ชื่อ "บุญทักษ์ หวังเจริญ" เพิ่งติดทำเนียบ 50 Role Model ปี 2552 ภายหลังจากที่เขาได้เข้ามารับภาระหนัก ที่หลายคนเปรียบว่าเป็นเหมือน "เผือกร้อน" ในธนาคารทหารไทย ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเขาเคยเป็นนักการธนาคารที่มีบทบาทสูงมากคนหนึ่งในแวดวง ธนาคารของไทย ทำไมผู้อ่านของเราจึงให้ความมั่นใจกับเขาเช่นนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายต่อการ แสวงหาคำตอบ
ในวัย 52 ปี วันนี้บุญทักษ์ หวังเจริญเพิ่งจะได้ชื่อว่าได้เป็นนายแบงก์อย่างเต็มตัว มาเป็นเวลาเพียง 1 ปีครึ่งเท่านั้น ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย ในฐานะที่ทำงานธนาคารสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า บุญทักษ์คือนายแบงก์ที่คร่ำหวอดอยู่กับธุรกิจการเงินมาตลอดชีวิต เขาเริ่มงานที่ธนาคารกสิกรไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 และทำงานให้กับธนาคารแห่งนี้มาเป็นเวลา 27 ปีเต็ม ประสบการณ์และระยะเวลาทำงานที่ยาวนานของบุญทักษ์ในธนาคารกสิกรไทย ทำให้เขามีความผูกพันกับธนาคารแห่งนี้ไม่น้อย
เพราะอย่างน้อยการที่เขาได้รับทุนจากธนาคารกสิกรไทย เพื่อไปศึกษา ต่อระดับปริญญาโท สาขา International Business Finance ที่ New York University สหรัฐอเมริกา ก็เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต ทำให้สามารถหลีกหนีอาชีพวิศวกรที่เขาถูกบังคับกลายๆ จากครอบครัวและสังคมให้เรียนในระดับปริญญาตรีในสาขาวิศวกรรมเคมี ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งๆ ที่โดยส่วนตัวแล้วเขาเองไม่ชอบ
"สังคมไทยยุคนั้นยังแคบ คนเรียนวิทย์ในระดับมัธยมปลาย ถ้าไม่เลือกเรียนต่อหมอก็ต้องเป็นวิศวะ" บุญทักษ์สะท้อนภาพสังคมในช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคเผด็จการทหารและกำลังย่าง เข้าสู่ยุคทุนนิยมเบ่งบานในตอนต้นๆ
หลังเรียนจบจากสหรัฐอเมริกา บุญทักษ์ เริ่มต้นอาชีพธนาคารในฝ่ายกิจการต่างประเทศ ซึ่งขณะนั้นมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นผู้อำนวยการฝ่าย เมื่อธนาคารกสิกรไทยมีแผนที่จะเพิ่มฝ่ายวาณิชธนกิจขึ้นมา เขาก็เข้าไปรับผิดชอบในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายคนแรก เขาผ่านหน้าที่รับผิดชอบในธนาคารกสิกรไทยมาหลายสายงาน ทั้งสายงานบรรษัทธุรกิจ สายงานธุรกิจลูกค้าและผู้ประกอบการ สายงานตลาดทุน จนกระทั่งรับตำแหน่งสูงสุดเป็นรองกรรมการผู้จัดการ ซึ่งเป็นตำแหน่งงานสุดท้ายของเขาในธนาคารแห่งนี้
แม้ว่าความผูกพันของบุญทักษ์กับธนาคารกสิกรไทยและเพื่อนร่วมงานจะมีมาก เพียงใด แต่มีจุดหักเหเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาทำให้เขาตัดสินใจลาออก ระยะเวลาที่ร่วมงานกับธนาคารกสิกรไทยมานาน จึงเป็นภาวะที่ตัดสินใจได้ค่อนข้างลำบากในการเปลี่ยนแปลงตัวเขาเองในครั้งนั้น
