Temple Boxing School
ก่อนอื่นผมต้องขอสวัสดีปีใหม่กับท่านผู้อ่านคอลัมน์ Value Way เป็นลำดับแรก และขอขอบพระคุณหนังสือพิมพ์ BizWeek ที่ให้โอกาสผมและคุณวิบูลย์ ได้ถ่ายถอดแนวคิดการลงทุน แบบเน้นคุณค่าให้นักลงทุนอีกหลายๆ ท่านได้อ่านกันเป็นเวลาหลายเดือนแล้วครับ สำหรับการปิดท้ายปี 2547 ซึ่งเป็นปีของความผันผวนของตลาดหุ้นบ้านเรา และนักวิเคราะห์วิจารณ์ทั้งหลายต่างมองไปในปีหน้า 2548 กันแล้วว่าจะมีความผันผวนมากกว่านี้อีกหลายเท่าตัว ซึ่งแน่นอนว่าเราจะต้องพยายามหาทางป้องกันความเสี่ยงในการลงทุนของเราสำหรับ ปีต่อๆ ไปอย่างมีประสิทธิภาพครับ
ในบทความส่งท้ายปี 2547 นี้ ผมอยากจะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นเนื้อหาที่กลั่นกรองจากประสบการณ์อันยาวนานของสมาชิกท่านหนึ่งแห่ง โต๊ะสินธร Pantip.com และ thaivalueinvestor.com ท่านใช้นามแฝงว่า คลายเครียด นักลงทุนท่านนี้เรียกว่าหลักการของสำนักมวยวัด และถูกตั้งชื่อให้อินเตอร์นิดๆว่า Temple Boxing School โดยสมาชิกชื่อคุณ อ-ริน นักลงทุนอารมณ์ดีแห่งราชบุรี หลักการนี้เป็นการวิเคราะห์การลงทุนในตลาดหุ้นตามประสานักลงทุนรายย่อย ไม่ได้มีหลักทางวิชาการจากสำนักไหนๆ เข้ามาเกี่ยวข้องโดยสิ้นเชิง
เท่าที่ผมเป็นนักลงทุนในตลาดหุ้นมาก็หลายปี และสังเกตพฤติกรรมของนักลงทุน ของหุ้นหลายๆ บริษัทแล้วเห็นว่าการวิเคราะห์ของ Temple Boxing School นี้เข้ากันได้กับตลาดหุ้นบ้านเราอย่างกลมกลืนจริงๆ
การจะเป็นนักลงทุนที่จะอยู่กับตลาดหุ้นได้ตลอดไป ท่านว่าจะต้อง “บริหารความโลภความกลัวกับความรู้ให้สมดุล” ซึ่งเป็นกฎพื้นฐานของTemple Boxing School ทั้งนี้เพราะในตลาดหุ้นจะถูกขับเคลื่อนด้วยแรงกรรมหลักๆสามแรงด้วยกันคือ แรงแห่งความโลภ แรงแห่งความกลัว และแรงของผลประกอบการซึ่งราคาหุ้นจะขึ้นลงตามปัจจัยพื้นฐานของหุ้นนั้นๆ จริงๆ แรงแห่งความโลภและความกลัวนี้เป็นแรงทางจิตวิทยา ซึ่งต้องให้การบริหารอารมณ์ ส่วนแรงจากผลประกอบการนั้น ต้องใช้การบริหารความรู้เป็นสำคัญ และเมื่อแรงกรรมทั้งหมดทั้งสิ้นเกิดขึ้นกับหุ้นบริษัทใดบริษัทหนึ่งนั้น ในฐานะนักลงทุนจะต้องทำการบริหารอารมณ์และความรู้ในทันที
