Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
เมื่อความกลัวและความโลภเข้าครอบงำ ติดต่อทีมงาน

The Financial Markets: When Fear And Greed Take Over

คำพูดเก่าแก่ของวอลล์สตรีทกล่าวไว้ว่า มีแรง 2 อย่างที่เป็นตัวขับเคลื่อนตลาดคือ ความกลัวและความโลภ แม้การกล่าวเช่นนี้ จะดูง่ายเกินไป แต่มันเป็นความจริง เมื่อตลาดและนักลงทุนถูกครอบงำด้วยอารมณ์ทั้งสองแบบนี้  ย่อมจะมีแต่ผลเสีย

อิทธิพลของความโลภ
บ่อยครั้งที่นักลงทุนตกอยู่ในอารมณ์ความโลภ ความต้องการที่มากเกินไป คนส่วนใหญ่ต้องการที่จะร่ำรวยให้มากที่สุดในเวลาที่น้อยที่สุด ความเฟื่องฟูของอินเทอร์เน็ตปลายปี 1990 เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ช่วงเวลานั้นดูเหมือนว่าทุกคนต่างแนะนำให้ลงทุนในหุ้นอะไรก็ได้ที่ลงท้ายด้วย .com นักลงทุนกระโจนเข้าคว้าโอกาสซื้อขายหุ้นที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต หุ้นหลายตัวแม้เพิ่งจะเริ่มธุรกิจ แต่ก็ได้รับความนิยมอย่างสูง ยิ่งเป็นการเติมเชื้อเพลิงให้กับความโลภ ทำให้หลักทรัพย์มีราคาสูงเกินจริง กลายเป็นฟองสบู่ดอตคอม ที่แตกออกในกลางปี 2000 ดัชนีของตลาดร่วงยาวมาจนถึงปี 2001  
ความต้องการรวยอย่างรวดเร็วเช่นนี้ทำให้ยากแก่การรักษากำไรและดำเนินตามแผนการลงทุนระยะยาว “อลัน กรีนสแปน” ประธานเฟดได้บรรยายสภาวะตลาดในขณะนั้นว่า เป็นความปั่นป่วนที่ผิดปกติ เป็นช่วงเวลาที่จะต้องรักษาวินัยพื้นฐานการลงทุนอย่างเคร่งครัด อาทิ การลงทุนแบบเฉลี่ย DCA และหลีกเลี่ยงการเข้าสู่กระแสความคลั่งไคล้

บทเรียนจาก “ปาฏิหาริย์ของโอมาฮา” (บ้านเกิดของปู่บัฟ)
มันคงเป็นการพลาดอย่างฉกาจ เมื่อพูดถึงการหลีกเลี่ยงจากตลาดที่คลุ้มคลั่ง โดยไม่กล่าวถึงนักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่ที่ยึดมั่นในหลักการและได้รับผลตอบแทนหาศาล  วอร์เรน บัฟเฟต ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ที่ได้จากการยึดมั่นตามแผนการลงทุนในขณะที่หุ้นดอตคอมกำลังบูม บัฟเฟตต์ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากการที่เขาปฏิเสธการลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีที่กำลังพุ่งเหมือนจรวด แต่เมื่อฟองสบู่แตก เสียงวิพากษ์วิจารณ์เงียบกริบทันที บัฟเฟตต์ตั้งมั่นลงทุนในย่านแห่งความสบายใจ ตามแผนการลงทุนระยะยาว ด้วยการหลีกเลี่ยงตลาดที่กำลังถูกอารมณ์ความโลภเข้าครอบงำ ทำให้เขาปลอดภัยจากการแตกของฟองสบู่ดอตคอม

อิทธิพลของความกลัว
ความกลัวเกิดขึ้นกับตลาดได้เช่นเดียวกับความโลภ เป็นความรู้สึกไม่สบายใจในอันตรายที่จะเกิดขึ้น เมื่อราคาหุ้นตกลงอย่างมากชั่วระยะเวลาหนึ่ง ความกลัวจะเข้าครอบงำตลาด หวาดผวาที่จะต้องขาดทุนมากขึ้น แต่การกลัวมากเกินไปก็จะมีผลเสียที่ไม่ต่างไปจากการมีความโลภที่มากเกินไป
เช่นเดียวกับความโลภที่ครอบงำตลาดในช่วงบูมของหุ้นดอตคอม  ความกลัวได้เข้ามาแทนที่หลังจากฟองสบู่แตก เพื่อที่จะจำกัดการขาดทุน นักลงทุนต่างโยกย้ายเงินจากตลาดหุ้นไปซื้อหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อย อาทิ กองทุนพื้นฐาน หรือกองทุนหุ้นคุณค่า ซึ่งมีความเสี่ยงน้อย และย่อมได้รับผลตอบแทนน้อยเช่นกัน
การอพยพครั้งใหญ่ออกจากตลาดหุ้นแสดงให้เห็นถึงการไม่แยแสในแผนการลงทุนระยะยาวที่ยึดมั่นกับพื้นฐานของหุ้น นักลงทุนโยนแผนการลงทุนออกนอกหน้าต่างด้วยความหวาดกลัว ด้วยความพรั่นพรึงที่จะขาดทุนเพิ่ม จริงอยู่ที่การสูญเสียมูลค่าพอร์ทมากๆ นั้นยากจะยอมรับได้ แต่ที่ยิ่งแย่กว่า ก็คือ เป็นความคิดที่ตัดทอนโอกาสเริ่มต้นที่เราจะสร้างความมั่งคั่งกลับขึ้นมาใหม่
การขยำแผนการลงทุนทิ้งแล้วกระโจนสู่การลงทุนให้รวยอย่างรวดเร็วดังข้างต้น ทำให้พอร์ทของคุณเกิดรูโหว่ขนาดใหญ่ ฉันใด การถูกครอบงำด้วยความกลัวที่ทำให้เปลี่ยนไปลงทุนแบบ low risk, low return ก็จะบั่นทอนผลตอบแทนของพอร์ท ฉันนั้น

ความสำคัญของระดับที่สบายใจ
ทั้งหมดของความกลัวและความโลภล้วนเกี่ยวพันกับความผันผวนของตลาด เมื่อนักลงทุนหลุดออกจากย่านสบายใจเนื่องจากขาดทุนหรือตลาดผันผวน เขาก็จะเต็มไปด้วยอารมณ์ ที่มักจะทำให้เกิดความผิดพลาดราคาแพง
พยายามหลีกเลี่ยงจากการถูกดูดกลืนไปกับอารมณ์ของตลาด และยึดมั่นกับการลงทุนตามหลักการพื้นฐาน และเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยที่จะลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงในหลักทรัพย์ที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเป็นคนที่รับความเสี่ยงได้น้อย ย่อมจะอ่อนไหวง่ายในสภาวะที่ตลาดตกอยู่ในอารมณ์หวาดกลัว ดังนั้นควรลงทุนในหุ้นด้วยปริมาณที่น้อยกว่าคนที่รับความเสี่ยงได้มาก ครั้งหนึ่งบัฟเฟตต์ได้กล่าวไว้ว่า “ถ้าหากคุณทนเห็นหุ้นของคุณตกลงถึง 50% ไม่ได้ คุณก็ไม่ควรจะอยู่ในตลาดหุ้น”

พูดย่อมง่ายกว่าทำ
พึงระลึกเสมอว่า ที่พูดมานั้น มันไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ ระหว่างการควบคุมอารมณ์กับการดื้อรั้นหัวชนฝานั้นมีเพียงเส้นบางๆ คั่นอยู่ จดจำไว้ว่าจะต้องทบทวนการลงทุนของคุณอย่างสม่ำเสมอ และพร้อมที่จะปรับจุดยืนของคุณ ยึดมั่นในเหตุผลเมื่อต้องตัดสินใจเปลี่ยนแผนการปฏิบัติ

บทสรุป
สำหรับพอร์ทของคุณแล้ว คนสุดท้ายที่จะตัดสินใจก็คือคุณ ที่ต้องรับผิดชอบต่อผลกำไรและขาดทุน จงควบคุมอารมณ์ไม่ว่าจะเป็นความโลภหรือความกลัวเมื่อต้องทำการตัดสินใจลงทุน ไม่หลับหูหลับตาคล้อยตามอารมณ์ตลาด นี่คือสิ่งจำเป็นต่อการลงทุนให้ประสบผลสำเร็จ รวมถึงการดำรงแผนการลงทุนระยะยาว ถ้าหากอารมณ์ตลาดพุ่งสูงสุด อย่าหวั่นไหวเบี่ยงเบนไปจากกลยุทธ์การลงทุนของคุณ มิฉะนั้นหายนะจะมาเยือน  การปฏิบัติที่สมดุลเป็นสิ่งจำเป็นที่จะนำทางคุณไปสู่เป้าหมาย

http://www.investopedia.com/articles/01/030701.asp

เพลงยามเย็น

จากคุณ : WindReturn
เขียนเมื่อ : 14 พ.ย. 53 17:20:27




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com