|
อ่านแล้วรู้สึกว่าหลายท่านกะๆเอาว่าทุนสำรองมีไว้ทำอะไร ควรมีเท่าไหร่ เลยเอาข่าวนี้มาแปะให้ครับ เป็นความรู้ดีว่าทุนสำรองมีไว้ทำอะไรบ้าง
------------------------------------------------------------------------------------ การนำเอาทุนสำรองมาใช้
ปัจจุบันมีการนำเสนอโดยรัฐบาลใหม่ให้นำเอาทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยมาใช้ประโยชน์ ซึ่งผมเห็นด้วยเพราะทุนสำรองของไทยนั้นผมเห็นว่ามีมากเกินความจำเป็นโดยตัวเลขในต้นเดือนสิงหาคมระบุว่า มีมูลค่าเท่ากับ 186,700 ล้านดอลลาร์ บวกกับฐานะซื้อเงินตราต่างประเทศสุทธิ (สัญญาที่จะต้องรับซื้อเงินตราต่างประเทศในอนาคต) อีก 26,600 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งสิ้น 213,300 ล้านดอลลาร์ เงินนี้มีมูลค่าคิดเป็นเงินบาททั้งสิ้นประมาณ 6.35 ล้านล้านบาทหรือมากกว่ารายได้ต่อปีของรัฐบาลไทย 3 เท่าและเท่ากับ 60% ของรายได้ของประเทศไทยทั้งปี ซึ่งหากคิดด้วยเหตุผลก็น่าจะเห็นด้วยว่าทุนสำรองฯ นั้นมีมากเกินพอ ตัวอย่างเช่นหากท่านผู้อ่านมีเงินรายได้ 330,000 บาทต่อปี (จีดีพีของไทยประมาณ 330,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี) ท่านจะเก็บเงินสดทิ้งเอาไว้ที่บ้านมากถึง 213,300 บาท (ประเทศไทยมีทุนสำรอง 213,300 ล้านดอลลาร์) หรือไม่ท่านก็คงจะตอบว่าท่านคงไม่ต้องมีเงินสดเก็บไว้มากเช่นนั้นและสมควรอย่างยิ่งที่จะลดปริมาณเงินสดลงโดยการลงทุนที่คุ้มค่า
เราไม่สามารถทราบได้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยนำทุนสำรองไปลงทุนอะไรบ้างและมีการจัดสรรสินทรัพย์อย่างไร เพราะไม่มีการเปิดเผย ทราบเพียงว่ามีทองคำ 130 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3% ของทุนสำรองทั้งหมด (ทำให้เราเข้าใจชัดเจนขึ้นว่าทุนสำรองที่ ธปท.มีนั้นมีจำนวนมากจริงๆ) แต่โดยรวมนั้นสินทรัพย์ส่วนใหญ่น่าจะเป็นเงินสกุลหลักๆ ของโลก เช่น เงินดอลลาร์ เงินยูโรและเงินเยน รวมทั้งการถือพันธบัตรของรัฐบาลประเทศดังกล่าวเพราะมีความมั่นคงและสภาพคล่องสูงสุด แต่สินทรัพย์ดังกล่าว (ทอง เงินสด และพันธบัตรรัฐบาล) จะให้ผลตอบแทนต่ำมาก เพราะทั้ง 3 กลุ่มประเทศหลักเผชิญปัญหาความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจและรัฐบาลก็มีหนี้สินมากแล้ว ทำให้ต้องหันมากระตุ้นเศรษฐกิจโดยการเพิ่มปริมาณเงินและลดดอกเบี้ยลงให้ต่ำที่สุด เช่น ประเทศสหรัฐนั้นดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ใกล้ศูนย์ ส่วนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปีจ่ายดอกเบี้ยเพียง 0.18% พันธบัตร 5 ปี ดอกเบี้ย 1% และพันธบัตร 10 ปี ดอกเบี้ย 2.2% ดังนั้น จะต้องยอมรับว่าทุนสำรองฯ ของประเทศไทยที่บริหารอยู่ปัจจุบันนั้นน่าจะให้ผลตอบแทนเพียง 2-3% ต่อปี ซึ่งดูจะไม่คุ้มค่าสำหรับประเทศไทยซึ่งยังมีความจำเป็นต้องเร่งพัฒนาเศรษฐกิจในอีกหลายด้าน นอกจากนั้น คนไทยก็น่าจะรู้สึกแปลกที่ประเทศไทยจะต้องไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่ร่ำรวยกว่าประเทศไทย เพราะการซื้อพันธบัตรคือการปล่อยกู้หรือให้สินเชื่อ เสมือนยาจกหาเงินให้มหาเศรษฐีกู้ที่ดอกเบี้ยต่ำนั่นเอง คนไทยนั้นมีรายได้ต่อคนประมาณ 5,200 ดอลลาร์ต่อปี ในขณะที่คนอเมริกันมีรายได้ต่อหัวประมาณ 48,700 ดอลลาร์ต่อปี