"ในความคิดเห็นผมไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน มันท้าทาย ถ้าคิดแบบนี้ ท้าทายการทำงาน รูปแบบเก่า แล้วพยายามทำรูปแบบใหม่ ทุกอย่างมันสนุกหมดเลย"
คำกล่าวของบุญทักษ์ที่ให้สัมภาษณ์ ผู้จัดการ 360 ํ แสดงให้เห็นนัยว่าตัวเขาเองก็รู้ตัวว่าได้เวลาเปลี่ยนแปลงแล้ว บุญทักษ์ตัดสินใจสมัครเป็นผู้บริหาร ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย หลังจากที่กลุ่มไอเอ็นจี ประเทศเนเธอร์แลนด์เข้ามาถือหุ้นใหญ่ร้อยละ 26.4 ในปี 2550 ซึ่งเป็นปีที่ธนาคาร ทหารไทยประสบภาวะขาดทุนมากที่สุดถึง 43,676 ล้านบาท ทำให้กลุ่มไอเอ็นจีเลือก สรรหาประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่แทน สุภัค ศิวะรักษ์
ตำแหน่งประธานเจ้าที่บริหารไม่ได้มีบุญทักษ์สมัครเพียงรายเดียวแต่มีคู่ แข่ง อาทิ ขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และศุภจี สุธรรมพันธุ์ อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย บุญทักษ์ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่ธนาคารทหารไทย มีวาระ การดำรงตำแหน่ง 4 ปีครึ่ง โดยคณะกรรมการสรรหาให้เหตุผลที่เลือกบุญทักษ์ เพราะว่าเขาท้าทายเรื่องผลการดำเนินงาน ของธนาคารทหารไทยที่ประสบภาวะขาดทุนจะมีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นและผู้ถือหุ้นจะได้รับเงินปันผล
ดูเหมือนว่าบุญทักษ์กำลังนำพาธนาคารทหารไทยที่มีสินทรัพย์ 610,985 ล้านบาทและเป็นธนาคารอันดับที่ 5 ให้ไต่ระดับสูงขึ้นไปอีก ว่ากันว่าบุญทักษ์กำหนดเป้าหมายให้ธนาคารแห่งนี้ก้าวขึ้นไปเป็น 1 ใน 3 ธนาคารชั้นนำของประเทศ ไทย ภายใต้ช่วงการบริหารของเขา
แต่กระนั้นเป้าหมายของธนาคารพาณิชย์ในไทยมีความคล้ายคลึงกัน นั่นคือ ให้บริการทางการเงินอย่างครบวงจร (Universal Banking) ทำให้ทุกธนาคารต่างออก ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินในรูปแบบ ที่คล้ายกันจนแทบแยกกันไม่ออก ไม่ว่าจะเป็นการรับเงินฝาก การปล่อยสินเชื่อในรูปแบบต่างๆ การขายกรมธรรม์ประกันชีวิต ประกันภัย ขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม และการเป็นนายหน้าซื้อขายหุ้น
โจทย์ที่ท้าทายบุญทักษ์คือ ทำอย่างไรเขาจะสามารถสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคาร ทหารไทย เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ บุญทักษ์เริ่มทำงานมาแล้วกว่า 1 ปีครึ่ง เขาต้องเรียนรู้งาน รู้จักผู้บริหารและพนักงาน รวมไปถึงผู้ถือหุ้นรายใหม่อย่างไอเอ็นจี เพราะธนาคารแห่งนี้กลายเป็นธนาคาร ลูกครึ่งไปแล้ว ดังนั้น ผู้บริหารและแนวคิดการทำงานจึงเป็นในรูปแบบผสมผสาน
รวมไปถึงการสร้างวัฒนธรรมองค์กรขึ้นมาใหม่ เนื่องจากพนักงานของธนาคารทหารไทยมีที่มาที่หลากหลาย อันเกิดจากการควบรวมกิจการกับธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IFCT) เมื่อ 5 ปีก่อน
