|
ภาคผนวก ... (แถมให้ครับ เผื่อว่ามีใครไม่รู้จัก CANSLIM ) C-A-N-S-L-I-M 7 เคล็ดลับ วิลเลียม โอนิล : วิบูลย์ พึงประเสริฐ
วิลเลียม โอนิล (William ONeil) เริ่มงานเป็นนายหน้าขายหลักทรัพย์ในปี 1958 สามปีที่เขาทำงานกับบริษัทนี้ เขาได้เรียนรู้การบริหารกองทุนรวมที่เด่นๆในขณะนั้น เขาได้ค้นพบว่ากองทุนเหล่านี้ประสบผลสำเร็จก็เพราะเลือกซื้อหุ้นที่ราคาทำจุดสูงสุดใหม่ หรือทางเทคนิคเคิลเรียกว่า breaking out หุ้นหลายตัวที่มีลักษณะแบบนี้มักจะปรับตัวสูงขึ้นต่อมากกว่า 100% โอนิล ได้เลียนแบบการลงทุนแบบนี้ ภายในหนึ่งปีผ่านไปเขาสามารถเพิ่มเงินของเขาจาก 5,000 เหรียญ เป็น 200,000 เหรียญ เขาเป็นผู้จัดการกองทุนที่จัดว่ามีผลการดำเนินงานดีเด่นในยุค 60 เลยทีเดียว และเป็นผู้บุกเบิกการเลือกหุ้นโดยอาศัยข้อมูลทางสถิติ และบริษัทของเขาก็ยังคงให้บริการข้อมูลเหล่านี้แก่ผู้ลงทุนจนทุกวันนี้ ผลการดำเนินงานของเขามีทั้งขึ้นและลง โดยเฉพาะในช่วงที่หลังการปรับตัวที่ดีของตลาดหุ้นในช่วงยุค 60 ผลตอบแทนที่ได้รับจะอยู่ในอัตราเฉลี่ย 40% ในรอบสิบปี หุ้นที่เขาลงทุนแล้วประสบความสำเร็จอย่างมากเป็นหุ้นบริษัทยาซินเท็ค (SYNTEX) บริษัทนี้เป็นบริษัทแรกที่ผลิตยาคุมกำเนิด ขณะนั้นบริษัทประกาศผลกำไรโตขึ้นถึง 300% ราคาหุ้นปรับตัวจาก 100 เหรียญ เป็น 550 เหรียญ ทำให้เขามีกำไรมากพอที่จะเริ่มธุรกิจส่วนตัว ปัจจุบันเขาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทที่ปรึกษาของเขาเองตั้งอยู่ที่ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา วิธีการและแนวทางการลงทุนของเขาคล้ายๆกับ จิม สแลตเตอร์ เขาให้ส่วนผสมของข้อมูลเชิงคุณภาพและข้อมูลเชิงปริมาณเป็นเกณฑ์ในการเลือกหุ้นลงทุน แนวคิดที่สำคัญในการลงทุนคือ มองหาหุ้นที่โตเร็วที่มีศักยภาพในการที่ราคาจะพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง นั้นคือ ซื้อหุ้นเมื่อบริษัทแข็งแกร่ง ขายออกเมื่อบริษัทอ่อนแอลง เขาแนะนำนักลงทุนให้ใช้แนวทาง 7 ประการในการลงทุน โดยมีตัวย่อ C-A-N-S-L-I-M ดังนี้ C = ผลกำไรไตรมาสก่อน (Current quarterly earnings) มองหาบริษัทที่เพิ่งประกาศผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 40-500% A = กำไรต่อปีเพิ่มขึ้น (Annual earnings increases) มองหาบริษัทที่มีความเติบโตติดต่อกัน 5 ปี โดยมีอัตราเติบโตที่ไม่ต่ำกว่า 25% ต่อปี ถ้าหุ้นมีลักษณะอย่างนี้เราไม่จำเป็นต้องสนใจ P/E Ratio ซึ่งช่วงของ P/E อาจจะอยู่ที่ 20 ขึ้นไป N = สินค้าใหม่ ทีมบริหารใหม่ จุดสูงสุดใหม่ (New products, new management, new highs) หุ้นที่ดีมักจะมีเรื่องราวใหม่ๆอยู่เบื้องหลังมัน เช่น สินค้าใหม่ที่น่าสนใจ หรือ ผู้บริหารคนใหม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดจุดสูงสุดใหม่ S = อุปสงค์ และ อุปทาน (Supply and demand) หากหุ้นที่มีขนาดเล็กมีปริมาณการซื้อขายสูงๆ จะทำให้โอกาสที่ราคาหุ้นจะถูกขับเคลื่อนสูงขึ้นได้ L = ผู้นำ และ ผู้ตาม (Leaders and laggards) เลือกลงทุนในหุ้นที่มีความเข้มแข็งในอันดับต้นของหมวดนั้นๆ สัก 2-3 บริษัท หุ้นเหล่านี้มักจะปรับตัวดีกว่าหุ้นอื่นๆในหมวดเดียวกันในอัตรา 80-90% ภายใน 12 เดือน อยู่ให้ห่างหุ้นที่ปรับตัวแย่ลงในระยะ 7 เดือน I = ได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนสถาบัน (Institutional sponsorship) หาให้ได้ว่าหุ้นตัวใดที่นักลงทุนสถาบันนิยมซื้อ หากเป็นหุ้นที่มีผลตอบแทนดีและนักลงทุนสถาบันยังมีอยู่น้อย เราอาจจะนำมาเป็นหุ้นที่เราจะเข้าซื้อ M = ทิศทางของตลาด (Market direction) ตรวจสอบตลาดทุกวันเพื่อหาสัญญาณของการปรับตัวลง และให้ระวังการเข้าซื้อในขณะนั้น เขาแนะนำให้ทำการขายหุ้นตัดขาดทุนเมื่อหุ้นนั้นตกลงต่ำกว่า 7-8% จากราคาที่ซื้อมาโดยไม่ต้องมีคำถาม และให้ขายหุ้นที่ขึ้นไม่ถึง 20% ภายใน 13 สัปดาห์ ให้ถือหุ้นที่ขึ้นเกิน 20% ภายใน 4-5 สัปดาห์ หุ้นพวกนี้มักจะเป็นหุ้นที่ทำกำไรมากที่สุด ในกรณีที่หุ้นที่ซื้อมาและมีการปรับตัวขึ้น 25% อย่างรวดเร็วภายใน 1-2 สัปดาห์ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าอาจจะมีข่าวดี ทำให้นักลงทุนในตลาดแห่กันเข้าเก็บหุ้นอย่างเร่งร้อน เราควรรีบทำกำไรเช่นเดียวกัน C-A-N-S-L-I-M 7 เคล็ดลับ วิลเลียม โอนิล
Value Way
วิบูลย์ พึงประเสริฐ
31 พฤษภาคม 2553
จากคุณ |
:
มิ่งกลิ้ง
|
เขียนเมื่อ |
:
19 มิ.ย. 54 19:05:55
|
|
|
|
|