เรามาดูปัจจัยที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นนั้นจะประกอบด้วยตัวแปร อะไรบ้าง เริ่มต้นที่ตัวแปรทางพื้นฐานคือ ราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี (PBV) กำไรต่อหุ้น (EPS) คือสภาพคล่องในการซื้อขายของหุ้นนั้นๆ ซึ่งจะมี สภาพหุ้นที่คล่องคอ กับสภาพหุ้นที่ไม่คล่องคอ โดยสภาพคล่องคอคือหุ้นที่มีเม็ดเงินใส่เข้ามาซื้อและขาย ซึ่งมีผลทำให้ราคาหุ้นนั้นๆ วิ่งขึ้นลงนอกเหนือไปกรอบการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นตามปัจจัยพื้นฐาน ส่วนสภาพที่ไม่คล่องคอก็คอไม่มีการใส่เม็ดเงินเข้าไปในหุ้นนั้นๆ มาก ราคาหุ้นนั้นๆ จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบการเคลื่อนไหวตามปัจจัยพื้นฐานเท่านั้น ส่วนตัวแปรที่เป็นตัวแปรทางอารมณ์นั้นคือความโลภและความกลัว ซึ่งจะถูกสร้างขึ้นเมื่อมีเม็ดเงินเข้ามากระตุ้นราคาหุ้น (ดูรูปประกอบ)
ในรูปตรงบริเวณกลางของรูปเป็นการแสดงให้เห็น หุ้นที่ขึ้นลงตามปัจจัยพื้นฐานไม่มีแรงแห่งความโลภและความกลัวเข้ามาเกี่ยว ข้อง ราคาหุ้นจะขึ้นลงตามผลประกอบการ สังเกตได้จากหุ้นที่มีสภาพแบบนี้ PBV จะมีค่าใกล้กับ 1 เท่า ส่วนกรอบด้านบนและด้านล่างจะเกิดได้จากมีข่าวดีและข่าวร้ายเกินจริง ซึ่งคำว่าเกินจริงนี้มักจะเกิดจากการคาดคะเนเป็นส่วนใหญ่ (รู้สึกคุ้นๆ ไหมครับ) ถ้าความโลภสูงกว่าความกลัวเมื่อไร ผลการคาดคะเนจะยิ่งสูงเกินจริงเข้าไปอีก ส่วนความกลัวสูงกว่าความโลภเมื่อไรผลการคาดคะเนจะยิ่งต่ำเกินจริงเข้าไปอีก ซึ่งอาจจะไปทำให้ราคาหุ้นนั้นสูงและต่ำเกินจริง ทั้งนี้จะต้องมีปัจจัยประกอบที่เป็นใจด้วยคือ EPS เพิ่มหรือลดผิดปกติ สภาพคล่องสูง และข่าวลือ ข่าวปล่อยต่างๆ หุ้นที่ราคาขึ้นเกินจริงให้สังเกตได้ที PBV จะสูงกว่า 1 มากๆ ส่วนหุ้นที่ราคาต่ำเกินจริงให้สังเกตว่า PBV ต่ำกว่า 1 มากๆ
ในรูปแต่ละส่วนไม่ว่าบน กลาง ล่าง จะเห็นว่าเราต้องมีความรู้ และต้องมีความรู้พิเศษเมื่อหุ้นนั้นๆ สูงและต่ำเกินจริง ซึ่งความรู้พิเศษนี้จะประกอบไปด้วย ความรู้พิเศษในข่าววงใน ความรู้พิเศษในการประยุกต์เทคนิคต่างๆ ในการลงทุน และความรู้จักควบคุมความโลภและความกลัวของตนเอง
เรื่องความรู้นี้สำคัญมากครับจะเห็นว่า ไม่ว่าหุ้นจะเป็นหุ้นแบบไหนเราก็จำเป็นต้องมีความรู้ ซึ่งความรู้สำหรับการลงทุนในหุ้นที่ราคาตลาดของหุ้นที่ปรับตัวตามแรงของผล ประกอบการเป็นปกติ เราก็ต้องมีความรู้พื้นฐาน อย่างน้อยต้องรู้จักค่าอัตราส่วนพื้นฐานเช่น PE PBV ROE ROA แต่สำหรับหุ้นที่ราคาปรับตัวผิดปกติไม่ว่าจะขึ้นหรือลง เรายิ่งต้องมีความรู้พิเศษเลยทีเดียว ความรู้พิเศษที่ว่านี้ประกอบด้วย
