|
บทความจากความเห็นส่วนตัว
ปัจจุบันสายการบินคู่แข่งของไทยแอร์เอเชียมีเพียงแค่สายการบินนกแอร์ และในอนาคตอาจจะมีสายการบินไทยไทเกอร์ออกมาแข่งขันด้วย แอร์เอเชียเน้นตลาดกลุ่มลูกค้าระดับล่าง-กลาง ซึ่งเน้นค่าโดยสารราคาประหยัดและไม่ต้องการการบริการ ซึ่งจะลดต้นทุนต่างๆลงไปมาก เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วระหว่างสายการบินไทยแอร์เอเชียกับนกแอร์ ราคาตั๋วอยู่ที่ราคาไม่แตกต่างกันมาก ถึงต่างกันก็ไม่กี่ร้อยบาท
แอร์เอเชียมักมีค่าใช้จ่าย และรายได้แบบแปลกๆ นอกจากนั้นยังมีโปรโมชั่นเรียกลูกค้าอย่างที่สายการบินไหนๆในเมืองไทยก็ไม่กล้าทำ อย่างโปรโมชั่น Free Seat 0 บาทบ้าง 10 บาทบ้าง ซึ่งแน่นอนกระแสตอบรับแต่ละครั้งเรียกได้ว่า "ล้นหลาม" ถ้าคุณเคยจองโปรนี้ สิ่งที่ทำได้อย่างเดียวคือภาวนาให้รายการของคุณทำสำเร็จและระบบไม่ล่ม เพราะระบบจะล่มทุกๆครั้ง เนื่องจากปริมาณการจองนับแสนรายการ เข้ามาในเวลาชั่วโมงเดียวกัน ไม่เอ๋อก็ให้มันรู้ไป
สิ่งที่ดีมากสำหรับโปรโมชั่นนี้เท่าที่ผมคิดคือ "สินเชื่อดอกเบี้ย 0%" นาน 6 เดือน - 1 ปี !!! โดยเฉพาะเดี๋ยวนี้โปรโมชั่นนี้ที่ออกมา มักจะเป็นโปรโมชั่นที่มีระยะเวลายาวนาน 1 ปีแล้ว แต่ในสมัยก่อนคือ 6 เดือนก็ได้บินแล้ว แต่ตอนนี้ผมเห็นว่าเริ่มเลื่อนออกไปเป็น 1 ปีแล้วหละ เช่น โปรโมชั่น 0 บาท สมมติว่าจองวันนี้ กำหนดการบินอาจจะ ม.ค.-มี.ค. 2555 นู้นเลย นานข้ามปี แต่ส่วนใหญ่ต่างก็ยินดีที่จะ "รอ"
แอร์เอเชียเก็บค่าธรรมเนียมยิบย่อย ไม่ว่าคุณจะกระดิกไปทางไหน ทุกอย่างเป็นเงินเป็นทอง ตั้งแต่ค่าเลือกที่นั่ง ค่าโหลดกระเป๋า ค่าอาหาร หรือแม้แต่ค่าเช็คอินในเวลาขึ้นเครื่องหากคุณไม่ใช้เครื่อง KIOSK หรือเช็คอินผ่านอินเตอร์เนต และค่าธรรมเนียมการชำระด้วยบัตรเครดิต รวมเบ็ดเสร็จในการจองตั๋วครั้งหนึ่งแค่ค่าธรรมเนียมต่างๆก็ปาไปแล้วกว่า 3-4 ร้อยบาท ถ้าเพิ่มอาหาร และเลือกที่นั่งก็อีกหลายร้อย หากผู้โดยสารไม่สามารถเดินทางได้ ทางสายการบินจะคืนให้แค่ค่าภาษีสนามบิน ส่วนค่าธรรมเนียมอื่นๆที่เคยจ่ายแล้วข้างต้น ไม่คืนแต่อย่างใด ถ้าพูดในแง่ของผู้โดยสาร แน่นอนว่ามันไม่ดีแน่ๆเพราะทำให้ผู้โดยสารรู้สึกว่า แหมทำไมมันเก็บอะไรกันเยอะแยะมากมายจริง ทำให้ผู้โดยสาร อาจเกิดความรำคาญ หรืออาจจะเลิกใช้บริการซะดื้อๆอย่างนั้น แต่ถ้าในมุมมองของผู้ถือหุ้น ผมว่ารายได้จากเรื่องค่าธรรมเนียมนี่ได้เป็นกอบเป็นกำเลยทีเดียว
ในขั้นต้นลูกค้าต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเหล่านี้หากลูกค้าไม่ได้บิน จะยกเลิกไฟลท์และขอเงินคืนค่าภาษีสนามบิน ลูกค้าต้อง "รอ" หลังวันเดินทาง จนกว่าสถานะการบินจะขึ้นเป็น "No Show" และลูกค้าจะขอคืนเงินค่าภาษีสนามบินได้ แต่อย่างที่บอกคือ ค่าธรรมเนียมและค่าบริการอื่นๆที่ขอนั้น สายการบินยึดทั้งหมด และกว่าจะได้คืนก็ใช้เวลาราว 30 วันหลังจากวันที่โทรไปแจ้งขอคืนเงิน ซึ่งค่าภาษีสนามบินก็ไม่ได้มากเท่าไหร่ ในประเทศก็ 100 กว่า ต่างประเทศก็ 1000 บาท ซึ่งในเงินเหล่านั้นก็เอาไปหมุนได้ทำอะไรอย่างอื่นก็ว่ากันไป
