เศรษฐกิจโลกป่วนเร้านักลงทุนแห่ทึ้งทองคำดันราคาไร้เสถียรภาพ
|
|
นับเป็นการเริ่มต้นเดือนที่ต้องลุ้นระทึกชนิดไม่กะพริบตาของบรรดานักลงทุนในตลาดที่กำลังมองหาหลุมหลบภัยเพื่อป้องกันการสูญหายสำหรับทรัพย์สินในกระเป๋าของตนเองกันเลยทีเดียว
สาเหตุเพราะแหล่งพักพิงที่ปลอดภัยที่สุดในโลกและติดอันดับยอดนิยมตลอดกาลอย่างทองคำกำลังตกอยู่ในสภาวะที่ปั่นป่วนผันผวนอย่างหนัก ชนิดที่เรียกได้ว่าเป็นราคาที่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงแบบวันต่อวัน
เห็นได้จากขณะที่ราคาทองคำเพิ่งจะพุ่งพรวดปรับตัวทำสถิติสูงสุดรอบใหม่ทะลุ 1,923.10 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ในตลาดนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา ราคาทองคำในวันที่ 7 ก.ย. หนึ่งวันถัดมา กลับปรับตัวหล่นมาอยู่ที่ 1,872.80 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์
แน่นอนว่าราคาที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ของทองคำในตลาดโลกสืบเนื่องมาจากความหวาดวิตกกังวลที่มีต่อปัญหาเศรษฐกิจทั้งในยุโรปและในสหรัฐที่เริ่มส่งสัญญาณเข้าสู่ภาวะถดถอยแบบเห็นได้ชัด
ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐที่ไม่กระเตื้องขึ้น และอุปสรรคปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป ซึ่งกรีซส่อแววว่าอาจจะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือตามกำหนด ส่วนทางด้านเยอรมนี หัวหอกคนสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้ก็กำลังเผชิญหน้ากับความขัดแย้งภายในประเทศ ซึ่งไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลเยอรมนีจะเอาเงินภาษีประชาชนไปอุ้มประเทศที่ไร้ระเบียบวินัยทางการคลัง
สถานการณ์ทั้งหมดทั้งมวลข้างต้นทำให้นักลงทุนต่างพากันเทขายหุ้นเพื่อไถลออกจากตลาดหลักทรัพย์ และเข้าสู่ตลาดทองคำที่ทำให้อุ่นใจได้มากกว่าว่าสินทรัพย์ของตนเองยังอยู่ครบดีอยู่ในกระเป๋า
แรงเทขายดังกล่าวชวนให้ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งพากันออกมาเตือนนักลงทุนในตลาดด้วยความกังวลว่าอาจจะเกิดฟองสบู่แตกโพละในทองคำเอาได้ง่ายๆ
ทว่า ด้วยคุณสมบัติของทองคำที่ไม่ว่าอย่างไรก็เหมาะกับการเป็นแหล่งหลบภัยมากกว่าการเก็งกำไร บวกกับการที่รัฐบาลของประเทศใหญ่ๆ อย่างสหรัฐ ซึ่งถือเป็นสกุลเงินหลักของโลก ยังคงมีแนวโน้มที่จะพิมพ์ธนบัตรอัดฉีดเข้าระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในอนาคตอันใกล้ ส่งผลให้นักลงทุนที่ส่วนใหญ่นิยมเก็งกำไรระยะสั้น ลดความต้องการปริมาณทองคำ
ทั้งนี้ มาร์ก เฟเบอร์ส นักลงทุนและนักวิเคราะห์ให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กสรุปว่า ถ้านักลงทุนซื้อทอง นั่นหมายความว่านักลงทุนต้องการหลักประกันในสินทรัพย์กรณีที่ระบบล่มหรือเกิดปัญหากับตลาดการเงิน
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่จะมีการเทขายทองคำออกมาเป็นระยะๆ ของนักลงทุนในตลาด จนทำให้ราคาทองคำร่วงเร็ว หลังจากที่ทะยานขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากสภาพเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันส่งผลให้บรรดานักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดทองคำต่างเห็นพ้องต้องกันว่า นับจากนี้จนถึงสิ้นปี หรืออาจจะลากยาวไปถึงช่วงต้นปีหน้า โลกคงไม่สามารถคาดหวังเสถียรภาพในราคาทองคำได้มากนัก
นอกจากนี้ ยิ่งเมื่อบวกกับนโยบายล่าสุดของรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ที่มีผลบังคับใช้ทันทีในวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา บรรดานักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งยิ่งคาดการณ์จนตัวเกร็งกันว่า ราคาทองคำนับจากนี้จนถึงปลายปีมีสิทธิแตะระดับ 2,000 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ แทบไม่ต้องลุ้นให้เมื่อยต่อไปเหมือนก่อนหน้านี้
เพราะทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับนักลงทุนในตลาด ณ ขณะนี้เหลือไม่มากนัก
