สหรัฐถังแตก เงินทุนไหลเข้าตลาดเกิดใหม่
|
|
นายกสมาคมบลจ.มองสหรัฐ"ถังแตก" เพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ เชื่อป้ัญหายังไม่จบ กดดันเงินไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ในเอเซีย แนะกระจายเสี่ยงลงทุนทอง
นางวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน CEO บลจ.บัวหลวง จำกัด เขียนบทวิเคราะห์ถึงปัญหาถังแตกของสหรัฐ โดยระบุว่า Richard James Verone ชายชรา วัย 59 ปีในรัฐ North Carolina โดนจับเข้าคุก เพราะไปยื่นกระดาษที่เขียนว่า “เอาเงินมา 1 ดอลลาร์” ที่แบงค์ RBC แล้วก็นั่งรอจนตำรวจมาจับ ซึ่งเรื่องนี้เข้าแผนชายชราคนนี้ เพราะเขาไม่มีประกันสุขภาพ เมื่อป่วยหนักด้วยเนื้องอกที่หน้าอก เขาต้องการกา รดูแลสุขภาพฟรี และฉลาดพอที่จะรู้ว่าคุกมีให้ เพราะคุกในสหรัฐให้ที่อยู่ที่กินและให้การรักษาพยาบาล
ขณะนี้ คนอเมริกันกำลังลำบากมาก หลายรัฐในอเมริกาไม่มีเงินจ่ายค่าจ้าง ต้องปลดพนักงาน สุนัขตำรวจก็ยังถูกปลด ถนนหลายแห่งไม่มีงบประมาณเพียงพอ ต้องซ่อมแซมเป็นถนนกรวดเหมือนตอนหลังสร้างชาติอเมริกาขึ้นมาพักหนึ่ง และหลายบริษัทก็ปลดคนงาน และปิดตัว บริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งก็ไปตั้งโรงงานนอกประเทศเพราะต้นทุนถูกกว่า คนยิ่งไม่มีงานทำมากขึ้นและมากขึ้น บริษัทที่ไม่ปิดตัวก็ไม่ยอมขยายเพราะเห็นว่ากำลังซื้อของคนไม่มี ผลิตออกมาก็เจ๊ง คนว่างงานของสหรัฐจึงมีอัตราสูงมากถึง 9.2% ในขณะที่ของไทย 0.8% เมื่อว่างงานก็ไม่มีเงิน บ้านเลยโดนแบงค์ยึด
วันนี้ มีคนอเมริกัน 6.3 ล้านคนที่ตกงานมายาวนานเกิน 6 เดือนแล้ว ในปีที่แล้ว คนตกงานโดยเฉลี่ยจะใช้เวลาประมาณ 16 สัปดาห์ก็จะหางานใหม่ได้ แต่ขณะนี้ต้องใช้เวลานานถึง 40 สัปดาห์
คนที่น่าห่วงที่สุดคือคนชั้นกลาง เพราะค่าจ่างแรงงานในวันนี้หากปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อแล้วยังต่ำกว่าที่เคยได้รับเมื่อปี 1971 เสียด้วยซ้ำ
คนชั้นกลางจึงตกอยู่ในภาวะยากลำบากขึ้นทุกที ภาษีที่จ่ายให้รัฐ แทนที่จะเอาไปทำสิ่งมีประโยชน์ต่อประชาชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย กลับเอาไปใช้จ่ายในหลายเรื่องที่ไม่จำเป็น รวมถึงเอาไปอุ้มแบงค์ที่ล้มด้วย “น่าเศร้าใจแทนผู้เสียภาษี เพราะเมื่อนายธนาคารทำผิดพลาดเสียหายเป็นล้านล้านเหรียญ ธนาคารกลางสหรัฐก็จะรีบเอาเงินของประชาชนเข้าไปช่วยอุ้มทันที แต่เมื่อนายธนาคารทำกำไรได้ เขาก็เอากำไรนั้นเข้ากระเป๋าตัวเอง แล้วส่งบางส่วนไปบริจาคให้พรรคการเมืองในวอชิงตัน”