การหลอมรวมวัฒนธรรมให้เป็นหนึ่งเดียวโดยมีจุดมุ่งหมายให้ธนาคารทหารไทย เป็นธนาคารชั้นนำ มาตรฐานระดับโลก เป็นแผนธุรกิจของธนาคารทหารไทยในอีก 5 ปีข้างหน้านับจากนี้ ในแผน 5 ปียังแบ่งเป็นแผนย่อยใน 2 ปีแรก เฟสที่ 1 คือการปรับโครงสร้างกระบวนการทำงาน เรียนรู้ลูกค้า เฟสที่ 2 สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และเฟสสุดท้าย การเป็นผู้นำสถาบันการเงินในประเทศไทย
การสร้างวัฒนธรรมใหม่พร้อมกับพนักงานองค์กรทั้งหมดกว่า 8,000 คนไม่ใช่เรื่องง่าย บุญทักษ์ได้เริ่มสร้างวัฒนธรรมที่เรียกว่า TMB WAY เป็นค่านิยมใหม่ เพื่อให้พนักงานมีความเข้าใจทิศทางและเป้าหมายเดียวกัน ผู้บริหารธนาคารทหารไทยรายหนึ่ง บอกกับผู้จัดการ 360 ํ ว่า พนักงานต้องเข้าใจว่าการเข้ามาของบุญทักษ์ เขามาสร้างธนาคารใหม่ไม่ได้มารื้อองค์กรเพื่อปรับโครงสร้างเท่านั้น
การสร้างธนาคารใหม่ทำให้บุญทักษ์ มีงานหลายอย่างทำพร้อมๆ กัน เขาสร้าง โอกาสให้พนักงานเลือกงานที่ชอบจริงๆ หรือสามารถย้ายแผนกงาน โดยหัวหน้าที่ดูแลอยู่เดิมต้องปล่อยพนักงานให้ย้ายออกไปได้ภายใน 45 วัน ซึ่งบางกรณีเขาต้องมา ดูด้วยตนเองเพื่อให้หัวหน้าอนุมัติ แม้แต่วิธีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานด้วยกัน ธนาคารได้ทำนิตยสารภายในเรียกว่า ฟุต ฟิต ฟอ ฟ้า เป็นการบอกเล่าความเคลื่อนไหวในกิจกรรม ต่างๆ
ไม่ว่าวิธีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับพนักงานจะสื่อสารกัน ด้วยวิธีใหม่ๆ รวมไปถึงหล่อหลอมให้มีวัฒนธรรมเดียว แต่สิ่งที่จะประเมินผลงาน ของพนักงาน รวมทั้งผู้บริหารได้ต้องถูกกำหนดอย่างชัดเจนด้วยตัวเลข ส่วนผลตอบแทนจะได้รับกลับมา คือโบนัส
บุญทักษ์เริ่มวัดผลการทำงานของพนักงานและผู้บริหาร ในส่วนของพนักงาน ประจำสาขาประเมินจากยอดขาย พนักงาน ที่ทำงานได้ตามเป้าจะได้รับโบนัสทุกๆ 3 เดือน ส่วนพนักงานทั่วไปประเมินจากประสิทธิภาพของการทำงาน ด้านผู้บริหาร ได้ผลตอบแทนจาก Return on Equity (ROE) บุญทักษ์ในฐานะผู้บริหารใหม่กำลัง ขับเคลื่อนองค์กรแห่งนี้ให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสถาบันการเงินแห่งนี้
ประสบการณ์ของบุญทักษ์ที่อยู่ในธุรกิจการเงินทั้งในและต่างประเทศมาตลอด ชีวิต ทำให้เขาพบว่าระบบธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยให้บริการลูกค้ายังไม่ดีพอ สิ่งที่เขาเห็นจึงเป็นโอกาสของธนาคารทหารไทย แต่ประสบการณ์การทำงานของบุญทักษ์ส่วนใหญ่ที่ผ่านมาเขาจะคลุกคลีกับ องค์กรธุรกิจระดับคอร์ปอเรทเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ธุรกิจการเงินที่ให้บริการลูกค้า ระดับรีเทล เขามีโอกาสได้สัมผัสน้อย แต่เขาเชื่อว่าระบบการทำงานระหว่างลูกค้าคอร์ปอเรท ธุรกิจเอสเอ็มอี และรีเทล มีการเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว การทำงานจึงแยกกันไม่ออก