ทั้งนี้ เป็นอันรู้กันดีในบรรดานักลงทุนอยู่แล้วว่า หากสภาพเศรษฐกิจโลกตกอยู่ในความเสี่ยงเมื่อใด ให้รีบปล่อยมือจากทรัพย์สินร้อนๆ ที่มีอยู่แล้วไปกอดของเย็นที่ปลอดภัยอย่างทองคำทันที
ทว่า นอกเหนือจากทองคำแล้ว ที่ผ่านมายังมีทางเลือกที่ปลอดภัยอื่นๆ อีก อย่างสกุลเงินเหรียญสหรัฐ สกุลเงินเยน สกุลเงินฟรังก์ หรือพันธบัตรของรัฐบาลในประเทศต่างๆ ที่มีสถานะมั่นคง โดยนักวิเคราะห์สังกัดซีเอ็นเอ็นรายหนึ่งมองว่า ชั่วโมงนี้หนีไม่พ้นพันธบัตรของตลาดประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างบราซิล จีน หรืออินเดีย
แน่นอนว่า ความเชื่อมั่นต่อเงินเหรียญสหรัฐในขณะนี้เป็นศูนย์ ทางเลือกจึงเบนมาที่เงินเยนและเงินฟรังก์ จึงไม่น่าแปลกใจที่ค่าเงินของทั้งสองสกุลเงินในช่วงไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้จนถึงปัจจุบัน แข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับสกุลยูโร หรือเหรียญสหรัฐ
แต่ไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นและสวิตเซอร์แลนด์ต้องการแม้แต่น้อย เพราะค่าเงินที่แข็งขึ้นหมายถึงศักยภาพในการแข่งขันของภาคการส่งออกที่ย่ำแย่ลง
เมื่อยิ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศจำต้องพึ่งพาภาคการส่งออกเพื่อการเติบโต จึงเป็นเรื่องที่ไม่เหนือความคาดหมายแม้แต่น้อยที่เห็นรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศเดินหน้าแทรกแซงค่าเงินเยนของตนเองระลอกแล้วระลอกเล่า แต่ก็ยังไม่เห็นผลเท่าไรนัก
ขณะที่รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ โดยธนาคารกลางมาแบบคาดไม่ถึง เมื่อหาญกล้าประกาศกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนขั้นต่ำไว้ที่ 1.20 ฟรังก์ต่อยูโร เนื่องจากอาจต้องใช้เงินมากถึง 2 แสนล้านฟรังก์เพื่อรักษาเพดานค่าเงิน หลังมาตรการควบคุมค่าเงินก่อนหน้านี้ไม่ประสบผลเพราะวิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซนกระตุ้นให้นักลงทุนแห่มาถือเงินสกุลเงินฟรังก์ ซึ่งถูกมองว่าปลอดภัย จนค่าเงินฟรังก์สูงทำสถิติ
สภาพการณ์ดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนเริ่มมองหาสกุลเงินปลอดภัยตัวใหม่อย่างสกุลเงินของแคนาดา หรือสกุลเงินเหรียญออสเตรเลีย จนทำให้รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นเริ่มหนาวๆ ร้อนๆ
ทั้งนี้ บรรดานักวิเคราะห์เริ่มคาดการณ์กันว่ายาแรงจากรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์อาจทำให้เดิมพันในตลาดค้าเงินตราเพิ่มสูงขึ้น เพราะแต่ละประเทศต่างมุ่งปกป้องการส่งออกของตน และการปิดกั้นนักลงทุนที่มองหาแหล่งพักเงินที่ปลอดภัยจากความผันผวน ยิ่งเพิ่มความไร้เสถียรภาพในตลาดการเงินโลก
ขณะที่เมื่อหันกลับมามองในตลาดพันธบัตรของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ข้างต้น ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนพึ่งพิงการส่งออกกับสหรัฐและยุโรปเพื่อการเติบโตเป็นหลัก สถานะทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้จึงไม่แคล้วโดนลากให้ชะลอตัวตามลงไปด้วยไม่ได้
กลายเป็นว่าเมื่อพิจารณาเหตุผลแวดล้อมทั้งหมด แหล่งพักเงินที่ปลอดภัยที่สุดในขณะนี้เลยเหลือให้เลือกเพียงแค่ทองคำ
เพราะไม่ว่าเหตุการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ทองคำคือโลหะที่มีค่าในตัวของมันเอง และตราบเท่าที่นักลงทุนยังคงต้องการความปลอดภัยเพื่ออุ่นใจในสภาพเศรษฐกิจที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ตลาดทองคำก็มีสิทธิปั่นป่วนต่อไป
http://www.posttoday.com/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B9%8C/%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8/109629/%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B8%B6%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E
จากคุณ |
:
ขอบฟ้าบูรพา
|
เขียนเมื่อ |
:
8 ก.ย. 54 10:56:18
|
|
|
|