คนแก่ 1 ใน 6 คน และเด็ก 21% กำลังมีชีวิตอยู่ใต้เส้นแห่งความยากจน ในขณะที่คนที่ร่ำรวยที่สุดจำนวน 1% ของประชากรทั้งประเทศกลับมีทรัพย์สินมากกว่าทรัพย์สินของคนอีก 90% รวมกัน
และวันนี้ มีคนอเมริกัน 59% ที่ได้รับเงินสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ จากรัฐบาล
รัฐบาลอเมริกันถังแตกเพราะรายได้คือภาษีไม่พอรายจ่ายของรัฐและเป็นแบบนี้มานานมากแล้ว ที่อยู่มาได้ทุกวันนี้ก็เพราะยังมีคนให้กู้ แถมดอกเบี้ยต่ำมากเพราะเป็น Risk Free Rate ที่ทั่วโลกใช้ US Treasury เป็นตัวอ้างอิง แสดงถึงความแข็งแกร่งของพันธบัตรสหรัฐที่คนเชื่อกันว่าไม่มีความเสี่ยงที่จะโดนเบี้ยวหนี้ ความจริงน่าจะเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Risky Rate ได้แล้ว
กฏหมายสหรัฐบังคับเพดานหนี้ที่รัฐจะก่อได้ในขณะนี้ที่ไม่เกิน 14.3 ล้านล้านดอลลาร์ (443 ล้านล้านบาท) ตอนนี้ก็กู้จนเต็มเพดานหนี้แล้ว 97% ของ GDP ส่วนของกรีซ 143% ไทยอยู่ที่ 41% อเมริกันชนจึงเหมือนชีวิตในนิยายไทย ที่เจ้าคุณพ่อตกยาก แต่จมไม่ลง ยังทำตัวหรู ทุกๆ 1 ดอลลาร์ที่ใช้มาจากการกู้ 45%
หากคองเกรสหรือรัฐสภาสหรัฐแก้ไขกฏหมายเพื่อเพิ่มเพดานหนี้ไม่ทันวันที่ 2 สิงหาคม นี้ สหรัฐก็ไม่มีปัญญาจะจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะทยอยกันเข้ามาได้ครบทุกอย่าง คล้ายๆ เราใช้วงเงินในบัตรเครดิตจนเต็ม แล้วบิลค่าน้ำ ค่าไฟ กำลังถึงกำหนดจ่าย ค่าเล่าเรียนลูกก็จะต้องจ่ายในเดือนหน้า รายได้แต่ละเดือนก็ไม่พอแม้แต่ค่าอาหาร ค่าเดินทางไปทำงาน ไปเรียน ไหนจะค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าทำผม เงินเดือนคนรับใช้ ฯลฯ
เมื่อเราถังแตก อย่างแรกคือต้องลดรายจ่าย และเมื่อรัฐบาลถังแตก ก็ต้องพิจารณาลดเงินเดือน ลดลูกจ้างรัฐ ลดสวัสดิการ เรียกทหารที่ประจำการ ในชาติอื่นกลับบ้าน เลิก Food Stamp ลดค่ารักษาพยาบาล ลดงบประมาณ FBI หรือ CIA ลดงบประมาณโครงการสำรวจอวกาศหรือเลิกไปเลย และอื่นๆ อีกมากมายหลายรายการ แล้วก็จะเกิดโกลาหลอลหม่านกันไปทั้งประเทศ
ปัญหาเกิดจากอะไร
ถอยหลังไปในปี 1980 เมื่อ Dick Cheney ประกาศว่าการขาดดุลการคลังไม่ใช่ปัญหาอะไร หนี้ภาครัฐต่อ GDP ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเกือบทุกประเทศพัฒนา และในที่สุดก็แตกระเบิดอย่างที่เห็นกันวันนี้ที่ กรีซ ญี่ปุ่น ไอร์แลนด์ โปรตุเกส อิตาลี และสหรัฐ แค่สามประเทศที่มีปริมาณหนี้มากที่สุดรวมกัน คือสหรัฐ อิตาลี และ ญี่ปุ่น ปริมาณหนี้คิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของ GDP ทั้งโลกแล้ว ปัญหารอบนี้จึงใหญ่มาก ไม่ใช่ Too big to fail แล้ว แต่เป็น Too big to bail (out) สาหัสขนาดที่อดีต รมต.คลัง Larry Summers บอกว่าสหรัฐจะมีปัญหาหนักกว่าครั้ง Lehman Brothers เมื่อกว่า 2 ปีก่อนมาก สงสัยจะขนาด Armageddon (การสู้รบครั้งใหญ่ถึงขั้นแตกหัก) เลยทีเดียว
