ถ้าจะลงทุนในหุ้นผมคิดว่าคือการลงทุนมากกว่าเก็งกำไรครับ แต่ลงทุนในฟิวเจอร์คือการเก็งกำไรล้วนๆ ดังนั้นความเสี่ยงย่อมมากกว่ามากครับ อันนี้ไว้อ่านเรื่อยๆครับ
การลงทุนในโกลด์ ฟิวเจอร์ส (Gold Futures) ทั้งซับซ้อนและมีแง่มุมอันหลากหลายให้คุณต้องทำการบ้านอย่างหนัก ก่อนจะตัดสินใจเดินลงสนาม
แน่นอนว่า ด้านหนึ่งคือ "โอกาส" ที่แทรกตัวขึ้นกลางวิกฤติ หากแต่อีกด้านหนึ่งของโกลด์ ฟิวเจอร์ส คือ "ความเสี่ยง" ที่หากไม่รู้จักดีพอ ก็อาจจะบาดเจ็บได้ 10 ข้อเหล่านี้ คือคำถามที่คุณจำเป็นต้องถามตัวเอง ก่อนที่จะเข้าไปลงทุนในโกลด์ ฟิวเจอร์ส
1. คุณเป็นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้แค่ไหน
นั่นเป็นคำถามแรกที่ควรถามตัวเอง เรื่องนี้ อติ อติกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายตราสารอนุพันธ์ บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) บอกว่า นักลงทุนที่ลงทุนในโกลด์ ฟิวเจอร์สต้องตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นว่าเมื่อลงทุนในโกลด์ ฟิวเจอร์ส 1 สัญญาเปรียบเสมือนได้ลงทุนในราคาของทองคำแท่งความบริสุทธิ์ 96.5% น้ำหนักจำนวน 50 บาทของทอง ผู้ลงทุนใน 1 สัญญาต้องสามารถยอมรับความเสี่ยงจากความผันผวนของทองคำมูลค่าน้ำหนัก 50 บาทได้
กิดาการ สุวรรณธรรมา ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจอนุพันธ์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ให้ทัศนะว่า การลงทุนในสินค้าจริงกับการลงทุนในอนุพันธ์นั้นไม่เหมือนกัน หากซื้อทองคำจากร้านทอง สามารถนำมาเก็บ ชื่นชม หรือสวมใส่ได้ และเวลาซื้อมาแล้วเรามักจะไม่ค่อยได้สนใจว่าราคาทองจะไปทางไหน เพราะซื้อเพื่อใส่หรือเพื่อเก็บสะสมไปเรื่อยๆ ราคาทองจะขึ้นจะลง ความผันผวนของราคาทองมากน้อยขนาดไหนก็ไม่รู้สึกเดือดร้อน
แต่การซื้อทองคำล่วงหน้านั้นความผันผวนของราคาอาจทำให้เดือดร้อนได้ เนื่องจากหากราคาโกลด์ ฟิวเจอร์สเคลื่อนไหวจนทำให้ขาดทุนเกิน 400 บาท ต่อทองคำน้ำหนัก 1 บาท จะต้องวางหลักประกันเพิ่ม เพราะมีการขาดทุนในหลักประกันของเราไปแล้วไม่น้อยกว่า 19,950 บาท
ก่อนที่จะเข้ามาซื้อขายโกลด์ ฟิวเจอร์สในตลาดอนุพันธ์ฯ นักลงทุนควรรู้จักตัวเองก่อนว่ามีวัตถุประสงค์ในการลงทุนเป็นแบบไหน เช่น ลงทุนเพื่อการเก็งกำไร หรือลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงเป็นหลัก และประการสำคัญคือ ต้องรู้จักตัวเองก่อนว่ายอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน
วิธีการง่ายๆ ที่จะรู้จักตนเองว่ายอมรับความเสี่ยงได้แค่ไหน เพียงแค่นักลงทุนยอมเสียเวลาเพียงเล็กน้อยทำแบบทดสอบระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ หรือ Risk Profile Questionnaire ที่จัดทำขึ้นโดยโบรกเกอร์ หรืออาจจะเข้าไปทำแบบสอบถาม TSI Risk Profile Questionnaire ที่จัดทำขึ้นโดยเว็บไซต์ของ TSI ผู้เชี่ยวชาญในตลาดอนุพันธ์อีกรายหนึ่งให้ทัศนะ
2. คุณรู้จักตลาดอนุพันธ์ดีแค่ไหน
กิดาการบอกว่า สินค้าในตลาดอนุพันธ์ทุกชนิด เป็นสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะตัว ผู้ที่จะก้าวเข้ามาลงทุนในตลาดอนุพันธ์ ควรมีความรู้เรื่องการลงทุนในสินค้าอ้างอิงๆ จริงๆ ก่อนระดับหนึ่ง เช่น สนใจซื้อขายอนุพันธ์ในหุ้น ก็ควรจะมีประสบการณ์ลงทุนในหุ้นมาก่อน หรือ สนใจซื้อขายอนุพันธ์ในทองคำ ก็ควรจะมีประสบการณ์ลงทุนในทองคำจริงๆ มาก่อน
ส่วนอติเสริมว่า การลงทุนในตราสารอนุพันธ์ ผู้ลงทุนต้องเข้าใจก่อนว่าต้องเปิดบัญชีอนุพันธ์ ซึ่งแยกจากบัญชีหุ้น การลงทุนในอนุพันธ์ของลูกค้าบุคคลต้องมีการวางหลักประกันเป็นเงินสดก่อนส่งคำสั่งซื้อขาย
ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุพันธ์รายเดิมบอกว่า นักลงทุนที่ต้องการซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์สในตลาดอนุพันธ์ ต้องเข้าใจด้วยว่าสามารถทำการสั่งซื้อหรือขายโกลด์ฟิวเจอร์สโดยผ่านโบรกเกอร์ที่เป็นสมาชิกของตลาดอนุพันธ์ เมื่อนักลงทุนส่งคำสั่งซื้อขายผ่านบริษัทโบรกเกอร์แล้ว จะส่งคำสั่งซื้อขายเข้าไปยังระบบการซื้อขายของตลาดอนุพันธ์ โดยตลาดอนุพันธ์จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการจับคู่คำสั่งซื้อขายด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ วิธีการจับคู่คำสั่งซื้อขาย จะใช้หลักการของราคา และเวลาที่ดีที่สุด
3. คุณเป็นนักลงทุนระยะสั้นหรือระยะยาว
จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องถามตัวเองก่อนว่าคุณเป็นนักลงทุนระยะสั้นหรือระยะยาว เพราะการลงทุนสัญญาโกลด์ ฟิวเจอร์ส ในตลาดอนุพันธ์ฯ นักลงทุนมี 2 ทางเลือกคือ 1. ถือสัญญาโกลด์ฟิวเจอร์สไว้จนถึงวันที่สัญญาสิ้นสุดอายุแล้วรับรู้ผลกำไรขาดทุนในวันทำการที่ซื้อขายได้เป็นวันสุดท้ายหรือ last trading day 2. ซื้อขายเก็งกำไรและปิดฐานะก่อนที่สัญญาจะสิ้นสุดอายุ
หากคุณเป็นนักลงทุนในระยะสั้นก็ควรซื้อขายสัญญาและปิดฐานะการลงทุนก่อนที่สัญญาจะสิ้นสุดอายุ แต่หากคุณเป็นนักลงทุนระยะยาวก็สามารถถือสัญญาไว้จนสัญญาสิ้นสุดอายุและรับรู้ผลกำไรขาดทุน หรือหากต้องการถือสัญญาไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยงในระยะยาว นักลงทุนอาจทำการต่ออายุสัญญา (roll over) โดยการปิดฐานะสัญญารุ่นเดือนที่กำลังจะสิ้นสุดอายุ และทำการเปิดฐานะสัญญาในรุ่นเดือนถัดไปก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการลงทุน
