|
มาแปะข้อมูลให้ค่ะ ^^
'โทรีเซนไทยฯ' เทคโอเวอร์ ผ่าทางตันธุรกิจ โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
'โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์' เดินหน้า 'เทคโอเวอร์' ขยายน่านน้ำใหม่ 'ม.ล.จันทรจุฑา จันทรทัต' เผชิญศึกสองด้านจัดทัพภายในและภาวะตกต่ำของอุตฯ หลังผ่านจุดพีคทางธุรกิจเมื่อปี 2551 สองปีมาแล้วที่ บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) เผชิญภาวะ "ขาลง" ของอุตสาหกรรมที่อาจกินระยะเวลายาวนานหลายปี โจทย์ใหม่ของ "หม่อมไอซ์" ม.ล.จันทรจุฑา จันทรทัต ซีอีโอหนุ่มวัย 43 ปี จึงต้องแก้โจทย์เก่าและสร้างเงื่อนไขใหม่ทางธุรกิจเพื่อลดการพึ่งพาธุรกิจหลัก "ธุรกิจเดินเรือ"
โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ ในวันนี้จึงกลับมาอยู่ในช่วง "หัวเลี้ยวหัวต่อ" ของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ
อดีตศิษย์เก่าปริญญาโทบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์คลีย์ เคยผ่านงานบริษัทวาณิชธนกิจดังระดับโลกเจพี มอร์แกน (ฮ่องกง) และมอร์แกน สแตนเลย์ (สิงคโปร์) จึงเลือกใช้กลยุทธ์ "ซื้อกิจการ" ผ่าทางตันธุรกิจ แต่ทว่าที่ผ่านมาผลการดำเนินงานของ "ธุรกิจใหม่" ก็ยังไม่ดีอย่างที่คาดไว้ จึงเสมือนเผชิญ "ศึกสองด้าน" ทั้งต้องจัดทัพภายใน และเผชิญภาวะตกต่ำของอุตสาหกรรมไปพร้อมกัน
ธุรกิจเดินเรือเริ่มต้นขาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2545-2546 ก่อนจะทะยานเป็นขาขึ้นรอบใหญ่ในช่วงปี 2549-2551 หลังวิกฤติซับไพร์มทำให้ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรปอาจต้องใช้ระยะเวลาเยียวยาพื้นฐานทางเศรษฐกิจของตนเองอีกนานหลายปี ขณะเดียวกันช่วงที่ธุรกิจเดินเรือเฟื่องฟูถึงขีดสุดเมื่อปี 2551 บริษัทเรือทั่วโลกสั่งต่อเรือใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก จนกองเรือทั่วโลกอยู่ในภาวะโอเวอร์ซัพพลายจำนวนเรือมีมากกว่าความต้องการใช้งาน
หลังหม่อมไอซ์เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ เมื่อต้นปี 2548 ขณะอายุเพียง 37-38 ปี โดยมีบิดา ม.ร.ว.จันทรแรมศิริโชค จันทรทัต (ประธานกรรมการบริษัท) เป็นแบ็คอัพ ขณะนั้นกลุ่มไทเก้นอดีตผู้ก่อตั้งชาวนอร์เวย์ขายหุ้นออกไป (ช่วง TTA ขาขึ้นใหญ่คลื่นแรก) ผู้บริหารหนุ่มก็เริ่มเพิ่มการลงทุนใน บมจ.เมอร์เมด มาริไทม์ ดำเนินธุรกิจงานขุดเจาะน้ำมันและวิศวกรรมใต้น้ำ จดทะเบียนที่ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ รวมทั้งเข้าเทคโอเวอร์ บมจ.ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส (UMS) และขยายการลงทุนสู่ประเทศเวียดนาม โดยลงทุนใน บริษัท บาคองโค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจปุ๋ย