ทุกประเทศเหล่านั้นต่างกู้ยืมอย่างหนักเพื่อไปสนองนโยบายที่ทำให้ชนะเลือกตั้ง จนกระทั่งพาประเทศมาถึงจุดที่ควรจะล้มละลายแล้ว หากประเทศเหล่านี้เลือกทางแก้ไขที่ถูกต้องเสียในวันนี้ บางประเทศก็จะรอด แต่นักการ เมืองจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร ในเมื่อฐานเสียงของเขากำลังเรียกร้องเงินและสวัสดิการมากขึ้นทุกที และมันยาวนานกว่า 150 ปีแล้วที่นักการเมืองในประเทศเหล่านั้นรู้วิธีที่จะได้คะแนนเสียงเลือกตั้ง นั่นก็คือการใช้ผลประโยชน์ต่างๆ และระบบสวัสดิการสังคมมาเป็นเกมกำหนดและควบคุมคะแนนเสียง เพราะนักการเมืองสัญญาว่าจะให้นั่น ให้นี่ ให้มากขึ้น และมากขึ้น และหากนักการเมืองคนไหนกล้าพอที่จะพูดว่าจะให้ผลประโยชน์ต่อประชาชนมากเท่ากับภาษีที่ประชาชนเสียให้รัฐ เขาก็โกหก
เพราะอะไร
ก็เพราะทุกระบบมีต้นทุนในการบริหาร เราจึงต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลกับภาครัฐ และเมื่อสวัสดิการสังคมขยายความออกไปไกลขึ้น คนก็ยิ่งต้องการประโยชน์จากมันมากขึ้นและมากขึ้น การเรียกร้องให้มีการกำกับควบคุมมากขึ้นๆ ก็ต้องใช้กำลังคนทำหน้าที่มากขึ้น และแล้วผลประโยชน์ก็ขยายกว้างไกลจนเกินกว่าที่รายได้ของประเทศจากภาษีจะรองรับได้
นอกจากปัญหาของการใช้จ่ายเกินตัวแล้ว สาเหตุอีกส่วนเป็นผลพวงมาจากปัญหา Sub Prime ซึ่งยังไม่จบ แต่เมื่อรัฐบาลทุกประเทศช่วยกันอัดฉีดสภาพคล่องเต็มที่จนประคองไปได้ คนที่กลัวก็หลงดีใจคิดว่าผ่านพ้นวิกฤติ Sub Prime ไปแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ เป็นแค่เพียงซื้อเวลาเท่านั้น
หากเพิ่มเพดานหนี้แล้ว ปัญหาในสหรัฐจะจบลงได้ไหม
หายใจคล่องขึ้น เพราะมีเงินจ่ายหนี้ที่ครบกำหนดในระยะสั้นนี้ได้ ไม่ต้องขึ้นชื่อว่าผิดนัดชำระหนี้ แต่ในระยะยาว ปัญหาก็ยังคงอยู่หากคนยังตกงานขนาดนี้และเศรษฐกิจยังขยายตัวต่ำ
ไม่มีใครแก้ปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวได้ด้วยการก่อหนี้เพิ่มขึ้นไปอีก ถ้ารัฐบาลไม่ปรับปรุงลดรายจ่ายต่างๆ ไม่เพิ่มอัตราภาษี ซึ่งสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขั้นสูงสุดของเขาปัจจุบันอยู่ที่ 35% ให้สูงขึ้น ก็แค่ช่วยแก้ปัญหาระยะสั้น เหมือนจ่ายหนี้บัตรเครดิตวีซ่าด้วยวงเงินเบิกล่วงหน้าจากมาสเตอร์การ์ด ผ่านไปอีกพักก็จะแย่ และจะแย่ยิ่งกว่าเดิม หากเศรษฐกิจสหรัฐโตไม่เร็วพอ ซึ่งก็คือไม่สามารถเพิ่มรายได้ได้ทันค่าใช้จ่าย ดังนั้น ต้องทำให้คนมีงานทำให้ได้ ในขณะที่ต้องเพิ่มภาษีคนรวย ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง รัฐจะได้มีรายได้เพิ่ม
