|
เอาจากธนาคารทิสโก้มาฝากครับ
ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก เชื่อว่าเพื่อนสมาชิกทุกท่านย่อมจะต้องมีบัญชีเงินฝากกันอยู่แล้วไม่น้อยกว่า 1 บัญชี ไม่ว่าจะเป็นเงินฝากออมทรัพย์ หรือเงินฝากประจำ บางท่านก็มีเปิดบัญชีไว้หลายๆธนาคารเพื่อความสะดวกในการทำธุรกรรมต่างๆ แล้วท่านทราบหรือไม่ว่า ผลตอบแทนที่ได้รับในรูปของดอกเบี้ย (อันแสนจะน้อยนิดในปัจจุบัน) นั้นจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย อีกด้วย ทราบดังนี้แล้วก็อย่าเพิ่งท้อใจจนคิดจะไปถอนเงินมาฝังตุ่มไว้ใต้ถุนบ้านนะคะ เพราะเรายังมีวิธีที่จะช่วยประหยัดภาษีในส่วนนี้ได้ค่ะ ในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้มีวิธีไหนที่จะช่วยเพิ่มรายได้และประหยัดค่าใช้จ่าย ก็ต้องศึกษากันไว้ก่อนจริงมั๊ยคะ
ในการคำนวณภาษี ดอกเบี้ยเงินฝาก ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 4 ซึ่งจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% แต่ก็ยังมีดอกเบี้ยที่ได้รับยกเว้นภาษี ได้แก่ ดอกเบี้ยดังต่อไปนี้
(1) ดอกเบี้ยสลากออมสิน หรือดอกเบี้ยเงินฝากออมสินของรัฐบาลเฉพาะประเภทฝากเผื่อเรียก (2) ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ที่ได้รับจากสหกรณ์ (3) ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์เฉพาะ กรณีที่ผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวในจำนวนรวมกันทั้งสิ้นไม่เกิน 20,000 บาท ตลอดปีภาษีนั้น (ส่วนที่เกิน 20,000 บาท จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%)
นอกจากนี้ยังยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับผู้สูงอายุ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็น ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป แต่เมื่อรวมกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทรวมกันแล้วต้องมีจำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 30,000 บาทตลอดปีภาษีนั้น และผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ สำหรับเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2548 เป็นต้นไป
สำหรับเพื่อนสมาชิกที่อายุยังไม่ถึง 55 ปี และมีบัญชีเงินฝากประจำอยู่ไม่ว่าจะเป็น 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี หรือมากกว่านั้น จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ทันทีที่เรารับดอกเบี้ย บางท่านที่ปกติฐานภาษีอยู่ที่ 0% หรือ 10% เท่านั้น กลับต้องมาเสียภาษี 15% ในส่วนของดอกเบี้ยเงินฝาก ทำให้ไม่เป็นการยุติธรรมนัก รัฐจึงเปิดโอกาสให้ได้มีสิทธิเรียกคืนภาษีส่วนที่เสียเกินกลับได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าปีนี้เราได้ดอกเบี้ยรับ 100 บาท ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15 บาท แต่เมื่อคำนวณภาษีแล้วพบว่ารายได้อยู่ที่ฐานภาษี 10% เท่านั้น จึงควรเสียภาษีเพียงแค่ 10 บาท ดังนั้นเราสามารถขอคืนภาษีที่เสียเกินได้ 5 บาท แต่กรณีที่เรามีรายได้อยู่ที่ฐานภาษี 20% การถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ถือว่าเราได้ประโยชน์อยู่แล้ว หากจะนำมารวมคิดภาษีอีก อาจทำให้เราต้องจ่ายภาษีเพิ่ม ถ้าคิดแล้วไม่คุ้มก็ไม่ต้องยื่นขอคืนภาษีในส่วนนี้ได้ค่ะ ขั้นตอนการขอคืนภาษีดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1.ติดต่อกับธนาคารเจ้าของบัญชีเพื่อขอ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยเอกสารที่ต้องใช้คือ สมุดบัญชีเงินฝาก และบัตรประจำตัวประชาชนของเรา กรณีมีบัญชีเงินฝากอยู่หลายธนาคารต้องขอให้ครบทุกธนาคาร 2.ยื่นภาษีโดยใช้แบบ ภงด.90 ซึ่งเป็นแบบสำหรับผู้ที่มีรายได้ทางอื่นนอกเหนือจากเงินเดือนตามปกติ ให้ทำการกรอกเอกสารตามปกติเหมือน ภงด.91 แต่กรอกเพิ่มในหมวดเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)
ข้อ 1 ดอกเบี้ย โดยกรอกเงินได้พึงประเมินและภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย ตามเอกสารที่ขอมาจากธนาคารในข้อ 1. กรณีมีบัญชีหลายธนาคารให้นำยอดมารวมกัน ในกรณีที่เรายื่นภาษีผ่านทางอินเตอร์เน็ต ตอนที่เรากดสรุปภาษีที่ชำระ จะมีการให้ระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของธนาคารที่หักภาษีเราไป (ในแบบจะเขียนว่า ผู้จ่ายเงินได้) ซึ่งดูได้จากหนังสือรับรองการหักภาษีที่ขอไว้ในข้อ 1. กรณีที่มีหลายธนาคาร ให้เลือกมา 1 ธนาคารเท่านั้น โดยจะเลือกธนาคารใดก็ได้ หลังจากที่เรากรอกข้อมูลหมดแล้ว จะสังเกตได้ว่า ในหน้าจอสรุปการคำนวณภาษี จะมีเงินที่ได้รับคืนจากการขอคืนภาษีที่เราจ่ายเกินไปอยู่ หรือสำหรับใครที่จะต้องจ่ายภาษีเพิ่ม ก็จะเห็นได้ว่า ภาษีที่เราต้องจ่ายลดลงไปเท่ากับเงินที่เราได้ขอคืนมา **หมายเหตุ เอกสาร "หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย" ที่เราขอมาจากทางธนาคาร จะต้องเก็บไว้เป็นหลักฐานให้กับทางสรรพากร กรณีที่โดนเรียกให้แสดงหลักฐาน (ปกติหลักฐานทางภาษีทุกอย่าง ต้องเก็บไว้ 5 ปี เพราะสรรพากรมีสิทธิเรียกดูได้ย้อนหลัง 5 ปี) ที่มา http://www.tiscoasset.com/provident/th/newsletter_sub01-6.html
จากคุณ |
:
andyood
|
เขียนเมื่อ |
:
27 ธ.ค. 53 12:45:27
|
|
|
|
|