|
The (Mis) Behavior of Markets ผู้เขียน: Benoit Mandelbrot ผู้จัดพิมพ์: Profile Books
---
ชื่อของนักคณิตศาสตร์อย่าง เบนวา มันเดลโบรท คนนี้ อาจจะเป็นที่รู้จักค่อนข้างน้อยในเมืองไทย
แต่ในระดับโลก เขาคือตัวจริงเสียงจริง ระดับอัจฉริยะของวงการคณิตศาสตร์
เบนวา คือนักคิดชาวฝรั่งเศส เชื้อสายโปแลนด์ เจ้าของทฤษฎีเรขาคณิตแฟรคทอล หรือ fractal geometry อันโด่งดังไปทั่วโลก ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติแนวคิดและปรัชญา ว่าด้วยการคำนวณ หรือการสังเกตธรรมชาติกันใหม่ทั้งหมด
อย่างชนิดที่ นักคณิตศาสตร์อย่าง ยูคลิด นิวตัน เก๊าส์ หรือ ลีออนฮาร์ดออยเลอร์ หรือกระทั่งไอน์สไตน์ กลายเป็นคนล้าสมัย ไปเลยในทันที
เมื่อเบนวา ย้ายมาทำงานในสหรัฐฯ ความสนใจเรื่องการลงทุนในตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และตลาดเก็งกำไรอื่นๆได้จุดประกายให้เขาเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา เพื่อประยุกต์ใช้ทฤษฎีเรขาคณิตแฟรคทอล เข้ากับทฤษฎีการเงิน
ผลลัพธ์ก็คือ ไม่ใช่เพียงแค่เขา จะสามารถค้นพบข้อบกพร่องของทฤษฎีการเงิน ที่เคยใช้กันมาอยู่ว่า
เหตุใดไม่สามารถคาดเดา หรือ ทำนายแนวโน้มอนาคตได้แม่นยำ แต่ยังสามารถนำเสนอทฤษฎีใหม่ทางการเงินขึ้นมาอีกด้วย
การรื้อฟื้นเอาทฤษฎีที่ถูกทิ้งบนหิ้งอย่างไม่ใส่ใจของหลุยส์ บาเชลิเยร์ นักคิดฝรั่งเศส ผู้ค้นพบทฤษฎีการเคลื่อนไหวแบบบราวเนียน หรือ Brownian Motion ซึ่งเป็นการประยุกต์ทฤษฎีคณิตศาสตร์ เข้ากับโลกของการเงินและเก็งกำไร
ทฤษฎีของบาเชลิเยร์ได้แก่การศึกษารูปแบบการเคลื่อนตัว ของราคาตราสารการเงินที่มองเห็นแต่ความสะเปะสะปะไร้รูปที่ชัดเจน
แต่เมื่อวิเคราะห์ให้ดีแล้วจะเห็นแบบแผนการเคลื่อนตัว ที่สามารถมองเห็นทิศทางที่ซ้ำๆ กัน สามารถพล็อต เป็นกราฟได้
จากทฤษฎีดังกล่าว เบนวานำมาประยุกต์เพิ่มเติม โดยเน้นหนักไปที่การวิเคราะห์ปัจจัยความเสี่ยง ที่เกิดขึ้นจากแบบแผนการเคลื่อนตัวของราคาหุ้น หรือ ตราสารการเงิน ที่ปรากฏในตลาดเก็งกำไรต่างๆ
ไม่เพียงเท่านั้น
เบนวา ยังร่วมกับนักคิดที่มีความคิดคล้ายกัน อย่าง นัสซิม ทาเล็บ (Nassim Taleb) นักคณิตศาสตร์การเงินอีกคนหนึ่ง ที่มีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมา
เพื่อทำการศึกษาว่าด้วยการ ลองผิด ลองถูก ในการเก็งกำไรว่า แม้จะมีความผันผวนในการเก็งกำไร แต่หากเข้าถึงความเสี่ยงได้ชัดเจน ก็สามารถที่จะสร้างรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมได้
ผลลัพธ์ของทฤษฎีแฟรคทอลทางการเงิน fractal finance ที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ ก็ได้กลายเป็นระเบิดเวลาทางความคิดครั้งสำคัญ ที่บรรดานักวิเคราะห์การเก็งกำไร ผู้จัดการกองทุน และบรรดานักลงทุน ระดับเซียนเรียกพี่ ต้องนำมาศึกษากันอย่างจริงจัง
