|
อันนี้ส่วนอัพเดทและข้อมูลพื้นฐานประกอบครับ
สรุปการไปเยี่ยมชมกิจการบริษัท SMT ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน อยุธยา วันที่ 19/3/2554
ไฟล์นำเสนอที่ใช้ใน Comp visit ครั้งนี้ จะคล้ายกับไฟล์ในงาน Opp day ล่าสุดครับ http://www.dcs-digital.com/setweb/downloads/2553q4/20110228_smt.pdf
บริษัท SMT เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (EMS) แห่งเดียวของไทยที่ให้บริการครบวงจรตั้งแต่วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี จนถึง การผลิตในระดับอุตสาหกรรม โดยทำงานร่วมกับลูกค้า ลูกค้าจะเป็นเจ้าของสิทธิบัตรของผลิตภัณฑ์ ส่วนเทคโนโลยีในการผลิต บริษัทเป็นคนออกแบบและเป็นเจ้าของ knowhow ในการผลิต ที่ผ่านมา บริษัทได้จดสิทธิบัตรของเครื่องจักรที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการผลิตและทดสอบ
ที่มาของคำว่า "Stars" ในชื่อ Stars Microelectronics Co.,Ltd มาจาก Star (High Growth + High Market Share) ในแผนภูมิ BCG matrix
ผลิตภัณฑ์ของ SMT แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1) Microelectronics Module Assembly (MMA) แบ่งออกเป็น
1.1 MMA-HD ได้แก่ Hard disk Control Board ลูกค้าหลักได้แก่ บริษัท Western Digital ปัจจุบันขึ้นครองตำแหน่งอันดับ 1 ด้านฮาร์ดดิสก์ หลังจากเข้าซื้อกิจการฮาร์ดดิสก์ของบริษัท Hitachi โดยมีส่วนแบ่งการตลาดที่ 40%
สัดส่วนรายได้ในผลิตภัณฑ์ MMA-HD ค่อนข้างสูง แต่อัตรากำไรค่อนข้างต่ำมาก เนื่องจากค่าใช้จ่ายต้นทุนวัตถุดิบจะสูงมาก เน้นการผลิตเป็นปริมาณมาก ดังนั้นการนำรายได้และ net margin รวม มาพิจารณาผลประกอบการของบริษัท SMT จะทำให้เกิดความบิดเบือนแก่นักลงทุนได้ง่าย ดังนั้นทาง SMT จึงมีตัวเลขตัวหนึ่งเรียกว่า VA (Value Added) คือ รายได้จากการขาย (Sale Revenue) - ต้นทุนวัตถุดิบ (Material Cost) มาใช้คิดแทนตัวเลขรายได้จากการขาย จะทำให้เข้าใจผลประกอบการของบริษัทได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ปีที่ผ่านมา VA ของ MMA-HDD จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 24% ของทั้งหมด โดยสัดส่วนกำไรอยู่ที่ 18 % เนื่องจากอุตสาหกรรม HDD อยู่ในช่วงถดถอย (decline) ทำให้ปีนี้คาดว่า VA ของ MMA-HD จะน้อยกว่า 20% ของทั้งหมด
1.2 MMA-Others ได้แก่
Touch screen for Smart Phone SMT ร่วมพัฒนากับลูกค้าในการผลิต smartphone ที่เป็น touch screen รายแรกของโลก คือ โทรศัพท์มือถือรุ่น PRADA ผลิตโดย LG นอกจากนี้ยังผลิตให้กับ smartphone แบรนด์อื่นๆ อีก เช่น HTC, Black Berry, Sony Ericsson และล่าสุดคือ Huawei
ในช่วงเริ่มต้นที่บริษัทพัฒนา touch screen เมื่อ 6 ปีที่แล้ว จะมีอุปสรรคค่อนข้างมาก เนื่องจากการทำ touch screen บนหน้าจอที่เป็นพลาสติก PET จะยากกว่าแก้ว Glass ของเสีย (defect) ที่เกิดขึ้นในช่วงแรกค่อนข้างมาก แต่ด้วยความพยายามในการค้นหาวิจัย ลองผิดลองถูก ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จในการผลิต ในระหว่างนั้นลูกค้าเกิดไม่มั่นใจ และหันไปลองแหล่งผลิตอื่น อย่างเกาหลี และไต้หวัน ปรากฏว่าทำไม่ได้คุณภาพที่ต้องการ ท้ายที่สุดก็กลับมาหา SMT
จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ R&D ปัจจุบันของเสียในผลิตภัณฑ์ smartphone อยู่ที่ 0.5% เท่านั้น
