Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ความจริงและความโปร่งใส : กรณี ปตท.สผ. (PTTEP) ในออสเตรเลีย ติดต่อทีมงาน

ความจริงและความโปร่งใส : กรณี ปตท.สผ. ในออสเตรเลีย
โดย : สฤณี อาชวานันทกุล

ข่าวที่ควรจะเป็นข่าวใหญ่ในตลาดทุนข่าวหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2553 แต่กลับเงียบมากในเมืองไทย คือ ข่าวที่กระทรวงทรัพยากรและพลังงานของออสเตรเลีย

ออกมาเปิดเผยรายงานของคณะกรรมการสอบสวนเหตุการณ์มอนทารา (Montara Commission of Inquiry’s Final Report and Findings) กรณีเกิดเหตุระเบิดที่แท่นขุดเจาะน้ำมันในแหล่งมอนทารา ทางเหนือของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งบริษัท พีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย (พีทีทีอีพี เอเอ) บริษัทในเครือบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เป็นผู้รับสัมปทาน

เหตุระเบิดดังกล่าวในวันที่ 21 สิงหาคม 2552 ส่งผลให้น้ำมันรั่วนานกว่า 10 สัปดาห์ ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 200 กิโลเมตร เป็นอุบัติเหตุน้ำมันรั่วที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ออสเตรเลีย รายงานของคณะกรรมการสอบสวนฯ (ดาวน์โหลดได้จาก www.ret.gov.au/montarainquiryresponse) สรุปว่า "สาเหตุทางตรง" ของเหตุการณ์นี้ คือ 1. การติดตั้งฉนวนซีเมนต์ (cemented shoe) ที่บ่อผิดพลาดในเดือนมีนาคม 2009 (หลังจากที่ ปตท.สผ. เข้าซื้อกิจการแล้ว) ส่งผลให้ฉนวนดังกล่าวด้อยประสิทธิภาพในการป้องกันเหตุระเบิด (Finding 1-3) และ 2. ความล้มเหลวของ พีทีทีอีพี เอเอ และแอตลัส (บริษัทผู้รับจ้างบริหารบ่อน้ำมันนี้) ที่ไม่ได้ตระหนักว่าฉนวนมีปัญหา และไม่ได้ทดสอบฉนวนอย่างที่ควรทำ โดยพีทีทีอีพี เอเอ เป็นฝ่ายผิดมากกว่าแอตลัส เนื่องจากเป็นผู้ควบคุมบ่อโดยตรงตามข้อตกลง ความล้มเหลวเหล่านี้ไม่เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติที่ได้รับอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแล อีกทั้งยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานการก่อสร้างบ่อน้ำมันที่พีทีทีอีพี เอเอ เป็นผู้กำหนดเองอีกด้วย (Finding 7-12)

รายงานระบุสาเหตุทางตรงที่มีส่วนก่อให้เกิดเหตุระเบิดอีกหลายข้อ ตำหนิหน่วยงานกำกับดูแลของออสเตรเลีย ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลโครงการขุดเจาะดังกล่าวว่า หละหลวมในการปฏิบัติหน้าที่จนมีโอกาสน้อยมากที่จะตรวจพบความบกพร่องของบริษัท (Finding 48-50) และระบุว่า พีทีทีอีพี เอเอ มี "ข้อบกพร่องที่สำคัญจำนวนมาก" (Finding 91) ในมาตรการควบคุมบ่อที่ระเบิด ซึ่งสะท้อนความบกพร่องเชิงระบบที่ใหญ่กว่าของบริษัท (Finding 92) บ่อน้ำมันทั้ง 5 บ่อในแหล่งมอนทาราที่บริษัทได้รับสัมปทานล้วนไม่มีกลไกควบคุมที่เหมาะสม และบริษัทไม่เคยแจ้งผู้กำกับดูแลให้ทราบถึงข้อบกพร่องที่ตนล่วงรู้ (Finding 93)

