'ทรู คอร์ปอเรชั่น' เกมของ 'เจ้าสัว'
|
|
เกมเพิ่มทุน 'เจ้าสัวซีพี' สุดล้ำลึก ถอน ATM 'ผู้ถือหุ้น' เคาะราคา 1.95 บาท รายย่อย'ตกกระไดพลอยโจน' จะ'ถอย'ก็ขาดทุน ไม่ใช้สิทธิก็ยิ่ง'ขาดทุน'
ทรู คอร์ปอเรชั่น เพิ่งได้เงินกู้ก้อนใหญ่จากธนาคารไทยพาณิชย์มาหยกๆ แถมแต่งตั้ง SCB เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการระดมทุนโครงการ 3G อย่างเป็นทางการ แต่ไหง! กลายเป็นว่า เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ เลือกที่จะกด ATM ถอนเงินนักลงทุนรายย่อยมา "เติมทุน" กลุ่มทรู
การเพิ่มทุนครั้งนี้ถือว่า "เหนือความคาดหมาย" ของทุกฝ่าย โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อยที่ตั้งตัวกันแทบไม่ทัน บริษัทเพิ่งเพิ่มทุนไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 จำนวน 10,000 ล้านหุ้น แต่ขายได้ 3,272 ล้านหุ้น ราคา 1.95 บาท และครั้งนี้เพิ่มทุนส่วนที่เหลืออีก 6,727 ล้านหุ้น จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิม 1 ต่อ 0.865 หุ้นใหม่ ที่ราคาเดิม 1.95 บาท มีเป้าหมายการระดมทุน 13,100 ล้านบาท
หลังการเพิ่มทุน (ถ้าใช้สิทธิครบ 100%) จะทำให้ทรู คอร์ปอเรชั่นมีหุ้นเพิ่มขึ้นจาก 7,775 ล้านหุ้น เป็น 14,503 ล้านหุ้น หรือมีหุ้นเพิ่มจากปัจจุบันอีก 86% การเพิ่มทุนครั้งนี้ยังกำหนดระยะเวลาให้นักลงทุนตัดสินใจ "กระชั้นชิด" แจ้งตลาดหลักทรัพย์เช้าวันจันทร์ที่ 28 มีนาคม 2554 กำหนดวัน XR (ไม่ได้รับสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน) วันที่ 7 เมษายน 2554 ผู้ถือหุ้นมีเวลาตัดสินใจ (วันทำการ) เพียง "สัปดาห์เดียว"
การเพิ่มทุนครั้งที่แล้วเมื่อต้นปี 2552 ผู้ถือหุ้นรายย่อยต่าง "สละสิทธิ์" ราคาเพิ่มทุน 1.95 บาท แต่ราคาตลาดขณะนั้นซื้อขาย 1.5-1.6 บาท ซีพีก็รับไว้เอง 2,770 ล้านหุ้น ที่ราคา 1.95 บาท (5,400 ล้านบาท) หรือคิดเป็นประมาณ 85% ของหุ้นเพิ่มทุนครั้งแรก
แต่ด้วยความเก๋าเกมซีพีใช้วิธี "อัฐยายซื้อขนมยาย" หักกลบกับที่ทรู คอร์ปอเรชั่น ต้องใช้สิทธิซื้อหุ้นใน BITCO คืนจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำนวน 3,540 ล้านบาท ซีพีเลยควักกระเป๋าจ่ายค่าหุ้นเพิ่มทุน TRUE จริงๆ เพียง 1,860 ล้านบาท "ทุนเพิ่ม..แต่เงินเข้าไม่เต็ม"
หลังเพิ่มทุนเมื่อปี 2552 ซีพีกลับถือหุ้น TRUE เพิ่มขึ้นจาก 35.62% เป็น 58.21% (เพราะรายย่อยไม่ใช้สิทธิ) หลังจากนั้นประมาณปีเศษหุ้น TRUE ก็วิ่งหูดับตับไหม้ขึ้นไป 7.80 บาท ท่ามกลางข้อกังขาว่า "บริษัทมีแต่หนี้หุ้นขึ้นได้ไง" เทียบพื้นฐานแล้วราคาแซง AIS กับ DTAC แบบสุดกู่ ยิ่งค้านสายตา "หุ้นยิ่งวิ่ง" ซีพีรวยหุ้น TRUE เพิ่ม 3 เท่าทั้งที่เจ้าสัวจ่ายเงินเพิ่มเข้าไปนิดเดียว
