Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
AIS..วิเชียร..ตอบเขาหน่อย..ความจริงคืออะไร ติดต่อทีมงาน

นายจุติ  ไกรฤกษ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวานนี้มีผู้ประกอบการ  2 ราย แถลงข่าวด้วยเนื้อหาค่อนข้างรุนแรง กล่าวหาว่ารัฐบาลปฏิบัติไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการทั้งหมด จึงอยากจะเรียนให้ทราบว่า กระทรวงไอซีที ไม่มีการเลือกปฏิบัติใดๆ ทั้งสิ้น ให้ความเป็นธรรมกับทุกรายเท่าเทียมกัน ให้ทุกรายมีโอกาสเท่าเทียมกัน  พิสูจน์ได้จากสิ่งที่กระทรวงได้ปฏิบัติไปแล้ว โดยเฉพาะเรื่อง 3จี รัฐบาลนี้ได้เร่งผลักดันให้ 3จี เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดอยู่แล้ว  เพราะอยากให้เป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาล ไม่มีเหตุผลที่จะมาดึงเอาไว้  และรัฐบาลก็ได้ดำเนินการไปในแนวทางเดียวกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ที่ต้องการให้ประชาชนได้ใช้ 3จี เร็วที่สุด โดยการเร่งออกกฎหมาย พ.ร.บ.องค์การจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.)  เร็วกว่าการคาดการณ์ของเอกชนที่ตั้งไว้กลางปีหน้าอีก ไม่ได้มีการดึงหรือถ่วงเวลาเลย กฎหมายผ่านทั้ง 2 สภาตั้งแต่ก่อนสิ้นเดือน พ.ย.



“ที่ผ่านมาสหภาพรัฐวิสาหกิจของทีโอทีและกสท เป็นฝ่ายเดินขบวนขับไล่ผมเองด้วยซ้ำ ที่ไปสนับสนุนให้เกิด 3จี ทำให้เขาเสียประโยชน์ จึงยืนยันชัดว่าผมไม่ได้เข้าข้างใครเลย นอกจากประชาชนที่จะได้รับประโยชน์ ที่รัฐบาลได้เชิญชวนให้เอกชนทุกรายมาใช้โครงข่ายร่วมกัน  ก็เพื่อไม่ให้ต้องลงทุนซ้ำซ้อน เป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท  ซึ่งแผนบรอดแบนด์แห่งชาตินี้จะเป็นประโยชน์กับเอกชนทุนราย แต่ก็มีผลประโยชน์กับประชาชน เพราะไม่ต้องลงทุนมาก็ลดราคาให้ประชาชนได้  โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการทำแผนปฏิบัติการให้เสร็จภายในต้น ม.ค. นี้”



ขณะเดียวกันแผนงานของรัฐบาลในการกระจายโอกาสและการเข้าถึงไอซีทีนั้นได้ทำเต็มที่ทุกแผนงาน รัฐบาลนี้ได้พยายามทำทุกแผนงาน  โดยเฉพาะความพยายามที่จะดึงให้มีการแปรสัญญาสัมปทานทุกเจ้าให้มาอยู่บนพื้นฐานการแข่งขันเดียวกัน  



“ปัญหาที่ล่าช้าเพราะเอกชนบางรายที่เสียประโยชน์ก็เป็นคนดึงเกมนี้ อะไรที่ได้เปรียบก็จะเร่งเอา อะไรที่เสียเปรียบก็จะไม่ยอมตกลง  เป็นเรื่องของเอกชนดึงเรื่องไว้จึงยังไม่สำเร็จ  ส่วนปัญหาข้อกฏหมายเรื่องอายุใบอนุญาตในการแปรสัมปทานแม้จะเป็นส่วนที่ทำให้ติดขัดอยู่บ้าง แต่ทีมงานของงานของรัฐมนตรีคลังก็กำลังเร่งทำงานอยู่”



ส่วนแผนการยุติสัญญาสัมปทานเพื่อมาใช้ระบบใบอนุญาต (เคทู) มีปัญหาเนื่องจากอายุสัมปทานที่เหลือแต่ละรายไม่เท่ากัน จึงมีความได้เปรียบเสียเปรียบกัน  กระทรวงในฐานะคนกลาง จึงไม่สามารถบังคับใครได้ เมื่อเอกชนบอกว่าต้องเข้าข้างผู้ถือหุ้นจึงทำให้จบได้ยาก  เพราะเอกชนกลัวจะเสียเปรียบทางธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า เมื่อได้เปรียบอยู่แล้วจะไปยอมเสียเปรียบทำไม  แต่ถ้าสู้กันได้หรือไม่ได้ อย่ามาโทษรัฐ ต้องไปโทษกันเอง



