360 องศา: พบสารในบรรจุภัณฑ์พลาสติก ตัวการสำคัญทำผู้ชายไร้น้ำยา
|
|
นักวิจัยพบสารเคมีที่ทำให้เกิดการสลับเพศที่ใช้ในภาชนะบรรจุอาหาร ขวดนมทารก ฯลฯ มีส่วนเชื่อมโยงกับปัญหาการมีบุตรยากของเพศชาย
เอเจนซี นักวิจัยชี้เป็นครั้งแรกที่พบหลักฐานว่าสารเคมีที่ทำให้เกิดการสลับเพศในขวดพลาสติกเชื่อมโยงกับจำนวนอสุจิที่ลดลงของเพศชาย บิสฟีนอล-เอ (บีพีเอ) ที่ใช้เพื่อทำให้พลาสติกแข็งขึ้น และเป็นสารเคมีที่เลียนแบบฮอร์โมนเอสโตรเจนของเพศหญิง ใช้ในภาชนะบรรจุอาหาร ขวดนมทารก ตลับซีดี มีดและส้อมพลาสติก กระป๋องอาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากสารเคมีชนิดนี้เลียนแบบฮอร์โมนเอสโตรเจน นักวิจัยจึงกังวลมานานแล้วว่าบีพีเออาจรบกวนกระบวนการทำงานของฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกาย และล่าสุดสิ่งที่กลัวกันก็กลายเป็นจริง เมื่อนักวิจัยอเมริกันได้ค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างบีพีเอกับคุณภาพอสุจิที่ลดต่ำลงในมนุษย์เป็นครั้งแรก รายงานที่อยู่ในวารสารเฟอร์ทิลิตี้ แอนด์ สเตอริลิตี้ระบุว่า คนงานโรงงานในจีนที่ได้รับสารเคมีชนิดนี้ในปริมาณสูงมีจำนวนอสุจิลดต่ำลง ดร.เดอ-คุนลี จากแผนกวิจัยของไกเซอร์ เพอร์มาเนนตีในแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่าสิ่งที่ค้นพบตอกย้ำผลการศึกษาในสัตว์ที่เชื่อมโยงบีพีเอกับปัญหาการเจริญพันธุ์ งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการต่อยอดงานวิจัยในอดีตของดร.ลีในกลุ่มตัวอย่างเดียวกันที่เชื่อมโยงการได้รับบีพีเอกับปัญหาทางเพศ สำหรับงานล่าสุดได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสถาบันอาชีวอนามัยและความปลอดภัยแห่งชาติของสหรัฐฯ แอนเดรีย กอร์ ศาสตราจารย์ด้านพิษวิทยาจากมหาวิทยาลัยเทกซัส ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการวิจัย แสดงความเห็นว่าแม้ป็นการศึกษาสำคัญแต่ยังอยู่ในขั้นต้นเท่านั้น โดยผลการศึกษาบ่งชี้ความเป็นไปได้ที่บีพีเออาจเป็นสารประกอบหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอสุจิ การศึกษานี้ครอบคลุมคนงานในโรงงานชาวจีน 130 คนที่ทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องโดยตรงกับวัสดุที่มีบีพีเอ และคนงานอีก 88 คนที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับสารเคมีนี้และมีระดับการได้รับสารใกล้เคียงกับคนงานตะวันตก นักวิจัยพบว่าคนงานที่ตรวจพบบีพีเอในปัสสาวะมีจำนวนอสุจิต่ำ นอกจากนั้นคุณภาพของอสุจิยังต่ำกว่าคนงานที่ตรวจไม่พบบีพีเอในปัสสาวะถึง 2-4 เท่า ผู้ชายที่มีจำนวนอสุจิต่ำที่สุดคือกลุ่มที่มีบีพีเอในระดับสูงสุด บีพีเอในปัสสาวะเกี่ยวข้องกับอสุจิคุณภาพต่ำแม้ในกลุ่มผู้ชายที่ไม่ได้ทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมีชนิดนี้ และระดับบีพีเอเฉลี่ยต่ำกว่าผู้ชายกลุ่มอื่นก็ตาม งานวิจัยนี้ออกมาหลังจากที่ศาสตราจารย์เดวิด เมลเซอร์ จากมหาวิทยาลัยเอ็กเซ็ตเตอร์ในอังกฤษ เรียกร้องให้มีการตรวจสอบความปลอดภัยของบีพีเอโดยเร่งด่วนเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ นักวิชาการชั้นนำผู้นี้ยังเรียกร้องให้ผู้ผลิตลดการใช้บีพีเอในบรรจุภัณฑ์และภาชนะใส่อาหาร โดยกล่าวกับรอยัล อินสติติวชันในลอนดอนว่า มีการผลิตบีพีเอออกมาวันละเป็นล้านปอนด์โดยที่ยังไม่มีใครรู้ว่าสารเคมีชนิดนี้ส่งผลอย่างไรต่อมนุษย์
http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9530000156953
จากคุณ |
:
Grand Marshal1
|
เขียนเมื่อ |
:
7 พ.ย. 53 12:34:37
|
|
|
|