สำหรับ gross margin ของ touch screen ในปัจจุบัน เรายังสามารถ maintain ส่วนของ gross margin ให้อยู่ในระดับเดิม อาจจะมี discount บ้างในกรณีที่ได้ volume เพิ่มมาก ซึ่งเป็นเรื่องปกติ
ในมุมมองของผู้บริหาร ผลิตภัณฑ์ Touch screen for Smart Phone ยังคงเป็นผลิตภัณฑ์ Blue Ocean ที่มีการเติบโตรวมถึงยังคงรักษามาร์จินไว้ในระดับสูงได้
ปี 2010 SMT ผลิต touch screen ได้รวม 59 ล้านหน่วย จากทั้งหมด 293 ล้านหน่วย คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 20% ของตลาดโลก ในปี 2011 SMT ประมาณการผลิต touch screen อยู่ที่ 95 ล้านหน่วย จากประมาณการทั้งหมด 500 ล้านหน่วย
นอกจากนี้ Touchscreen ยังถูกนำมาใช้ในเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วย เช่น ไมโครเวฟของ Sharp มีขายในญี่ปุ่นเท่านั้น ในอนาคต บริษัทจะมีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ Touchscreen จะออกมาอีก โดยจะไปกับกระแสของ Tablet PC
Green Laser Module for Micro projector เป็นผลิตภัณฑ์ Blue Ocean เมื่อปีที่แล้ว ปรากฏว่าไม่เติบโตตามที่บริษัทคาดหวัง ในตอนแรก บริษัทคาดหวังในเรื่องของการนำ Green laser module ไปใช้ใน mobile phone แต่ผลตอบรับทางการตลาดไม่ประสบความสำเร็จ จึงต้องล้มเลิกไป ปัจจุบัน คงเหลือแต่ Green Laser Module for Micro projector ที่เป็น USB เท่านั้น ดังนั้น ผลิตภัณฑ์นี้จึงไม่ได้เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัทในปีนี้
สรุปปีที่ผ่านมา สัดส่วน VA ของ MMA Others อยู่ที่ 42% ของทั้งหมด โดยสัดส่วนกำไรอยู่ที่ 37% แนวโน้มในปีนี้ สัดส่วน VA ของ Blue Ocean จะอยู่ที่มากกว่า 60% ของ VA ทั้งหมด
2) Integrated Circuit Packaging and testing ได้แก่ Standard IC ปีนี้มีผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า Blue Ocean ใน Red Ocean คือเป็น standard IC ที่มีขนาดเล็กมาก เหมาะสำหรับใช้ในผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มเล็กลงในอนาคต ซึ่งอัตรากำไรจะมากกว่า standard IC ธรรมดา
MEMS (Micro-Electro-Mechanic Systems) ในอนาคต ส่วนของ MEMS จะเข้ามาแทนที่ส่วนที่เป็นเครื่องกลต่างๆ (mechanic) ในรถยนต์ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่นำ MEMS technology มาใช้ ได้แก่ TPMS (เครื่องวัดแรงดันลมยางรถยนต์) และ Airbag sensor
สำหรับ TPMS ทาง SMT ได้เข้าสู่ธุรกิจนี้มากว่า 14 ปี ปัจจุบันผลิตมากกว่าหนึ่งล้านหน่วยต่อเดือน ในอนาคตทางบริษัทจับมือลูกค้าค่ายยุโรปรายใหญ่ คาดว่าจะเป็น MEMS packaging รายใหญ่ของโลก สำหรับ MEMS ที่ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ ลูกค้าจะไม่อยากลองผิดลองถูกกับ second source ซึ่งมีต้นทุนในการค้นหาที่สูง ปี 2010 บริษัท SMT ผลิต TPMS ได้ทั้งหมด 36 ล้านชิ้น สำหรับปี 2011 บริษัทคาดว่าจะผลิตได้ทั้งหมด 55 ล้านชิ้น เนื่องจากทางยุโรปได้ออกกฏบังคับให้รถยนต์ใหม่ต้องติดตั้งอุปกรณ์ TPMS ทุกคัน เริ่มใช้ในปี 2555
RFID chip เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ในปีนี้ ร่วมพัฒนาร่วมกับลูกค้าที่เป็นผู้นำตลาด RFID ที่ใช้ความถี่ UHF (860-960 MHz) จุดเด่นของ RFID chip นี้คือ มีขนาดเล็กที่เล็กลงถึง 1 ใน 3 ซึ่งหมายถึงต้นทุนที่ลดลง ปัจจุบันทาง SMT เริ่มผลิต RFID chip แล้ว โดยนำเข้าเครื่องจักรเลเซอร์ที่ใช้ในการตัดซึ่งเป็นเครื่องจักรเครื่องแรกใน South East Asia
