Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
การผสมผสานระหว่างการวิเคราะห์ทางเทคนิคและการวิเคราะห์พื้นฐาน ติดต่อทีมงาน

Blending Technical And Fundamental Analysis

         เรามักจะได้ยินคำถามว่า การวิเคราะห์ทางเทคนิคสามารถใช้แทนการวิเคราะห์พื้นฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ แม้จะไม่มีคำตอบที่สรุปได้อย่างแน่ชัด แต่แทบจะไม่มีข้อสงสัยเลยว่า การรวมจุดแข็งของกลยุทธ์ทั้งคู่ก็สามารถช่วยให้นักลงทุนเข้าใจถึงตลาดและวัดทิศทางที่เงินลงทุนของพวกเขากำลังมุ่งหน้าไป ในบทความนี้เราจะดูข้อดีข้อเสียของการวิเคราะห์ทางเทคนิคและปัจจัยที่นักลงทุนควรจะพิจารณาเมื่อมีการรวมทั้งสองกลยุทธ์เข้าใช้ในตลาด

ข้อดีของทั้งสองแนวทาง
         วิธีการวิเคราะห์เทคนิคบางอย่างสามารถเข้ากันได้ดีกับการวิเคราะห์พื้นฐาน เพื่อให้ข้อมูลเสริมกับนักลงทุน อาทิ

1. แนวโน้มปริมาณซื้อขาย
         เมื่อนักวิเคราะห์หรือนักลงทุนทำการวิเคราะห์หุ้นตัวใดตัวหนึ่ง ย่อมเป็นการดีที่จะรู้ว่านักลงทุนคนอื่นๆ มีความคิดเห็นเกี่ยวกับหุ้นตัวนี้อย่างไร หลังจากนั้น เขาอาจจะมีข้อมูลเชิงลึกบางอย่างของบริษัท หรือการมองถึงแนวโน้มในอนาคต
         วิธีหนึ่งที่นิยมใช้วัดพฤติกรรอารมณ์ของตลาด ก็คือการดูปริมาณการซื้อขาย ถ้าเป็นยอดแหลมพุ่งปรี๊ด แสดงว่าหุ้นตัวนั้นได้รับความสนใจซื้อขายจากชาวประชาจำนวนมาก และหุ้นกำลังอยู่ในช่วงสะสมหรือช่วงปล่อยของ
         ดัชนีวัดวอลุ่มเป็นเครื่องมือที่นักเล่นหุ้นนิยมใช้ เนื่องจากเป็นการยืนยันความเห็นพ้องต้องกันของนักลงทุนอื่นๆ นักเล่นหุ้นมักจะมองหาวอลุ่มที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นสัญญาณบ่งโมเมนตัมของแนวโน้มนั้นมากขึ้น แรงซื้อขายที่ลดลงอย่างฉับพลันก็แสดงให้เห็นว่านักเล่นหุ้นหมดความสนใจในหุ้นนั้นๆ และการกลับตัวของแนวโน้มอาจจะกำลังมาเยือน
         กราฟระหว่างวันได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะช่วยให้นักเล่นหุ้นได้จับตาดูการพุ่งขึ้นของปริมาณซื้อขายเมื่อขาใหญ่เข้าตลาด และอาจจะตีความได้ว่ากองทุนและต่างชาติกำลังซื้อขายอยู่

2. ตามรอยการเคลื่อนไหวของราคาในระยะสั้น
         ในขณะที่นักลงทุนแนวพื้นฐานเน้นที่ระยะยาว ข้อแปลกก็คือ พวกเขาก็ชอบที่จะซื้อหุ้นได้ในราคาที่พอใจ หรือขายหุ้นออกอย่างได้ราคาดี การวิเคราะห์เทคนิคมีประโยชน์อย่างยิ่งในสถานการณ์เช่นนี้
         โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อราคาหุ้นทะลุเส้นค่าเฉลี่ย 12 และ/หรือ 21 วัน (ไม่ว่าจะเป็นตัดขึ้นหรือลง) ปกติแล้วมันก็จะเป็นไปตามแนวโน้มนั้นอย่างน้อยชั่วระยะเวลาหนึ่ง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นสัญญาณบ่งชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปในอนาคต โดยทั่วไป นักเทคนิคและนักลงทุนแนวพื้นฐานมักใช้ค่าเฉลี่ย 50 และ 200 วัน สำหรับการพิจารณารูปแบบการเปลี่ยนแนวโน้มระยะยาว (long term breakout pattern)
         สำหรับผู้ที่มองหาจังหวะเวลาเข้าเทรด หรือจุดเข้า-ออกของราคาที่เหมาะสม การวิเคราะห์และการใช้กราฟในลักษณะนี้มีประโยชน์อย่างมาก

3. ตามดูปฏิกิริยาตอบสนอง ณ ห้วงเวลาหนึ่ง
         นักวิเคราะห์พื้นฐานหลายคนจะดูกราฟของหุ้น, ของอุตสาหกรรม, ของดัชนี หรือของตลาด เพื่อพิจารณาว่า สิ่งที่กำลังวิเคราะห์นั้นมีผลตอบสนองเป็นอย่างไร ณ ช่วงเวลาที่มีเหตุการณ์หรือข่าวสารหนึ่งๆ เกิดขึ้น (เช่น ผลประกอบการ หรือตัวเลขเศรษฐกิจเป็นบวก)
         รูปแบบปรากฏการณ์มักจะซ้ำรอยเดิม นักลงทุนที่เล่นตามข่าวก็มักจะมีปฏิกริยาตอบสนองในลักษณะเช่นเดิมแม้เวลาจะเปลี่ยนแปลงไป
          ยกตัวอย่าง เมื่อมีการประกาศยอดซื้อขายบ้านลดลง ราคาของหุ้นอสังหาริมทรัพย์ก็มักจะตกลงตามไปด้วยทุกครั้ง
          กล่าวสั้นๆ คือ การวิเคราะห์แนวโน้มในอดีต ช่วยให้นักลงทุนสามารถทำนายปฏิกริยาตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดอีกครั้งในอนาคต

