ความคาดหวังเฟ้อเวลาที่เงินในท้องตลาดซึ่งอยู่ในกระเป๋าของคนมีมากเกินไป เงินนั้นก็จะถูกนำไปไล่ซื้อสินค้าทำให้ราคาสินค้าปรับตัวขึ้นมา ผลก็คือ สินค้าที่ได้ก็เท่าเดิมถึงแม้ว่าเราจะมีเงินใช้จ่ายมากขึ้น สถานการณ์แบบนี้เราเรียกว่า เงินเฟ้อ ในภาษาไทยนั้น เรายังมีคำว่า เฟ้อ ใช้ในหลาย ๆ โอกาส เช่น ท้องเฟ้อ นี่ก็เป็นอาการที่ท้องปูดออกมาเพราะข้างในมีลมเต็ม เป็นอาการที่ท้องโตขึ้นเพราะลมไม่ใช่เนื้อหนัง ไม่ช้าก็จะยุบลง อาการ เฟ้อ นั้น มักไม่ใช่สิ่งที่ดี สิ่งที่เฟ้อนั้นดูเหมือนจะโตขึ้นแต่ไม่มีเนื้อหา บางครั้งก็มีอันตราย การเฟ้ออย่างหนึ่งที่ผมเห็นในช่วงที่หุ้นบูมเป็นกระทิงในช่วงนี้ก็คือ ความคาดหวังเฟ้อ และคนที่มีความคาดหวังเฟ้อมากเป็นพิเศษนั้น ดูเหมือนจะเป็น Value Investor จำนวนไม่น้อย ที่ควรจะเป็นคนที่ระมัดระวังตัวมากกว่าคนอื่นและไม่เล็งผลเลิศ อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่น่าจะเป็น ปีทองของ VI เช่นในปีนี้ ก็เป็นเรื่องยากที่ VI จะไม่ ฝันสุดขอบฟ้า
ความคาดหวังที่เฟ้อมากที่สุดที่ผมเห็นก็คือ ฝันว่าจะสามารถทำผลตอบแทนการลงทุนต่อปีสูงมากกว่าที่น่าจะเป็นไปได้ นี่ก็เป็นความหวังหลังจากที่เขาสามารถสร้างผลตอบแทน บางคนเป็นร้อยหรือหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ภายในเวลาแค่สองปีที่ผ่านมานี้ การลงทุนนั้นดูเหมือนจะ ง่ายมาก ซื้อตัวไหน ตัวนั้นก็มักจะวิ่งกันเป็นสิบหรือหลายสิบเปอร์เซ็นต์ในเวลาอันสั้น ดังนั้น การตั้งความหวังของ VI ในเรื่องของผลตอบแทนก็คือ อย่างน้อยก็ต้องได้ 15-20% ต่อปีในระยะยาว คนที่ทำผลตอบแทนได้ดีมากก็อาจจะตั้งไว้ที่ 20-25% บางคนก็อาจจะสูงถึง 30-40% ดูเหมือนว่าการมีเงินหลายร้อยหรือพันล้านบาทเป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินเอื้อม
ในเรื่องนี้ผมก็อยากจะบอกว่า ผลตอบแทนระยะยาวทบต้นเป็นเวลาเช่น 30 ปีนั้น เป็นเรื่องยากที่จะทำได้สูงมาก จริงอยู่ในภาวะที่ตลาดหุ้นดีและเป็นช่วงทองของหุ้นแนว VI การทำผลตอบแทนที่ดีมาก ๆ ขนาดได้กำไรเป็นร้อย ๆ เปอร์เซ็นต์ต่อปีนั้น อาจจะเป็นเรื่องที่ทำได้โดยเฉพาะที่เรายังมีพอร์ตไม่ใหญ่มาก แต่การที่จะทำผลตอบแทนที่ดีมากต่อเนื่องในระยะยาวเป็นเรื่องที่ยากและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพอร์ตเราใหญ่ขึ้นและเรากล้าเสี่ยงน้อยลง เหนือสิ่งอื่นใด ตลาดหุ้นไม่ได้ดีอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่แล้วดัชนีตลาดหุ้นก็จะปรับตัวขึ้นช้า ๆ เฉลี่ยปีละประมาณ 7% โดยมีปันผลอีกประมาณ 3% รวมแล้วก็คือ 10% ต่อปี สถิติของเซียนหุ้น ระดับโลก นั้น ในระยะยาว เขามักจะได้ผลตอบแทนมากกว่าตลาดไม่เกิน 10% ต่อปี นี่ก็คือฝีมือระดับ วอเร็น บัฟเฟตต์ ถ้าเป็นระดับรองลงมาอย่าง จอห์น เนฟฟ์ ก็อาจจะประมาณ 3-4% ต่อปี นั่นแปลว่า ถ้าเราสามารถสร้างผลตอบแทนได้ปีละ 15% ต่อปีในระยะยาวถึง 30 ปี สถิติของเราก็ไม่แพ้ จอห์น เนฟฟ์ และถ้าเราทำได้ 20% ต่อปี เราก็ดีเกือบเท่าบัฟเฟตต์ และถ้าได้ 25% ต่อปี โลกนี้ก็เป็นของเรา เฟ้อไหมครับ?