ผลิตภัณฑ์ที่จะต่อยอดจาก RFID chip คือ RFID tags ซึ่งเป็นส่วนของ MMA ที่บริษัทวางแผนจะผลิตในกลางปีนี้ โดยใช้พื้นที่โรงงานเดิมที่ได้รับการปรับปรุงพร้อมสำหรับสายการผลิต คาดว่า demand ในส่วนนี้จะค่อนข้างมาก ประโยชน์ของ RFID tags ในปัจจุบัน 1) การตรวจสอบสต็อกสินค้า 2) เรื่องความปลอดภัย 3) Point of sales จุดชำระเงิน
สำหรับปีนี้ ทางบริษัทคาดว่า สัดส่วน VA ของ RFID จะอยู่ที่ประมาณ 5-6 % แต่อัตราการเติบโตในอนาคตจะสูงมาก กำลังการผลิตปีนี้ แบ่งเป็น MMA 120 ล้านชิ้นต่อปี IC 1,500 ล้านชิ้นต่อปี การใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยโดยรวมจะอยู่ที่ 80-90%
โดยปกติ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะมีช่วง high season ที่ไตรมาส 3 แต่ปีที่แล้ว SMT ยังเติบโตต่อเนื่องในไตรมาส 4 ในขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โดยรวม มีแนวโน้มถดถอย เนื่องจากทาง SMT มีสินค้าใหม่ๆ เข้ามาเพิ่ม คาดว่าปี 2011 ก็จะเติบโตเป็นขั้นบันไดเช่นเดียวกัน จากผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เพิ่มขึ้น และคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากสินค้า Blue Ocean
เครือข่ายของ SMT Star USA, San Jose ดูแลตลาดในสหรัฐอเมริกา ทางบริษัทมีความสัมพันธ์กับผู้บริหารของ Star USA มานานกว่า 20 ปี
SMART Electroics GMBH, Germany เป็นตัวแทนขายในส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ของยุโรป วางแผนว่าจะเป็น Star Europe ในอนาคตข้างหน้า
ITOCHU (Japan) เป็น Trading firm ระดับ Top 5 ของโลก เป็นพาร์ตเนอร์กับทาง SMT มากกว่า 15 ปี SIIX Corp., Japan เป็นพาร์ตเนอร์ญี่ปุ่นในช่วงแรกที่ก่อตั้งบริษัท ปัจจุบันผันตัวเองเป็นเพียงผู้ถือหุ้นใหญ่ของ SMT
กลยุทธทางธุรกิจ เกาะติด Technology ผ่านทาง Joint development + Fast Mover พยายามเข้าสู่นวัตกรรมใหม่เป็นรายแรกๆ กลยุทธ 3 Mix (Customer, Product และ Technology) โดยบริษัทจะพยายามกระจายความเสี่ยงสร้างความสมดุลไม่พึ่งพิงกับลูกค้ารายใดรายหนึ่ง ผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่ง รวมถึงเทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่งมากเกินไป ปัจจุบัน บริษัท SMT มีจำนวนลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น โดยรายได้ที่มาจากลูกค้ารายใหญ่สุด เป็นเพียง 10 กว่าเปอร์เซนต์ของรายได้ทั้งหมดเท่านั้น
มุมมองของ SMT ในปี 2011 ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งน่าลงทุนของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กและกลางของญี่ปุ่น แนวโน้มที่ทางญี่ปุ่นจะลงทุนนอกประเทศมีมากขึ้น
อัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวน โดยเฉพาะในไตรมาสที่ผ่านมา แต่ทางบริษัทก็ยังสามารถบริหารอัตราแลกเปลี่ยนได้โดยไม่ขาดทุน
ธุรกิจพลังงานทดแทน (Renewable Energy Project) SMTGE บริษัทย่อยของ SMT (ถือหุ้นร้อยละ 99) มุ่งเน้นไปยังธุรกิจพลังงานทดแทน เช่นพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวมวล
สิทธิประโยชน์ของธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ - เงินสนับสนุนจากภาครัฐ (Adder) จำนวน 8 บาทต่อหน่วย (KW/Hour) เป็นเวลา 10 ปี - ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี (BOI) เช่น ยกเว้นภาษีสำหรับการนำเข้าอุปกรณ์และวัสดุที่เกี่ยวกับ Solar farm - ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ทั้งจำนวนเป็นเวลา 8 ปี ต่อจากนั้นจะได้รับลดหย่อนภาษี 50% เป็นเวลาอีก 5 ปี
ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ของ SMTGE จะเปิดตัวเร็วๆ นี้ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนทางกฏหมาย ธุรกิจพลังงานทดแทนอีกประเภทที่บริษัทมีความสนใจ คือ พลังงานชีวมวลที่ได้จากแกลบ
โครงสร้างต้นทุนของธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ จะแบ่งเป็นแผง solar cell 55% Inverter (ตัวแปลงกระแสตรงเป็นกระแสสลับ) 20% Inverter ที่ใช้ใน Solar farm ส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากเยอรมัน ทางบริษัทกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิต Inverter โดยอาศัยการทำ solar farm เป็นจุดเริ่มต้นในการผันตัวเองเป็นผู้ผลิต เทคโนโลยีของ Inverter จะไม่ค่อยเปลี่ยน และสามารถนำไปใช้กับธุรกิจพลังงานทดแทนอื่นได้ เช่น พลังงานชีวมวล เป็นต้น ส่วน Inverter ที่ทาง DELTA เป็นผู้ผลิต จะเป็น Inverter ที่ใช้ใน Solar Roof Top ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า
ปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจ Solar farm คือ ภัยธรรมชาติ ได้แก่ น้ำท่วม แผ่นดินไหว และ ภูเขาไฟระเบิด
หลังจากพูดคุยเสร็จแล้ว ผู้บริหารพาไปเดินชมโรงงาน โรงงานแห่งที่สองที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีทั้งหมด 3 ชั้น แต่ส่วนที่เป็นสายการผลิตจะมีอยู่ 2 ชั้น โดยชั้นบนสุดเป็นห้องอาหารของโรงงาน (ข้าวฟรี เสียเงินแค่ค่ากับข้าว) เท่าที่สังเกตในการเยี่ยมชมครั้งนี้ ชั้น 1 ห้อง clean room เต็มทั้งชั้น ส่วนชั้น 2 เหลือว่างเพียงหนึ่งห้องเท่านั้น นอกจากนี้ จะพบบริษัทของลูกค้าอย่างน้อย 2 บริษัท เช่าพื้นที่สำนักงานอยู่ในโรงงานนี้ด้วย มาครั้งนี้ ยังได้ชมห้องปฏิบัติการ R&D ได้เห็นเครื่องทดสอบ Touch screen ที่ทางบริษัทได้ทำขึ้นเอง รวมถึงเครื่องจักรสำหรับคัดแยกคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร ที่ทางบริษัทได้รับรางวัล ฯ
สำหรับโรงงานเดิมที่ได้รับการปรับปรุง ยังไม่เปิดให้เข้าชม จะเริ่มใช้งานกลางปีนี้ คาดว่า ไว้รองรับสายการผลิต RFID โรงงานนี้ ยังไม่ได้เปิดให้เข้าเยี่ยมชม เท่าที่ถามผู้บริหาร ทราบมาว่า พื้นที่ว่างที่เหลือจะสามารถรองรับการผลิตถึงปลายปี ส่วนเรื่องขยายโรงงาน ทางฝ่ายผู้บริหารกำลังปรึกษากันอยู่ครับ
ส่วนพันธมิตรและลูกค้าที่อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ไม่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติโดยตรง เนื่องจากไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่เกิดเหตุ บริษัท ITOCHU ซึ่งเป็นพันธมิตรของบริษัท ตั้งอยู่ในโตเกียว ส่วนลูกค้าญี่ปุ่นตั้งอยู่ในเกียวโต แม้ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง ทางบริษัท SMT ก็ได้ส่งเงินช่วยเหลือไปยังพันธมิตรญี่ปุ่นด้วยครับ
จากคุณ |
:
เที่ยวไปสะพายเป้
|
เขียนเมื่อ |
:
1 เม.ย. 54 09:32:27
|
|
|
|
|