สมมติว่าโปรโมชั่น 0 บาท รอบนี้จัดต่างประเทศเยอะ มีบุคกิ้งเข้ามาประมาณ 10,000 ราย (จริๆงเยอะกว่านี้) เก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ และค่าภาษีสนามบิน และใน 10,000 ราย เสียภาษีสนามบินรายละ 1,000 บาท รวมเบ็ดเสร็จแล้วสายการบินก็จะมีเงินหมุนเข้ามาจากโปรโมชั่นนี้ 10 ล้านบาทจากเฉพาะ ค่าภาษีสนามบินที่สายการบินเตรียมจะต้องจ่าย นั่นยังไม่รวมค่าธรรมเนียมอื่นๆเช่น เลือกที่นั่ง เลือกอาหาร ค่าโหลดกระเป๋า และค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต หากสมมติว่าใน 1 ปีข้างหน้า ลูกค้าทุกคนท้องเสียติดโรคระบาดบินไม่ได้ทั้งหมด สายการบินก็คืนแต่ค่าภาษีสนามบิน 10 ล้านบาทให้กับผู้โดยสารทั้งหมด นั่นหมายถึงใน 1 ปี ไม่จำเป็นต้องขอสินเชื่อธนาคารไหนๆ ก็สามารถระดมทุนออกกู้แบบลับๆได้ด้วยตัวเอง แถมยังไม่ต้องเสียดอกเบี้ยอีกต่างหาก กลเม็ดนี้ผมคิดว่า "เข้าท่า" สำหรับกิจการนี้มากๆ เมื่อบริษัทมีเงินหมุน มีสภาพคล่องก็สามารถบริหารจัดการอะไรต่อมิอะไรได้เยอะแยะมากมาย
ส่วนการบินประเภทอื่นๆ บางท่านอาจจะต้องการเดินทางซัก 2 เดือนข้างหน้า แต่ไม่ได้จองตั๋วฟรีไว้ ก็ซื้อตั๋วราคาปกติ ราคาก็ไม่ได้แพงไปเท่าไหร่ แน่นอนหละถูกกว่าการบินไทย และพอๆกับนกแอร์ ส่วนเรื่องของความสบายในการบินนับว่าพอสมควรแก่สายการบินโลว์คอส จะให้ยืดแข้งยืดขา เหมือนนั่งเฟิร์สคลาสก็คงไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้คับแคบแบบรถปรับอากาศกรุงเทพ เท่าที่ผมเคยใช้บริการมา เส้นทางต่างๆของแอร์เอเชียมักจะให้บริการเต็ม หรือเกือบเต็มแทบทั้งสิ้น ไม่ค่อยเจอเที่ยวบินโล่งๆซักเท่าไหร่ แม้แต่เส้นทางที่ไม่ใช่เส้นยอดนิยมอย่างมาเก๊า ก็ยังมีผู้โดยสารค่อนข้างหน้าแน่นพอสมควร
ผู้โดยสารบางคนไม่ชอบเครื่องบินเก่า ซึ่งเรื่องนี้แอร์เอเชียเป็นข้อได้เปรียบอย่างมาก เพราะเป็นเครื่องบินใหม่ยกฝูงป้ายแดงมือหนึ่งทุกลำ ผิดกับนกแอร์ ที่เป็นเครื่องมรดกตกทอดมาจากการบินไทย แล้วก็ไม่แน่ใจว่ามือ 2 หรือ 3 แล้วก็ไม่รู้ เรื่องนี้คล้ายๆเรื่องของจิตวิทยาของผู้โดยสาร ที่มักจะคิดว่าเครื่องบิน ยิ่งเก่ายิ่งน่ากลัว และกลัวมันจะตกได้ง่าย ทั้งๆที่จริงเรื่องเครื่องบินตกไม่ตก ไม่ได้อยู่ที่เครื่องเก่าหรือไม่เก่า แต่เป็นเรื่องของภาวะการตัดสินใจของนักบิน และสภาพแวดล้อมของการบินล้วนๆ ต่อให้เก่ากว่าที่มีอยู่ก็บินได้อย่างปลอดภัย แต่ก็แน่นอนหละถ้าเลือกได้เราก็คงจะเลือกนั่งของใหม่ กันแน่ๆหละ
โดยรวมแล้วสำหรับไทยแอร์เอเชียผมคิดว่าเป็นสายการบินต้นทุนต่ำโดยใช้อัตราค่าโดยสารแบบขั้นบันได ยิ่งจองแล้วต้องการบินไวก็ต้องจ่ายแพง ในบางเที่ยวบินราคาอาจจะเกือบๆถึงเท่าๆกับการบินไทยด้วยซ้ำ และเมื่อการบินไทยหรือสายการบินอื่นๆเต็ม และคุณต้องรีบเดินทางจริงๆ ยังไงก็ต้องใช้บริการ
กำไรเยอะมากแน่ๆกับสายการบินนี้ แล้วเพื่อนๆสินธรล่ะครับคิดว่ายังไงกัน???
จากคุณ |
:
venezier
|
เขียนเมื่อ |
:
2 ธ.ค. 53 22:55:16
|
|
|
|
|