Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
เรื่องราวเก่า ๆ เตือนสติ ช่วงสงกราณต์ (คัดลอกมาให้อ่านกัน) ติดต่อทีมงาน

บีบีซีล่มสลาย.. 'เกริกเกียรติ' ต้องชดใช้

เกาะกระแสธุรกิจ โดย สุนันท์ ศรีจันทรา


คดียักยอกทรัพย์ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ (บีบีซี) ใกล้ปิดฉากลงแล้ว หลังจากยืดเยื้อมาประมาณ 10 ปี โดยศาลชั้นต้นได้พิพากษาจำคุกนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นเวลา 30 ปี และปรับอีกประมาณ 3,300 ล้านบาท โดยมีพรรคพวกติดร่างแหอีกหลายคน

แบงก์บีบีซี เคยเป็นข่าวครึกโครม เนื่องจากเป็นแหล่งยักย้ายถ่ายเทผลประโยชน์จำนวนมหาศาล โดยมีตัวละครเข้าไปเกี่ยวข้องมากมาย ไม่เว้นแต่นักการเมืองชื่อดัง ซึ่งกำลังได้ดิบได้ดี และมีบทบาทสำคัญบนเวทีการเมืองในปัจจุบัน

แต่ผู้ที่ต้องชดใช้ความเสียหายนับแสนล้านบาท จากความล่มสลายของธนาคารพาณิชย์แห่งนี้ มีเพียงนายเกริกเกียรติและพวกเท่านั้น

ส่วนนักการเมืองที่เคยเข้าไปตักตวงเงินจากแบงก์บีบีซีนับสิบคน กลับลอยนวล โดยที่กฎหมายไม่อาจเอื้อมมือไปแตะได้

ความจริงตัวละครเอกที่สร้างตำนานกลโกงที่ลึกล้ำซับซ้อนแห่งนี้ คือ นายราเกซ สักเสนา อดีตที่ปรึกษาส่วนตัวของนายเกริกเกียรติ ซึ่งอยู่ระหว่างลี้ภัยคดีฉ้อโกงในแคนาดา และพยายามยื้อเวลาที่จะถูกส่งกลับตัวมาดำเนินคดีในประเทศไทยให้นานที่สุด

นายราเกซ เข้ามาในแบงก์บีบีซี ประมาณปี 2535 ในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงิน และเข้ามาช่วงที่ธนาคารกำลังเร่งแก้ปัญหาด้านฐานะและหนี้สิน โดยนายเกริกเกียรติหวังว่า นายราเกซจะช่วยกอบกู้แบงก์บีบีซีได้ จึงให้ความไว้วางใจและมอบบทบาททางด้านการวางแผนทางธุรกิจ

ประมาณกลางปี 2535 หุ้นแบงก์บีบีซีถูกปั่นราคาโดยกลุ่มนายสอง วัชรศรีโรจน์ หรือเสี่ยสอง เข้ามาไล่ซื้อ จนราคาที่ยืนอยู่ระดับ 10 บาทเศษ พุ่งไปถึง 80 บาท ซึ่งนายสองปล่อยข่าวว่า จะเทคโอเวอร์แบงก์แห่งนี้ และมีหุ้นอยู่ในมือแล้วกว่า 10% ของทุนจดทะเบียน

แต่เกมปั่นราคาหุ้นแบงก์บีบีซีของกลุ่มเสี่ยสอง ต้องปิดฉากลง หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เข้ามาตรวจ สอบพฤติกรรมการซื้อขาย ก่อนที่จะกล่าวโทษนายสองและพวก ในความผิดปั่นหุ้น ในเดือนธันวาคม 2535 แต่ที่สุดศาลก็ตัดสินยกฟ้องกลุ่มเสี่ยสอง ขณะที่กลุ่มเสี่ยสองก็ต้องขายทิ้งหุ้นแบงก์บีบีซี โดยต้องเจ็บเนื้อเจ็บตัวจากหุ้นตัวนี้

การพลิกเกมปั่นหุ้นและเทคโอเวอร์ของกลุ่มเสี่ยสองมาได้ ทำให้นายเกริกเกียรติเพิ่มความเชื่อถือนายราเกซมากขึ้น และปล่อยให้มีบทบาทในธุรกรรมของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การเต็มตัว

