|
วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2553 เวลา 11:39:45 น. มติชนออนไลน์
บาทแข็งทำส่งออกกุ้ง-ไก่สูญ2หมื่นล้าน เบรครับออเดอร์ใหม่ หวั่นเจ๊งจากบาทแข็ง
นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้หารือสมาคมกุ้งไทย สมาคมผู้เลี้ยงและส่งออกไก่ และสมาคมส่งออกสับปะรดไทย ถึงผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็ง โดยเอกชนเสนอให้เพิ่มมาตรการช่วยเหลือในหลายรูปแบบที่จะช่วยเสริมสภาพคล่องธุรกิจ ลดต้นทุนบริหารงานในประเทศ ลดภาษีวัตถุดิบนำเข้าอาหารสัตว์ จัดสรรโควต้าน้ำตาลทรายโควต้า ค. ให้ทั่วถึง และสนับสนุนการใช้วัตถุดิบในประเทศ
"ตอนนี้ผู้ส่งออกบางส่วนแจ้งว่าต้องหยุดรับคำสั่งซื้อใหม่แล้ว เกรงจะขาดทุนจากบาทแข็งมากขึ้น ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะเรียกหารือผู้ส่งออกในกลุ่มสิ่งทอ เครื่องหนัง อาหารแปรรูป เฟอร์นิเจอร์ และเอสเอ็มอี"
นายฉัตรชัย ชูแก้ว ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ผู้ส่งออกได้เสนอ 3 แนวทาง ได้แก่ 1.ขอให้ปล่อยสินเชื่อส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน โดยใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน และยกเว้นเก็บดอกเบี้ย 6 เดือน หรือคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ เช่น ให้ธนาคารรับประกันอัตราแลกเปลี่ยนที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 2.ขอให้รัฐบาลออกมาตรการภาษีเพื่อลดต้นทุนวัตถุดิบ การผลิตและแรงงาน 3.ทางสมาคมผู้เลี้ยงและส่งออกไก่ ขอให้อุดหนุน เพิ่มกระดานซื้อขายสำหรับผู้ส่งออกโดยเฉพาะ
นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า บาทแข็งยังไม่ได้กระทบต่อยอดส่งออกกุ้งไทยในปีนี้มากนัก เพราะได้รับชดเชยรายได้จากผลผลิตในประเทศคู่แข่งเสียหายจากภัยธรรมชาติ เช่น มาเลเซีย บราซิล เวียดนาม จีน และปัญหาน้ำมันรั่วในอ่าวเม็กซิโก ทำให้ความต้องการและราคาขายสูงขึ้น 30-40% อย่างไรก็ตาม บาทแข็งทำให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยสูญรายได้แล้ว 1 หมื่นล้านบาท
นายณัฐศักดิ์ พัฒนากุลชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่เพื่อการส่งออกไทย กล่าวว่า การส่งออกไก่ยังไม่มีปัญหา แต่ค่าบาทแข็งกระทบรายได้ลดลง ซึ่งปีนี้ทั้งอุตสาหกรรมน่าจะเสียหาย 10,000 ล้านบาท จากการส่งออกทั้งปีประเมินไว้ 4 แสนตัน น่าจะได้มูลค่า 60,000 ล้านบาท แต่เหลือเพียง 5 หมื่นล้านบาท และที่เสนอให้รัฐเร่งช่วยคือ การเจรจาเพิ่มการนำเข้าไก่สดแช่แข็ง
นายวิรัช ปิยพรไพบูลย์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย กล่าวว่า แค่เงินบาทแข็งค่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้อุตสาหกรรมเสียหายไปถึง 20,000 ล้านบาท เนื่องจากผู้ประกอบการรับคำสั่งซื้อไว้ที่ 33 บาท แต่ขณะส่งออกได้เงินเพียง 29.80 บาท โดยคำสั่งซื้อเดิมจะหมดลงในเดือนพฤศจิกายนนี้ หากบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง อาจทำให้ผู้ส่งออกชะลอรับคำสั่งซื้อและไม่สามารถรับซื้อสับปะรดในราคาที่เกษตรกรต้องการได้ในราคากิโลกรัมละ 6 บาท
จากคุณ |
:
อมยิ้มไม่หวาน
|
เขียนเมื่อ |
:
16 ต.ค. 53 15:32:40
|
|
|
|
|