ประเทศไทยมีการค้า-ขายกับต่างประเทศมาก การส่งออกต่อปีประมาณ 200,000 ล้านดอลลาร์ และการนำเข้าประมาณ 180,000 ล้านดอลลาร์ จึงต้องมีทุนสำรองระหว่างประเทศที่พอเพียงเท่ากับมูลค่าสินค้านำเข้าประมาณ 3 เดือนตามหลักสากล ตลอดจนมีทุนสำรองเพียงพอกับการใช้คืนหนี้ต่างประเทศระยะสั้นทั้งหมด (ประมาณ 51,500 ล้านดอลลาร์) ดังนั้น ตามมาตรฐานดังกล่าวประเทศไทยควรมีทุนสำรองประมาณ 90,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งไม่ใช่ตัวเลขที่ต่ำเกินไปเพราะปัจจุบันประเทศไทยเกินดุลการค้า กล่าวคือ เราส่งออกมากกว่านำเข้า ทำให้มีเงินไหลเข้าประเทศในส่วนนี้ทุกเดือน ไม่ต้องไปกวนเงินทุนสำรองออกมาใช้ นอกจากนั้น เรายังกำหนดดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงกว่าประเทศหลักอย่างมาก เช่น ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 3.25% ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 2 ปีอยู่ที่ 3.48% แปลว่าจะมีเงินทุนไหลเข้ามาซื้อพันธบัตรในประเทศไทย ไม่ค่อยมีเงินไหลออก จึงไม่ต้องพึ่งพาทุนสำรองแต่อย่างใด กล่าวคือ ทุนสำรองที่ 90,000 ล้านดอลลาร์นั้นเพียงพออย่างแน่นอนในสภาวการณ์ที่ไทยเกินดุลการค้าและดอกเบี้ยของเราสูงกว่าดอกเบี้ยในประเทศหลักอย่างมาก
บางคนอาจค้านว่าจะต้องนำเอาทุนสำรองไปหนุนหลังเงินบาทในประเทศ ตรงนี้เป็นแนวคิดที่ถูกต้องหากประเทศไทยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่กับเงินสกุลหลัก เช่น หากเรากำหนดว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต้องเท่ากับ 30 บาท ต่อ 1 เราก็จำต้องมีเงินดอลลาร์มาหนุนหลังเงินบาทเท่ากับอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดเอาไว้ เช่น หากมีธนบัตรเงินบาทหมุนเวียนอยู่ 1.5 ล้านล้านบาท ก็จำเป็นต้องมีทุนสำรองที่เป็นเงินดอลลาร์อย่างน้อยเท่ากับ 50,000 ล้านดอลลาร์ แต่ในสภาวะปัจจุบันที่ไทยไม่ได้ผูกค่าเงินบาทเอาไว้กับเงินสกุลใดสกุลหนึ่ง ก็ไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่จะต้องมีทุนสำรองไปหนุนหลังเงินบาท เช่น ในภาวะปัจจุบันหากคิดจะหนุนหลังเงินบาทจะหนุนหลังด้วยเงินสกุลอะไรและสัดส่วนเท่าไร ซึ่งไม่จำเป็นเพราะเงินบาทปรับตัวขึ้น-ลงตามสภาวะตลาด เช่น หากบอกว่าจะหนุนหลังเงินบาทด้วยเงินดอลลาร์เช่นเดิมก็ต้องถามว่าจะเอาอัตราแลกเปลี่ยนใดเป็นเกณฑ์เพราะหากมีเงินไทยหมุนเวียนอยู่ 1.5 ล้านล้านบาททุนสำรองที่เป็นดอลลาร์เพียง 37,500 ก็เพียงพอ หากอัตราแลกเปลี่ยนคือ 40 บาทเท่ากับ 1 ดอลลาร์ แต่หากจะดันให้อัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับ 20 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ก็จะต้องมีทุนสำรองเป็นดอลลาร์เท่ากับ 75,000 เป็นต้น