ผลงานที่ผ่านมาของ เมอร์เมด มาริไทม์ และ ยูนิค ไมนิ่ง ไม่ค่อยดีนัก เป็นการลงทุนที่ยังไม่สามารถถอนทุนคืนได้ ขณะที่ธุรกิจเดินเรือก็ยังไม่มีอะไรโดดเด่น เวลานี้จึงยังไม่เห็นสตอรี่ใหม่ที่จะผลักดันราคาหุ้น TTA ให้กลับไปสู่จุดเดิมได้ในเร็วๆ นี้
ม.ล.จันทรจุฑา จันทรทัต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ ยอมรับกับกรุงเทพธุรกิจ BizWeek ว่า ช่วงครึ่งแรกของปี 2553 มีปัจจัยลบหลายอย่างทำให้ผลการดำเนินงานยังไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะธุรกิจงานวิศวกรรมและขุดเจาะน้ำมันใต้น้ำของ บมจ.เมอร์เมด มาริไทม์ ที่มีผลประกอบการขาดทุน
"ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมนี้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง 3-4 ครั้ง ที่แรงสุดก็กรณีบริษัทบีพีน้ำมันรั่วในอ่าวเม็กซิโกทำให้ผู้จ้างชะลองานไปทั้งหมดกระทบถึงงานของเมอร์เมดหายไป เหลือการใช้งานเรือเพียงครึ่งเดียว"
ส่วนธุรกิจจำหน่ายถ่านหินของ บมจ.ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส (UMS) ครึ่งปีแรกความต้องการถ่านหินลดลงไปมาก ทำให้ผลประกอบการออกมาไม่ดีเท่าที่ควร ยิ่งปีนี้บริษัทไม่มีกำไรจากรายการพิเศษ 2 รายการจากการขายกองเรือจำนวน 600 ล้านบาท และส่วนต่างกำไรมูลค่าหุ้นของบาคองโค 287 ล้านบาท แม้กำไรจากการดำเนินงานปกติจะไม่กระทบมากแต่ดูแล้วยังไงก็ "คงยังไม่ฟื้น"
ผลประกอบการงวด 9 เดือนของโทรีเซนไทย มีรายได้รวม 14,047 ล้านบาท กำไรสุทธิเพียง 571 ล้านบาท เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนและจุดสูงสุดในปี 2549 ที่มีกำไรสุทธิทั้งปี 8,776 ล้านบาท ถือว่าตกลงอย่างน่าใจหาย
"สรุปแล้วภาพรวมกำไรปีนี้คงออกมาต่ำกว่าปีที่แล้วแน่นอน" ม.ล.จันทรจุฑา ยอมรับสภาพ
แม้ภาพรวมธุรกิจเดินเรือในปีนี้และปีต่อไปจะยังไม่ดีขึ้นตามที่เคยทำนายไว้ แต่หม่อมไอซ์ยังมั่นใจว่าธุรกิจที่เข้าไปลงทุนก่อนหน้านี้น่าจะเริ่มเห็นดอกผลในปีนี้มากขึ้น ส่วนของเมอร์เมดได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารบางส่วน แนวโน้มปี 2554 ถ้าสถานการณ์เริ่มดีขึ้นงานกลับมาแน่นอน เพราะทุกคนต้องเดินหน้าเพียงแต่ตอนนี้ชะลอไว้เท่านั้น ขณะนี้ยังไม่มีแผนที่จะลงทุนกับเมอร์เมดเพิ่มเติม ปัจจุบันมีเรือขุดเจาะ 2 ลำ เรือวิศวกรรมใต้น้ำ 8 ลำเพียงพอแล้ว
