|
12 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องราวของการลงทุน
ไม่ว่าถนนสายการออมและลงทุนจะพัฒนาไปแค่ไหน แต่ความเข้าใจผิดในเรื่องราวเกี่ยวกับการลงทุนนั้น ยังมีให้พบเห็นได้ทุกยุคทุกสมัย นักลงทุนหลายคนยังจมอยู่กับความคิด และมุมมองแบบเดิมๆ ซึ่งอาจจะผิดบ้างถูกบ้าง ไม่ว่าจะเป็น
1. การลงทุนในหุ้นมีความเสี่ยงไม่ต่างจากเล่นการพนัน ข้อนี้ถือเป็นความเข้าใจผิดที่อยู่ในอันดับต้นๆ เลยทีเดียว แต่การลงทุนในหุ้นจะแตกต่างหรือเหมือนกับการเล่นการพนันหรือไม่นั้น ขึ้นกับ 'วิธีการลงทุน' ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ ถ้าคุณมองตลาดหุ้นเป็นเหมือน 'เกมรวยรายวัน' ก็คือการเล่นพนันดีๆ นี่เอง แต่ถ้าคุณมองการซื้อหุ้นว่าเป็นการซื้อ 'ความเป็นเจ้าของกิจการ' ที่มีคนช่วยบริหารแทนเรา ซึ่งผลตอบแทนที่จะได้รับในระยะยาวนั้นจะขึ้นกับความสามารถในการทำกำไรของ ธุรกิจ อย่างนี้เรียกว่าการลงทุน
2. ฝากธนาคารดีกว่า.. ไม่เสี่ยง ช่วงวิกฤติสถาบันการเงินในปี 2540 ซึ่งมีการปิดกิจการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และธนาคารเล็กๆ อีกหลายแห่ง น่าจะช่วยตอกย้ำให้เห็นว่าการฝากเงินไว้กับธนาคารก็มีความเสี่ยง แต่โชคดีที่รัฐบาลสมัยนั้นยอมค้ำประกันเงินฝากให้ แต่สิ่งที่นักลงทุนควรรู้คือ รัฐบาลกำลังมีแนวคิดที่จะยกเลิกการค้ำประกันเงินฝากทั้งจำนวน แล้วตั้งสถาบันประกันเงินฝากขึ้นมาเป็นผู้ค้ำประกันเงินฝากแทนรัฐ แต่จะเป็นการค้ำประกันเพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งจะทำให้การฝากเงินของคุณก็มีความเสี่ยงไม่ต่างจากการลงทุนอื่นๆ
3. การซื้อพันธบัตรรัฐบาลเป็นการลงทุนที่ไม่มีความเสี่ยง การลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยงมากน้อยแตกต่างกันออกไป พันธบัตรรัฐบาลก็คือ 'สัญญาขอกู้เงิน' ของรัฐบาล และเนื่องจากรัฐบาลเป็นผู้กู้ที่มีเครดิตดีที่สุดในประเทศ ดังนั้นโอกาสที่จะถูก 'ชักดาบ' คงไม่มี หรือมีความเสี่ยงด้านเครดิตน้อยมาก แต่พันธบัตรรัฐบาลยังคงมีความเสี่ยงเรื่องอัตราดอกเบี้ยอยู่ เพราะส่วนใหญ่แล้วพันธบัตรรัฐบาลเป็นสัญญาขอกู้เงินระยะยาวในอัตราดอกเบี้ย คงที่ซึ่งระบุไว้ในพันธบัตรนั้น(Coupon Rate) ซึ่งราคาจะเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกับอัตราดอกเบี้ย 'แต่ถ้าคุณลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ผลตอบแทนที่ได้รับก็จะเคลื่อนไหวไปตามอัตราดอกเบี้ยในตลาด ความเสี่ยงก็อยู่ที่ 'ความไม่แน่นอน' ของดอกเบี้ยที่คุณได้รับ แต่ไม่มีความเสี่ยงในการได้รับคืนเงินต้นตรงตามเวลา