นอกจากนั้น ธปท.จะบอกว่าทุนสำรองมีเหลือไม่มากเพราะ ธปท.มีหนี้สินและประสบผลขาดทุนเป็นเงินบาทเป็นจำนวนมาก แต่ตรงนี้เป็นประเด็นทางบัญชีเพราะ ธปท.จะพิมพ์เงินบาทออกมามากเท่าไหร่ก็ได้เพื่อบริหารจัดการกับหนี้สินดังกล่าว ธปท.เองเคยบอกว่าที่ขาดทุนมาโดยตลอดนั้นไม่ใช่ประเด็น เพราะ ธปท.ไม่ได้บริหารเพื่อให้กำไรและต้องการรักษาเสถียรภาพทางการเงินและมีส่วนช่วยให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกเป็นหลัก (จึงมักจะแทรกแซงไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป) ดังนั้น หากบอกว่าขาดทุนไม่เป็นไรก็ย่อมต้องมีศักยภาพในการบริหารการขาดทุนดังกล่าวได้โดยไม่ต้องเก็บทุนสำรองไว้ไม่ให้นำออกมาใช้ประโยชน์
ประเด็นจึงกลับมาที่ การนำเอาทุนสำรองออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ การเสนอให้เอาทุนสำรองออกมาซื้อบ่อน้ำมันนั้น ต้องยอมรับว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง และไม่มีสภาพคล่อง หากประเทศจะต้องใช้เงินก็อาจขายได้ไม่ทันท่วงที ตรงนี้คงจะต้องเน้นว่าการนำเอาทุนสำรองฯ มาใช้นั้นเป็นการนำเอาส่วนเกินออกมาใช้ เรื่องของสภาพคล่องจึงไม่น่าจะเป็นประเด็น ที่สำคัญ คนส่วนใหญ่คงจะเป็นห่วงว่าจะเกิดปัญหาคอร์รัปชันเกิดขึ้นกับการเอาเงินจำนวนมหาศาลไปลงทุนตลอดจนความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากการลงทุนเกิดความผิดพลาด (ซึ่งย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ) และจะต้องหาผู้รับผิดชอบ
ผมเห็นด้วยกับการนำเอาทุนสำรองมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศในระยะยาวให้คุ้มค่าที่สุด โดยขอเสนอให้นำเอาทุนสำรอง 10,000 ล้านดอลลาร์ออกมาใช้เป็นทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาไทยจำนวน 30,000 ทุน โดยอาจให้ทุนให้ไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกในแขนงต่างๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ เช่น หมอ พยาบาล วิศวกร ฯลฯ การมอบทุนการเรียนนั้นน่าจะให้ผลตอบแทนสูงสำหรับประเทศและน่าจะมีปัญหาคอร์รัปชันน้อยที่สุด นอกจากนั้น น่าจะเป็นนโยบายประชานิยมที่คุ้มค่ามากที่สุด (แม้ว่าอาจจะให้ประโยชน์กับนักศึกษาที่มาจากชนชั้นกลางเป็นสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอื่น)
จำนวนเงินที่นำเสนอนั้นมูลค่าไม่มากเมื่อเทียบกับทุนสำรองทั้งหมด (ไม่ถึง 5%) และเป็นการใช้เงินตราต่างประเทศไปใช้ศึกษาในต่างประเทศ จึงจะไม่สร้างปัญหาข้างเคียงในประเทศ (ปัญหาเงินเฟ้อ) ส่วนการดำเนินการทางบัญชีนั้นก็อาจให้รัฐบาลออกพันธบัตรเป็นเงินบาทมูลค่า 300,000 ล้านบาทให้กับ ธปท. แต่เป็นพันธบัตรที่ไม่จ่ายดอกเบี้ยและให้รัฐบาลคืนเงินต้นปีละ 300 ล้านบาท เป็นเวลา 1,000 ปี เป็นต้น
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/ceo-blogs/supavut/20110822/405629/การนำเอาทุนสำรองมาใช้.html
จากคุณ |
:
ขอบฟ้าบูรพา
|
เขียนเมื่อ |
:
1 ก.ย. 54 12:27:57
|
|
|
|
|