ส่วนยูนิค ไมนิ่ง 6 เดือนแรกแทบไม่มีกำไร มีการเข้าไปปรับปรุงภายในพอสมควร แต่ช่วงที่เหลือของปีนี้เริ่มเห็นแล้วว่าทิศทางเริ่มดีขึ้น เพราะไตรมาส 3/2553 ที่ผ่านมาสามารถขายถ่านหินได้แล้ว 4 แสนตันมากกว่าครึ่งปีแรกถึง 20% จากความต้องการของบริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ หลังโทรีเซนไทยเข้าซื้อหุ้นก็ได้ลงทุนเพิ่มไปอีก 10 ล้านบาทคิดว่าไม่ต้องลงทุนอะไรหนักๆ อีก คาดว่าคงใช้เวลาสักพักในการคืนทุนทั้งหมด
"ส่วนของยูนิค ไมนิ่ง เราคาดว่าสิ้นไตรมาสสามจะมียอดขายถ่านหิน 1.1 ล้านตัน บริษัทมีเป้าที่จะเพิ่มยอดขายอีกสองเท่าหรือปีละ 2 ล้านตันในอีก 1-2 ปีนี้ ส่วนปี 2554 คาดว่าจะได้เห็นราคาถ่านหินที่ 96 ดอลลาร์ต่อตันสูงกว่าปีนี้และเราจะออกโปรดักท์ใหม่เป็นถ่านหินเกรดดีขึ้น"
การลงทุนอื่นๆ อย่างเหมืองถ่านหินที่ฟิลิปปินส์ถือหุ้น 38% ผ่าน บริษัท เมอร์ตัน กรุ๊ป ก็มีผลประกอบการดี 9 เดือนแรกกำไรสูงมาก ส่วนธุรกิจปุ๋ยที่เวียดนามลงทุนผ่านบริษัท บาคองโค ลงทุนไป 10 ล้านเหรียญคาดว่าจะคืนทุนทั้งหมดภายใน 18 เดือน
ด้านธุรกิจชิปปิ้งซึ่งเป็นรายได้หลัก หม่อมไอซ์ บอกว่าได้เตรียมแผนการลงทุนซื้อเรือเพิ่มไว้แล้วจากปัจจุบันมีอยู่ 27 ลำ เพราะปีหน้าจะมีเรือที่ต้องปลดระวางอีก 6-8 ลำ ทำให้ต้องลงทุนใหม่ไม่งั้นกองเรือจะเล็กเกินไป แม้ตามคาดการณ์ภายในสองปีข้างหน้ากองเรือทั่วโลกจะออกมาใหม่เต็มท้องทะเลก็ต้องซื้อเพิ่ม
"ช่วงพีคๆ เราเคยมีกองเรือ 49 ลำ เราตั้งเป้ากว้างๆ ไว้ว่าภายใน 3-5 ปีเราน่าจะมีกองเรือรวม 40 ลำ เป็นเจ้าของเอง 40 ลำ เช่า 10 ลำ ปีหน้าเรามองที่จะซื้อเรือมือสองแต่ต้องรอให้ราคาลดลงมา 10-20% ก่อน"
ถามว่าอนาคตของโทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ม.ล.จันทรจุฑา ตอบชัดเจนว่า โทรีเซนไทยจะต้องเป็น โฮลดิ้ง คอมปะนี เข้าไปถือหุ้นบริษัทต่างๆ ตอนนี้ได้ลดสัดส่วนรายได้จากธุรกิจเดินเรือจาก 3 ปีก่อนอยู่ที่ 85% ตอนนี้ลงมาเหลือแค่ 52% แล้ว ส่วนรายได้จากเมอร์เมดอยู่ที่ 20% รายได้จากยูนิค ไมนิ่ง บาคองโค (ขายปุ๋ย) เหมืองถ่านหิน รวมกันอยู่ที่ 25%
"เรามีเป้าหมายในอนาคต (ยาวๆ) อยากให้สามธุรกิจนี้มีสัดส่วนรายได้เท่ากันเพื่อกระจายความเสี่ยง"
