Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
... เห็นโครงการ China City Complex แล้วอดไม่ได้ที่จะพูดถึง “จีน” ... ติดต่อทีมงาน

... เห็นโครงการ China City Complex แล้วอดไม่ได้ที่จะพูดถึง “จีน” (ตอนที่ 1) ...

บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชียในช่วงสองสัปดาห์นี้ทำให้ผมต้องคิดหนักว่าจะเขียนถึงเรื่องอะไรดีเพราะมีหลายแง่มุมเหลือเกินที่อยากชวนเพื่อนผู้อ่านมาร่วมเสวนา

สุดท้ายก็มาหยุดที่เรื่องของ “จีน” เพราะถ้าผมไม่ได้พูดถึงจีนในช่วงเวลาแบบนี้ กว่าจะมีเวลาเขียนบทความอีกทีอาจจะตกกระแสไปแล้วก็ได้

จีนเริ่มเปิดประเทศมาตั้งแต่ปีคริสตศักราช 1979 ก่อนจะหยุดชะงักไปด้วยปัญหาภายในทางด้านการเมืองและสังคมจากเหตุการณ์จตุรัสเทียนอันเหมินในปีคริสตจักราช 1989 แต่ก็กลับมานำประเทศเข้าสู่สังคมเปิดเกือบเต็มรูปแบบได้ในปีคริสตจักราช 2001 ด้วยการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก

ไม่ต้องบอกก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าทศวรรษที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาของ “จีน” อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตามภายหลังจากที่โลกได้เห็นเหตุการณ์ “ทศวรรษที่หายไป (The Lost Decade)” ของญี่ปุ่น “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ของไทย “วิกฤตซับไพรม์ (Subprime Crisis)” ของอเมริกา และ “วิกฤตหนี้ยุโรป (European Debt Crisis)” แล้ว

คงเป็นธรรมดาที่จะต้องกังวลถึง “ภาวะฟองสบู่” ของจีนมากเป็นพิเศษ

หากติดตามบทความที่ผ่านมาของผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจำกันได้ว่าผมเคยให้ข้อคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า “จีน” น่าจะคุมภาวะฟองสบู่ได้ดีกว่าชาติอื่นด้วยเหตุผลใหญ่ๆ คือ ระบอบการปกครองที่เอื้อต่อการควบคุมอย่างเด็ดขาด และปริมาณเงินทุนสำรองของจีน

ทุกวันนี้ผมก็ยังยืนยันความคิดเดิมและเชื่อว่าต้องมีคนเห็นด้วยกับความคิดดังกล่าว แต่ก็ไม่แปลกใจเลยที่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาทิศทางกระแสเงินไหลออกจากเอเชียซึ่งรวมถึงจีนอย่างชัดเจน (จริงๆ คิดว่าควรจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วด้วยซ้ำ)

เหตุผลก็คือธีมการลงทุนในปีที่ผ่านมามันสะท้อนภาพของ “Asia Miracle” ในระดับหนึ่งแล้ว (ซึ่งระยะยาวก็ยังคงเป็นเช่นนั้น) ด้วยคำอธิบายง่ายๆ คือ สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น เริ่มเข้าสู่ยุคถดถอยด้วยโครงสร้างประชากรที่มีอายุเฉลี่ยสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนามาก (การบริโภคก็จะน้อยลง และต้นทุนภาระที่ประชากรวัยแรงงานและรัฐบาลต้องแบกมีสูงขึ้น)

ในขณะที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ณ ปัจจุบันจะถูกทำให้ด้อยค่าผ่านมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) มากเพียงใด เงินดอลลาร์สหรัฐก็ยังมีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจของโลกอยู่ดี (เพราะบารมีหลังยุคสงครามโลกครั้งที่สอง)

เมื่อถึงจุดหนึ่งที่นักลงทุนทั่วโลกเริ่มเห็นแล้วว่าตลาดทุนและตลาดเงินฝั่งเอเชียก็เริ่มแพงแล้ว สินค้าโภคภัณฑ์ก็เริ่มแพงแล้ว (แต่แพงด้วยกลไก Cost Push ผสมกับความเสื่อมศรัทธาในตลาดเงินคล้ายช่วงปีคริสตจักราช 2007-2008 ไม่ได้แพงขึ้นด้วย Demand&Supply เหมือนกลไกปกติ) จึงต้องแสวงหา Safe Haven ที่ยังมีราคาต่ำ คงเดาออกกันทุกคนว่า Safe Haven ที่ว่านั้นคือ “ดอลลาร์สหรัฐ (USD) นั่นเอง

กระแสเงินเริ่มกลับไปที่ USD มากขึ้นเมื่อวิกฤตหนี้ยุโรปเริ่มปะทุ (นึกภาพมหาอำนาจเศรษฐกิจสมัยก่อนคือ อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น แรงดึงของเงินทุนมาจากแรงชักกะเย่อของสามขั้วนี้ ถ้ามีแรงด้านใดด้านหนึ่งอ่อนจะเกิดอะไรขึ้น?)

หากสองปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในเอเชียปรับตัวขึ้นมาเกือบหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ปีนี้จะปรับฐานลงมาบ้างก็น่าจะอยู่ในการคาดหมายของใครหลายคน

จริงไหมครับ?

(มีต่อ)

แก้ไขเมื่อ 26 ม.ค. 54 00:28:47

จากคุณ : มังมหานรธา
เขียนเมื่อ : 26 ม.ค. 54 00:18:44




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com