Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
สหกรณ์คืออะไร (1) ติดต่อทีมงาน

สหกรณ์ในประเทศไทยมีอายุกว่า 90 ปี มีคนเป็นสมาชิกกว่า 10 ล้านคน มีกรมถึง 2 กรมช่วยกันดูแล แต่ทำไม ในสายตาคนทั่วไป สหกรณ์เหมือนเด็กอ่อนแอที่ต้องการการช่วยเหลือ หลาย ๆ คน แทบไม่รู้จักสหกรณ์ นอกจากเคยเห็นชื่อปะไว้ตรงประตูแท็กซี่  จริง ๆ แล้ว สหกรณ์คืออะไร

ถ้าเราแบ่งระบบเศรษฐกิจใหญ่ ๆ ก็จะได้เป็น 2 ระบบคือ ทุนนิยม กับสังคมนิยม

ทุนนิยม (capitalism) ก็คือใครทำได้เท่าไรก็ได้ไป ยิ่งมีขนาดใหญ่ก็ยิ่งมีความได้เปรียบ ระบบนี้แม้ว่าจะมีข้อดีคือ ทำให้มีประสิทธิภาพอย่างสูง เพราะถ้าไม่มีประสิทธิภาพก็จะแข่งขันกับคู่แข่งไม่ได้ แต่ข้อเสียก็คือ คนรวยยิ่งมีโอกาสมาก ในขณะที่คนจนก็จนต่อไป โอกาสที่จะแข่งขันกับคนรวยเป็นไปได้ยาก

สังคมนิยม (socialism) เป็นระบบที่มีหลัีกการคือ  สินทรัพย์เป็นของรัฐ ดังนั้นทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ได้เงินจากการทำงานเท่าๆ กัน ฟังดูก็เหมือนดี แต่เมื่อไม่มีระบบแรงจูงใจ ก็ทำให้ประสิทธิภาพลดลง นี่ยังไม่นับว่า คำว่าเท่าเทียมกันไม่มีจริง ชนชั้นปกครองย่อมเอาเปรียบชนชั้นล่าง ระบบที่หลักการดี ในทางปฏิบัติก็เลยล้มเหลว

เมื่อระบบที่อยู่ยั้งยืนยงคือทุนนิยม ซึ่งเอื้อต่อคนรวย แล้วคนจนจะทำอย่างไร  ระบบสหกรณ์จึงเป็นการพยายามสร้างทางเลือก โดยตอบโจทย์บางอย่างเช่น

ทำอย่างไรให้ประสิทธิภาพของหน่วยธุรกิจยังคงอยู่ (capitalism) แต่ยังเปิดโอกาสให้คนที่ไม่มีทุนทรัพย์ได้มีโอกาสในการเป็น
เจ้าของหรือบริหารกิจการ (socialism)

มีอะไรที่สหกรณ์เลือกมาจาก รูปแบบทั้ง 2 อย่างข้างต้น
1. สหกรณ์ยังเป็นหน่วยธุรกิจที่ต้องการสร้างความมั่งคั่งให้ผู้ถือหุ้น  ประเด็นนี้เป็นจุดตายของสหกรณ์ไทยเลย เพราะ ที่ผ่านมามีความเข้าใจผิดอย่างยิ่งว่า สหกรณ์คือองค์กรไม่หวังผลกำไร (non profit org.) ลองไปอ่านเอกสารต่าง ๆ ในต่างประเทศ ไม่มีที่ไหนเขียนไว้เลยว่าสหกรณ์ต้องไม่แสวงหากำไร แต่เหตุผลหนึ่งที่ทำไมในไทยจึงเป็นแบบนั้น ก็ต้องตอบว่า พอไม่แสวงหากำไร ก็ง่ายต่อ การจัดการ คือไม่ต้องการประสิทธิภาพ คนควบคุมก็ไม่ปวดหัว  คนบริหารก็มีข้ออ้างในความไม่มีประสิทธิภาพได้ว่า ก็ไม่ได้หวังกำไร