ต่อมาวันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 ซีพีก็รับเหมาหุ้น TRUE อีกก้อนจากเจ้าหนี้ KfW จำนวน 699.33 ล้านหุ้น สัดส่วน 8.99% ในราคาหุ้นละ 4.90 บาท (3,427 ล้านบาท) กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ TRUE เพิ่มขึ้นอีกจาก 58.21% เป็น 64.74% หรือ 5,034 ล้านหุ้น ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับ "สตอรี่ใหม่" ทรูอยู่ระหว่างเจรจาขอซื้อกิจการ "ฮัทชิสัน" ยิ่งทำให้ซีพีฟันกำไรหุ้น TRUE เพิ่มขึ้นอีกเป็น "ต่อที่สอง" สรุปว่า KfW "ขายหมู" ให้เจ้าสัว
ถ้าวัดกันที่ "มูลค่าความมั่งคั่ง" ณ สิ้นปี 2551 มาร์เก็ตแคปหุ้น TRUE เหลือแค่ 6,808 ล้านบาท ซีพีถือหุ้น TRUE เพียง 35.62% คิดเป็นส่วนแบ่งความมั่งคั่ง 2,425 ล้านบาท "จิ๊บจ๊อยมาก" แต่ ณ สิ้นปี 2553 "หนังคนละม้วน" มาร์เก็ตแคปหุ้น TRUE พุ่งขึ้นเป็น 55,207 ล้านบาท แต่ซีพีถือหุ้น TRUE เพิ่มเป็น 64.74% คิดเป็นส่วนแบ่งความมั่งคั่ง 35,740 ล้านบาท
เท่ากับว่า 2 ปี (2552-2553) เครือซีพีรวยหุ้น TRUE เพิ่มขึ้น 1,373% (จาก 2,425 ล้านบาท เป็น 35,740 ล้านบาท) เจ้าสัวซีพียังรักษาตำแหน่งนักลงทุนที่อยู่ "ยอดบนสุดของพีระมิด" เหนือเซียนหุ้นทั้งปวง นี่แหละ! ความเหนือชั้นสุดบรรยาย
ปีนี้นิตยสารฟอร์บส์ จัดอันดับมหาเศรษฐีโลกประจำปี 2011 ทั้งหมด 1,000 อันดับ เจ้าสัวธนินท์ รวยอยู่ในอันดับที่ 152 ของโลก ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 6,500 ล้านดอลลาร์ "รวยที่สุดในประเทศไทย" แซงหน้า "เจ้าสัวเจริญ" เบียร์ช้าง (อันดับที่ 247) และเบียด "เฉลียว อยู่วิทยา" เจ้าสัวกระทิงแดง (อันดับที่ 208) หล่นไปเป็นอันดับสอง
ถ้าดูโครงสร้างผู้ถือหุ้น TRUE ล่าสุดพบว่ามีนักลงทุนรายย่อยเข้าไปพัวพันกับหุ้นตัวนี้มากถึง 30,581 ราย เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเกือบ 3,000 ราย และมีนักลงทุนรายย่อยจำนวนไม่น้อยที่ถูกลากไป "ติดหุ้น" เหนือ 7 บาท นักลงทุนต้นทุนแพงเหมือนตกกระไดพลอยโจนจะซื้อหุ้นเพิ่มทุนก็ยิ่ง "ถลำลึก" จะถอยก็ "ขาดทุน" ถือไว้โดยไม่ใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนก็ยิ่ง "ขาดทุนหนัก"
ที่ล้ำลึกก็คือเพิ่มทุนหุ้น TRUE รอบนี้เจ้าสัวเสนอออปชั่น "ราคาต่ำ" จูงใจสุดๆ แถมขาย "อนาคต 3G" สดใสซาบซ่าส์ นักวิเคราะห์ต่างเชื่อว่าเกมเพิ่มทุนของเจ้าสัวรอบนี้น่าจะ "ดึง" รายย่อยแห่ใช้สิทธิอย่างล้นหลาม
