เอาข่าวคราวน้องบาร์บี้มาฝากค่ะ ^_^
..............................................................................................
ยักษ์ใหญ่ ไล่ยักษ์เล็ก... 'เอาตุ๊กตาของฉันคืนมา' โดย ศ.ดร.วรภัทร โตธนะเกษม
ใครที่มีลูกสาว ต้องรู้จักและเคยซื้อตุ๊กตาที่โด่งดังที่สุดในโลก กันมาแล้วแทบทั้งนั้น เธอผู้มีชื่อว่า "บาร์บี้" ที่เด็กสาวทั่วโลกต่างลุ่มหลง
และขอให้พ่อแม่ซื้อให้หลายๆ ตัว จนสะสมกันเต็มตู้
แต่เมื่อลูกสาวเริ่มโตเป็นสาว ความสนใจก็มักจะเปลี่ยนไป ดังนั้น การสะสมสาวน้อยบาร์บี้จึงมีวันสิ้นสุดลงได้ อย่างไรก็ตาม เด็กสาวรุ่นใหม่ๆ ก็เข้ามาหลงรักบาร์บี้อีก ดังนั้น บริษัทผู้ผลิตจึงสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ รวมทั้งบางคนแม้จะเติบโตเป็นสาวเต็มตัวแล้ว ก็ยังหลงรักผูกพันกับสาวน้อยบาร์บี้ และยังซื้อสะสมอย่างต่อเนื่อง จึงไม่น่าประหลาดใจเลย ว่า บริษัทแมทเทล ซึ่งเป็นผู้ผลิตบาร์บี้ จะทะนุถนอม บาร์บี้ มากเพียงใด เพราะเธอ คือ เครื่องปั๊มเงิน ให้แก่บริษัทนั่นเอง
แต่แล้วบางอย่างก็เปลี่ยนไป เมื่อโลกมีตุ๊กตาสาวน้อยตัวใหม่ออกมากรีดกราย ท้าทายความน่ารักกับบาร์บี้ ราชินีคนเดิม สาวน้อยคนนี้ มีชื่อว่า "แบร๊ตซ์" (Bratz) ซึ่งแม้ชื่อของเธอจะออกเสียงยากกว่าบาร์บี้ แต่เธอกลับมาแรง จนบาร์บี้ทำท่าว่าจะเสียมงกุฎที่ยึดครองมานาน และนี่ก็คือที่มาของ ศึก "ยักษ์ใหญ่ ไล่ยักษ์เล็ก...เอาตุ๊กตาของฉันคืนมา"
โดยแมทเทล ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจาก เอ็มจีเอ เอนเทอร์เทนเม้นท์ ผู้ผลิตแบร๊ตซ์ ตุ๊กตาสาวน้อย ตัวใหม่
ถ้าหาก เอ็มจีเอ ผลิตน้องแบร๊ตซ์ ออกมาเป็นที่ถูกใจเด็กสาวทั่วโลก และ แมทเทล รักษาบัลลังก์ไว้ไม่ได้ แมทเทล ก็ควรจะต้องยอมรับสภาพ แต่ที่เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาก็เพราะว่า นายไบรอั้น พนักงานหนุ่มของเอ็มจีเอ ซึ่งเป็นผู้ออกแบบน้องแบร๊ตซ์ นั้น เคยทำงานที่แผนกออกแบบของแมทเทลมาก่อน ดังนั้น แมทเทลจึงฟ้องศาลว่า สาวน้อยแบร๊ตซ์ เป็นผลพวงของการ ขโมยความคิด ไปจากหน่วยออกแบบของแมทเทล นั่นเอง