ส่วนข้อกล่าวหาว่ากระทรวงเลือกปฏิบัติกับผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง โดยไม่ระบุชื่อ แต่ขอบอกว่า ได้เจอนายวิเชียร เมฆตระการ ผู้บริหารเอไอเอส หลายรอบ แต่ไม่เคยได้รับการบ่นเรื่องนี้เลย จึงแปลกใจว่า ทำไมอยู่ๆ ถึงได้มาเปิดเผยผ่านสื่อ



“จึงอยากจะตั้งคำถามผ่านสื่อไปถึงคุณวิเชียร เหมือนกัน ว่าจริงๆ ควรจะถามตรงๆ กับผม มากกว่า วันนี้เอไอเอสบอกว่าไม่ฝักใฝ่ทางเมือง เป็นมืออาชีพ ท่านต้องปกป้องผู้ถือหุ้นของท่าน  จึงอยากจะถามว่า  ที่ผ่านมาแสดงว่า เอไอเอส ฝักใฝ่การเมืองหรือไม่  นับเป็น 10 ปี การเมืองเอื้อเอไอเอสหรือไม่ ผมไม่พูด แต่ไปอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่าสรุปแล้ว บริษัทไหนเอื้อประโยชน์ใครดีกว่า  ท่านปกป้องผู้ถือหุ้นของท่าน ซึ่งก็เป็นต่างชาติเสียด้วย แต่ผมก็ต้องปกป้องนายของผมคือประชาชน ที่เป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจเหมือนกัน  เมื่อผลประโยชน์มันขัดกัน คือผลประโยชน์ของประชาชนที่จะได้รับค่าเสียหายเป็นแสนล้านบาทคืน ซึ่งทีโอทีก็ได้สรุปความเสียหายออกมาแล้ว  กับผลประโยชน์ของบริษัทเดียว ผมก็ต้องปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน”



นอกจากนี้ยังอยากจะให้ประชาชนสงสารรัฐวิสาหกิจโทรคม ที่คนไทยถือหุ้น 100% แต่ถูกการเมืองครอบงำมานาน และมัดมือมัดเท้าไม่ให้หากินในโทรคมมานานมาก  วันนี้ได้ปลดปล่อยให้เริ่มทำงานอิสระหารายได้เข้าประเทศส่งคลัง เพื่อประโยชน์ของประชาชน อย่างกรณีทีโอที ไม่มีงบประมาณลงทุน ก็ปล่อยให้เอกชนทำธุรกิจมือถือ พอต่อมามีธุรกิจที่เอกชนทำได้ ก็ไม่ยอมให้ทีโอทีทำ แถมพอรายได้เอกชนแข่งขันกันสูง ก็ไปแก้สัมปทานลดรายได้ที่ต้องส่งเข้าทีโอที เอกชนก็สบายไปไม่พูดสักคำหนึ่ง  วันนี้จึงมาเรียกร้องความถูกต้อง



“ทุกครั้งที่มีการแก้ไขสัญญา บางสัญญามีความยุ่งยากซับซ้อนไม่เหมือนกัน รัฐบาลไม่ได้แกล้ง หรือจงใจแกล้งผู้ใด ผมไม่เคยแถลงผลสรุปของคณะกรรมการมาตรา 22 พ.ร.บ.ร่วมทุน ที่กำกับสัมปทาน แต่อย่างใด เพราะมันยังไม่เสร็จ ผมไม่อยากให้ความวิตกจริตของผู้บริหารนำมาสู่การต่อว่าต่อขานรัฐบาลอย่างไม่เป็นธรรม ว่ารัฐบาลเลือกปฏิบัติ อยากให้ทุกบริษัทก้มหน้าก้มตาทำงานแข่งขันกันไปอย่าใช้รัฐบาลเป็นเครื่องมือ หรือวิตกจริตในปัญหาที่ยังไม่เกิด” นายจุติกล่าว