สิ่งที่เขาคิดและลงมือทำไปแล้วคือการเปลี่ยนความคิดใหม่ในการให้บริการ ทางด้านการเงินแบบนอกกรอบ ด้วยการลดข้อจำกัดต่างๆ ของธนาคารทุกแห่งในประเทศไทยที่เคยตั้งกันขึ้นมา ทั้งที่ไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นกฎเกณฑ์ตายตัว ข้อจำกัดเหล่านี้ อาทิ การที่ลูกค้าที่มีบัญชีเงินฝากประจำสามารถถอนเงินออกมาได้ก่อนระยะเวลากำหนด โดยไม่เสียค่าปรับและยังคงได้รับดอกเบี้ยในอัตรา เดิม ที่สำคัญคือลูกค้ายังมีสถานภาพเป็นลูกค้าเงินฝากประจำอยู่
เขากล้าเปลี่ยนปรัชญาของธุรกรรม รับเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ล้วนปฏิบัติตามกันจนกลายเป็นธรรมเนียม ทั้งๆ ที่ไม่มีใครบอกได้ว่าเป็นกฎเกณฑ์ที่กำหนด ไว้โดยใคร แต่ทุกคนต่างต้องทำตาม การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้เส้นแบ่งระหว่างบัญชีเงินฝากประจำกับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์บางลงไปอย่างเห็นได้ชัด
"ผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ไม่เคยมีมาก่อน แม้แต่ผู้สอบบัญชีก็ยังไม่รู้ว่าจะลงบัญชีอย่างไร"
ก่อนหน้าที่จะออกแคมเปญเงินฝากประจำที่สามารถถอนได้ก่อนกำหนด บุญทักษ์ ยังได้ปรับวิธีคิดในการเก็บค่าธรรมเนียมการกดเงินสด หรือโอนเงินจากเครื่องเอทีเอ็มของธนาคาร โดยผู้ถือบัตรเอทีเอ็มของธนาคารทหารไทย สามารถนำบัตรไปทำธุรกรรมกับเครื่องของทุกธนาคารได้ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม บริการนี้เรียกว่า No Fee No Limit
ทั้งแคมเปญเงินฝากประจำที่ถอนได้ก่อนกำหนด หรือการยกเว้นการเก็บค่าธรรม เนียมกับบัตรเอทีเอ็มในการไปทำธุรกรรมกับตู้ของธนาคารอื่นๆ หรือนอกพื้นที่ บุญทักษ์บอกว่าได้ผ่านการคำนวณทางสถิติเอาไว้แล้วว่าจะไม่ทำให้ธนาคารเสียผล ประโยชน์ จากสถิติมีลูกค้าที่ถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากประจำก่อนกำหนดเพียงไม่กี่ราย ไม่มีผลต่อการล็อกต้นทุนทางการเงินของธนาคาร
หรือกรณีของค่าธรรมเนียมการทำบัตรเอทีเอ็มนั้น ธนาคารคิดค่าธรรมเนียมจากลูกค้าครั้งแรกเลยที่ 300 บาทต่อบัตร หลังจากนั้นลูกค้าก็ไม่ต้องเสียค่าบริการใดๆ ไปอีก 3 ปี จากปกติต้องเสียค่าบริการบัตรละ 200 บาทต่อปี จากการคำนวณต้นทุนและค่าใช้จ่ายแล้ว บุญทักษ์มองว่าคุ้ม เพราะข้อมูลสถิติบอกว่าลูกค้าใช้บริการเอทีเอ็มไม่เกิน 20 ครั้งต่อเดือนต่อคน
แต่แคมเปญที่ดูจะสร้างความฮือฮาให้กับเพื่อนร่วมอาชีพธนาคารพาณิชย์ด้วย กัน คือการให้บริการสินเชื่อกับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ธนาคารทหารไทยกล้าปล่อยเงินให้สูงถึง 3 เท่าของหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 20 ล้าน บาท มากกว่าธนาคารทั่วไปที่มักให้กู้เพียง 1 เท่า หรือไม่เกินร้อยละ 80 ของหลักประกันรวมถึงระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อที่สั้นกว่าเพียง 15 วันทำการเท่านั้น ที่ว่าน่าจะสร้างความฮือฮาก็คือ แคมเปญโฆษณาที่ธนาคารยิงออกมา ซึ่งเปรียบธนาคารอื่นๆ ว่าเป็นไดโนเสาร์!!!
