|
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1989/2552
พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4
ข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 ที่กำหนดให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในกรณีที่บัตรเครดิตสูญหาย ถูกลักขโมย หรือถูกใช้โดยบุคลอื่นโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ถือบัตร (จำเลย) ที่ได้แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ศูนย์บัตรเครดิตของธนาคาร (โจทก์) ทราบแล้วโดยพลันเพื่อให้ระงับการใช้บัตรเครดิต ในภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นก่อนมีการแจ้งดังกล่าวในจำนวนเงินที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตของผู้ถือบัตร ซึ่งถูกนำไปใช้โดยมิชอบ รวมถึงภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นหลังจากแจ้งให้ธนาคารทราบแล้วไม่เกิน 5 นาที นอกจากจะขัดแย้งกับข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 6 วรรคสอง แล้ว ยังถือเป็นข้อสัญญาที่ทำให้จำเลยต้องรับภาระในหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตที่จำเลยไม่ได้ก่อขึ้นและไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย ทั้งโจทก์ยังมีทางแก้ไขความเสียหายของโจทก์ได้โดยหากโจทก์ตรวจสอบแล้วปรากฎว่าลายมือชื่อผู้ใช้บัตรเครดิตในเซลสลิปไม่ตรงกับลายมือชื่อของจำเลยผู้ถือบัตร โจทก์สามารถเรียกเงินที่ได้จ่ายไปคืนจากร้านค้าได้ ฉะนั้น เมื่อโจทก์ได้รับแจ้งจากจำเลยว่าบัตรเครดิตได้สูญหายไปเพื่อขอให้โจทก์ระงับการใช้บัตรเครดิต โจทก์จะต้องรีบดำเนินการให้จำเลยโดยเร็ว ก็จะทราบได้ทันทีว่าลายมือชื่อผู้ใช้บัตรเครดิตในเซลสลิปไม่ตรงกับลายมือชื่อของจำเลย แสดงว่าร้านเจมาร์ทไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบลายมือชื่อในเซลสลิป ย่อมทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากร้านเจมาร์ทแทนการมาเรียกเก็บจากจำเลยได้ ซึ่งเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่โจทก์มิได้ทำเช่นนั้น โดยเห็นว่ามีข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 ที่ให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่แล้ว ถือเป็นการเอาเปรียบจำเลยเกินสมควรและเป็นการผลักภาระให้จำเลยต้องรับผิดเกินกว่าวิญญูชนทั่วไปจะคาดหมายได้ตามปกติ อันเข้าลักษณะข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ข้อตกลงการใช้บัตรวีซ่า ข้อ 8 จึงไม่มีผลใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์
-------------------------------------------------
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2543 จำเลยเป็นสมาชิกบัตรเครดิตวีซ่าธนาคารฮ่องกง ประเภทบัตรคลาสสิคของโจทก์ จำเลยใช้บัตรของโจทก์ชำระราคาสินค้าและบริการตลอดมา จนกระทั่งวันที่ 23 ตุลาคม 2544 จำเลยค้างชำระหนี้โจทก์เป็นต้นเงินจำนวน 24,400 บาท ดอกเบี้ยจำนวน1,552.90 บาท และเบี้ยปรับจำนวน 300 บาท ซึ่งจำเลยจะต้องชำระภายในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2544 แต่ไม่ชำระ โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 24,400 บาท นับแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2544 จนถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 621.69 บาท รวมเป็นเงิน 26,745.59 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 26,745.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 24,400 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดตามยอดหนี้ที่โจทก์ฟ้องระหว่างวันเวลาที่มีการใช้บัตรเครดิตจำเลยเดินทางไปเมืองฮ่องกงและบัตรหายไป มีผู้นำบัตรของจำเลยไปใช้โดยปลอมลายมือชื่อของจำเลยขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 24,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2544 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
จำเลอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้มีทุนทรัพย์ไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลล่างได้วินิจฉัยมาจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นสมาชิกบัตรเครดิตวีซ่าธนาคารฮ่องกงประเภทบัตรเครดิตคลาสสิคของโจทก์ จำเลยได้ใช้บัตรเครดิตดังกล่าวของโจทก์ชำระราคาสินค้าและบริการตลอดมา ระหว่างวันที่ 21 กรกฎาคม 2544 เวลาประมาณ 8 นาฬิกา ถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2544 จำเลยเดินทางโดยสารการบินจากประเทศไทยไปพักอยู่ที่เมืองฮ่องกงตามหลักฐานหนังสือเดินทางและตั๋วเครื่องบินเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 บัตรเครดิตดังกล่าวมีผู้ลักเอาไปจากกระเป๋าเดินทางของจำเลยโดยได้นำไปใช้เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2544 เวลา 11.02 นาฬิกา และเวลา 11.05 นาฬิกา ที่ร้านเจมาร์ทในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว รวมเป็นเงินจำนวน 24,400 บาท ต่อมาเมื่อจำเลยทราบว่าบัตรเครดิตดังกล่าวหายไป จำเลยได้โทรศัพท์แจ้งศูนย์บัตรเครดิตของโจทก์ทราบ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2544 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา เพื่อให้ระงับการใช้บัตรเครดิตดังกล่าว และลายมือชื่อผู้ใช้บัตรในเซลสลิปทั้งสองรายการตามเอกสารหมาย ล.3 ใช้ชื่อว่ารุ่งระวี ส่วนลายมือของจำเลยตามที่ปรากฎในข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิต ตามเอกสารหมาย จ.5 ใช้ชื่อว่า เรืองรวี