ตั้งแต่ปี 2536 นายราเกซผงาดขึ้นมาเป็นผู้ที่ครอบงำแบงก์บีบีซี ทั้งแนวความคิดและธุรกรรมทางการเงินต่างๆ โดยแม้ว่าแบงก์ชาติ จะส่ง ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เข้ามาเป็นที่ปรึกษา เพื่อดูแลให้การดำเนินงานของธนาคารเป็นไปอย่างโปร่งใส แต่ ดร.วีรพงษ์ ก็เป็นเพียงแค่ตรายางเท่านั้น โดยแทบไม่มีบทบาทอย่างใดในธนาคาร และไม่สามารถเป็นได้แม้แต่ตัวคานนายราเกซ

นายราเกซ เริ่มสร้างบารมี โดยต่อสายสัมพันธ์กับนักการเมือง และมีการอนุมัติเงินกู้ให้นักการเมืองจำนวนนับสิบคน แม้หลักประกันจะอ่อนก็ตาม ซึ่งนักการเมืองที่ขลุกกับแบงก์บีบีซีในช่วงนั้นคือกลุ่ม 16 เช่น นายเนวิน ชิดชอบ ส.ส.บุรีรัมย์ นายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา นอกจากนั้น ยังเริ่มขบวนการผ่องถ่าย โดยปล่อยเงินกู้ให้บริษัทของตัวเอง

โครงการเงินกู้ที่โด่งดังในสมัยนายราเกซคือ การปล่อยกู้เพื่อการเทคโอเวอร์กิจการในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งถือเป็นการถ่ายเทเงินจากแบงก์บีบีซีอีกรูปแบบหนึ่ง โดยนายราเกซจะตั้งตัวตุ๊กตาขึ้นมา เพื่อเทคโอเวอร์บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งนักการเมืองบางคนก็เคยเป็นหนึ่งในตุ๊กตาที่นายราเกซตั้งขึ้น และเมื่อเทคโอเวอร์มาแล้ว นายราเกซก็จะตั้งตุ๊กตาอีกตัวขึ้นมาซื้อหุ้นบริษัทจดทะเบียนอีกทอดหนึ่ง ในราคาที่สูงขึ้น โดยที่แบงก์บีบีซีจะเป็นผู้สนับสนุนเงินกู้ในการเทคโอเวอร์

ช่วงระหว่างปี 2536-2537 เกิดการเทคโอเวอร์กิจการบริษัทในตลาดหลักทรัพย์นับสิบแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่มีนายราเกซชักใยอยู่เบื้องหลัง และส่วนใหญ่แบงก์บีบีซีจะเป็นผู้สนับสนุนเงินกู้ในการเทคโอเวอร์ โดยเกมเทคโอเวอร์ที่เกิดขึ้น จะทำให้กลุ่มนายราเกซกอบโกยกำไรจากส่วนต่างราคาหุ้น เพราะเมื่อซื้อหุ้นมาราคาหนึ่งแล้ว จะตั้งตุ๊กตามาซื้อต่อในราคาที่แพงขึ้น แต่เงินที่นำมาใช้ในการซื้อหุ้นต่อ เป็นเงินกู้จากแบงก์บีบีซี

ความเสี่ยงในความเสียหายจึงตกอยู่กับแบงก์บีบีซี ส่วนกลุ่มนายราเกซกินกำไรจากส่วนต่างราคา ซึ่งนักการเมืองบางคนร่ำรวยนับร้อยล้านบาท จากการร่วมขบวนการเทคโอเวอร์กับนายราเกซ

เกมการเทคโอเวอร์บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้แบงก์บีบีซีเกิดหนี้เสียหลายพันล้านบาท และไม่อาจติดตามคืนจากผู้กู้ได้ เพราะผู้กู้คือตุ๊กตาที่นายราเกซปั้นขึ้น โดยเฉพาะนายอัดนัน ซึ่งถูกจัดฉากว่าเป็นเศรษฐีชาวตะวันออกกลาง และถูกส่งให้เข้ามาเทคโอเวอร์บริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง

ปี 2537 ปัญหาความฉ้อฉลในแบงก์บีบีซี ถูกนำไปอภิปรายในสภาฯ และมีนักการเมืองหลายคนถูกระบุถึงการเข้าไปตักตวงผลประโยชน์ แต่ก็ไม่มีหลักฐานใดที่ระบุความผิดของนักการเมืองได้ จนปี 2541 แบงก์บีบีซีก็ถึงจุดล่มสลาย โดยแบงก์ชาติประกาศปิดตาย และต้องแบกรับความเสียหายนับแสนล้านบาท