กิดาการมองว่า ในความเป็นจริงแล้วอนุพันธ์ไม่ใช่การลงทุน แต่อนุพันธ์มักถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงของการบริหารความเสี่ยงหรือการเก็งกำไรมากกว่า
สำหรับโกลด์ ฟิวเจอร์สนั้น สามารถถือสัญญาได้นานที่สุดไม่เกิน 6 เดือน หากในรอบการลงทุนปกติของคุณคุ้นเคยกับการลงทุนแล้วถือเกิน 6 -12 เดือนเสมอ หมายความว่าคุณน่าจะเป็นนักลงทุนระยะยาว การซื้อขายอนุพันธ์จึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบเนื่องจาก 1.นี่ไม่ใช่การลงทุน และ 2. การที่สามารถถือครองได้ไม่นานย่อมหมายความว่าต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อขาย จากถือยาว เป็นถือสั้นลง ซึ่งบางทีอาจไม่ใช่ความถนัดของคุณ
ส่วนอติมองว่าหากผู้ลงทุนต้องการลงทุนในราคาของทองคำแท่งระยะสั้นเพื่อทำกำไรเป็นรอบๆ หรือต้องการบริหารความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนในทองคำเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน การลงทุนในโกลด์ ฟิวเจอร์สจะมีความคล่องตัวมากกว่าการซื้อๆ ขายๆ ทองคำแท่งจริง
โดยที่โกลด์ ฟิวเจอร์นั้นเป็นตราสารอนุพันธ์ที่มีอายุจำกัด และในแต่ละช่วงเวลาจะมีโกลด์ ฟิวเจอร์ให้เลือกลงทุนอยู่ 3 สัญญา ซึ่งแต่ละสัญญาจะหมดอายุในเดือนเลขคู่ที่ใกล้สุดนับจากปัจจุบัน เช่น ปัจจุบันเป็นเดือนกุมภาพันธ์ ก็จะมี 3 สัญญาให้เลือกลงทุน คือดีลที่สิ้นอายุเดือนกุมภาพันธ์, เมษายน และมิถุนายน ตามลำดับ ส่วนการลงทุนในทองคำแท่งโดยตรงนั้นเหมาะกับการถือลงทุนระยะยาว
4. คุณรู้หรือไม่ว่าโกลด์ ฟิวเจอร์สเสี่ยงกว่าทองคำ
การลงทุนซื้อขายสัญญาโกลด์ ฟิวเจอร์สนั้น นักลงทุนควรที่จะรู้จักกับความเสี่ยงในการลงทุนเสียก่อน ว่ามีความเสี่ยงสูงกว่าการลงทุนซื้อทองคำ เนื่องจากการลงทุนในสัญญาโกลด์ ฟิวเจอร์ส นักลงทุนเพียงแค่วางเงินหลักประกันเพียงบางส่วนคือประมาณ 10% ของมูลค่าเต็มของสินค้าก็สามารถซื้อทองคำที่มีมูลค่าเต็มสูงถึงประมาณ 750,000 บาทได้
ดังนั้น หากราคาทองคำเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงกันข้ามกับที่นักลงทุนคาดการณ์ไว้ นักลงทุนอาจขาดทุนมากกว่าเงินหลักประกันเริ่มต้นก็ได้ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของการซื้อขายสัญญาโกลด์ ฟิวเจอร์สที่สิ้นสุดอายุในเดือนที่ไกลออกไปจะมีสภาพคล่องน้อยกว่าสัญญาที่สิ้นสุดอายุในเดือนที่ใกล้กว่า
กิดาการขยายความว่า ความเสี่ยงของโกลด์ ฟิวเจอร์สในปัจจุบันได้แก่ สภาพคล่องที่ยังน้อย อาจทำให้ต้องซื้อขายในราคาที่ไม่อยากได้จริงๆ สภาพคล่องที่ยังน้อยอาจทำให้ปิดสถานะได้ลำบากกรณีที่มีสถานะมากๆ และราคาของโกลด์ ฟิวเจอร์แกว่งขึ้นลงได้ทั้งวัน ในขณะที่ราคาของสมาคมค้าทองคำ ประกาศวันละไม่กี่หนและไม่แกว่งมาก ซึ่งถ้าหากซื้อทองคำจริงไม่ต้องกังวลเรื่องการถูกเรียกหลักประกันเพิ่มหรือถูกบังคับปิดสถานะ