4. ถึงหุ้นราคาตก ถ้าไม่ขาย.. ก็ไม่ขาดทุน เพราะการตกต่ำของราคาหุ้นนั้นมีสาเหตุจากปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน ดังนั้นเราจึงควรวิเคราะห์ก่อนว่าปัจจัยที่เข้ามากระทบราคาหุ้นนั้นคืออะไร และเป็นเพียงความผันผวนชั่วคราวหรือเปล่า แต่หากราคาหุ้นตกเพราะบริษัทที่คุณลงทุนกำลังเริ่มประสบปัญหาย่ำแย่ ถ้าคุณไม่ขาย คุณอาจจะยิ่งขาดทุนหนักเรื่อยๆ จนกว่าบริษัทดังกล่าวจะสามารถพลิกฟื้นกิจการขึ้นมาได้อีกครั้ง หรือบางทีอาจจะไม่มีโอกาสได้เงินต้นคืนเลยก็ได้ เพราะบริษัทล้มละลายไปแล้ว นอกจากนี้ ราคาหุ้นอาจตกเพราะปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวบริษัทเลยก็ได้ เช่น ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างรุนแรง ถึงแม้ว่าราคาหุ้นลดลงแล้ว แต่ยังส่อแววที่จะลงไปได้อีก เพราะมีปัจจัยบ่งชี้หลายอย่างประกอบ เช่น นักลงทุนต่างชาติเริ่มย้ายเงินออก นักลงทุนสถาบันก็เริ่มขาย เราก็อาจต้องขายหุ้นออกมา และรอดูสถานการณ์ไปสักระยะหนึ่งก่อน ไม่ควรสวนกระแส
5. หุ้นลงคือโอกาสซื้อ หุ้นขึ้นคือโอกาสขาย แต่ที่บอกว่า 'หุ้นลง' หรือ 'หุ้นขึ้น' นั้น ดูกันที่ตรงไหน เพราะราคาหุ้นก็มีขึ้นๆ ลงๆ ตลอดเวลาอยู่แล้ว ถ้ามีหุ้นตัวหนึ่งวันนี้ราคาขึ้น พรุ่งนี้ลง สัปดาห์หน้าขึ้น สลับกันไปอย่างนี้ จะเรียกว่า 'หุ้นขึ้น' หรือ 'หุ้นลง' ดี เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจก่อนว่าคุณกำลังพูดถึง 'ความผันผวน' หรือ 'แนวโน้ม' กันแน่ เพราะปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวกำหนดว่าคุณจะได้กำไรหรือขาดทุนจากการลงทุนใน หุ้นนั้น อยู่ที่แนวโน้ม ไม่ใช่ความผันผวน 'ตราบใดที่ตลาดยังอยู่ในแนวโน้มขาลง และคุณขายหุ้นออกไปแล้ว ไม่เห็นมีความจำเป็นอะไรที่ต้องไปหาเรื่องใส่ตัว กลับไปซื้อคืนมาอีกเพื่อขาดทุนต่ออีกรอบ หรือในทางตรงข้าม ถ้าหากตลาดอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น ก็ไม่เห็นจะต้องรีบขาย เพื่อจำกัดโอกาสตัวเองที่จะได้กำไรสูงขึ้นอีก วิธีการลงทุนในหุ้นที่ถูกต้อง คือ 'เกาะแนวโน้ม' ไว้ ไม่ใช่การเข้าไปซื้อขาย บ่อยๆ แบบสวนแนวโน้ม'
6. จะเล่นหุ้นให้ได้กำไร ต้องเกาะตลาดแบบใกล้ชิด(ติดขอบสนาม) นักลงทุนที่มีความเชื่อเช่นนี้จะพยายามทำการซื้อขายให้เร็วขึ้น บางครั้งถึงกับเสียงาน เพราะมัวแต่ติดตามการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นทั้งวัน ไม่เป็นอันทำงาน ความจริงความสำเร็จในการลงทุนในหุ้นอยู่ที่การเกาะแนวโน้ม คุณจึงไม่มีความจำเป็นต้องทุ่มเทเวลาอันมีค่าของคุณทั้งหมด เพียงเพื่อจะเอาชนะความผันผวนของตลาดในระยะสั้น ซึ่งเพียงแค่คุณทำการบ้าน ติดตามข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับตลาดหุ้น และตรวจสอบความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นทางหน้าหนังสือพิมพ์เป็นประจำ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว
7. ลงทุนกระจายไว้จะไม่เสียหาย การกระจายความเสี่ยงในการลงทุนเป็นเรื่องที่ดี แต่การกระจายการลงทุนแบบผิดวิธี จนไม่อยู่ในวิสัยที่ตัวเราจะสามารถดูแลได้ทั่วถึง แบบนี้ Peter Lynch เซียนหุ้นท่านหนึ่งเคยเรียกว่า 'DiWORS Eification' แปลว่า ยิ่งกระจายมาก ยิ่งทำให้แย่ลง ประเด็นที่สำคัญคือ ไม่ใช่เวลาหุ้นตก ควรขายทิ้งหุ้นที่มีอยู่ในพอร์ตทั้งหมด โดยไม่ต้องดูอะไรเลย ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ความจริงแล้ววิธีป้องกันปัญหาที่ถูกต้องคือ แรกสุดเลยคุณไม่ควรจะซื้อหุ้นกระจายหลายตัวมาก จนไม่สามารถติดตามได้อย่างทั่วถึง
8. สูตรลับไขปริศนาของจักรวาล ยังมีนักลงทุนบางคนมีทัศนคติ และความเชื่อแปลกๆ เกี่ยวกับตลาดหุ้น โดยพยายามที่จะค้นหา 'สูตรลับ' ในการไขความลับของตลาดหุ้น โดยมีความหวังว่าวันใดที่ค้นพบสูตรลับดังกล่าว จะช่วยให้ประสบควาสำเร็จในการลงทุนได้ ซึ่งคงเป็นแบบเดียวกันกับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่พยายามจะหาสูตรคำนวณ 'เลขเด็ด' เพื่อเอาไปซื้อลอตเตอรี่ จนไม่ใส่ใจกับการบริหารความเสี่ยงในการลงทุนของตัวเอง ที่ต้องหมดเนื้อหมดตัวไปเพราะเรื่องนี้ก็มีไม่น้อย ในส่วนของกองทุนรวมเองก็มีความเข้าใจผิดอยู่ไม่น้อยทีเดียว 'ดร.สันติ กีระนันทน์' ผู้จัดการตลาดตราสารหนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บอกว่า ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกองทุนรวมในปัจจุบัน ก็มี
9. สิทธิประโยชน์จากการลงทุนผ่านกองทุนรวม ยกตัวอย่าง นักลงทุนมักจะบอกว่าไม่เอาไม่ลงทุนในหน่วยลงทุน ถ้ามันจะเจ๊งขึ้นมาก็ขอให้มันเจ๊งกับมือตัวเองดีกว่า ยังไม่เจ็บใจเท่ากับไปให้คนอื่นเขาทำเจ๊ง ซึ่งเป็นความคิดที่ค่อนข้างจะแปลกอยู่สักหน่อย สมมติคุณมีเงิน 10,000 บาท ไปซื้อหุ้นอาจจะซื้อได้แค่ตัวเดียว ซื้อหุ้นกู้ดีไม่ดีก็ซื้อไม่ได้ แต่ถ้าเอาเงิน 10,000 บาทนั้นไปซื้อหน่วยลงทุนๆ นั้นจะกระจายไปในหุ้นต่างๆ ซึ่งเวลาเจ๊งจะไม่เจ๊งพร้อมกัน เพราะฉะนั้นโอกาสที่เราจะสูญเสียเงิน 10,000 บาท ไปในคราวเดียวจึงมีอยู่น้อยเพราะเกิดการกระจายการลงทุน นี่ยังไม่ต้องนับเรื่องของการที่มีมืออาชีพมาบริหารเงินให้
10. สิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งเป็นจุดที่กองทุนรวมได้เปรียบกว่าการลงทุนในรูปแบบอื่น แต่คนก็ไม่เข้าใจอะไรเลย เข้าใจยากมาก เช่น กำไรที่เกิดจากการลงทุนผ่านกองทุนรวมไม่ต้องเสียภาษี หรือการลงทุนผ่านกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) สามารถนำเงินลงทุนที่ลงทุนจริง 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 300,000 บาท ไปหักภาษีได้ทั้งก้อน เรื่องพวกนี้คนไม่ค่อยเข้าใจ แล้วก็ไม่ค่อยรู้ซึ่งน่าแปลกใจมาก 'ทุกวันนี้ที่ทำงานเป็นลูกจ้างเราทำงานให้ใคร ถ้าเป็นพวกบริษัทเอกชนก็คือทำงานให้เจ้าของ คนเป็นเจ้าของรวยทั้งนั้น เข้าใจกฎเกณฑ์เรื่องการค้าการขายละเอียดยิบเพื่อทำให้คนอื่นได้สตางค์ แต่เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจเพื่อให้ตัวเองมีสตางค์กลับไม่ทำความ เข้าใจ ถ้าเข้าใจกฎเกณฑ์อื่นๆ ที่ยุ่งยากทำไมเรื่องแค่นี้จะเข้าใจไม่ได้