ความรู้พิเศษในข่าววงใน ซึ่งต้องเป็นข่าววงในระดับที่เชื่อถือได้จริงอย่างที่ระดับแม่ยายหรือน้อง เมียสุดที่รักของคนวงในได้รับเลยก็ว่าได้ ข่าววงในระดับปลายแถวระดับกระจอกข่าวทั้งหลายไม่ถือเป็นความรู้พิเศษ ทั้งนี้เพราะผู้ได้รับข่าววงในระดับสูงอาจได้ปฏิบัติการเก็บหรือคายหุ้นไป เรียบร้อยแล้ว
ความรู้พิเศษเชิงวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเทคนิค หรือ ทางด้านพื้นฐาน ซึ่งไม่ใช่แค่การวิเคราะห์แบบพื้นๆ ต้องวิเคราะห์แบบเจาะลึก แต่ทั้งนี้การวิเคราะห์ทางเทคนิคชั้นสูงจะช่วยได้มากกว่า เพราะการขึ้นลงผิดปกตินั้นไม่ได้เป็นไปตามพื้นฐานที่แท้จริง มักเกิดจากการสร้างราคาเป็นส่วนใหญ่
ความรู้จักควบคุมความโลภและความกลัวของตัวเอง ท่านผู้นำเสนอหลักการสำนักมวยวัดนี้กล่าวว่าหากเราไม่มีความรู้ในสองข้อแรก ข้างบน เราควรจะมีความรู้ในข้อสุดท้ายนี้ให้มาก เพราะท่านเองก็ยอมรับว่าท่านก็ไม่มีความรู้สองข้อบนนั้นเลย และไม่ยอมไล่ซื้อหุ้นที่ลอยตัวสูงขึ้นเลยกรอบการเคลื่อนไหวตามพื้นฐานมากๆ ยอมนั่งน้ำลายหกเป็นปีๆ ดีกว่านั่งน้ำตาตกในช่วงข้ามวัน ซึ่งนั่นคือการไม่ยอมเปลี่ยนจุดอ่อนให้เป็นจุดตาย
จากคำแนะนำของTemple Boxing School ให้เราพยายามปรับตัวของเราจากแมลงเม่าน้อยให้กลายร่างเป็นนักลงทุนผู้ชาญ ฉลาด ด้วยการเสริมสร้างความรู้โดยเริ่มที่ความรู้พื้นฐานและเลือกลงทุนในหุ้นที่ เคลื่อนไหวในกรอบของพื้นฐานจะดีกว่า และเรายังสามารถได้รับปันผลเป็นน้ำจิ้มไปด้วย จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไป ประสบการณ์และความรู้เพิ่มขึ้น (อาจไม่รวมความรู้พิเศษในข่าววงใน) เราก็อาจสามารถเข้าไปร่วมวงกับเขาได้ โดยให้เลือกลงทุนซื้อหุ้นที่ลงผิดปกติ หรือเอาปลอดภัยก็ให้ลงทุนในหุ้นพื้นฐานดีราคาต่ำ และรอให้เกิดกำลังจากการสร้างราคาจนความโลภชนะความกลัว ซึ่งจะส่งผลให้ราคาหุ้นลอยขึ้นเหนือกรอบพื้นฐานไปพอสมควร เราก็ควรจะเผ่นพันลี้ สำหรับวิธีการจัดการกับอารมณ์ของ Temple Boxing School นี้ ผมจะค่อยๆ นำเสนอต่อท่านผู้อ่านในลำดับต่อๆ ไปครับ–จบ–
–กรุงเทพธุรกิจ Bizweek ฉบับวันที่ 31 ธันวาคม 2547 – 6 มกราคม 2548–
จากคุณ |
:
boozy bird
|
เขียนเมื่อ |
:
30 ต.ค. 53 11:23:29
|
|
|
|