กลเม็ด 5 วิธี ที่บริษัทมักจะใช้ ในช่วงประกาศผลประกอบการ
|
|
5 Tricks Companies Use During Earnings Season
มีเทคนิคมากมายที่บริษัทนำออกมาใช้เพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุน โดยเฉพาะเมื่อผลงานของบริษัทต่ำกว่าคาดหรือทำให้นักลงทุนผิดหวัง ลองมาดู 5 เทคนิคที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัทใช้กันบ่อยๆ
1. ให้ข่าวบ่ายวันศุกร์ ทีมประชาสัมพันธ์ซึ่งกำลังมองหาวิธีกลบข่าวร้าย-ผลงานที่แย่ของบริษัท บางครั้งก็จะให้ข่าว ณ เวลาที่คาดว่าจะมีคนจับตามองน้อยมาก เทคนิคที่ใช้กันมากในช่วงปลายทศวรรษ 90 (ก่อนที่นักลงทุนจะจับไต๋ได้) คือ การให้ข่าวในช่วงบ่ายวันศุกร์ภายหลังจากปิดตลาด โดยเฉพาะจะดีมากถ้าเป็นก่อนวันหยุดยาว หรือวันที่มีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญๆ ที่นักลงทุนเฝ้ารอ แน่นอนว่าข่าวของบริษัทจะไม่ตกเป็นเป้าสายตาของนักลงทุน ข่าวร้ายที่มาในเช้าวันจันทร์เป็นเรื่องที่ไม่ดีเอามากๆ ความมุ่งหวังของการใช้เทคนิคนี้ ก็เพื่อให้มีช่วงเวลาวันสองวันหลังการให้ข่าวก่อนที่จะเปิดตลาด นักลงทุนที่อาจจะเทขายหุ้นเพราะข่าวร้ายอาจจะใจเย็นลง และถือหุ้นไว้ต่อไป
2. ปิดกั้นการสื่อสาร เมื่อมองถึงประเด็นการนำเสนอข้อมูลอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา บริษัทควรจะแจ้งทั้งข่าวดีและข่าวร้ายในรายงานประจำไตรมาส แต่อย่างไรก็ตาม ทีมประชาสัมพันธ์มักจะพยายามกลบเกลื่อนข่าวร้ายด้วยการใช้ประโยคหรือวลีที่ฟังแล้วสวยหรูดูดี เมื่อเจอประโยคที่ใช้ อาทิ ความท้าทาย, แรงกดดัน, การหลุดลื่น และการเน้นย้ำ เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะนั่นอาจจะหมายถึงสัญญาณอันตราย ตัวอย่าง แทนที่จะพูดว่า กำไรสุทธิของบริษัทลดต่ำลง ซึ่งก็หมายถึงรายได้ในอนาคตลดลง บริษัทมักจะให้ข่าวว่า ดูเหมือนว่ามีแรงกดดันอย่างมากในเรื่องของราคา ทิ้งให้นักลงทุนต้องไปคำนวณเปอร์เซ็นต์ผลกำไรจากงบการเงินที่ประกาศออกมา ซึ่งมีนักลงทุนรายย่อยน้อยคนที่จะทำ คุณจะสังเกตได้ว่าข่าวสารที่บริษัทไม่ต้องการให้คุณรับรู้ มักจะพบอยู่แถวๆ ท้ายเรื่อง และมักจะปะปนอยู่กับข่าวอื่นๆ ด้วย ตัวอย่างเช่น บริษัทอาจจะพูดถึงผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ที่จะเปิดตัวในปีหน้า หรือในการให้ข่าวครั้งต่อไปที่จะพลาดไม่ได้ พร้อมกับคาดหวังว่าจะทำกำไรให้กับบริษัทในช่วงต่อไป เนื่องจากประมาณการผลประกอบการของบริษัทไม่ได้เป็นข่าวที่นำเสนอโดดๆ เพียงข่าวเดียว ยังมีเรื่องอื่นๆ หลายเรื่องประกอบในเนื้อข่าว นักลงทุนทั่วไปจึงยากที่จะเปรียบเทียบผลประกอบการกับตัวเลขคาดการ (เช่น ตัวเลข Consensus ของบริษัท) ทีมประชาสัมพันธ์มักจะประสบผลสำเร็จในการหลอกล่อ ดึงความสนใจของสาธารณชน 3. เน้นย้ำข้อมูลที่บริษัทต้องการให้นักลงทุนรับรู้ ในช่วงประกาศผลประกอบการ ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ของบางบริษัทอาจจะเน้นย้ำข้อมูลในเรื่องที่บริษัทต้องการให้นักลงทุนหันมาสนใจ วิธีนี้ไม่ใช่เป็นการหลอกลวง แต่เป็นการฉกฉวยประโยชน์จากความเกียจคร้านเสาะหาข้อมูลของคนอ่าน นักลงทุนควรจะอ่านข่าวสารทั้งหมด ไม่ควรหลงใหลได้ปลื้มไปกับข้อมูลที่ถูกไฮไลท์ เช่นเดียวกับการพิจารณาโอกาสทางธุรกิจที่แนบมาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ควรจะเป็นปลื้มกับตัวเลขคาดการณ์ (ต.ย. Q3 EPS เพิ่ม 30%) จนละเลยที่จะอ่านและตีความข้อมูลแฝงระหว่างบรรทัด ขอให้สวมบทบาทนักสืบเมื่ออ่านข่าวสารที่บริษัทนำเสนอ รวมทั้งการทำนายเกี่ยวกับอนาคต
4. มีการซื้อหุ้นคืนเพิ่มมากขึ้น โดยปกติ การซื้อหุ้นคืนมักเป็นเรื่องที่ดี บอร์ดบริหารบางบอร์ดมักจะอนุญาตให้การซื้อหุ้นคืนเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามทำให้ตัวหุ้นมีความน่าสนใจ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากคนทั่วไป บอร์ดหรือบริษัทเหล่านี้อาจจะเพิ่มปริมาณการซื้อคืน แต่คุณจะสังเกตได้ว่า บริษัทมักจะประกาศการซื้อหุ้นคืนพร้อมๆ กับ หรือหลังจากที่ให้ข่าวร้ายออกไปแล้ว มันช่างเป็นช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะเกินไป ดังนั้น จึงดูเหมือนเป็นเรื่องที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง
5. ประกาศข่าวดีเพื่อชดเชยข่าวร้าย ดังได้กล่าวข้างต้น บางบริษัทอาจจะมีโปรแกรมการซื้อหุ้นคืนเพื่อหันเหความสนใจจากข่าวร้าย อย่างไรก็ตาม ยังมีเทคนิคอื่นๆ ที่บริษัทใช้ อาทิ บางบริษัทอาจจะประกาศลูกค้าใหญ่รายใหม่, ออร์เดอร์ล็อตใหญ่, เปิดร้าน, เปิดตัวสินค้าใหม่ หรือการจ้างงานใหม่ เหล่านี้เกิดในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่มีข่าวร้าย เช่นเดียวกัน การกระทำเช่นนี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า ข่าวนั้นๆ ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด อย่าตกเป็นเหยื่อของบริษัทเพียงเพราะข่าวสั้นๆ จำเป็นต้องค้นหาเรื่องราวที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งจะช่วยให้คุณพบความเป็นจริงเกี่ยวกับหุ้นนั้นๆ
สุดท้าย มีเทคนิค กลเม็ดมากมายที่บริษัทใช้เพื่อทำให้ดูดี มีความมั่นคง และเพื่อลดผลกระทบจากผลประกอบการที่แย่และส่งผลต่อราคาหุ้น แต่สำหรับนักลงทุนที่ค้นคว้าหาข้อเท็จจริง และอ่านรายงานผลประกอบการโดยละเอียดย่อมจะไม่ถูกหลอกได้ง่ายๆ
ที่มา http://www.investopedia.com/articles/stocks/08/earnings-tricks.asp
จากคุณ |
:
WindReturn
|
เขียนเมื่อ |
:
6 ก.พ. 54 09:24:30
|
|
|
|