Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
TTA เกมเทคโอเวอร์ที่ "ได้" ไม่คุ้ม "เสีย" ติดต่อทีมงาน

อ่านแล้วสนุกดี เลยแวะเอามาฝาก

................................................................................

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/bizweek/20110530/392855/TTA%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81-%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%B2-%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89-%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%B2-%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%87-%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%8A%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%9A%E0%B8%A5-Family.html

วิธีการเข้าเทคโอ เวอร์ TTA ของ 'เตชะอุบล Family' ถ้ายึดโมเดล 'บล.แอ๊ดคินซัน-บมจ.ดราก้อนวัน' นับเป็นความเสี่ยงที่ 'ได้' อาจไม่คุ้ม 'เสีย'

ยังไม่ทันหงายไพ่ "เผด็จศึก" แค่แง้มหน้าไพ่ วิจิตร สุพินิจ ประธานกรรมการ ก.ล.ต.คนปัจจุบัน อดีตประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วัย 70 ปี ก็เอาเกียรติยศชื่อเสียงที่สร้างมาทั้งชีวิตมาวาง "เดิมพัน" กับเกมที่ "ได้" ไม่คุ้ม "เสีย"  

วีระ มานะคงตรีชีพ อดีตซีอีโอ บงล.ซิทก้า 1 ใน 56 ไฟแนนซ์ที่ถูกแบงก์ชาติสั่งปิดกิจการ เป็นผู้บริหารหนุ่มที่มีความสามารถสูงน่ายกย่องคนหนึ่ง แต่ชีวิตในอดีตเคยผิดพลาดกู้ยืมเงินโดยรับซื้อลดตั๋วแลกเงิน โดยไม่เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติ และให้กู้ยืมเงินแก่บริษัทในเครือโดยไม่วิเคราะห์ฐานะทางการเงินและไม่มีการ เรียกหลักประกัน เป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหายเป็นเงิน 415.70 ล้านบาท เหตุเกิดระหว่างวันที่ 28-30 พฤศจิกายน 2538

วันนี้ วีระ มีอายุครบ 54 ปียังมีเวลาสร้างบารมีอีกยาวไกล ที่ผ่านมาก็ผันตัวเองมาเป็นคอลัมนิสต์ นสพ.ไทยโพสต์ "คอลัมน์กระจกหักมุม" กำลังสร้างชื่อเสียงเตรียมกลับมาอย่างเต็มภาคภูมิ แต่เขาก็พลาดอีกครั้งเดินเกมทะเล่อทะล่าหวังหักด้ามพร้าด้วยเข่า เป็นการเดินเกมที่ "ได้" ไม่คุ้ม "เสีย"  

บี เตชะอุบล บุตรชายคนโต "เสี่ยไมค์" สดาวุธ เตชะอุบล ประธานกรรมการบริหาร บล.คันทรี่ กรุ๊ป เป็นผู้บริหารหนุ่มที่เก่งและอนาคตไกล บีถูกพ่อตั้งความหวังให้กลับมาสร้างอาณาจักรหมื่นล้าน "คันทรี่ กรุ๊ป" ที่เคยล้มไปเมื่อครั้งวิกฤติปี 2540 เด็กหนุ่มคนนี้จึงมีความทะเยอทะยานและเก็บเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ไว้ในใจตลอด เวลา รอวันเวลาที่จะกลับมาสร้างความภาคภูมิใจให้กับครอบครัวในฐานะ "ลูกชายคนโต"    

บี พลาดที่เข้าไปพัวพันกับหุ้น IEC ที่หวังสร้างความร่ำรวยให้อย่างรวดเร็ว เขาถูก ก.ล.ต.กล่าวโทษพบหลักฐานที่เชื่อได้ว่าเมื่อปี 2549 บีซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้มีอำนาจแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ หรือเบียดบังเอาทรัพย์สินของ IEC ไปเป็นของตนเองหรือบุคคลอื่น โดยให้ IEC ทำสัญญาขอใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์จากบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งน่าเชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับบี เป็นเหตุให้ IEC ต้องชำระเงินให้แก่บริษัทดังกล่าว 60.5 ล้านบาท โดยที่ IEC ไม่ได้รับประโยชน์

ผลพวงจากคดีทำให้บี ต้องลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) กรรมการบริหาร และกรรมการ บล.คันทรี่ กรุ๊ป ทุกตำแหน่งมีผลตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2553 กลายเป็น "ส้มหล่น" ของ ประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ นอกจากนี้ยังทำให้เกมเทคโอเวอร์ บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) ที่เตชะอุบล Family ต้องการเข้าไป "ฮุบ" (แบบไม่เป็นมิตร) ก็ไม่เป็นไปตามแผน สรุปว่าก็เป็นการเดินเกมที่ "ได้" ไม่คุ้ม "เสีย"  