ข้อเสียในการผสมผสาน
         การวิเคราะห์เทคนิคอาจจะให้ข้อมูลหรือมุมมองที่ไม่แม่นยำหรือไม่สมบูรณ์ เนื่องจาก

1. มันเป็นอดีต
         ในขณะที่ การแปลรหัสโดยอาศัยรูปแบบพื้นฐาน (Chart Pattern) หรือเมื่อราคาหุ้นตัดผ่านเส้นค่าเฉลี่ย จะให้มุมมองถึงการเคลื่อนไหวของราคา แต่โดยปกติ กราฟจะเน้นอยู่ที่เหตุการณ์ในอดีต จะไม่สามารถทำนายถึงการเปลี่ยนแปลงปัจจัยพื้นฐานในอนาคตไม่ว่าจะเป็นบวกหรือลบ
         อย่างไรก็ตาม ถ้ามีข่าวรั่วไหลว่าบริษัทกำลังประกาศผลกำไรดี (ยกตัวอย่าง) นักลงทุนสามารถฉกฉวยประโยชน์จากมัน และข่าวดีนี้ก็จะแสดงออกมาบนกราฟ แต่กราฟปกติธรรมดาจะไม่บอกถึงปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นในอนาคตระยะยาวเช่น กระแสเงินสดหรือกำไรต่อหุ้น เป็นต้น

2. บางครั้งฝูงชนก็ผิดพลาด
         ดังที่กล่าวข้างต้น เป็นสิ่งที่ดีที่จะซื้อหุ้นที่มีโมเมนตัมเป็นขาขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องบันทึกและเข้าใจด้วยว่า บางครั้งฝูงชนก็ผิดพลาดได้ กล่าวคือ หุ้นที่กำลังถูกเก็บสะสมเป็นจำนวนมากในอาทิตย์นี้ อาจจะถูกเทขายอย่างหนักในอาทิตย์หน้า ในทางกลับกัน หุ้นที่ถูกเทขายอย่างหนักก็อาจจะถูกซื้อกลับคืนในอาทิตย์ถัดไป
         ตัวอย่างแสนโหดร้ายของความผิดพลาดของฝูงชน จะเห็นได้จากปริมาณเงินจำนวนมหาศาลหลั่งไหลเข้าสู่หุ้นเทคโนโลยีในช่วงปี 2000 เมื่อฟองสบู่ดอทคอมแตก เพียงชั่วข้ามคืนหุ้นดอทคอมก็แทบจะไม่มีราคาค่างวดเลย
          ปรากฏการณ์เช่นนี้ กราฟไม่สามารถจะบอกเราได้ว่าการปรับฐานอย่างรุนแรงกำลังจะเกิดขึ้น

3. โดยปกติ กราฟจะไม่สามารถทำนายแนวโน้มมหัพภาค
          กราฟจะไม่สามารถบอกได้อย่างแม่นยำว่าแนวโน้มเศรษฐกิจมหัพภาคในอนาคตจะเป็นอย่างไร ตัวอย่างเช่น เป็นไปไม่ได้ที่จะดูว่าผู้มีบทบาทหลักในการกำหนดราคาน้ำมัน คือ โอเปค จะเพิ่มหรือลดกำลังการผลิตน้ำมัน

4. หลากหลายการแปลความกราฟ
         เมื่อมาถึงการอ่านกราฟ มีความเห็นหลากหลายที่เกิดขึ้น บางคนดูแล้ว รู้สึกว่าหุ้นลงมาถึงจุดต่ำสุดแล้ว ในขณะที่คนอื่นอาจจะเห็นว่า น่า มันยังลงได้อีก
         คนไหนล่ะ ที่ถูกต้อง ????
         ย้ำกันอีกครั้ง ยังไม่มีสถิติสำรวจเพื่อเฉลยข้อถกแย้งนี้ (อาจจะเป็นกรณีเฉพาะที่จะใช้การวิเคราะห์พื้นฐาน) เมื่อมีการใช้กราฟ มีเพียงเวลาเท่านั้นที่จะบอกได้ว่า ตลาดกำลังจะมุ่งหน้าไปทางไหน

สุดท้าย
          การวิเคราะห์เทคนิคเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์อย่างมาก แต่ก่อนที่จะทุ่มเทกับมัน สำคัญอย่างยิ่งที่ต้องตระหนักถึงประโยชน์ควบคู่ไปกับข้อจำกัด ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่า การวิเคราะห์เทคนิคจะสามารถใช้แทนการวิเคราะห์พื้นฐานได้อย่างสมบูรณ์ แต่หลายคนก็เห็นด้วยว่า การวิเคราะห์เทคนิคมีประโยชน์อย่างมากเมื่อใช้ร่วมกับวิธีการลงทุนอื่นๆ

ที่มา http://www.investopedia.com/articles/trading/07/technical-fundamental.asp

จากคุณ : WindReturn
เขียนเมื่อ : 27 ก.พ. 54 09:28:55




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com