ประโยคจริง ๆ ก็คือ สหกรณ์ยังเป็นหน่วยธุรกิจที่หวังกำไร แต่เราจะไม่หากำไรจากสมาชิก ตย.เช่น สหกรณ์การเกษตร หากทำกล้วยตาก  เมื่อสมาชิกมีความต้องการซื้ออุปกรณ์ในการทำกล้วยตาก สหกรณ์จะให้กู้ยืมโดยคิดอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงมาก แต่เมื่อได้ผลผลิตแล้ว พอทำการตลาดหาที่ขายได้ ก็จะขายเพื่อให้ได้กำไรมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

2.ทุกคนในสหกรณ์มีสิทธิเท่าเทียมกัน ในบริษัท เวลาvote ไม่ว่าจะเลือกกรรมการ หรือผ่านความเห็นชอบอะไรก็ตาม ก็จะใช้ตามจำนวนหุ้นที่แต่ละคนมี แต่สหกรณ์ ต่อให้มีหุ้นเป็น 10 ล้านบาท ก็มีเสียง ๆ เดียว ไ่ม่ต่างจากคนที่มีหุ้น 10 บาท ข้อดีก็คือ ทำให้คนที่มีทุนทรัพย์น้อยมีโอกาสที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารองค์กร ไม่ใช่เป็นเรื่องของนายทุนอย่างเดียว เพราะหากเป็นแบบบริษัทที่ถือตามจำนวนหุ้น ก็หมายความว่า กรรมการบริหารก็จะต้องมองผลประโยชน์ของตนเอง เช่นทำอย่างไรให้ได้เงินปันผลเยอะ ๆ หรือผลประโยชน์แฝงอื่นๆ คนจนหรือผู้ถือหุ้นส่วนน้อยก็จะเสียประโยชน์ไป

ในความมีข้อดีก็มีข้อเสีย ก็คือ ในเมื่อกรรมการอาจไม่ใช่ผู้ถือหุ้นใหญ่ บางครั้งเขาก็มองประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์องค์กรในการตัดสินใจ เช่นถ้าเห็นแก่เบี้ยประชุมหรือโบนัส อยากให้เลือกเป็นกรรมการในสมัยหน้า ก็ทำโครงการที่ประชานิยม โดยไม่สนว่าจะทำให้เกิดการขาดทุนหรือกำไรลดลง เป้นต้น หรืออาจเรียกกรณีนี้ว่า สหกรณ์มี Agency cost ที่สูงกว่าองค์กรธุรกิจอื่น

ทางแก้ก็คือ ต้องทำให้การเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตย กรรมการเป็นตัวแทนของสมาชิกส่วนใหญ่จริง ๆ เพราะเมื่อสมาชิกเลือกคนดี มีความรับผิดชอบเข้าไป เขาก็จะไม่หาประโยชน์ส่วนตัว (หรือหาน้อย)  แต่หากการเลือกตั้วไม่open สมาชิกมาเลือกแค่ส่วนน้อย ก็เป็นช่องให้เกิดปัญหาดังกล่าวข้างต้น   ด้วยเหตุนี้ สหกรณ์จึงต้องยึดหลักประชาธิไตยเป็นสำคัญ

3.มีการจำกัดเงินปันผล กฏหมายไทย กำหนดให้ปันผลไม่เกิน 10% ถ้าไปดูสหกรณ์ สมัยโบราณ บางที่ไม่ปันผลเลย เพราะเขามองว่า ปันผลมาก ก็เป็นช่องให้คนรวยเข้ามาหาประโยชน์ ดังนั้นการปันผลก็มักเป็นแค่ พอชดเชยความเสี่ยง

ที่นี้พอกำหนดเพดานการปันผล หากสหกรณ์มีกำไรมากอยู่ ก็จะต้องจัดสรรในรูปสวัสดิการอย่างอื่นเช่น สวัสดิการเงินกู้ สวัสดิการ
เมื่อเสียชีวิต ซึ่งสวัสดิการพวกนี้จะไม่ได้ขึ้นกับทุนเรือนหุ้นหรือความรวยของสมาชิก

จบตอน 1 ก่อนครับ เดี๋ยวจะเขียนต่อ ถ้ามีความเห็นหรือคำถามก็ฝากไว้ได้เลยครับ

จากคุณ : krit587
เขียนเมื่อ : 20 พ.ย. 53 16:28:11




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com