บทสรุปที่ใครหลายคนอาจจะ "ลืม" ไปก็คือ วัฒนธรรมแบบ "พี่ไทย" ต่างจากฝรั่งอย่างสิ้นเชิงเรามีความโอบอ้อมอารีช่วยเหลือผู้ที่ "ถูกรังแก" และมองผู้ที่รังแกคนอื่นเป็น "มาร" ถ้าผู้ถูกรังแกนั้นพิสูจน์ให้คนในสังคมประจักษ์ได้ว่า เขาเป็น "คนดี" หรือ "บริษัทที่ดีของสังคม"

ทำไม! การเทคโอเวอร์ "มติชน" แบบไม่เป็นมิตรถึงไม่สำเร็จ ทำไม! เครือเนชั่น ถึงรอดพ้นเงื้อมมือนายทุนที่ต้องการเข้ามาแทรกแซงทั้งที่ถือหุ้นน้อยกว่ากัน เยอะ นั่นเพราะวัฒนธรรมแบบ "พี่ไทย" ต่างจากฝรั่งอย่างสิ้นเชิง  

เกมที่ เตชะอุบล Family จะเข้ามาเผด็จศึก บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) หรือ บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) เหมือนที่เคยเผด็จศึก บล.แอ๊ดคินซัน (ASL) (ปัจจุบันคือ บล.คันทรี่ กรุ๊ป) ที่ช่วงหนึ่งเคยอยู่ภายใต้อิทธิพล สอง วัชรศรีโรจน์ และกลุ่มคิ้วคชา หรือเผด็จศึก บมจ.ดราก้อนวัน (D1) (ปัจจุบันคือ บมจ.คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์) ของ จเรรัฐ ปิงคลาศัย จึง "ไม่หมู" อย่างที่คิด  

"หม่อมไอซ์" ม.ล.จันทรจุฑา จันทรทัต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) ผู้บริหารหนุ่มที่ดูตรงไปตรงมา เหมือนไม่มีพิษสง เป็นผู้บริหารมืออาชีพไม่มาข้องแวะหาประโยชน์จากหุ้น TTA  เปิดแถลงข่าวด่วน! บ่ายโมงวันที่ 26 พฤษภาคม 2554 "แฉเกม" ของฝ่ายตรงข้ามที่จ้องเข้ามา "ฮุบ" แบบไม่เป็นมิตร เกมนี้จึง "พลิก" ในชั่วข้ามคืน โดยที่ไม่ต้องเตรียมเงิน "พันล้าน" ไปแย่งซื้อหุ้น TTA ในตลาดหุ้น แถมยังมี "ผู้หลักผู้ใหญ่" หลายคนที่เห็นอกเห็นใจ

ความ "ชนะ" ที่ได้มาโดยการโต้แย้งเบียดเบียน แม้จะได้มาก็คือ "ความว่างเปล่า" เฉกเช่น "คนฉลาด" บางครั้งก็ผิดพลาดเพราะ "ความฉลาด" ของตัวเอง ผู้ที่รู้จัก "พอ" จะไม่ "ยุ่งยาก" เพราะผลประโยชน์ ผู้ที่สะสม "ศีลธรรม" ไม่มีวัน "ตกอับ"

เปิดเผย "ตัวละคร" อาคันตุกะยาม "รัตติกาล"

กระดาษแผ่นเดียวของ "อาคันตุกะ" ยาม "รัตติกาล" อ้างว่าเข้าเก็บหุ้น TTA ได้แล้ว 30% ถือมาต่อรองกับ "หม่อมไอซ์" ม.ล.จันทรจุฑา จันทรทัต เพื่อขอเปลี่ยนตัว อัศวิน คงสิริ ประธานกรรมการ TTA พร้อมแจ้งว่าไม่ต้องการให้ข่าวเปิดเผยต่อสาธารณะ (สื่อมวลชน) และอยากให้บริษัทเปลี่ยนเป็นบริษัทเพื่อการลงทุน (Investment Company)  คล้ายกับ Berkshire Hathaway ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์