วิเคราะห์ตามรูปการณ์แผนเพิ่มทุนรอบนี้อย่างมากซีพีจะใช้สิทธิ "เท่าสิทธิ" (64.74% หรือ 4,355 ล้านหุ้น มูลค่าประมาณ 8,490 ล้านบาท) ไม่เชื่อว่าจะ "เหมาหุ้น" เอาไว้เอง ถ้าการเพิ่มทุนสำเร็จ 100% เท่ากับนักลงทุนถูกเครือซีพีจับ "คอนเวอร์เจนซ์" ชนิดสมบูรณ์แบบ เก็งกำไรหุ้น TRUE ช่วย TRUE เพิ่มทุน เจ้าสัวก็แฮปปี้ เจ้าหนี้ก็แฮปปี้ ส่วนนักลงทุนต้องไป "ลุ้นหุ้น TRUE เอาเองในตลาด" เพราะหุ้นไม่มีปันผล
หุ้นพื้นฐานดีอนาคตไกลอย่าง CPF เครือซีพียังถือหุ้น 44.99% หุ้นมั่นคงธุรกิจเติบโตทุกปีอย่าง CPALL ซีพียังถือหุ้น 45.47% หุ้นหนี้สูงอนาคตไม่แน่นอนอย่าง TRUE มีหรือที่ซีพีจะคงสัดส่วนหุ้นไว้ 64.74% แล้วไปใช้สิทธิแทนรายย่อย ต้องลุ้นกันตัวโก่งว่าเจ้าสัวจะหอบเงิน 8,490 ล้านบาทไปซื้อหุ้นเพิ่มทุน TRUE เพื่อรักษาสิทธิถือหุ้นเท่าเดิม (64.74%) หรือเปล่า!
เหตุการณ์วันนี้กับเหตุการณ์เมื่อ 2 ปีก่อนอาจจะกลับตาลปัตรกันก็ได้ วันนั้น (ต้นปี 2552) หุ้น TRUE ราคา 1.5-1.6 บาท ขายหุ้นเพิ่มทุนราคา 1.95 บาท "รายย่อยเมิน" แต่เจ้าสัว "กว้านเข้าพอร์ต" คนเดียว (รวยเละ) วันนี้ราคาหุ้น TRUE อยู่เกือบ 6 บาท เจ้าสัวขนหุ้นมา "ลดล้างสต็อก" ถ้ารายย่อย "เฮโลซื้อ" เจ้าสัวอาจจะ "ถอย" ก็ได้นักลงทุนลงทุนเพื่อหวังกำไร แต่เจ้าสัวลงทุนด้วยเงินคนอื่นมาสร้างกำไรให้ตัวเอง เป้าหมายเดียวกันคือ "กำไร" แต่ "วิธีคิด-วิธีการ" นั้นแตกต่าง
อย่างไรก็ตาม "จุดอ่อน" สำคัญของทรู คอร์ปอเรชั่น มีอยู่ 2 ปัจจัยหลักคือ "ภาระหนี้สูง" กับ "รายได้ที่เติบโตต่ำ" ณ สิ้นปี 2553 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมอยู่ในระดับที่สูงมากที่ 85.3% ในระหว่างปี 2554-2555 มีภาระหนี้ที่ถึงกำหนดชำระปีละ 5,800-5,900 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นเป็น 21,900 ล้านบาท ในปี 2556 และถึงกำหนดชำระ 17,300 ล้านบาท ในปี 2557 โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้ในการไถ่ถอนหุ้นกู้ของทรูมูฟ
ขณะที่บริษัทมีจุดอ่อนเรื่อง "รายได้ที่เติบโตช้า" ช่วงปี 2550-2553 รายได้อยู่ที่ปีละ 60,000-65,000 ล้านบาท แทบไม่ขยับไปไหนทั้งๆ ที่บริษัทบอกว่าประสบความสำเร็จกับกลยุทธ์ "คอนเวอร์เจนซ์" แต่ต้องยอมรับว่าทรูก็มี "จุดดี" คือรายได้และอัตราส่วนกำไรที่ค่อนข้างคงที่ (มั่นคง) ช่วยให้การคาดการณ์กระแสเงินสดในระยะปานกลางมีความแน่นอน ทริสเรทติ้งคาดว่า รายได้ของทรู คอร์ปอเรชั่น น่าจะเติบโตได้ปีละประมาณ 3-4% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า แต่ทรูมูฟยังมีความไม่ชัดเจนประเด็นข้อโต้แย้งด้านกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม สถานะอันดับเครดิตองค์กรปัจจุบันของทรูที่ระดับ BBB แนวโน้ม Negative (ลบ) ทริสเรทติ้ง ระบุว่า บริษัทไม่สามารถที่จะเพิ่มภาระหนี้จำนวนมากได้อีกต่อไป หากการลงทุนดังกล่าวไม่สามารถสร้างกระแสเงินสดที่ชัดเจนและเหมาะสมในอนาคตได้