ฝ่ายอติย้ำว่าการลงทุนในโกลด์ ฟิวเจอร์สมีความเสี่ยงแตกต่างกันกับการลงทุนในทองคำแท่งจริง โดยสามารถมีผลกำไรมากหรือขาดทุนมากกว่าการลงทุนในทองคำแท่งหลายเท่าตัว เนื่องจากการลงทุนในโกลด์ ฟิวเจอร์ใช้เงินลงทุนวางเป็นหลักประกันไม่ถึง 10% ของมูลค่าทองคำ ทว่าหากลงทุนในทองคำแท่งต้องใช้เงินเต็มจำนวน
5. คุณรู้หรือไม่ว่ากำไรหรือขาดทุนจากโกลด์ ฟิวเจอร์สเกิดจากอะไร
เนื่องจากการลงทุนในสัญญาโกลด์ ฟิวเจอร์ส นักลงทุนต้องวางเงินหลักประกันก่อนส่งคำสั่งซื้อขาย และทุกสิ้นวันทำการสำนักหักบัญชีจะทำการคำนวณผลกำไรขาดทุนของพอร์ตการลงทุน เพื่อให้สะท้อนกับราคาปัจจุบัน หรือเรียกว่าการ mark-to-market นั่นเอง
ดังนั้น หากนักลงทุนซื้อขายสัญญาโกลด์ ฟิวเจอร์สในระยะยาวนักลงทุนก็จะมีความเสี่ยงจากการแกว่งตัวของราคาตลาดทองคำสูงกว่าการลงทุนในระยะสั้น เนื่องจากราคาตลาดของทองคำเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงกันข้ามกับที่นักลงทุนคาดการณ์ไว้ นักลงทุนจะมีความเสี่ยงจากการถูกเรียกเงินประกันเพิ่ม หรือเรียกว่า call margin
หากนักลงทุนเป็นนักเก็งกำไรในระยะสั้นๆ ภายในวันทำการนักลงทุนสามารถรับรู้กำไรขาดทุนได้จากส่วนต่างของราคาที่ซื้อขาย เช่น ถ้านักลงทุนเปิดฐานะขายสัญญาโกลด์ ฟิวเจอร์สไว้ เนื่องจากคาดการณ์ว่าแนวโน้มราคาทองคำจะลดลง นักลงทุนสามารถปิดฐานะการลงทุน โดยการซื้อสัญญาโกลด์ ฟิวเจอร์สในจำนวนที่เท่ากัน และเดือนที่สิ้นสุดสัญญาเดือนเดียวกันกับที่ขายไว้ หากราคาทองคำลดลงตามที่คาดการณ์ไว้นักลงทุนจะได้รับผลกำไร แต่ถ้าหากราคาทองคำสูงขึ้นนักลงทุนจะขาดทุน นี่คือประเด็นที่คุณจำเป็นต้องรู้ก่อนลงทุน
กิดาการ อธิบายเพิ่มเติมว่า กำไรขาดทุนจากโกลด์ ฟิวเจอร์สขึ้นอยู่กับระดับราคาที่เข้าไปเปิดสถานะ และทิศทางความเคลื่อนไหวหลังจากนั้น เวลาซื้อของ เราย่อมคาดให้สินค้านั้นราคาขึ้นไปอีก เพื่อให้ได้กำไร ในทางตรงข้าม เวลาตัดสินในขายอะไร เราย่อมคาดว่า สินค้านั้นราคาจะไม่ขึ้นไปอีกแล้ว เพราะถ้าคาดว่าราคาจะขึ้นต่อ คงจะถือรอไปก่อน โกลด์ ฟิวเจอร์สก็เช่นกัน ถ้าซื้อแล้วราคาตลาดต้องสูงกว่าต้นทุนของเรา จึงจะได้กำไร หรือหากเป็นการขายล่วงหน้า หลังจากนั้นราคาจะต้องลงไปถึงจะได้กำไร แต่ถ้าซื้อแล้วลง หรือขายแล้วขึ้น ก็จะกลายเป็นขาดทุน
ในการซื้อขาย 1 สัญญา หากราคาล่วงหน้า ขยับไป ทุก 10 บาท หมายถึงกำไร/ขาดที่เกิดขึ้นจริง 500 บาท จะเป็นกำไร หรือขาดทุนอยู่ที่ เราคาดการณ์ราคาถูกทิศทางหรือไม่
6. คุณจะใช้โกลด์ ฟิวเจอร์สเพื่อป้องกันความเสี่ยงหรือเก็งกำไร