นอกจากนี้ การสืบสวนของ พีทีทีอีพี เอเอ เอง ในการหาสาเหตุของเหตุระเบิดก็ "บกพร่องอย่างชัดแจ้ง" (manifestly deficient) (Finding 94) จนถึงระดับที่ "ไร้ความรับผิดชอบและแก้ตัวไม่ได้" (irresponsible and inexcusable) (Finding 95) อีกทั้งยัง "ทำให้ผู้กำกับดูแลเข้าใจผิดอย่างมหันต์" ตลอดระยะเวลา 6 เดือน (Finding 96) และเมื่อบริษัทได้รับข้อมูลที่บ่งชี้ความไม่แข็งแรงของบ่อหลังเกิดเหตุแล้วก็ไม่ได้ส่งข้อมูลนั้นต่อให้กับผู้กำกับดูแล (Finding 97) พฤติกรรมเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าบริษัททำตัวแย่มาก ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์ว่าบริษัทจงใจส่งข้อมูลเท็จหรือข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิดแก่ผู้กำกับดูแล (Finding 98) ยิ่งไปกว่านั้น คณะกรรมการยังพบหลักฐานว่าบริษัทพร้อมที่จะให้ข้อมูลก็ต่อเมื่อข้อมูลนั้นเป็นประโยชน์ต่อบริษัท และปิดบังข้อมูลด้วยเหตุผลเดียวกัน (Finding 99)

ข้อค้นพบข้อสุดท้ายของคณะกรรมการสรุปอย่างชัดเจนว่า ตลอดระยะเวลาการทำงานของคณะกรรมการพีทีทีอีพี เอเอ "โดยมากมีท่าทีต่อล้อต่อเถียงและชี้นิ้วปรักปรำผู้อื่น บริษัทยอมรับลักษณะและขอบเขตข้อบกพร่องของบริษัทก็ต่อเมื่อบริษัทไม่มีทางเลือกอื่นใดแล้วนอกจากยอมรับ ทั้งในเชิงปฏิบัติและในทางกฎหมาย" (PTTEPAA largely adopted an argumentative and finger-pointing position. It only acknowledged the nature and extent of its deficiencies when, practically and legally, it could not really do otherwise.)

คณะกรรมการเสนอในรายงานฉบับนี้ให้รัฐบาลออสเตรเลียทบทวนใบอนุญาตประกอบการของพีทีทีอีพี เอเอ ทั้งหมดในออสเตรเลีย รวมทั้งเสนอให้รัฐบาลทบทวนการดำเนินงานของสำนักงานกิจการทรัพยากรเขตเหนือ เพื่ออุดช่องโหว่ในการกำกับดูแลซึ่งเป็นสาเหตุทางอ้อมในเหตุการณ์ครั้งนี้

การพิจารณาของรัฐบาลและความคืบหน้าของการทำตามแผนการปรับปรุงแก้ไข (Action Plan) ของบริษัทเป็นประเด็นที่นักลงทุนและทุกฝ่ายต้องติดตามดูกันต่อไป แต่ประเด็นที่ผู้เขียนคิดว่าแย่มาก คือ วิธีที่ ปตท.สผ. รายงานการเปิดเผยรายงานดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งระบุเพียงข้อความสั้นๆ ว่า

ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 กระทรวงทรัพยากรและพลังงาน (Minister for Resources and Energy) ของประเทศออสเตรเลียได้เปิดเผยรายงานของคณะกรรมการแล้ว ซึ่งได้มีความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของโครงการพีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย ...บริษัทขอชี้แจงว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ ปตท.สผ. ได้มีการหารือและปรึกษาไปยังรัฐบาลออสเตรเลียรวมทั้งหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง โดยได้นำส่งแผนการปรับปรุงแก้ไข (Action Plan) ซึ่งรองรับประเด็นต่างๆ ที่กล่าวถึงในรายงานของคณะกรรมการ และเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก โดยหัวหน้าคณะสอบสวน (Commissioner) เห็นว่าครอบคลุมและมีความสมบูรณ์ โดยขณะนี้ บริษัทได้เริ่มดำเนินงานตามแผนการปรับปรุงแก้ไขดังกล่าวแล้ว"