ล่าสุด ธนาคารทหารไทยยังได้เปิดบริการฝาก ถอน โอน หรือเปิดบัญชีใหม่ โดย ที่ลูกค้าไม่ต้องกรอกเอกสารอีกต่อไป เพียงแต่แจ้งเจ้าหน้าที่ธนาคารหน้าเคาน์เตอร์ให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ ก็สามารถทำธุรกรรมได้ทันที โดยใช้เวลา 6-7 นาทีเท่านั้น การฉีกรูปแบบการให้บริการ เป็นแนวคิดของบุญทักษ์ที่ต้องการให้ผู้บริหาร หรือแม้แต่ทีมงานได้ขบคิดถึงข้อจำกัดที่มีอยู่ และทำอย่างไรจึงจะลดข้อจำกัดเหล่านั้นลงมาให้ได้
การเปลี่ยนแปลงในความคิดของบุญทักษ์ไม่ใช่แค่การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วิสัยทัศน์ในการทำงานเท่านั้น แต่เขามองไปไกลมากกว่านั้นว่า ธนาคารทหารไทยจะต้อง เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมทางด้านการเงิน ไม่ใช่เป็นผู้ตาม เพราะผู้ตาม จะถูกผู้นำลากจูงไปในทิศทางที่เขาต้องการ บริการทางด้านการเงินที่บุญทักษ์สร้างขึ้นให้กับธนาคารแห่งนี้ เขามองว่าไม่ใช่เป็นการสร้างความแตกต่าง เพื่อต้องการให้แตกต่าง
แต่เป็นการสร้างความแตกต่าง เพราะความต้องการของลูกค้า เนื่องจากบริการแบบเดิมๆ และข้อจำกัดเดิมๆ ที่ธนาคารทุกแห่งสร้างเงื่อนไขกันขึ้นมา ล้วนเป็นฝั่งของธนาคารเป็นผู้กำหนดขึ้นเองทั้งสิ้น จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ บุญทักษ์ยอมรับว่าเงื่อนไขเหล่านี้กำหนดขึ้นมาตั้งแต่เขาเกิด และลูกค้าธนาคารทุกคนก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ที่ธนาคารเป็นผู้ออกมา ทั้งที่อาจจะไม่ใช่เป็นความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง
แนวคิดของบุญทักษ์ไม่ได้เกินเลยความเป็นจริงของบริการธนาคารที่มีอยู่ใน ปัจจุบัน เพียงแต่ว่าระบบความคิดของเขา คือบริการทางการเงินที่ออกมา ลูกค้าต้องเป็นศูนย์กลาง โดยผสมผสาน 3 สิ่งเข้าไว้ด้วยกัน คือเข้าใจลูกค้า วิเคราะห์บริการโดย อยู่บนปัจจัยพื้นฐานของความเป็นจริงและทลายแนวคิดเดิมๆ ที่เป็นอุปสรรค รูปแบบบริการทางการเงินที่เปลี่ยน แปลงไป แม้ว่าจะไม่ใช่บรรทัดฐานแต่สิ่งที่เขาทำเชื่อว่าจะมีผู้เดินตามในไม่ช้า
"มันเป็นความฝันของผม ผมตั้งใจทำสิ่งนี้ให้มันเกิด คือความคิดรูปแบบใหม่ บริการทางการเงินใหม่ นอกจากทำให้ทหารไทยเติบโตมาเป็นธนาคารชั้นนำได้ ต้องทำให้ระบบการเงินมันเปลี่ยนไปด้วย นั่นคือความฝันอันสูงสุด"
เปรียบไปแล้วสิ่งที่บุญทักษ์กำลังทำ อยู่ในธนาคารทหารไทยขณะนี้ไม่แตกต่างจากเมื่อครั้งที่ บรรณวิทย์ บุญรัตน์นำความคิดไปเสนอกับ ชาตรี โสภณพนิชที่ธนาคารกรุงเทพฯ ให้นำเครื่องเอทีเอ็มเข้ามาใช้เมื่อเกือบ 30 กว่าปีที่แล้ว แต่ถูกชาตรีปฏิเสธจนบรรณวิทย์ต้องหอบโครงการไปเสนอกับธนาคารไทยพาณิชย์แทน หรือเมื่อครั้งที่นิวัตต์ จิตตาลาน ประกาศว่าบัตรเครดิตของ KTC จะไม่คิดค่าธรรมเนียมรายปีจากลูกค้าผู้ถือบัตรตลอดชีวิตเมื่อเกือบ 8 ปีก่อน
