ผมลองนึกทบทวนดูจากความคิดของตัวเอง
และจากที่อ่านคำตอบดีๆ ของท่านอื่นๆในกระทู้ก่อน
http://www.pantip.com/cafe/sinthorn/topic/I10855932/I10855932.html
ขอสรุปเป็นข้อๆดังนี้
๑ ค่าติดดอยเรโช จะลดลงไปเรื่อยๆ
ไปตามประสบการณ์ตรงในตลาดหุ้น ที่แต่ละคนได้เจอด้วยตัวเอง
ยิ่งอยู่ในตลาดนานขึ้น ก็จะมีความเคยชินกับผลขาดทุนมากขึ้น
สามารถแบกรับความเครียดจากการขาดทุนตัวเลขได้มากขึ้น
๒ คนที่มีเครื่องมือในการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ
หลังจากมีประสบการณ์ตรงและใช้เตรื่องมือที่มีประสิทธิภาพจนชำนาญ
จะไม่มีค่าติดดอยเรโชอยู่ในใจ
๓ คนที่ไม่มีค่าติดดอยเรโชอยู่ในใจ
น่าจะได้แก่คนที่ซื้อขายหุ้นด้วยเครื่องมือดังต่อไปนี้
ก ซื้อขายแบบ dsm (Den Sri Method )
คนที่ลงทุนแนวทางนี้ หลักการสำคัญคือ ยิ่งลง ยิ่งขาย
เพื่อสะสมส่วนต่างราคาหุ้น ระหว่างขายถูก แล้วซื้อกลับถูกกว่าที่ขาย
ข. ซื้อขายแบบวีไอ (Value Investor)
ค่าติดดอยเรโชที่แน่นอน จะไม่มีอยู่ในใจ
เพราะถือว่า ไม่มี"ราคาหุ้น"ใดที่ถือว่าติดดอย
ตราบใดที่ปัจจัยพื้นฐานของ "หุ้น" ยังดีอยู่
ในที่สุดราคาหุ้นจะสะท้อนปัจจัยพื้นฐานของหุ้นออกมาเอง
ค่าติดดอยเรโช ก็น่าจะเป็นค่าที่จะลงมือซื้อเฉลี่ยขาลง
เมื่อ "ราคาหุ้น" แยกทางกันเดินกับ "หุ้น" อย่างสร้างสรรค์
ค. คนที่ซื้อขายแบบ พีเอส (Price Speculator) ด้วยกราฟ
และซื้อขายอย่างเคร่งครัดไปตามทิศทางที่กราฟที่ใช้แล้วได้ผลส่งสัญญาณ
เช่น ดูเส้น macd รายสัปดาห์ตัดซิกแนลลง
เส้นค่าเฉลี่ยตัดลงเป็นพัดนรก
ก็ขายทันทีเป็นต้น
สำหรับเซียนกราฟ จะไม่มีค่าติดดอยเรโชอยู่ในใจ
จะมีแต่ค่า "หนีดอยเรโช" หรือจุดคัทลอสที่เด็ดขาด
ไว้เตรียมรับมือไม่ให้ราคาหุ้นที่ถืออยู่ ขึ้นไปค้างอยู่บนที่สูง
๔ ไม่ขายไม่ขาดทุน เป็นความคิดที่เป็นอันตรายสุดๆ
ถ้าเราตอบต่อไม่ได้ว่า
ทำไม ไม่ขายจึงจะไม่ขาดทุน
ใครที่หวังแค่ว่า ในที่สุดราคาหุ้นจะกลับมา
โดยที่หาเหตุผลให้กับการกลับมาของมันไม่ได้
คนนั้น จะประสพความล้มเหลวได้ง่ายที่สุด ขาดทุนหนักสุด
เพราะเงินลงทุน จะไปจมอยู่กับหุ้น ไม่ขาย ไม่ขาดทุน
ที่อาจจะทอดเวลายาวนานมากๆๆๆๆๆๆ
แบบบางทีก็ ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี
ถ้าจะไม่ขาย ไม่ขาดทุน ต้องหาเหตผลดีๆมารองรับให้ได้ว่า ทำไม
อย่างหุ้นไดโดม่อง ในพอร์ตของผม
มันมาจาก ไม่ขายไม่ขาดทุน โดยมีเหตุผลแบบตลกๆว่า
ผมไม่เคยขาดทุนหุ้นในหมวดอาหาร
เลยจากถือหุ้นทน กลายเป็นทนถือหุ้นในที่สุด
ถ้าเป็นตอนนี้ ผมคงตัดขายขาดทุนทิ้งทันที
ที่เดินตามห้างในวันอาทิตย์แล้ว
เห็นร้าน บาร์บีคิว มีคนยืนรอรับบัตรคิว
ในขณะที่ ไดโดม่อง มีคนนั่งไม่ถึงครึ่งร้าน
ผมเชื่อว่า สาเหตุสำคัญที่ทำไดโดม่องล้ม
คือขยายสาขาเร็วเกินตัว และพลังงานในการใช้ทำให้อาหารสุก
ยุ่งยากที่สุดในบรรดาร้านอาหารแนวเดียวกัน
เจ้าอื่นๆ เป็นแก๊สและกลายเป็นไฟฟ้าไปหมดแล้ว
ทุกวันนี้ ไดโดม่อง ก็ยังใช้ถ่านเหมือนเดิม
ที่รู้ เพราะเอาบัตรกำนัลสองร้อยบาท ที่บริษัทแจกให้ ไปกินมาแล้ว
หวังว่าผู้เดินทางแสวงหาเงินในตลาดหุ้น ที่ผ่านประสบการณ์ตรงมากขึ้นๆ
ในที่สุด จะไม่มีค่าติดดอยเรโชที่เป็นเปอร์เซนต์แน่นอนอยู่ในใจ
เพราะทุกคน จะมีเครื่องมือที่จัดการกับค่า "หนีดอยเรโช" มาใช้แทน
+
แก้ไขเมื่อ 27 ก.ค. 54 12:12:23
แก้ไขเมื่อ 27 ก.ค. 54 09:11:24
แก้ไขเมื่อ 27 ก.ค. 54 09:08:24
แก้ไขเมื่อ 27 ก.ค. 54 09:04:13
แก้ไขเมื่อ 27 ก.ค. 54 08:43:25