นี่คงเป็นเหตุผลกระมังที่ท่านเจ้าสัว "งัดไม้ตาย" ขายหุ้นเพิ่มทุนเป็น "ทางเลือกหลัก" เลือกที่จะกด ATM ถอนเงินนักลงทุนรายย่อยมา "เติมทุน" ให้กลุ่มทรู ตามสูตรลงทุนด้วยเงินคนอื่นสร้างกำไรให้ตัวเอง ถนนมีถึงพันสาย แต่ความสำเร็จมีเพียงเส้นทางเดียวคือทำให้นักลงทุนมั่นใจว่า "พระอาทิตย์กำลังจะขึ้นที่หุ้น TRUE"
๐ 'เจ้าสัวน้อย' รายได้ TRUE ปีนี้ 70,000 ล้านบาท
ผมคิดว่าตลาดหุ้นจะตอบรับ (ข่าวเพิ่มทุน) ในแง่บวกเร็วๆ นี้ ดีลนี้จะทำให้มาร์เก็ตแคปหุ้น TRUE เพิ่มขึ้นด้วย ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวอย่างมั่นใจ
ทายาทเจ้าสัวใหญ่ซีพี แสดงความเชื่อมั่นด้วยว่าการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้จะ "ขายหมด" เนื่องจากผู้ถือหุ้นเดิมจะได้สิทธิซื้อหุ้นในราคา ถูก (1.95 บาท) ส่วนกลุ่มซีพีผู้ถือหุ้นใหญ่ 64.74% ส่วนตัวคงตอบแทนเขา (เจ้าสัวธนินท์) ไม่ได้ ที่ผ่านมากลุ่มซีพีให้การสนับสนุนบริษัทดีมาโดยตลอด เรื่องเพิ่มทุนตัวแทนผู้ถือหุ้นในบอร์ดก็ให้การสนับสนุน "ผมคงพูดได้แค่นี้"
แผนเร่งด่วนตอนนี้คือการเปิดบริการ 3G แบรนด์ True Move H ภายในไตรมาสสามปีนี้แต่จะเริ่มทำตลาดกับลูกค้าเดิมของฮัทช์ภายในเดือนเมษายน แต่จะไม่เลิกแบรนด์ฮัทช์ในทันทีจะทยอยย้ายฐานลูกค้า 1 ล้านรายเข้ามาสู่บริการใหม่
ส่วนแผนการขยายสถานียังคงเป็นตามเดิมคือภายในปีนี้ต้องเปิดให้ได้ 2,000 สถานี ปีหน้า 3,500 และปีถัดไป 4,500 สถานี วงเงินกู้จากธนาคารไทยพาณิชย์ 15,000 ล้านบาท ตอนนี้ใช้ไปแค่ 6,700 ล้านบาท ในการซื้อกิจการฮัทช์แต่คาดว่าจะใช้ไม่หมดตามจำนวนเพราะจะเป็นการเพิ่มภาระหนี้
นพปฎล เดชอุดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ชี้แจงว่า เหตุผลที่กำหนดราคาเพิ่มทุน 1.95 บาทต่ำกว่าราคาในกระดานมากเพราะมีโอกาสพบผู้ถือหุ้น TRUE ที่เป็นรายย่อยส่วนใหญ่เขาต้องการซื้อหุ้นเพิ่มทุนในราคาเดิม เขาต้องการรักษาสัดส่วนหุ้นเดิมไว้และเชื่อมั่นว่าในธุรกิจใหม่ของเรามาก มีเพียงโบรกเกอร์บางแห่งที่ออกบทวิเคราะห์ว่าผู้ถือหุ้น "เหมือนถูกโดนบังคับ" ให้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนต่ำกว่าราคาตลาด
เหตุผลอีกข้อคือเรามีความจำเป็นต้อง "ใช้เงินลงทุนทันที" เพื่อวางโครงข่าย 3G ระบบ HSPA ที่เซ็นสัญญากับ กสท ถ้าจะเพิ่มทุนตามราคาตลาดตอนนี้ และมีส่วนลดให้ 15-20% มันต้องเริ่มกระบวนการใหม่หมดและกว่าจะได้เงินมาต้องใช้เวลา 4-5 เดือน "เวลาเราจำกัดด้วย" นี่จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด
ถามว่าเจ้าหนี้บีบให้เพิ่มทุนรึเปล่า! เขาตอบว่า เราตัดสินใจเองโดยไม่ต้องมีใคร (เจ้าหนี้) มาบังคับแน่นอน แม้จะไม่มีการเพิ่มทุนครั้งนี้บริษัทก็สามารถลงทุน 3G ได้อยู่แล้วธนาคาร (SCB) ก็สนับสนุนเรา
นพปฎล กล่าวว่า ผลกระทบจากการเพิ่มทุนครั้งนี้แน่นอนว่าราคาหุ้น TRUE จะเกิด Dilution Effect ประมาณ 30% แต่สิ่งที่จะได้กลับมาคือความแข็งแกร่งทางการเงิน ปัจจุบันทรูมีภาระเงินกู้ 67,000 ล้านบาท คิดเป็นส่วนดอกเบี้ย 6,000 ล้านบาท มีกำหนดต้องชำระคืนเงินต้นแต่ละปี 5,700 ล้านบาท มีหนี้สินต่อ EBITDA ที่ 3.3 เท่า
จุดประสงค์หลักของการเพิ่มทุนไม่ได้นำไปชำระหนี้ แต่ต้องการนำไปลงทุน 3G เป็น "อันดับแรก" แต่ถ้าได้รับเงินเพิ่มทุนเต็มจำนวน 13,000 ล้านบาท อาจนำเงินบางส่วนไป "ลดหนี้" โดยเฉพาะหนี้ในส่วนของทรูมูฟที่เป็นหุ้นกู้มูลค่า 690 ล้านดอลลาร์ มูลค่าตามสัญญา 27,000 ล้านบาท มีต้นทุนดอกเบี้ยแพงที่ 10% แต่ก็ยอมรับว่าค่อนข้างยากที่จะ "ปิดหนี้ก้อนนี้" เนื่องจากมีสภาพคล่องซื้อขายในต่างประเทศค่อนข้างสูง
ถามว่าหลังจากนี้บริษัทจะต้องมีการเพิ่มทุนอีกหรือไม่ มือการเงินกลุ่มทรู ตอบว่า "ไม่แน่" ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนได้ตามสภาวะตลาดทุน อนาคตบริษัทอาจจะลดทุนแล้วจ่ายคืนผู้ถือหุ้นเป็นเงินสดก็ได้
นพปฎล เปิดเผยว่า กลุ่มทรูกำลังมองหา พันธมิตร มาเสริมความแข็งแกร่งทั้งเงินทุนและเทคโนโลยี แต่ตอนนี้คงไม่รีบเร่งหา Strategic Partner แล้ว ถ้าเพิ่มทุนให้พันธมิตรใหม่ผู้ถือหุ้นเดิมจะเสียเปรียบเพราะหุ้นถูกไดลูท สู้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นเดิมได้เลือกใช้สิทธิก่อนดีกว่า
ถ้าเราจะเพิ่มทุนครั้งต่อไปเราจะทำเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นให้บริษัทโตเร็วขึ้นเท่านั้น รับรองว่าภายใน 1 ปีจากนี้เรายังไม่มีการเพิ่มทุนอีก
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการหลังควบรวมกิจการฮัทช์เข้ามาจะทำให้รายได้ในส่วนของทรูมูฟเพิ่มขึ้นทันที 4,000 ล้านบาท แม้ว่าฮัทช์จะขาดทุนทุกปี แต่ยังมี EBITDA เป็นบวก ช่วงแรกอาจทำให้ EBITDA Margin ส่วนของธุรกิจไร้สายลดลงไปบ้างจากปัจจุบัน 25% แต่ระยะยาวจะเริ่มดีขึ้นคาดว่าจะขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับ DTAC ที่ 40%
รายได้รวมปีนี้ คาดว่าจะเติบโตเลขตัวเดียวปลายๆ หรือประมาณ 70,000 ล้านบาท มือการเงินกลุ่มทรู พยากรณ์
ธุรกิจ : BizWeek วันที่ 5 เมษายน 2554 01:00
แก้ไขเมื่อ 05 เม.ย. 54 09:11:40
จากคุณ |
:
scp1234
|
เขียนเมื่อ |
:
5 เม.ย. 54 09:09:15
|
|
|
|