เพราะผลที่แสดงออกมาในทุกวันนี้ บัตรเอทีเอ็มได้กลายเป็นสิ่งที่ต้องมีประจำในกระเป๋าของทุกคน ขณะเดียวกันธนาคาร พาณิชย์ผู้ออกบัตรเครดิตทุกรายก็ไม่มีใครที่กล้าคิดค่าธรรมเนียมรายปีกับ ลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตต่อไปอีกแล้ว!?!
การเปลี่ยนแปลงของธนาคารทหาร ไทยผ่านกิจกรรมต่างๆ ในช่วงระยะ 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้ลูกค้าเริ่มจับตามองความเป็นไปของธนาคารแห่งนี้ และมีส่วนหนึ่งต้องการมาใช้บริการ เพราะบุญทักษ์เปิดเผย ผลการวิจัยสำรวจเมื่อ 5-6 เดือนก่อน มีลูกค้าเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ มีแนวคิดจะใช้บริการของธนาคารทหารไทยเท่านั้น แต่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่า 50 เปอร์เซ็นต์สนใจใช้บริการแต่ยังไม่ได้ใช้บริการจริงๆ
สิ่งใหม่ๆ ได้ริเริ่มและมีอีกหลายอย่างที่บุญทักษ์ตั้งใจจะทำ กำหนดบทบาท ให้ธนาคารเป็นซัปพลายเชน ทำหน้าที่เข้าไปให้บริการสินเชื่อให้กับลูกค้าหลายๆกลุ่ม เพราะระบบการทำงานระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี และ ลูกค้ารายย่อย ล้วนเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน ผู้ค้ารายใหญ่จะดูแลลูกค้าเอสเอ็มอี และให้บริการสินเชื่อในรูปแบบ account receiver ธนาคารสามารถเข้าไปปล่อยสินเชื่อแทนผู้ค้ารายใหญ่และให้บริการอื่นเพิ่มเติม นโยบายนี้จะเริ่มเห็นในปีหน้า
นอกเหนือจากการคิดค้นบริการใหม่ๆ แล้ว ธนาคารได้กำหนดแผนระดมเงินฝาก โดยต้องมีสัดส่วนเงินฝากเพิ่มเป็นร้อยละ 14 ของทั้งระบบภายใน 3 ปี หากวิเคราะห์จากตัวเลขสัดส่วนเงินฝากที่มีเป้าหมายจะเพิ่มเป็นร้อยละ 14 ของระบบได้ชี้ให้เห็นถึงเป้าหมายที่บุญทักษ์ตั้งใจจะยกระดับธนาคารทหารไทย ให้ขึ้นไปเทียบ เคียงกับธนาคารใดได้ในระดับหนึ่ง
เพราะปัจจุบันจากตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย เงินฝากรวมของทั้งระบบในประเทศไทย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 อยู่ที่ 6,514,530 ล้านบาท ในจำนวนนี้ธนาคารกรุงเทพมีสัดส่วนเงินฝากสูงที่สุดคือ 1,346,573 ล้านบาท รองลงมาคือธนาคารกรุงไทย 1,145,087 ล้านบาท มีธนาคารพาณิชย์ 2 แห่ง ที่มีสัดส่วนเงินฝากอยู่ในระดับร้อยละ 14 ของทั้งระบบ คือธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งมีเงินฝากรวม 954,308 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.64 กับธนาคารกสิกรไทย ซึ่งมีเงินฝากรวม 938,190 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 14.40 ส่วนธนาคารทหารไทยมีเงินฝากรวม ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2552 ที่ 405,277 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.22 เท่านั้น
แผนการระดมเงินฝากเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความแข็งแกร่งให้กับธนาคาร และเพื่อใช้เป็นเงินทุนปล่อยสินเชื่อต่อไป แม้ว่าในปัจจุบันปริมาณการปล่อยสินเชื่อจะลดลงร้อยละ 10 ในปีนี้ การปล่อยสินเชื่อลดลงในปีนี้ของธนาคารทหารไทย บุญทักษ์บอกว่าเป็นความตั้งใจ ของธนาคารต้องการให้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาการปรับโครงสร้างการทำงานของธนาคาร โดยเฉพาะการแยกบริการปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี และคอร์ปอเรทออกจากสาขา และโอนลูกค้าไปอยู่ภายใต้การดูแลของเอสเอ็มอีฮับ 50 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้บริการแตกต่างออกไป สถานการณ์ที่ผ่านมาจึงเป็นการปรับตัวและคาดว่าจะเริ่มดีขึ้น
การปล่อยสินเชื่อให้อยู่ในภาวะอ่อนแอในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ที่ผ่านมา เป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจที่บุญทักษ์ได้ประเมินไว้ล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้น ดังนั้นไม่ว่าสถานการณ์ ของธนาคารจะอยู่ในภาวะอ่อนแอหรือประสบความสำเร็จ เป็นสิ่งที่ธนาคารได้คาดการณ์ ไว้ล่วงหน้า และไม่ได้เกิดจากเหตุบังเอิญ หรือฟลุกแต่อย่างใด
การบริหารงานธนาคารทหารไทยภายใต้การดูแลของบุญทักษ์ในช่วงระยะเวลา 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา เขาสามารถล้างผลขาดทุน 43,676 ล้านบาทในปี 2550 พลิกมาเป็นกำไร ในปี 2551 จำนวน 423 ล้านบาท ส่วนในปีนี้มีกำไรในช่วง 9 เดือนแรก 1,355 ล้านบาท
ผลกำไรของธนาคารทหารไทยเกิดจากผลการดำเนินงานส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่ง เป็นกำไรตัวเลขทางบัญชีจากการขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่เคยตั้งสำรอง หนี้สูญเอาไว้ เมื่อมีการปรับโครงสร้างจนกลายมาเป็นลูกหนี้ตามปกติทำให้ธนาคารได้เงินสำรอง กลับคืนมาเป็นรายได้ หรือแม้แต่หุ้นกู้ด้อยสิทธิ ขั้นที่ 1 ธนาคารออกขายเมื่อ 3 ปีที่แล้วในต่างประเทศราคา 1 เหรียญ แต่ราคาตลาดได้ลดลงเหลือเพียง 55 เซ็นต์ จากปัญหาเศรษฐกิจในช่วง ที่ผ่านมา ธนาคารจึงถือโอกาสซื้อคืนกลับมา ทำให้มีกำไร 3,200 