.อาคารชุด จนถึงกฎหมายอาคารชุดฉบับปัจจุบัน พ.ร.บ.อาคารชุด ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551 พ.ร.บ.ผังเมือง พ.ศ. 2518 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 พ.ร.บ.การจัดการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 เป็นต้น
ส่งผลให้โครงการคอนโดมิเนียมได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคมากขึ้น ผลพวงจากการยกระดับมาตรฐานโครงการทั้งในด้านคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม พื้นที่สีเขียวและการสร้างความร่มรื่นด้วยการดึงธรรมชาติมาไว้ในตัวโครงการ ความปลอดภัย ความสะดวกสบายต่าง ๆ ในการอยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นฟิตเนส คลับเฮาส์ ฯลฯ ในระดับที่เทียบเท่า หรือบางโครงการอาจจะเหนือกว่าโครงการที่อยู่อาศัยในแนวราบประเภทบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์
จับตาทำเล "บลูโอเชี่ยน"
จากที่ปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้ "คนกรุง" ยุคปัจจุบันโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เลือกซื้อคอนโดฯเป็นที่อยู่อาศัยมากขึ้น มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันหรือไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสะดวกสบาย ความปลอดภัย การประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ฯลฯ ส่งผลให้คอนโดฯที่อยู่ในทำเลใจกลางเมือง และตามแนวรถไฟฟ้าได้รับการ ตอบสนองจากลูกค้าจำนวนมาก ในจำนวนนี้มีทำเลเด่นที่ฮอตฮิตติดอันดับและ ทำเลใหม่ ๆ ที่โครงการคอนโดฯเริ่มเข้าไป ปักหมุดลงทุนทำตลาดและมีแนวโน้มว่า น่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
ได้แก่ สาทร สีลม สุขุมวิท เพลินจิต วิทยุ หลังสวน ทองหล่อ พหลโยธิน ลาดพร้าว รัชดาภิเษก อโศก พระราม 3 นราธิวาสราชนครินทร์ ที่กำลังมาแรงคือ ทำเลรถไฟฟ้า ทั้งรถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้า บีทีเอส และรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายฝั่งธนบุรี จากสาทร-วงเวียนใหญ่ ที่เพิ่งเปิดใช้บริการ ส่วนต่อขยายวงเวียนใหญ่-บางหว้า และส่วนต่อขยายอ่อนนุช-แบริ่ง ที่กำลังก่อสร้าง
รวมทั้งแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง และที่ภาครัฐจะผลักดันก่อสร้างในอนาคต อย่างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ และท่าพระ-บางแค รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่ รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวจากสถานีแบริ่ง-สมุทรปราการ (หน้าพิเศษ ส่องคอนโดฯกลางเมืองแนวรถไฟฟ้า)
จากคุณ |
:
sandee.kung
|
เขียนเมื่อ |
:
3 ต.ค. 53 08:44:42
|
|
|
|
|