นอกจากนี้ยังล็อบบี้ให้ ม.ล.จันทรจุฑา ไปกดดันคณะกรรมการบริษัทให้ลาออก 3 คน ประกอบด้วย อัศวิน คงศิริ, ศักดิ์ เอื้อชูเกียรติ และ สตีเฟ่น วูดรุฟ ฟอร์  หากไม่ลาออกกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่จะเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เพื่อเปลี่ยนแปลงกรรมการทั้งหมด และให้ลดสัดส่วนการถือหุ้นในธุรกิจเดินเรือ โดยอ้างว่าทางกลุ่มนี้สามารถหาสินทรัพย์มาขายให้ TTA เพื่อเพิ่มมูลค่าของบริษัทได้ในอนาคต

วันที่ 3 พฤษภาคม 2554 ม.ล.จันทรจุฑา ได้รับโทรศัพท์จาก วีระ มานะคงตรีชีพ อ้างว่าเป็นตัวแทนของ วิจิตร สุพินิจ ขอเข้าพบ ขณะนั้น ม.ล.จันทรจุฑา อยู่ที่ประเทศอังกฤษจึงขอรับนัดเป็นวันที่ 9 พฤษภาคม 2554

วันที่ 9 พฤษภาคม 2554 ม.ล.จันทรจุฑา เดินทางไปพบกับ วีระ มานะคงตรีชีพ และ วิจิตร สุพินิจ ที่ โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ ได้รับแจ้งว่าได้มีกลุ่มนักลงทุนรวบรวมหุ้น TTA ได้ 30% ต้องการให้เปลี่ยนแปลงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท เสนอให้ วิจิตร สุพินิจ เป็นแทน อัศวิน คงศิริ  และขอเปลี่ยนตำแหน่ง "ซีอีโอ" ซึ่ง ม.ล.จันทรจุฑาแจ้งว่าต้องไปหารือกันในบอร์ดก่อน พร้อมขอหลักฐานการถือหุ้นดังกล่าว

วันที่ 9 พฤษภาคม 2554 วิจิตร สุพินิจ, บี เตชะอุบล และ ไมเคิล เฟอร์นันเดซ เดินทางมาที่บริษัท พร้อมกับรายชื่อผู้ถือหุ้น 1 แผ่น แจ้งกับ ม.ล.จันทรจุฑา ว่าไม่ต้องการให้ข่าวกับสาธารณชน พยายามล็อบบี้ให้ อัศวิน คงศิริ ลาออกและเปลี่ยน "ซีอีโอ" เป็น ไมเคิล เฟอร์นันเดซ ขณะเดียวกัน บี เตชะอุบล อยากให้บริษัทเปลี่ยนเป็นบริษัทเพื่อการลงทุนคล้ายกับ Berkshire Hathaway ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ พร้อมเร่งให้รีบตัดสินใจโดยเร็ว

วันที่ 16 พฤษภาคม 2554 ได้มีการพูดคุยครั้งสุดท้ายที่ โรงแรมคอนราด ม.ล.จันทรจุฑา ไปพร้อมกับ ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการเงิน บี เตชะอุบล แจ้งย้ำว่าได้ครอบครองหุ้น 30% แล้ว คราวนี้ให้ อัศวิน คงศิริ, ศักดิ์ เอื้อชูเกียรติ และ สตีเฟ่น วูดรุฟ ฟอร์  ลาออก หากไม่ลาออกกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่จะเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อเปลี่ยน แปลงกรรมการทั้งหมด บี เตชะอุบล ยังขอให้ลดสัดส่วนธุรกิจเดินเรือ โดยอ้างว่าสามารถหาสินทรัพย์ที่จะเพิ่มมูลค่าหุ้นให้กับบริษัทได้ ยกตัวอย่างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ว่าเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้รวด เร็ว

หุ้น TTA ผิดสังเกตตั้งแต่เดือน "มีนาคม-เมษายน"

ม.ล.จันทรจุฑา จันทรทัต กล่าวว่า พบข้อสังเกตวอลุ่มซื้อขายหุ้น TTA ตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายนเริ่มเพิ่มขึ้นพร้อมกับราคาที่ปรับสูงขึ้น อาจจะดูไม่ผิดปกติแต่ไม่สมเหตุผลเพราะราคาหุ้น TTA จะเคลื่อนไหวไปทางเดียวกับดัชนี BDI ซึ่งไม่ได้ปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจุบันหุ้น TTA มีผู้ถือหุ้นต่างชาติรวมกัน 10% และอีก 4.3% ถือในนามบริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด

“เป็นไปได้ว่าบริษัทเราไม่มีผู้ถือหุ้นใหญ่และมีเงินสดเยอะทำให้มีคนสนใจ แต่ตัวผมไม่คิดที่จะไล่ซื้อหุ้น (แข่ง) แน่นอน”

จากคุณ : ไร้แก่นสาร
เขียนเมื่อ : 7 ก.ค. 54 01:03:49




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com