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ธนาคารมิได้นำยอดกำไรดังกล่าวไปลงในบัญชี แต่นำไปตั้งเป็นเงินสำรองแทน เพราะธนาคารมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แม้ว่าจะขายเอ็นพีแอลไปได้ 2 หมื่น ล้านบาทในช่วงที่ผ่านมาแต่ก็ยังขาดทุนอยู่ถึง 3 พันล้านบาท แม้ว่าระบบโครงสร้างทางการเงินอยู่ระหว่างการปรับปรุงก็ตาม แต่ผลกำไรที่ติดต่อกันเป็นเวลา 2 ปี และบุญทักษ์ก็คาดหวังว่าในปีนี้จะล้างหนี้สินที่มีอยู่ทั้งหมดจน ทำให้ในปีหน้าผู้ถือหุ้นจะเริ่มได้รับเงินปันผล
ตลอดระยะเวลาที่ ผู้จัดการ 360 ํ สัมภาษณ์บุญทักษ์ เขาจะกล่าวบ่อยครั้งว่า การเข้ามาทำงานในธนาคารทหารไทยเป็นเรื่องท้าทายสำหรับเขา และมองว่าเป็นงานที่สนุกมีสิ่งใหม่ๆ ให้ได้คิดและทำตลอดเวลา โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงธนาคารจากที่มีผลการดำเนินงานติดลบ
"ที่ผมกล้าเปลี่ยนที่นี่ เพราะเป็นการเปลี่ยนจากที่เริ่มจากศูนย์ หากเป็นที่อื่นคง จะเปลี่ยนได้ยาก"
ความสนุกในการทำงานของเขาแม้ว่าจะมีแรงกดดันจากหลายๆ ด้าน แต่เขาก็มีเป้าหมายชัดเจนที่จะสร้างธนาคารทหารไทยให้เป็นธนาคารชั้นนำ แตกต่างจากธนาคาร พาณิชย์ชั้นนำที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว อาจทำให้ความสำเร็จกลายเป็นอุปสรรคในการกำหนดวิสัยทัศน์จนไม่สามารถหาทางออก ให้กับธุรกิจ หากมองย้อนไปในอดีต เส้นทางการศึกษาของบุญทักษ์ไม่ได้ตั้งใจมาเป็นนายแบงก์แม้แต่น้อย แต่เขาต้องเรียนวิศวกรรมสาขาเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อช่วยงานธุรกิจครอบครัวที่ดำเนินกิจการทางด้านเคมี เขาชอบเรียนวิชาคำนวณ แต่ไม่ชอบเรียนทางด้านเคมี
เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่ชอบ เขาจึงตัดสินใจสอบชิงทุนของธนาคารกสิกรไทยไปเรียนต่อระดับปริญญาโท สาขา International Business Finance ที่ New York University สหรัฐอเมริกา และกลับมาร่วมงานกับธนาคารกสิกรไทย ตอนนั้นบุญทักษ์บอกว่าเป็นอุบัติเหตุ แต่อุบัติเหตุในครั้งนั้นทำให้เขาทำงานด้านการเงินมาเกือบตลอดชีวิตตั้งแต่ จบการศึกษา
หากถามถึงความฝันสิ่งที่อยากทำมากที่สุด กลับได้รับคำตอบว่าเขาปรารถนา เป็นวิศวกรโยธา เพราะเขาชอบการสร้างสิ่งใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างตึก สร้างเขื่อน หากในตอนนั้นได้มีโอกาสเลือกเรียน วิศวกรโยธา ชีวิตของเขาอาจไม่ได้อยู่บนเส้นทางธุรกิจการเงินไปแล้ว แม้ว่าโลกความฝันและโลกความเป็นจริงจะห่างไกลกัน แต่การเป็นนายแบงก์ ก็เป็นสิ่งท้าทายเขาอยู่ไม่น้อย เพราะเขาต้องอวดฝีมือให้เห็นว่า เขาเป็นมืออาชีพที่กำลังท้าทายตัวจริงหรือเปล่า