เอเชียขึ้นดอกเบี้ยได้อีก
ธนาคารกลางในตลาดเกิดใหม่ของเอเชียอาจจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลังจากที่เงินเฟ้อพุ่งสูงสุดแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาสินค้าที่สูงขึ้น คืบคลานเข้าไปในระบบเศรษฐกิจเพราะจะกำจัดได้ยากกว่า
สองเดือนหลังจากที่ราคาน้ำมันทั่วโลกเริ่มลดลง หลังจากที่พุ่งขึ้นเพราะความไม่สงบในตะวันออกกลาง สถานการณ์ที่เลวร้ายดูเหมือนจะจบลงแล้วสำหรับจีน อินโดนีเซีย และเศรษฐกิจอื่นๆ ในเอเชียที่พยายามควบคุมเงินเฟ้อในปีนี้
อย่างไรก็ดี มันอาจบรรเทาแค่ช่วงสั้นๆ แรงกดดันเงินเฟ้อที่เติบโตในบ้านกำลังก่อตัวโดยเป็นผลมาจากตลาดแรงงานที่ตึงตัว มูลค่าที่ดินที่สูงขึ้น และดีมานด์ภายในประเทศเติบโต และนั่นย่อมหมายถึงว่า อัตราดอกเบี้ยอาจจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปอย่างน้อยก็จนถึงปี 2555
จีนเป็นประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ โดยไม่เพียงแต่เป็นผู้เล่นรายใหญ่สุดในกลุ่ม แต่ได้กลายเป็นโมเดลบทบาทให้กับผู้กำหนดนโยบายอื่นๆ ในภูมิภาคและเป็นตัวชี้วัดอารมณ์ของนักลงทุนต่อตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย
เฟรเดริค นิวแมน หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจเอเชียของเอชเอสบีซี ไม่คาดว่า เงินเฟ้อจะกลับมาในเดือนที่จะถึงนี้ แต่มีเงินเฟ้อฝังตัวอยู่ที่จะไม่ปรากฏขึ้นในจีน
นิวแมนคิดว่า การขึ้นดอกเบี้ยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วของธนาคารกลางจีน จะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายของปีนี้ แต่ไม่ใช่การเคลื่อนไหวครั้งสุดท้ายในวัฏจักรเข้มงวดนโยบายเงินรอบนี้
นักเศรษฐศาสตร์ ที่รอยเตอร์สำรวจมาส่วนใหญ่คาดว่า จีนจะขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้อีก 0.25% อีก 1 ครั้งภายในปลายปี และขณะนี้ อัตราดอกเบี้ยมาตรฐานทั่วเอเชียยังคงต่ำกว่าระดับก่อนที่จะเกิดวิกฤติการเงินในปี 2551 โดยในอินเดีย เกาหลีใต้ และมาเลเซีย อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินเฟ้อต่อปี
นิวแมน และนักเศรษฐศาสตร์คนอื่นๆ วิตกว่า แรงกดดันราคาที่ลดลง อาจทำให้ผู้กำหนดนโยบายรู้สึกมั่นคงหลอกๆ และความจริงแล้ว ธนาคารกลางมาเลเซียไม่ขึ้นดอกเบี้ยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งที่นักวิเคราะห์คาดว่าดอกเบี้ยจะสูงขึ้น นั่นคือเหตุผลหนึ่งว่าทำไมนักเศรษฐศาสตร์กำลังมองหาหลักฐานเงินเฟ้อที่ซ่อนอยู่ใต้ผิวหน้า
นักเศรษฐศาสตร์ในเอเชียกำลังแยกแยะ ระหว่างแรงกดดันต้นทุนที่มาจากโภคภัณฑ์ที่ซื้อขายทั่วโลก กับที่ผูกติดกับปัจจัยภายในประเทศ เช่นเดียวกับที่นักเศรษฐศาสตร์สหรัฐตัดค่าอาหารและพลังงานเมื่อพิจารณา เงินเฟ้อหลัก แต่การเปรียบเทียบกับเงินเฟ้อหลัก ไม่มีประโยชน์ในตลาดเกิดใหม่เพราะการบริโภคอาหารและพลังงานมีสัดส่วนในงบประมาณของครัวเรือนมากกว่าในเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว
การโฟกัสไปที่เงินเฟ้อนำเข้ากับเงินเฟ้อที่โตในบ้าน สามารถใช้เป็นเบาะแสได้ว่า เงินเฟ้อกำลังจะมุ่งไปในทิศทางไหน และยังเผยให้เห็นจุดเดือดที่อาจจะซ่อนเร้นเพราะอัตราดอกเบี้ยที่บรรเทาลง
ข้อมูลเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาชี้ว่า เงินเฟ้อต่อปีของจีนสูงสุดในรอบสามเดือนในเดือนมิถุนายน ราคาโภคภัณฑ์โลกที่ลดลงชี้ว่า มันอาจจะร้อนแรงเหมือนที่เป็นอยู่อย่างน้อยก็ในปีนี้