โดยเฉพาะเรื่องของ rules of regular roughness หรือกฎว่าด้วยความรุงรังของธรรมชาติ
ซึ่งมีความซับซ้อน และ รายละเอียด ที่หากสามารถถอดรหัสออกมาได้แล้ว จะค้นพบว่าเต็มไปด้วยสาระที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
ทฤษฎีของเบนวาในระยะแรก ไม่ได้รับความเชื่อถือนัก (ตามปกติของทฤษฎีที่ยิ่งใหญ่ที่มักจะถูกตั้งข้อสงสัยเอาไว้ก่อน)
จนกระทั่งวิกฤติแบล็ก มันเดย์ ในปี 1987 ที่ดัชนีดาวโจนส์ถล่มลงกว่า 500 จุดในวันเดียว จนต้องคิดค้นมาตรการป้องกันตัว ที่เรียกว่า... เซอร์กิต เบรกเกอร์ เอามาใช้
ปัจจุบัน แนวคิดเรื่อง แฟรคทอลทางการเงิน ของ เบนวา ว่าด้วยการแกว่งตัวที่ไม่น่าเชื่อ หรือ impossible swings และ การเชื่อมโยงของตัวแปรสุดขั้ว clusters of extreme variance เป็นที่ยอมรับกันโดยเปิดเผย
ความสำคัญของทฤษฎีดังกล่าว อยู่ที่การเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากทฤษฎีการเก็งกำไรแบบเดิมๆ
ที่เน้นค้นหา
"ความปกติ" (smoothness) ของตลาด
มาเป็นการค้นหา
"การเดาสุ่มอย่างแปรปรวน" (wild randomness) ของตลาดแทน
โดยไม่ต้องอาศัยฐานข้อมูล ที่ประมวลจากอดีตเป็นที่พึ่งพิง
แนวคิดอย่างนี้ให้ความสำคัญกับกระบวนการคิดแบบใช้เหตุผล หรือ a priori มากกว่าการใช้ประสบการณ์จากอดีต หรือ a posteriori นั่นเอง
เนื้อหาของหนังสือ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ที่ง่ายๆ
ส่วนแรก วิพากษ์แนวคิดเดิม ส่วนที่สอง เสนอแนวคิดใหม่ของตนเอง และส่วนสุดท้าย ว่าด้วยการคลี่คลายของแนวคิด ที่แผ่ขยายออกไปจากปัจจุบัน
หนังสือเล่มนี้ คนที่ได้อ่านย่อมหมดข้อสงสัยเกี่ยวกับความยิ่งใหญ่ ของเบนวา แมนเดลโบรท
ทั้งในเรื่องความรู้ทางคณิตศาสตร์และการประยุกต์เข้ากับตลาดเก็งกำไร รวมทั้งมุมมองที่ทำให้เราได้ประกายไอเดียใหม่ๆ
แต่ความยากที่จะเข้าใจถ้อยคำ ซึ่งแม้จะพยายามไม่แสดงออกด้วยสัญญะ ทางคณิตศาสตร์มากจนอ่านไม่รู้เรื่อง ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องที่เคี้ยวยาก พอสมควรทีเดียว
โดยเฉพาะคนที่ไม่มีรากฐานความรู้ทางคณิตศาสตร์ร่วมสมัย และไม่รู้เรื่องตลาดทุนหรือตลาดเก็งกำไรมากพอ คงจะต้องลำบากลำบนแสนสาหัส กว่าจะเข้าถึงเนื้อหาของหนังสือนี้
เพียงแต่ว่า คนที่ถือว่าความยาก มันก็คือความท้าทายอย่างหนึ่ง ก็เป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อย เพราะอาจจะเจอขุมทรัพย์ได้ง่ายขึ้น แม้ว่าจะไม่ถึงขั้น "อ่านแล้วรวย" ก็ตาม
การได้รู้ว่าตลาดเงินและตลาดเก็งกำไรนั้น มีความเสี่ยงที่ตรงไหน ก็เหมือนการเข้าสู่สนามแข่งขัน โดยมีแผนที่เดินทางหรือคัมภีร์เป็นคู่มือที่ดี...มิใช่หรือ?
(มีต่อในลิงค์)
---
Credit : http://www.gotomanager.com/books/details.aspx?menu=books,new&id=857
จากคุณ |
:
The Rounder
|
เขียนเมื่อ |
:
11 มี.ค. 54 18:02:30
|
|
|
|
|