ขณะที่ปัญหาการแก้ไขสัมปทานที่รอคณะกรรมการ มาตรา 22 สรุปมา เป็นเรื่องของกรรมเก่า และไม่ว่าจะมีปัญหากี่บริษัทก็ต้องจัดการทั้งหมด ไม่ได้ละเว้นใครเป็นอันขาด ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างแน่นอน



ส่วนดีแทค ซึ่งมีความเป็นห่วงว่าโอกาสในการทำธุรกิจจะไม่เท่าเทียมกับบริษัทอื่น ก็ยืนยันว่า โอกาสของท่านเท่าเทียมกับบริษัทอื่นแน่นนอน ที่ผ่านมาไม่ได้มีการปิดกั้นดีแทคแต่อย่างใด



“รู้ดีกว่า ดีแทคนั้นน่าสงสาร  10 กว่าปีที่ผ่านมาถูกบริษัทอื่นเขาขี่คอมาตลอด โดยมีอำนาจการเมืองสนับสนุน วันนี้ดีแทคก็ต้องพยายามต่อสู้ด้วยตัวเอง  ส่วนที่มีความกังวลว่าหากทรูมูฟ ซื้อกิจการของฮัทช์ได้ จะไม่เป็นธรรมกับรายอื่น ก็ขอเรียนว่า มันเป็นเรื่องของเอกชนทั้งหมด ใครจะประมูลซื้อฮัทช์ กระทรวงไม่ไปห้าม ทำไมเอไอเอส ดีแทค ไม่ไปประมูลแข่งด้วย เป็นเรื่องที่พวกท่านต้องแข่งขันกันเอง ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลเลย   อยากจะขอร้องว่า กรุณาอย่าฉวยโอกาสใช้ราชการเป็นเครื่องมือหากินกีดกันคนอื่น  ทุกคนสู้กันตามกติกาธุรกิจ ผมในฐานะเจ้ากระทรวงจะไม่ไปเป็นเครื่องมือให้เอกชนรายใดเป็นอันขาด อย่าใช้รัฐเป็นเครื่องมือบีบคั้นคนอื่น  ขอประกาศว่าปีนี้ปี 2553 ไม่ใช่ปี 2539  ที่อันธพาลการเมืองครอบงำธุรกิจโทรคมนาคม วันนี้ไม่มีอีกแล้วยุคนั้น  ฉะนั้นทุกรายต้องแข่งขันกันบนกติกาที่เท่าเทียม หน่วยงานใดไม่เป็นธรรม ก็ยื่นจดหมายมา ดีแทคเคยยื่นจดหมายมา แต่เอไอเอสไม่เคยยื่น มีแต่กล่าวหาผ่านสื่อ”



ส่วนที่มีการกล่าวหาว่าบริษัทที่ได้รับความช่วยเหลือมีความใกล้ชิดกับพรรคประชาธิปัตย์ ก็ขอความเป็นธรรมด้วยว่า พรรคไม่เคยช่วยใครทั้งสิ้น ผู้บริหารทั้ง 2 ท่านก็ไม่เคยกล่าวถึงพรรคด้วย ฉะนั้นขอให้เสนอข่าวที่ถูกต้องด้วย



“หากการซื้อฮัทช์ทำให้ กสท ต้องมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานกับทรูมูฟ ก็ไว้ให้วันนั้นมาถึงก่อนแล้วบอร์ดค่อยตัดสินใจ ซึ่งจะต้องทำอย่างเป็นธรรมและเปิดกว้าง  แต่วันนี้คือเคยตัว จากที่เคยได้เปรียบคนอื่น มันไม่มีอีกแล้วก็เลยวิตกจริตไปอีก  และขอให้มั่นใจว่าตลอด 6 เดือนที่ทำงานมานี้ไม่เคยจับผิดใคร ยิ่งกับเอไอเอส  ผมระมัดระวังตัวมากที่สุด มากกว่ารายอื่นด้วย ว่าไม่อยากจะทำอะไรเดี๋ยวจะหาว่าจับผิด ถ้าจะหาว่าเข้าข้างก็ต้องเข้าข้างเอไอเอส  แต่การันตีว่านโยบายของกระทรวงคือ ฟรีแอนด์แฟร์ คือเสรีและเป็นธรรมซึ่งเคยชี้แจงกับหลายฝ่ายแล้ว  ซึ่งเป็นประเด็นที่นายกรัฐมนตรีกำชับมาตลอดเวลา”

จากคุณ : autonomous
เขียนเมื่อ : วันรัฐธรรมนูญ 53 10:08:50




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com