ราคาตราสารล่วงหน้าน้ำมันดิบระหว่างประเทศ ลดลง 15% นับตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม ผลการสำรวจผู้จัดการจัดซื้อชี้ว่า โรงงานจีนโล่งใจในระดับหนึ่งเกี่ยวกับต้นทุนวัตถุดิบ ออสเตรเลียมีแนวโน้มที่จะมีกันชนข้าวสาลีหลังจากที่ผิดหวังมาหลายฤดู ซัพพลายข้าวโพดก็ดูเหมือนจะเพียงพอ และฤดูมรสุมในอินเดียเริ่มขึ้นแต่เนิ่นๆ
อย่างไรก็ดี ปัญหาอยู่ที่เงินเฟ้อที่ไม่ใช่อาหาร ปรับตัวขึ้น 3% ในเดือนมิถุนายน จากปีก่อนหน้า เป็นการปรับตัวมากสุดนับแต่มีการบันทึกในปี 2545
ข้อมูลเงินเฟ้อที่ล้มเหลวของจีน ชี้ว่า มีการปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในภาคต่างๆ เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค เสื้อผ้า และเครื่องใช้ในบ้าน และการบำรุงรักษา
ฉี ซุ่น นักเศรษฐศาสตร์จีนของโนมูระ มองเห็นหลักฐานที่จะมีการเปลี่ยนแปลง โครงสร้าง เงินเฟ้อที่คงอยู่เป็นเวลานาน หลังจากที่แรงกดดันราคาทั่วโลกบรรเทาล
ต้นทุนแรงงานและราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้น หมายถึงว่า ราคาอาหารที่ผลิตภายในประเทศอาจยังคงเพิ่มขึ้นแม้ว่า ฤดูเก็บเกี่ยวที่ดีขึ้น ทำให้ตลาดทั่วโลกดีขึ้น
นโยบายเศรษฐกิจในระยะกลางของจีน ในแผน 5 ปี เมื่อเร็วๆ นี้ เป้าหมายหนึ่งของรัฐบาลปักกิ่งคือ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างน้อย 23% ต่อปี หรือเป็น 84% ภายในปี 2558 และเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลว่าทำไมโนมูระจึงมองว่าธนาคารกลางจีนจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งในปีนี้ และสี่ครั้งในปี 2555
จีนไม่ได้เป็นเศรษฐกิจชาติเดียวในเอเชียที่อาจจะต้องเข้มงวดดอกเบี้ยสูงกว่าเงินเฟ้อ แม้การอ่านเงินเฟ้อล่าสุดของอินโดนีเซีย ชี้ว่า เงินเฟ้อต่อปีต่ำสุดในรอบหนึ่งปี แต่จั๊ว ฮัก บิน นักเศรษฐศาสตร์ แบงก์ ออฟ อเมริกา-เมอร์ริล ลินช์ กล่าวว่า ความจริงแล้ว ธนาคารกลางอินโดนีเซียยังคงค่อนข้างนิ่งเฉย เมื่อเทียบกับธนาคารกลางจีนและธนาคารกลางอื่นๆ โดยการเติบโตของเศรษฐกิจอินโดนีเซียยังคงเพิ่มขึ้นในขณะที่เงินเฟ้อลดลง และชี้ว่า อินโดนีเซียทำให้เงินเฟ้อลดลงหลอกๆ ด้วยการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง และยังพ้นกำหนดที่จะขึ้นภาษีไฟฟ้าด้วย
สำหรับนักลงทุน เงินเฟ้อยังคงเป็นหนึ่งในการคุกคามต่อการเติบโตของเอเชีย ความวิตกที่ว่าจีนจะเข้มงวดนโยบายและยับยั้งการเติบโต ได้ทำให้นักลงทุนต่างชาติรู้สึกไม่ดีต่อภูมิภาคโดยรวม
มาคัส โคเมอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทไพน์บริดจ์ อินเวสเมนต์ กล่าวว่า ได้ลดน้ำหนักในตลาดเกิดใหม่เพราะว่าวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อเงินเฟ้อของจีนลดลง นั่นจะเป็นสัญญาณให้นักลงทุนกลับเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่
โคเมอร์คิดว่า สิงคโปร์ อาจเป็นระบบเตือนภัยแต่เนิ่นๆ สำหรับเส้นทางเงินเฟ้อทั่วเอเชีย โดยสิงคโปร์เป็นชาติแรกในภูมิภาคที่พ้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังจากที่เกิดวิกฤติการเงินทั่วโลก เป็นชาติแรกที่เงินเฟ้อพุ่งขึ้น และเป็นชาติแรกที่เห็นแรงกดดันของราคาบรรเทาลง นั่นน่าจะเป็นเพราะว่า สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการค้าโลกที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ ของเศรษฐกิจโลก
สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์แนะนำลูกค้า ไม่ให้สันนิษฐานว่า เงินเฟ้อเป็นสัญญาณว่าการขึ้นดอกเบี้ยสิ้นสุดแล้ว และนักลงทุนที่มองหาการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างรวดเร็ว น่าจะผิดหวัง