ความคาดหวังเฟ้ออีกเรื่องหนึ่งก็คือ การคาดหวังว่าบริษัทที่เราเลือกลงทุนเป็น หุ้นโตเร็ว จะมีการเติบโตสูงมาก เช่น รายได้โตได้ปีละ 25-30% ในระยะยาว ในขณะที่ผลกำไรที่ทำได้จะเติบโตตามหรือโตมากกว่าเนื่องจากบริษัทอาจจะมี Economy Of Scale ดีขึ้น ความคาดหวังนี้ มักจะมาจากการที่ได้เห็นการเติบโตของบริษัทในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาที่น่าประทับใจมาก ประกอบกับ Model หรือรูปแบบการประกอบการของบริษัทนั้นดู โดดเด่น กว่าคู่แข่งและไม่เห็นว่าใครจะเข้ามาแข่งขันได้อย่างน้อยในช่วงเวลานี้ ดังนั้น เขาก็จะเข้าซื้อหุ้นโดยหวังว่าหุ้นจะต้องปรับตัวขึ้นไปอย่างโดดเด่น อาจจะเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ภายในระยะเวลาไม่นาน พอเข้าซื้อแล้ว มหัศจรรย์ ก็เกิดขึ้น หุ้นอาจจะขึ้นไปสองร้อยเปอร์เซ็นต์ สิ่งที่เขาคาดหวังไว้ถูกต้องหมด จริง ๆ มากกว่าที่หวัง ความสำเร็จนี้ ทำให้เขาเชื่อว่า หุ้นที่โตเร็วขนาดปีละ 25-30% ในระยะยาวมีจริงและมีไม่น้อย การซื้อหุ้นเหล่านี้ในช่วงที่ราคายังไม่ปรับตัวขึ้นมากคือหนทางแห่งความสำเร็จ
แต่บริษัทที่โตระยะยาวเช่น 20-30 ปีในอัตรา 25-30% ต่อปีนั้น มีจริงไหม? ผมเองไม่ได้ศึกษาลึกซึ้งในเรื่องนี้ แต่จากการติดตามบริษัทที่เติบโตจริง ๆ ไม่ใช่บริษัทที่โตชั่วคราว 2-3 ปี แล้วก็กลับมาที่เดิมนั้นพบว่า บริษัทที่สามารถเติบโตได้ถึงปีละ 10% ก็ค่อนข้างดีแล้ว การเติบโตปีละ 15% แบบทบต้นนั้น ต้องถือว่าเป็น Super Growth หรือเป็นบริษัทที่เติบโตสุด ๆ ถ้ามองระดับอินเตอร์ก็คงจะเป็นระดับบริษัท Exxon ผู้ผลิตน้ำมันระดับต้น ๆ ของโลก หรือถ้ามองในเมืองไทยก็น่าจะประมาณกลุ่มปูนซีเมนต์ไทยที่โตเร็วต่อเนื่องมากว่า 30 ปี ส่วนการโตปีละ 20% นั้น ผมคิดว่าน่าจะหาได้ยากมากประเด็นสำคัญที่ทำให้คนมักเข้าใจผิดถึงการเจริญเติบโตก็คือ เขามักจะมองระยะสั้นแล้วตีความไปว่าระยะยาวก็คงเป็นอย่างนั้น ดังนั้น ในช่วงที่บริษัทขยายตัวมากโดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังร้อนแรงในปีนี้จึงทำให้หลายคนมองว่าหุ้นบางตัวนั้นเป็น หุ้นโตเร็ว และโตได้ถึง 25-30% ต่อปี ซึ่งถ้าดูจากสถิติแล้ว ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เป็นการคาดหวังเฟ้อ