11. เลือกลงทุนในกองทุนโดยดูเฉพาะผลตอบแทน ดร.สันติ ยอมรับว่าเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ถูกเพียงครึ่งเดียว ต้องดูเรื่องของความเสี่ยงประกอบด้วย ซึ่งสามารถวัดได้จากความผันผวนของผลตอบแทนนั่นเอง เช่นสิ้นปีแต่ละปีอาจจะมีผลตอบแทนสูง แต่ถ้าอยากจะรู้ว่าผลตอบแทนที่สูงเสี่ยงแค่ไหนให้ไปดูไส้ในด้วยว่าในช่วง 12 เดือนของปีนั้น ผลตอบแทนในแต่ละเดือนมันอาจจะขาดทุนลงไปต่ำเตี้ยติดเดือน และบางเดือนอาจจะสูงลิบขึ้นมาเลย อย่างนี้คือ เสี่ยงมาก หวือหวามาก แล้วจะรู้ได้ไงว่าเราจะไม่ไปตกในตอนที่มันต่ำสุด 'อย่ามองแค่ผลตอบแทน โดยไม่กลับมาดูอีกด้านหนึ่งว่าโอกาสที่ตัวเองจะผิดพลาดมีแค่ไหน ยิ่งมันผันผวนมากโอกาสที่จะผิดพลาดก็จะมีเยอะ
12.หน่วยลงทุนถูกหรือแพง เป็นอีกความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นเสมอๆ ดร.สันติ บอกว่า ถ้าจะคิดถึงเรื่องของการลงทุนผ่านกองทุน ให้คิดเทียบกับเงินฝากดีกว่า คือ คิดเป็นล่ำซำทั้งก้อน อย่าไปคิดเหมือนหุ้นว่าได้กี่หุ้น เพราะคิดไม่เหมือนกัน เพราะเวลาที่ผลตอบแทนเกิดขึ้น เขาวัดเป็นเปอร์เซ็นต์ ไม่ได้วัดว่าแต่ละหน่วยจะได้กำไรเท่าไร เพราะฉะนั้นให้มองผลตอบแทนทั้งหมดบนเงินลงทุนทั้งก้อน 'สมมติมีเงิน 10,000 บาท ไปซื้อหน่วยลงทุนของกองที่แพงหน่อย ได้ผลตอบแทน 3% กลับเอาเงิน 10,000 บาท ไปซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนที่ราคาถูกกว่า ได้ผลตอบแทน 2% ตรงนี้ผลตอบแทนจะเป็น 3% ของเงิน 10,000 บาท กับ 2% ของเงิน 10,000 บาท ตอนที่ซื้อแพงเงิน 10,000 บาท ก็ได้จำนวนหน่วยน้อย แต่ตอนที่ซื้อถูกได้จำนวนหน่วยเยอะ จำนวนหน่วยเยอะมันมีความหมายอะไร มันไม่ได้มีความหมายอะไรเลย อย่าเพิ่งไปกังวลว่าหน่วยเยอะหน่วยน้อย ใจเย็นๆ เพราะเขาไม่ได้ให้ผลตอบแทนกลับมาเป็นสำหรับแต่ละหน่วย แม้แต่เงินปันผลเขาก็ไม่ได้ให้ต่อหน่วย เขาให้เป็นของเงินก้อนนั้นทั้งก้อน อย่าไปกังวลกับเรื่องของจำนวนหน่วยมากเกินไป แต่ให้ดู performance ว่าผลตอบแทนกับความเสี่ยงของกองนั้นทั้งกองเป็นเท่าไร' ได้ฟังกันไปแล้ว สำหรับความเข้าใจผิดจนนำไปสู่ความผิดพลาดในการลงทุนทั้ง 12 ข้อ หากใครมีก็ให้รีบแก้ไข อย่าปล่อยให้ความเข้าใจผิดดำรงอยู่จนส่งผลเสียต่อการลงทุนของตัวคุณเอง
อยู่ข้อไหนกันงิ
จากคุณ : parn 256 เขียนเมื่อ : 14 มี.ค. 54 07:56:08
http://www.pantip.com/cafe/sinthorn/topic/I10338696/I10338696.html
จากคุณ |
:
C_yada
|
เขียนเมื่อ |
:
16 มี.ค. 54 06:26:27
|
|
|
|
|