กิดาการบอกว่าอนุพันธ์มีประโยชน์ที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การนำไปใช้ แต่จะใช้เพื่ออะไรก็ควรมีการศึกษาให้ดีก่อน
ในขั้นต้น ควรทดลองทำการซื้อขายในกระดาษก่อนเพื่อให้ทราบว่า เครื่องมือชนิดนี้ เหมาะกับเราหรือไม่ สามารถทำประโยชน์ให้เราได้จริงหรือไม่ หากพบว่าอนุพันธ์ให้ประโยชน์ได้ ควรเริ่มต้นจากใช้เพื่อป้องกันความเสี่ยงก่อน การเริ่มต้นแบบนี้ปลอดภัยกว่า เนื่องจาก สถานะในทรัพย์สินจริง กับ สถานะในอนุพันธ์จะถัวความเสี่ยงกันไปในตัวเอง โอกาสกำไรขาดทุนมากๆ จะเกิดได้น้อย หลังจากใช้เพื่อป้องกันความเสี่ยงจนเกิดความชำนาญ จึงค่อยเริ่มใช้ในเชิงเก็งกำไร
ขณะที่ อติมองว่าหากเรามีพอร์ตลงทุนในทองคำแท่ง เช่น เป็นร้านค้าทองหรือผู้ที่ผลิตเครื่องประดับที่ต้องใช้ทองคำเป็นวัตถุดิบ สามารถใช้โกลด์ ฟิวเจอร์สในการบริหารความเสี่ยงได้ แต่หากใช้เพื่อเก็งกำไรในราคาทองขาขึ้นหรือขาลง ผู้ลงทุนต้องหมั่นดูสถานะของพอร์ตการลงทุนอย่างสม่ำเสมอหรืออย่างน้อยทุกสิ้นวัน เพราะราคาโกลด์ ฟิวเจอร์สมีความผันผวน
7. คุณรู้หรือไม่ว่าใช้เงินลงทุนเท่าไหร่
กิดาการแจงว่า โกลด์ ฟิวเจอร์ส 1 สัญญา เทียบเท่ากับ ทองคำน้ำหนัก 50 บาท หากราคาทองคำอยู่ที่ 14,800 บาท การซื้อทองคำน้ำหนัก 50 บาทที่ราคานี้ คุณต้องชำระเงิน 740,000 บาท แต่แทนที่จะซื้อทองคำที่เป็นสินค้าจริง เปลี่ยนมาเป็น ซื้อทองคำล่วงหน้า 1 สัญญา ซึ่งเท่ากับทำสัญญาซื้อทองล่วงหน้า น้ำหนัก 50 บาท จะต้องวางเงิน 66,500 บาท แต่คุณมีสิทธิรับรู้กำไรขาดทุนเสมือนการถือครองทองคำน้ำหนัก 50 บาท
ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุพันธ์บอกว่าหลังจากนักลงทุนเปิดบัญชีซื้อขายโกลด์ ฟิวเจอร์สกับโบรกเกอร์ที่เป็นสมาชิกของตลาดอนุพันธ์ฯแล้ว ก่อนที่นักลงทุนจะส่งคำสั่งซื้อขายนักลงทุนต้องวางเงินหลักประกันเริ่มต้น (Initial Margin) 66,500 บาท ต่อ 1 สัญญาจึงสามารถส่งคำสั่งซื้อขายได้
แต่เนื่องจากเมื่อราคาเปลี่ยนแปลงไปนักลงทุนอาจเกิดผลขาดทุนจากการลงทุนจนทำให้ถูกเรียกหลักประกันเพิ่มได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการถูกเรียกหลักประกันเพิ่ม นักลงทุนจึงควรวางหลักประกันก่อนการซื้อขายเป็น 2 เท่าของเงินหลักประกันเริ่มต้น หรือประมาณ 130,000 บาทต่อ 1 สัญญา และสิ่งสำคัญคือ เงินที่จะนำมาลงทุนในสัญญาโกลด์ ฟิวเจอร์ส ควรเป็นเงินลงทุนที่แบ่งไว้สำหรับการลงทุนที่มีความเสี่ยงโดยเฉพาะ และเมื่อเกิดการขาดทุนจากเงินลงทุนก้อนนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันปกติ
8. คุณรู้หรือไม่ว่ามีปัจจัยอะไรที่มีผลต่อราคาทอง