ผลกระทบต่อตลาดทุนไทย เงิน ต้องมีที่ไป
ณ วันนี้ เงินสหรัฐยังมีสภาพคล่องล้นเหลือ เพราะรัฐอัดฉีดเงินลงไปแล้วแต่ธนาคารยังไม่ปล่อยกู้ เป็นแบบนี้แล้วเงินก็จะมาที่ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market --- EM) ซึ่งเอเชียดูดีที่สุด
ในเมื่อประเทศตะวันตกเช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ยังไม่พ้นจากปัญหาที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจและหนี้สิน เงินจึงต้องไหลไปในที่ที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เสี่ยงน้อยกว่า
Asia มีแนวโน้มการบริโภคจับจ่ายใช้สอยที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เขาเลยสนใจเอเชีย และไทยก็มีเศรษฐกิจที่มีศักยภาพการบริโภคได้ดีอยู่แล้ว ฝรั่งจึงสนใจและมองไทยยาวขึ้น จะทยอยเข้ามามากขึ้น ถ้าเราตั้ง ครม.ใหม่ได้โดยเป็นคนที่น่าเชื่อถือโดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจ และหากรัฐบาลใหม่ดำเนินนโยบายได้น่าเชื่อถือ ไม่ส่งผลแง่ลบต่อเศรษฐกิจ
การส่งออกของไทยมีการกระจายตัวดีขึ้น หากสหรัฐกับยุโรปแย่ เราก็ยังเลี้ยงตัวได้ เพราะเรามีการค้าขายกับพวกกันเองและในตลาดอื่นๆ ปัญหาภายในประเทศโดยรวมก็น้อย การทะเลาะเบาะแว้งทางการเมืองก็เป็นเรื่องปกติ ธรรมดาของคนไทย ไม่มีอะไรตื่นเต้น
ลงทุนในหุ้นไทยจึงดีกว่าหากมองระยะยาวแต่การเก็งกำไรสั้นๆ จะทำได้ยาก เพราะระดับ PE ปี 2008 ที่มีวิกฤติ Sub Prime อยู่ที่ 6-7 เท่า เท่านั้น แต่ตอนนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 13-14 เท่า การหาจังหวะทำกำไรจะยากขึ้น
หากมองว่าทั้งโลกแย่แล้ว ลงทุนหุ้นก็เสี่ยงสูงไปในภาวะที่ไม่แน่นอน ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไม่ว่าประเทศไหนก็เสี่ยงว่าเขาจะไม่คืนหนี้พันธบัตรที่เราไปลงทุน คิดแบบนี้เงินก็จะไหลไปอยู่ในสินทรัพย์ที่เสี่ยงน้อยที่สุดในภาวะการณ์แบบนั้น ทองคำซึ่งถือเป็น Safe Heaven จึงทำสถิติราคาสูงสุดใหม่ (New High) ให้เห็นตลอดเวลา
เราจึงควรจะกระจายการลงทุนไปในหลายๆ สินทรัพย์ และควรมีทองคำเอาไว้บ้างในพอร์ตการลงทุนของเรา
จากคุณ |
:
guruweb
|
เขียนเมื่อ |
:
27 ก.ค. 54 21:47:12
|
|
|
|