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การเติบโตของธุรกิจนั้น บางทีก็ทำให้เร็วกว่าปกติมาก ๆ ได้ ทางหนึ่งก็คือ ซื้อกิจการของคนอื่น แบบนี้บริษัทก็จะมีต้นทุนทางการเงินที่อาจจะสูงจนทำให้กำไรต่อหุ้นของบริษัทไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะไม่เป็นประโยชน์อะไรต่อผู้ถือหุ้นในระยะยาว อีกทางหนึ่งก็คือ การลงทุนขยายตัวในธุรกิจผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ที่มักมีผลกำไรในระยะยาวต่ำหรือเท่ากับผลตอบแทนของเงินลงทุนปกติ การทำแบบนี้ก็อาจจะทำให้บริษัทสามารถโตเร็วกว่าปกติได้ เพราะสินค้าโภคภัณฑ์จำนวนมากนั้น มีตลาดไม่จำกัดเพราะเป็นตลาดโลก ดังนั้น บริษัทจะโตเท่าไรก็ได้ แต่โตแล้วก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะต้องลงทุนสร้างโรงงาน กำไรที่เพิ่มขึ้นก็คือผลตอบแทนปกติของเงินทุนที่ลงไป ประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นที่เป็นเจ้าของเงินก็ไม่มี
ข้อสรุปทั้งหมดของผมก็คือ ความเฟ้อของความคาดหวังที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากสถานการณ์ระยะสั้นในระยะนี้ที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตเร็วและมาจากฐานที่ต่ำซึ่งเป็นผลจากปี 2008 ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจและตลาดหุ้นในสหรัฐ ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนดูดีมากและมีแนวโน้มที่จะดูดีต่อไป แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ดัชนีตลาดหุ้นและราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นมา ยืนยัน ความเชื่อหรือความคาดหวังนั้นส่งผลให้ความคาดหวังในรอบต่อไป เฟ้อ เขาคิดว่า อนาคตก็จะเป็นแบบนั้นต่อไปอีกนาน แต่สถิติที่ผ่านมายาวนานบอกว่าสิ่งที่หวังไว้นั้น ไม่น่าเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม ก็อาจจะมีคำถามตามมาว่า มีอะไรเสียหายถ้าจะ ฝันให้ไกล เพราะถ้าฝันให้ไกลแล้ว ถึงแม้ไปได้แค่ครึ่งทางก็ยังน่าจะดีกว่าตั้งเป้าหมายไว้ต่ำ ๆ คำตอบของผมก็คือ การฝันไกลเกินไปอาจจะทำให้เราพยายาม เร่ง ผลตอบแทนเกินตัว เช่น การใช้มาร์จิน การไม่กระจายความเสี่ยงเพียงพอ และนั่นคืออันตราย การลงทุนนั้น เหมือนการแข่งขันวิ่งมาราธอน การวิ่งเร็วมาก ๆ ไม่ใช่หนทางที่จะชนะ เพราะฉะนั้น อย่าตั้งความคาดหวังสูงเกิน และไม่ต้องดูว่าใครจะทำผลตอบแทนเท่าไร กำหนดเส้นทางของตนเองที่เหมาะสมที่สุดแล้วเดินตามทางนั้น ไม่ต้องรีบ
Credit : ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร 7:30 pm on December 26, 2010