|
ถ้าว่างและสนใจ...เชิญอ่านก่อน สามารถคลายเครียดจากการเล่นหุ้น...ได้ระดับหนึ่ง
ผลการศึกษาของ อพท. สรุปได้ว่า
จากสภาพอุทยานแห่งชาติภูกระดึงที่มีลักษณะเป็นภูเขาหินตั้ง ทางขึ้นลงจึงเป็นทางลาดสูงชัน ซึ่งยากต่อการเดินทาง และใช้เวลาขึ้นลงเที่ยวละประมาณ ๖ ชั่วโมง นักท่องเที่ยว ที่จะไปเยี่ยมชมจึงจำกัดเฉพาะคนหนุ่มสาว และจำกัดเฉพาะช่วงวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมีแนวความคิดในการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัย ได้มีโอกาสท่องเที่ยวบนภูกระดึงและเพิ่มการกระจายรายได้ให้แก่ประชาชน โดยรอบภูกระดึง ในการเดินทางโดยกระเช้าไฟฟ้า นักท่องเที่ยวสามารถท่องเที่ยวบนภูกระดึงแบบไปเช้าเย็นกลับ ทำให้สามารถกระจายนักท่องเที่ยวตลอดช่วงฤดูท่องเที่ยว และลดความแออัดของนักท่องเที่ยวบนอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ตลอดจนสามารถควบคุมสภาวะแวดล้อมต่างๆ ให้เป็นไปตามขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่ โดยรูปแบบกระเช้าไฟฟ้าแบบเก๋ง ลักษณะการทำงานของระบบเป็นแบบใช้สายเคเบิ้ลขึงระหว่างสถานีต้นทางและสถานีปลายทาง โดยมีเสารองรับสายเคเบิ้ล ตามเส้นทางเป็นระยะโดยตลอด สายเคเบิ้ลวิ่งวนระหว่างสถานีต้นทางและปลายทางตลอดเวลาที่ใช้งาน โดยที่ตัวกระเช้าจะมีอุปกรณ์หนีบจับกับสายเคเบิ้ลอย่างปลอดภัย และใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการขึ้นลงของนักท่องเที่ยวระหว่างสถานีต้นทางและปลายทาง สำหรับตัวกระเช้าแบบเก๋งดังกล่าวจะประกอบด้วยโครงสร้างที่แข็งแรง ผู้โดยสารสามารถชมทัศนีย์ภาพโดยรอบได้จากช่องหน้าต่างกว้าง ซึ่งปิดมิดชิดด้วยพลาสติกใสที่มีความแข็งแรงสูง ผู้โดยสารไม่สามารถเปิด-ปิดประตูได้ด้วยตนเองในขณะเดินทาง จนกว่าจะถึงบริเวณสถานี ประตูจะเปิด-ปิดเองโดยอัตโนมัติ อัตราการขนถ่ายนักท่องเที่ยวมีให้เลือกตั้งแต่ ๓๐๐ ๑,๐๐๐ คน/ชั่วโมง ความเร็วของกระเช้าไฟฟ้า ๑๕ ๓๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง แนวเส้นทางในการสร้างกระเช้าไฟฟ้า จากการศึกษา ๓ เส้นทาง เส้นทางที่เหมาะสมที่สุด คือเส้นทางที่ ๑ เริ่มต้นที่จุดบริเวณใกล้เคียงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวศรีฐาน และสิ้นสุดที่บริเวณหลังแป มีระยะทางรวม ๓,๖๗๕ เมตร แนวเส้นทางอยู่ใกล้เคียงแนวทางเท้าขึ้นลงภูกระดึงในปัจจุบัน และอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้น 1A หากเลือกแนวเส้นทางนี้จะต้องทำการสร้างเสารองรับ ๑๖ จุด ใช้พื้นที่ในการก่อสร้างทั้งสิ้น ๕,๘๕๐ ตารางเมตร หรือ ๓.๑๖ ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ ๐.๐๐๑๕ ของพื้นที่อุทยานทั้งหมด เนื่องจากมีแนวเส้นทางสั้นที่สุด และการใช้พื้นที่ป่าน้อยที่สุดป่าบริเวณดังกล่าวเป็นป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ซึ่งไม่พบพันธุ์ไม้หายาก หรือใกล้สูญพันธ์ และเส้นทางอยู่ใกล้ขนานกับในแนวทางเดินเท้าขึ้น-ลงเดิม ซึ่งสัตว์ป่าเหล่านี้สามารถปรับตัวต่อการรบกวนได้ดี รองลงมาคือ แนวเส้นทางที่ ๒ และ ๓ ตามลำดับ โดยมีลักษณะสภาพทางด้านสิ่งแวดล้อมในแต่ละแนวเส้นทางที่มีการแผ้วถางป่าไม้มาก และไม่พบแนวพันธุ์ไม้หายากเช่นกัน สำหรับแนวเส้นทางที่ ๒ ในฤดูฝนจะมีช้างป่าเคลื่อนย้ายเข้ามาหากินทุกปี ส่วนแนวเส้นทางที่ ๓ พบว่ามีสัตว์ป่าที่มีสถานภาพถูกคุกคามหรือใกล้สูญพันธ์ ได้แก่ ลิงกัง เลียงผา หมูหริ่ง ชะมดแผงหางปล้อง พญากระรอกดำ และช้างป่าเป็นต้น และจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ ลูกหาบ และราษฎรในชุมชนใกล้เคียง มีความเห็นว่า การก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าในเส้นทางที่ ๑ มีความเหมาะสมมากที่สุด
การศึกษาผลกระทบ ผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ เพื่อให้การก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์น้อยที่สุด จึงจำเป็นต้องออกแบบให้กระเช้าลอยอยู่เหนือยอดไม้ตลอดแนวเส้นทาง วิธีการดังกล่าวจะทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้อย่างถาวรเฉพาะบริเวณพื้นที่ก่อสร้างเสาโครงสร้างเท่านั้น โดยทำการแผ้วถางป่าเฉพาะจุด ไม่ได้แผ้วถางป่าเป็นแนว ผลกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้จึงเกิดขึ้นน้อยมาก พื้นที่แผ้วถางป่าบริเวณเสาโครงสร้างประมาณ ๓.๑๖ ไร่ และ ๔.