การชี้แจงข้างต้นของ ปตท.สผ. ไม่ได้ระบุสาระสำคัญใดๆ ของรายงานเลย สรุปแต่เพียงว่ารายงานนี้ "...มีความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของโครงการพีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย" ซึ่งไม่มีทางทำให้นักลงทุนรู้ว่าคณะกรรมการมีข้อค้นพบที่สำคัญอะไรบ้าง ส่วนการแถลงข่าวของฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัทก็คล้ายคลึงกัน คือ ไม่ได้ชี้แจงข้อค้นพบใดๆ ของคณะกรรมการ อธิบายแต่ประเด็นส่วนน้อยที่คณะกรรมการ ชมเชยบริษัท นั่นคือ การที่ Action Plan ครอบคลุมและสมบูรณ์ และการที่บริษัท "ได้เข้าควบคุมสถานการณ์และแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ...อพยพพนักงานจำนวน 69 คน ออกจากแท่นเจาะอย่างปลอดภัย"

ผู้เขียนเห็นว่าการรายงานของ ปตท.สผ. ละเมิดประกาศ ตลท. เรื่อง "แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเปิดเผยสารสนเทศของบริษัทจดทะเบียน" ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 อย่างชัดเจน โดยเฉพาะข้อ 4.1 ซึ่งระบุว่า เนื้อหาของสารสนเทศจะต้องมีลักษณะ "ไม่ลำเอียงและตรงไปตรงมา ดังนั้น ประกาศต้องหลีกเลี่ยง ...การไม่ประกาศข้อเท็จจริงในทางไม่ดีที่มีความสำคัญ หรือการตัดทอนข้อเท็จจริงนั้น" และเข้าข่าย "การเปิดเผยในเชิงส่งเสริมที่ไม่มีเหตุอันสมควร" ตามข้อ 3.5 โดยเฉพาะ "(4) การแถลงข่าวทางหนังสือพิมพ์หรือประกาศอื่นต่อประชาชน ซึ่งมีลักษณะด้านเดียวหรือไม่เสมอภาคกัน"

ในเมื่อ ตลท. ปล่อยให้ ปตท.สผ. รายงานสารสนเทศด้วยวิธีที่ละเมิดแนวทางปฏิบัติของตัวเองอย่างชัดเจน ส่วนสื่อมวลชนไทยก็ปล่อยให้ข่าวที่ควรจะใหญ่เงียบหายไปอย่างรวดเร็ว อย่างมากก็ทำแค่แปลข่าวเอเอฟพี สัมภาษณ์แต่ผู้บริหารบริษัท หรือที่แย่กว่านั้นคือนำแถลงข่าวของบริษัทมาลงทั้งดุ้น ผู้เขียนก็สงสัยว่า ตลาดทุนไทยแท้จริงแล้วโปร่งใสแค่ไหน และบริษัทที่มีท่าที "ต่อล้อต่อเถียง" และปิดบังข้อมูลสำคัญต่อนักลงทุนจะเป็น "พลังที่ยั่งยืน" ได้จริงหรือ

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/sarinee-achavanuntak/20101213/366764/ความจริงและความโปร่งใส-:-กรณี-ปตท.สผ.-ในออสเตรเลีย.html

PTTEP จะแก้ตัวยังไงในประเด็นนี้... หรือปล่อยให้เรื่องเงียบหาย แล้วตามมาด้วยการยกเลิกใบอนุญาตประกอบการ?? ต้องติดตามกันต่อไป :)

จากคุณ : Mr.Messenger
เขียนเมื่อ : 14 ธ.ค. 53 00:11:47




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com