สิ่งสำคัญก่อนจะลงทุนในโกลด์ ฟิวเจอร์ คุณควรจะรู้ว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลกระทบกับความเคลื่อนไหวของราคาทองคำ ซึ่งโดยปกติปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อราคาทองคำในประเทศไทย อติแจงว่ามี 5 ปัจจัยหลัก คือ 1. ค่าเงินสหรัฐ 2. ความกลัวเงินเฟ้อ 3. ความไม่มั่นใจในระบบสถาบันการเงินหรือตลาดทุน 4. ความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์การเมืองหรือสงคราม 5. Demand และ Supply ของทองคำในตลาดโลก
นอกจากนี้ราคาทองในเมืองไทยยังมีปัจจัยอีก 2 อย่างเพิ่มเติมนอกเหนือจากปัจจัย 5 ข้อข้างต้น คือ 1. ค่าเงินไทยบาทเทียบกับค่าเงินสหรัฐ และ 2. ผลของฤดูกาล เช่น ก่อนตรุษจีน หรือก่อนเปิดเทอม
9. คุณรู้หรือยังว่าโกลด์ ฟิวเจอร์สซื้อขายได้ที่ใดบ้าง
อติบอกว่านักลงทุนสามารถซื้อขายโกลด์ ฟิวเจอร์สได้ที่โบรกเกอร์อนุพันธ์ทั้ง 36 ราย และต้นเดือนมีนาคม 2552 จะมีโบรกเกอร์เพิ่มขึ้นมาให้บริการอีก 4 ถึง 5 ราย
กิดาการเสริมว่า กรณีที่คุณมีเงินออมในต่างประเทศ สามารถซื้อขายโกลด์ ฟิวเจอร์สในตลาดอนุพันธ์ในต่างประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง และอื่นๆ ได้อีกด้วย
10. ควรจะลงทุนในทองหรือโกลด์ ฟิวเจอร์สกี่เปอร์เซ็นต์ของพอร์ต
จากการวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พบว่าราคาทองคำในไทยมีการเคลื่อนไหวสัมพันธ์กันกับสินค้าโภคภัณฑ์อื่นได้แต่ราคาทองคำในประเทศไทยแทบจะไม่มีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์การลงทุนอื่น เช่น หุ้น อสังหาริมทรัพย์ หรือเงินฝาก
ดังนั้น หากนักลงทุนเพิ่มทองคำเข้าไปในพอร์ต การลงทุนก็จะได้รับประโยชน์จากการช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนลงได้ และควรกระจายความเสี่ยงไปไว้ในทองคำประมาณ 10%
ข้อนี้ กิดาการแนะว่ากรณีของการบริหารความเสี่ยง ขึ้นอยู่กับปริมาณทองคำที่ลงทุนระยะยาว เช่น หากถือทองคำน้ำหนัก 100 บาท ก็ควรลงทุนโกลด์ ฟิวเจอร์ 2 สัญญา สำหรับคนที่ต้องการเก็งกำไร ควรค่อยๆ เริ่มต้นที่ระดับ 6-7% เช่น พอร์ตการลงทุน 1,000,000 บาท เริ่มต้นลงทุนด้วยโกลด์ ฟิวเจอร์ส 1 สัญญา ก็ถือเป็นระดับที่ไม่เสี่ยงจนเกินไป จนกระทั่งท่านมีความชำนาญเพิ่มขึ้นจนค่อยๆ เพิ่มขนาดของสถานะ
ส่วนอดติมองว่า การลงทุนในโกลด์ ฟิวเจอร์จำนวนเท่าใดในพอร์ตการลงทุนนั้น ขึ้นอยู่กับการจัดสรรทรัพย์สินในพอร์ตลงทุนซึ่งขึ้นกับ อายุของผู้ลงทุน การกระจายความเสี่ยงของทรัพย์สินหลายประเภท ความชำนาญในการคาดการณ์ราคาทองคำ ฯลฯ ผู้ลงทุนอาจพิจารณาลงทุนในทองคำ 5-15% ของสินทรัพย์ลงทุน
นี่เป็น 10 ข้อที่คุณจำเป็นต้องถามตัวเอง ก่อนที่จะเข้าไปลงทุนในโกลด์ ฟิวเจอร์ หากมีแม้แต่ข้อเดียวที่ยังไม่กระจ่าง อย่าเพิ่งลงทุนเด็ดขาด