จำเลยที่กำลังชดใช้ของแบงก์บีบีซีขณะนี้ คือ นายเกริกเกียรติและพวกอีก 4-5 คน โดยคดีฟ้องร้องความผิดเกี่ยวกับการฉ้อฉลมีรวมทั้งสิ้น 17 คดี และเพิ่งพิพากษาไป 4 คดี เหลืออีก 13 คดีที่นายเกริกเกียรติจะต้องรอชะตากรรม ซึ่งไม่รู้ว่ารวมแล้วนายเกริกเกียรติจะถูกจำคุกกี่ปี

ส่วนนายราเกซซึ่งเป็นหัวโจกใหญ่ และเป็นคนต้นคิด เป็นคนบงการ อยู่ระหว่างรอการชดใช้ โดยไม่แน่ใจว่า ประเทศไทยจะมีโอกาสได้ชำระความผิดของนายราเกซได้หรือไม่ เพราะหลายปีแล้ว แคนาดาก็ยังไม่ยอมส่งตัวกลับมาประเทศไทย

แต่จำเลยอีกกลุ่มหนึ่ง หรือบรรดานักการเมืองที่เคยเข้าไปร่วมปล้นเงินฝากของประชาชนออกมา สังคมไทยหมดความคาดหวังไปแล้วว่า จะต้องร่วมชดใช้ในความล่มสลายของบีบีซี เพราะถึงป่านนี้ คงสาวไปไม่ถึงแล้ว

และไม่มีใครจะทำหน้าที่รื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะเมื่อบรรดานักการเมืองที่ร่วมขบวนการผ่องถ่ายเงินบีบีซีกำลังเป็นใหญ่

การตัดสินจำคุกนายเกริกเกียรติ 30 ปี หลายคนอาจสะใจในโทษทัณฑ์ที่ได้รับ แต่มองกันอีกแง่ก็น่าเห็นใจเหมือนกัน

เพราะนายเกริกเกียรติเป็นเพียงละครตัวหนึ่ง ในฉากการปล้นธนาคารพาณิชย์ครั้งยิ่งใหญ่เป็นประวัติการณ์เท่านั้น

-------------------------------------------------------------------------------------


อัพเดทเรื่องเพื่อเป็นปัจจุบัน

http://www.stock2morrow.com
27th-January-10, 08:38

อุทธรณ์ยืนคุก10ปีเสี่ยตั้ว โกงบีบีซี-ปรับ2,264ล้าน ศาลให้ประกันแต่ห้ามไป
ตปท. ออกหมายจับ2เพื่อนร่วมแก๊ง
เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 26 มกราคม ศาลอาญากรุงเทพฯใต้ ถ.
เจริญกรุง อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ตามที่อัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและ
ทรัพยากร3และธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือบีบีซี

ร่วมเป็นโจทก์ฟ้อง นายพิเศษ พานิชสมบัติ อดีตเจ้าหน้าที่ประเมินหลักทรัพย์ ,
นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่บีบีซี,บริษัทซิตี้ เทรด
ดิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด , น.ส.สุนันทา หาญวรเกียรติ อดีตกรรมการบริษัทซิ
ตี้ฯ,นายเอกชัย อธิคมนันทะ อดีตผู้ช่วย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บีบีซี.และนาย
เทอร์รี่ อีสเตอร์ อดีตกรรมการบริษัทซิตี้ ฯ เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐาน
ร่วมกันยักยอกทรัพย์ มูลค่า 1,657ล้านบาทและเป็นกรรมการซึ่งรับผิดชอบ
การดำเนินงานของธนาคาร

กระทำผิดหน้าที่ ร่วมกับพวกเบียดบังทรัพย์สินไป
โดยทุจริตและรับของโจร กรณีระหว่างวันที่ 10กุมภาพันธ์-20 กรกฎาคม
2538 นายเกริกเกียรติ อนุมัติเงินสินเชื่อให้บ.ซิตี้ ฯ โดยทุจริต จำนวน 1,657
ล้านบาท เกินกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กำหนดให้สินเชื่อ
ได้เพียง 30ล้านบาทและจำเลยยังร่วมกันประเมินราคาหลักทรัพย์ที่ดินสูงเกิน
จริง

แก้ไขเมื่อ 13 เม.ย. 54 19:31:48

แก้ไขเมื่อ 13 เม.ย. 54 19:25:15

จากคุณ : HeroLateGame
เขียนเมื่อ : วันมหาสงกรานต์ 54 14:45:17




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com