๐๓ ไร่ ในเส้นทางเลือกที่ ๑ และ ๒ ตามลำดับ ในระหว่างการก่อสร้างสามารถขนส่งเคลื่อนย้ายวัสดุอุปกรณ์ไปยังพื้นที่ก่อสร้างโดยใช้เฮลิคอปเตอร์ หรือกระเช้าลอยฟ้าชั่วคราว รวมถึงการนำปูนซีเมนต์ผสมเสร็จที่ใช้ในงานหล่อโครงสร้างจากหน่วยผสมปูนซีเมนต์ที่อยู่นอกพื้นที่อุทยานฯ เข้ามาเทในพื้นที่ก่อสร้าง และการนำโครงสร้างเสาเหล็กที่สร้างจากโรงงานที่อยู่ภายนอกพื้นที่อุทยานฯ ลำเลียงเข้ามาประกอบในพื้นที่โครงการได้ โดยสามารถลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดจากการผสมปูนและการตัดเชื่อมเหล็ก นอกจากนี้ในการเปิดพื้นที่ป่าสามารถกำหนดให้ผู้ก่อสร้างเก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์พืชและดินไว้ หลังจากที่ก่อสร้างแล้วเสร็จจึงนำดินที่เก็บไว้มาเทกลับไว้ในที่เดิมหรือใกล้เคียงพร้อมนำเมล็ดพันธุ์พืชมาปลูกไว้เช่นเดิม
ผลกระทบต่อสัตว์ป่า ได้แก่การรบกวนเส้นทางหากินของสัตว์ป่า เสาโครงสร้างเป็นสิ่งแปลกปลอม แต่มีจำนวนเพียง ๑๖ จุด และ ๑๘ จุด ในเส้นทางที่ ๑ และ ๒ ตามลำดับ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่น้อยมาก และคาดว่าสัตว์ป่าสามารถปรับตัวได้ในระยะเวลาอันสั้น
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจสังคม ได้แก่ความวิตกกังวลต่อโครงการในแง่ของความไม่แน่นอนของโครงการว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร ผลกระทบต่ออาชีพและรายได้ของลูกหาบที่อาจจะลดลง
ผลกระทบต่อการเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ พื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึงมีความเหมาะสมปานกลางเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีปัญหาในการเลี้ยงสัตว์ และการท่องเที่ยวเกินขีดความสามารถที่พื้นที่จะรองรับได้ และพื้นที่ผืนป่าถูกแยกออกจากผืนป่าข้างเคียงโดยเด็ดขาด (เดิมผืนป่าอุทยานแห่งชาติภูกระดึงเชื่อมติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ภูหอ) สัตว์ป่าขนาดใหญ่ไม่สามารถอพยพไปมาได้ เนื่องจากมีชุมชนตั้งอยู่ระหว่างกลาง ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ และยากต่อการแก้ไข คณะศึกษาวิจัยได้ให้ความเห็นร่วมกันว่า การที่จะเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึงขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ มีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยมาก และมีความเห็นให้พิจารณาพื้นที่อื่นแทน เช่น กลุ่มป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขาเขียว-อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว-อุทยานแห่งชาติตาดหมอก-เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตะเบา-เขาใหญ่ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง ซึ่งเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ต่อเนื่องกัน มีสัตว์ป่าชุกชุม และมีปัญหาน้อยกว่า
ทางเลือกในการที่จะไม่สร้างกระเช้าไฟฟ้า หมายถึงการคงสภาพให้การเดินเท้าไปตามความลาดชันยังคงเป็นทางเลือกเดียวที่จะเดินทางเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวบนยอดภูกระดึง ในกรณีนี้ นักท่องเที่ยวจำกัดเฉพาะคนหนุ่มสาวที่มีรายได้ต่ำ และนักท่องเที่ยวกระจุกตัวเฉพาะวันหยุดหลายวันในฤดูกาลท่องเที่ยว ทำให้เกิดคอขวดของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวภูกระดึง ส่งผลให้การจ้างงานเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวต่ำมาก และเกิดการกระจุกตัว รายได้ตลอดทั้งปีต่ำมาก ทำให้ไม่สามารถจัดหางบประมาณมาพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพราะไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน เมื่อไม่สามารถลงทุนได้ก็ไม่สามารถเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจได้
ทางเลือกในการที่จะก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง รัฐบาลมีนโยบายที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวและกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนท้องถิ่น กรณีการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงจึงน่าจะเป็นโครงการตัวอย่างที่ดีที่รัฐบาลสามารถจัดทำให้เป็นโครงการนำร่อง โดยใช้แนวความคิดของการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) และหลักการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติที่เป็นสากล เพื่อให้อุทยานแห่งชาติภูกระดึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติต่อไป
จากคุณ |
:
9เก้าก้าว
|
เขียนเมื่อ |
:
3 ก.ย. 54 09:16:52
|
|
|
|
|