กลยุทธ์ที่จะกระตุ้นรายได้ในช่วงที่ธุรกิจเดินเรืออาจจะซึมยาวไปอีกหลายปีคืออะไร "ซื้อกิจการ" เขาตอบ พร้อมย้ำว่าการซื้อกิจการจะยังเป็น "แนวทางหลัก" ของบริษัทในอีก "หลายปี" นับจากนี้ ตอนนี้ได้ตั้งฝ่ายลงทุนใหม่ขึ้นมามีพนักงาน 4 คนคอยมองหาธุรกิจที่น่าสนใจโดยเฉพาะ
ปัจจุบันมี วิชาย ชื่นสุขสวัสดิ์ รับผิดชอบหลักดูแลงานด้านการวางแผนกลยุทธ์ ผลประกอบการ และการพัฒนาธุรกิจโดยรวมของธุรกิจต่างๆ ที่อยู่ภายใต้กลุ่มธุรกิจโครงสร้างขั้นพื้นฐาน เช่น บมจ.ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส และบริษัท บาคองโค จำกัด
หม่อมไอซ์ บอกว่าเป้าหมายหลักอยู่ที่สามธุรกิจหลักคือ พลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน และ ขนส่ง แต่คงไม่สามารถซื้อกิจการได้ทั้ง 100% เพราะจะเน้นซื้อกิจการในต่างประเทศที่กฎหมายบังคับไว้น่าจะทำได้แค่ร่วมทุนสัดส่วนไม่เกิน 49%
"เราไม่เร่งรีบที่จะซื้อกิจการเคยดูไว้ 17 บริษัทแต่ก็ซื้อได้แค่ 2 บริษัทเท่านั้น ตอนนี้เราปิดดีลได้แล้วอีก 1 บริษัทจะประกาศได้เร็วๆ นี้ และกำลังเจรจาอยู่อีก 2-3 ดีล"
ส่วนเรื่องเงินลงทุน "ไม่ต้องเป็นห่วง" ปิดงบเดือนมิถุนายน 2553 โทรีเซนไทยมีเงินสดทั้งหมด 6,500 ล้านบาท มีหนี้สินต่อทุนแค่ 0.145 ต่อ 1 เท่า รวมกับวงเงินกู้จากธนาคารที่ขอไว้แต่ยังไม่เอามาใช้อีก 694 ล้านดอลลาร์ เพราะฉะนั้นจะมีเงินพอที่จะซื้อกิจการรวม 29,000 ล้านบาท คงจะไม่ใช้เกินจากนี้
เงินบาทที่แข็งค่าอย่างมากในตอนนี้ หม่อมไอซ์เป็นห่วงว่าจะมีผลต่องบการเงินเพราะค่าใช้จ่าย 75% และรายได้เกือบทั้งหมดเป็นเงินสกุลดอลลาร์ ภาพรวมอัตรากำไรคงลดลงแต่บอกไม่ได้ว่าเท่าไร ถามถึงแนวโน้มผลประกอบการในอนาคต เขายังเชื่อว่าความต้องการเรือเทกองแห้งของลูกค้าน่าจะยังเติบโตได้ปีละ 5-6% แต่ดัชนีค่าระวางเรือน่าจะลดลงมากกว่าในระดับเลขสองหลัก เชื่อว่าปี 2554 และปีต่อไปทิศทางน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากการเข้าซื้อกิจการทำให้มีรายได้ใหม่ๆ เข้ามา
"ผมเชื่อว่าทุกธุรกิจที่เราลงทุนมีโอกาสเติบโตได้ทั้งหมด รายได้รวมเราจะสามารถเติบโตได้ทุกปีแน่นอน" ผู้บริหารหนุ่มกล่าวอย่างมั่นใจ http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/bizweek/20101104/360932/โทรีเซนไทยฯ-เทคโอเวอร์-ผ่าทางตันธุรกิจ.html
จากคุณ |
:
น้ำปั่นกับวันฟ้าใส
|
เขียนเมื่อ |
:
7 พ.ย. 53 15:18:26
|
|
|
|
|