ฝ่ายเอ็มจีเอ ก็อ้างว่า นายไบรอั้น ได้คิดเรื่องการออกแบบสาวน้อยแบร๊ตซ์ ในช่วงเวลาแปดเดือน ที่เขาไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ให้แก่แมทเทลเลย แต่ทนายความของแมทเทล ก็ยืนยันอย่างมั่นใจว่า แมทเทลจะพิสูจน์ได้อย่างแน่นอนว่า สาวแบร๊ตซ์ นั้น คือ ผลงานการออกแบบโดยนักออกแบบของแมทเทล ชุดเดียวกับที่รับผิดชอบ สาวน้อยบาร์บี้ นั่นแหละ แต่ถูกนาย ไบรอั้น และเอ็มจีเอ "ขโมย" ไปทั้งหมด
งานนี้ สนุกแน่ และจะต้องมีการพิสูจน์ความจริงกันต่อไป แต่เรื่องของสาวน้อยแบร๊ตซ์ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เท่าใดนัก เพราะเธอเผยโฉมวางตลาดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 แล้ว และเป็นคดีฟ้องร้องกันเรื่อยมา ครั้งแรก บริษัทแมทเทล ได้ฟ้อง นายไบรอั้น เมื่อปี พ.ศ. 2547 โดยบริษัทเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีมากถึง 150 ล้านดอลลาร์ แต่ในที่สุด ก็ตกลงยอมความกันได้ โดยนายไบรอั้น จ่ายเงินให้แมทเทล เพียง 2 ล้านดอลลาร์เท่านั้น
ต่อมาแมทเทลก็หันมาเล่นงาน เอ็มจีเอ โดยตรง ด้วยการกล่าวหาว่าเป็นผู้ขโมยลิขสิทธิ์ และทำให้แมทเทลเสียหายอย่างหนัก เพราะรายได้หลักของแมทเทล ที่ได้จากยอดขายบาร์บี้ นั้น ได้ลดลงอย่างมาก อันเนื่องมาจากเด็กสาวทั้งหลายได้หันไปสะสมน้องแบร๊ตซ์ มากขึ้น ดังนั้น เอ็มจีเอ จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่ แมทเทล ด้วย
ฝ่ายเอ็มจีเอ ก็แย้งว่า แมทเทล แข่งขันสู้ไม่ได้ พยายามเลียนแบบแล้ว ก็ยังสู้ไม่ได้ เลยกลายเป็นขี้แพ้ชวนตี ใช้ความเป็นยักษ์ใหญ่ รังแก ยักษ์เล็ก บีบร้านค้าด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อกดดันยอดขายสาวน้อยแบร๊ตซ์ นอกจากนั้น ยังแฉว่า มีหลักฐาน ซึ่งเป็น เอกสารภายในของแมทเทล ที่ระบุว่าจะ "สู้ไฟ ด้วยไฟ" (Fight Fire with Fire) และ "นี่คือสงคราม ที่ต้องมีการเลือกข้าง "บาร์บี้" เป็นฝ่ายดีงาม ที่เหลือทั้งหมดคือฝ่ายชั่วช้า"...หนักหนาไหมล่ะครับ ท่าน!