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรวีซ่า ตามเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 8 เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคแรก บัญญัติว่า ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพหรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพหรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น กับบัญญัติไว้ในวรรคสามว่า ข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง การที่มีข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรวีซ่าตามเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 8 ที่กำหนดให้จำเลยซึ่งถือเป็นผู้บริโภคต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้า ในกรณีที่บัตรเครดิตสูญหาย ถูกลักขโมย หรือถูกใช้โดยบุคคลอื่นโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ถือบัตร (จำเลย) ที่ได้แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ศูนย์บัตรเครดิตของธนาคาร (โจทก์) ทราบแล้วโดยพลัน เพื่อให้ระงับการใช้บัตรเครดิตดังกล่าว ในภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นก่อนมีการแจ้งดังกล่าวในจำนวนเงินที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตของผู้ถือบัตร (จำเลย) ซึ่งถูกนำไปใช้โดยมิชอบ รวมถึงภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นหลังจากแจ้งให้ธนาคาร (โจทก์) ทราบแล้วไม่เกิน 5 นาที ซึ่งนอกจากจะขัดแย้งกับข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรวีซ่าเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 6 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า ธนาคาร (โจทก์)จะระงับการเรียกเก็บเงินจากผู้ถือบัตร (จำเลย) หากผู้ถือบัตรปฏิเสธว่ามิได้เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าหรือเป็นผู้ขอรับบริการ...ฯลฯ แล้ว ยังถือเป็นข้อสัญญาที่ทำให้จำเลยต้องรับภาระในหนี้ที่เกิดขึ้นจากการใช้บัตรเครดิตที่จำเลยไม่ได้ก่อขึ้นและไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย ทั้งโจทก์ยังมีทางแก้ไขความเสียหายของโจทก์ในกรณีนี้ได้ ซึ่งตามคำเบิกความตอบคำถามค้านของนายปฏิภาณ ผู้รับมอบอำนาจช่วงของโจทก์ได้ความว่าหากโจทก์ตรวจสอบแล้วปรากฎว่าลายมือชื่อผู้ใช้บัตรเครดิตดังกล่าวในเซลสลิปไม่ตรงกับลายมือชื่อของจำเลยผู้ถือบัตร โจทก์สามารถเรียกเงินที่ได้จ่ายไปคืนจากร้านค้าได้ และลายมือชื่อผู้ใช้บัตรในเซลสลิป ตามเอกสารหมาย ล.3 ไม่ตรงกับลายมือชื่อของจำเลยผู้ถือบัตร ฉะนั้น เมื่อโจทก์ได้รับแจ้งจากจำเลยผู้ถือบัตรว่าบัตรเครดิตดังกล่าวได้สูญหายไปเพราะมีคนมารื้อค้นเอาไปจากกระเป๋าเดินทางของจำเลยเพื่อขอให้โจทก์ระงับการใช้บัตรเครดิตดังกล่าว ถือเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องรีบดำเนินการให้จำเลยโดยเร็ว เพราะคงมีผู้ถือบัตรเครดิตของโจทก์เพียงไม่กี่รายที่มาแจ้งต่อโจทก์เช่นนี้ ก็จะทราบได้ทันทีว่าลายมือชื่อผู้ใช้บัตรเครดิตดังกล่าวในเซลสลิปดังกล่าวไม่ตรงกับลายมือชื่อของจำเลยตามที่ปรากฎอยู่ในข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรวีซ่าเอกสารหมาย จ.5 เนื่องจากมีความแตกต่างกันเห็นได้ชัดเจน แสดงว่า ร้านเจมาร์ทไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบลายมือชื่อในเซลสลิปดังกล่าวว่าตรงกับลายมือชื่อผู้ถือบัตรในบัตรเครดิตดังกล่าวหรือไม่แม้แต่น้อย ย่อมทำให้โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากร้านเจมาร์ทแทนการมาเรียกเก็บเงินจากจำเลยได้ ซึ่งเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่โจทก์ก็หาได้ทำเช่นนั้นไม่ โดยเห็นว่ามีข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรวีซ่าตามเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 8 ที่ให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่แล้ว ถือเป็นการเอาเปรียบจำเลยเกินสมควรและเป็นการผลักภาระให้จำเลยต้องรับผิดเกินกว่าวิญญูชนทั่วไปจะคาดหมายได้ตามปกติ อันเข้าลักษณะข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บัตรวีซ่าตามเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 8 จึงไม่มีผลใช้บังคับได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ
จากคุณ |
:
ขุนนนท์
|
เขียนเมื่อ |
:
12 ก.ย. 54 16:53:22
|
|
|
|
|