แน่นอนว่า แมทเทล ปฏิเสธข้อกล่าวหาข้างต้นของเอ็มจีเอ เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อสองปีก่อน คณะลูกขุนได้ลงมติให้แมทเทล ได้รับชดใช้เงินจำนวน 200 ล้านดอลลาร์ (เพราะเชื่อว่านายไบรอั้นได้เริ่มคิดเรื่องสาวแบร๊ตซ์ ในช่วงทำงานอยู่ที่แมทเทลจริงๆ) แต่ศาลอุทธรณ์ ก็ได้พลิกมติดังกล่าว จึงต้องมีการพิจารณากันใหม่อีก และ สองสามวันที่ผ่านมานี้เอง ผู้บริหารและทนายความทั้งสองฝ่าย ก็ได้ออกมากล่าวหากันผ่านสื่อ อย่างเข้มข้นอีกครั้งหนึ่ง
ยังตอบไม่ได้หรอกครับว่าใครผิดใครถูก แต่ที่ผมอยากจะตั้งเป็น ข้อสังเกต ก็คือ เรื่องอย่างนี้ เป็นเรื่องน่าคิดทีเดียว สมมติว่า เราเป็นผู้บริหารของเอ็มจีเอ และ สมมติต่อ ว่าเราพอจะรับทราบว่า นายไบรอั้น แกริเริ่มแนวคิดเรื่องนี้ ตั้งแต่ สมัยอยู่ที่ แมทเทล กรณีอย่างนี้ เราจะตัดสินใจนำความคิดนั้นมาพัฒนาต่อให้เป็นสินค้าของเรา หรือไม่ ความถูกต้องเหมาะสม และหลักการตัดสินใจ คืออะไร ในทางตรงกันข้าม สมมติว่า เราเป็นผู้บริหารแมทเทล ซึ่งถ้ามีหลักฐานชัดเจนจริงๆ ว่า เป็นการขโมยความคิด ก็ต้องต่อสู้เต็มที่อยู่แล้ว แต่ถ้า สมมติว่า หลักฐานอาจจะไม่ชัดเจนนัก เมื่อสินค้าของเราเกิดสู้ไม่ได้ และรายได้ลดลงอย่างมาก เราจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อสร้าง "สงครามการค้า" หรือไม่
ธุรกิจ ก็เป็นอย่างนี้แหละครับ มีเรื่องราวที่หมิ่นเหม่เกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้น การสร้างแนวปฏิบัติทางจริยธรรมที่ชัดเจน จนกลายเป็นวิถี และจิตวิญญาณ ของคนในองค์กร จึงเป็นแนวทางที่เหมาะสมอย่างยิ่ง
ผมเคยบริหารบริษัทจัดอันดับ ซึ่งเราได้กำหนดแนวปฏิบัติไว้หลายประการ มีอยู่ข้อหนึ่ง คือ บริษัทเราจะไม่ขอสปอนเซอร์จากลูกค้าของบริษัท ไม่ว่าในกรณีใดทั้งสิ้น ปรากฏว่าในงานฉลองครบรอบ 15 ปีของบริษัท มีเพื่อนร่วมรุ่นของผมคนหนึ่ง (ซึ่งบังเอิญเป็นลูกค้าด้วย) ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ประสานงาน ว่า จะส่งเครื่องดื่มของบริษัทเขาไปให้บริการแขกเหรื่อที่ไปร่วมงานนี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ประสานงาน ได้เข้ามาสอบถามผมว่า "อย่างนี้จะรับได้หรือ" และเราก็มีความเห็นตรงกันว่า ถึงแม้เขาจะส่งไปให้ในฐานะเพื่อนร่วมรุ่นก็ตาม แต่ความเป็นลูกค้าก็ยังมีอยู่ ดังนั้น จึงขอขอบคุณและขออภัยที่ไม่สามารถรับความปรารถนาดีดังกล่าวได้
เรื่องนี้ ผมรู้สึกดีตรงที่ว่า พนักงานคนนั้น เขารู้สึกได้เอง ว่าประเด็นใดควรหรือไม่ควร และรู้จักหยิบยกประเด็นที่มีข้อสงสัย นำไปปรึกษากับผู้บริหาร ซึ่งสะท้อนถึงระดับความเข้าใจของเขาในเรื่องจริยธรรมธุรกิจ ที่รู้สึกดีก็เพราะว่า ข้อกำหนดจริยธรรมนั้น ส่วนใหญ่ก็คือหนังสือเล่มเล็ก ที่บริษัทมักทำแจกให้แก่พนักงาน เพียงเพื่อยืนยันว่าที่บริษัทนี้ก็มีข้อกำหนดจริยธรรม เหมือนกัน...
แต่การพัฒนาจนเข้าไปอยู่ในจิตสำนึกของพนักงานทั่วทั้งองค์กร เป็นสิ่งที่ท้าทาย และทำได้ไม่ง่ายนัก
จากคุณ |
:
Ooh 1234
|
เขียนเมื่อ |
:
21 ม.ค. 54 09:52:28
|
|
|
|