Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
เอาวิธีป้องกันความผิดพลาด "การทำธุรกรรมแบงค์" มาฝาก{แตกประเด็นจาก I11042496} ติดต่อทีมงาน

เอาวิธีป้องกันความผิดพลาด”การทำธุรกรรมแบงค์” มาฝาก

ว่าด้วยเรื่อง  การใช้บริการตู้เซฟนิรภัย
หลายคนที่เริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวได้  ย่อมมีความคิดที่จะใช้บริการแบงค์หลาย ๆ ด้าน
เพื่อความสะดวกสบายกับตนเอง  มองหาแต่แบงค์ที่มีชื่อเสียง   โดยที่ตนเองไม่มีความรู้เบื้องต้น
ในธุรกรรมที่จะทำกับแบงค์มาก่อน  อาจจะตกเป็นเบี้ยล่างได้ในที่สุด
วันนี้  ยิ้มใส ขอนำวิธีป้องกันภัย  การใช้บริการตู้นิรภัย มาฝาก
เพื่อจะได้เป็นวิทยาทานแก่เยาวชนคนรุ่นหลังต่อไป
-หลักฐานที่นำไปยื่นแสดงตน  เพื่อเปิดใช้บริการตู้นิรภัย  ที่เป็นหลักใหญ่ มีดังนี้
-บัตรประจำตัวประชาชน
-สมุดเงินฝากสะสมทรัพย์  หรือบัญชีกระแสรายวัน(ไว้ชำระ ตัดค่าเช่าตู้นิรภัยในปีต่อไป )
เมื่อติดต่อแบงค์ และได้รับการพิจารณาว่า  เป็นบุคคลเหมาะสมจะเปิดใช้ตู้นิรภัยได้แล้ว
พนง.แบงค์ก็จะนำเอกสารสัญญาเช่า  พิมพ์ข้อมูลของผู้ใช้บริการมาให้เซ็น  โดยทั่วไป
จะมีสำเนาสัญญาอีกหนึ่งฉบับ(คู่สัญญา)   มอบให้ผู้ใช้บริการนำกลับบ้านได้
อย่าลืม!  อย่าลืม!!!  ต้องอ่านสัญญาก่อนเซ็น  โดยเฉพาะช่องว่างที่ พนง.เติมคำ
พิมพ์ใส่ในแบบฟอร์ม  ตรงกับความเป็นจริงกับข้อมูลที่ตัวผู้เช่าให้ไว้หรือไม่
ส่วนใหญ่สาระสำคัญที่ให้เติม  ก็จะมีชื่อที่อยู่  เลขที่ตู้ที่เช่า  (เบอร์ตู้อะไร)
แบงค์ส่งมอบกุญแจจำนวน กี่ดอก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นจำนวน ๒ ดอก
กรุณาอย่าทำมันหายนะ  ไม่เช่นนั้นท่านผู้เช่าจะเจ็บตัวอีก หากท่านผู้เช่าส่งคืนแบงค์
ไม่ครบ แบงค์จำริบเงินมัดจำค่ากุญแจ แทนที่จะมอบเงินคืนค่ามัดจำกุญแจแก่ผู้เช่า
และหากท่านอยู่ตจว.  ท่านผู้เช่าที่ทำกุญแจหายจะต้องเสียเงินค่าเดินทาง ค่าเบี้ยเลี้ยง
ให้พนง.บริษัทตู้เซฟ (แทนแบงค์)   ที่มาทำลายกุญแจ(ระเบิดกุญแจ)  ตู้ของท่าน
และอย่าลืมเช็คด้วยว่า  มีพนง. เซ็นครบตามจำนวนช่องในสัญญา หรือมีพยาน
เซ็นครบตามจำนวนในแบบฟอร์มหรือไม่
หลังจากนั้น  จะต้องเซ็นในการ์ดตัวอย่างลายมือชื่อ (บัตรแข็ง)  ๒ ฉบับ
ต้องเซ็นด้วยลายเซ็นที่เหมือนกันทั้ง ๒ ฉบับ (แบงค์เก็บไว้ทั้ง ๒ ฉบับ)และผู้ใช้บริการต้องจดจำ
ด้วยว่า  ลายเซ็นที่ใช้ในการ์ดตัวอย่าง  เซ็นด้วยรูปแบบไหน  ภาษาไทย อังกฤษ หรือจีน
บางคนมีธุรกรรมกับแบงค์หลายประเภท  แต่ละประเภทได้ให้ลายมือชื่อไว้แตกต่างกัน
ดังนั้นจะไปโทษพนง.แบงค์ไม่ได้  เมื่อ พนง.ตรวจลายมือชื่อตรวจพบไม่เหมือนลายมือ
ชื่อเดิมที่เคยให้ไว้  และได้ปฏิเสธไม่ให้เข้าไปเปิดตู้นิรภัย  บางครั้งแบงค์มีการโยกย้าย
พนง. บ่อย  และถี่มากขึ้น จึงไม่มีการเช็คหรือจดจำใบหน้าผู้เช่าได้ทุก ไ คน  แบงค์จึงต้อง
ตรวจใช้วิธีการตรวจสอบลายมือชื่อแทน  
ผู้เช่าจะต้องชำระเงิน  ๒ ส่วน  คือค่เช่าตู้นิรภัย  (เก็บเป็นรายปี  ปีละครั้ง)
ปีแรกที่เช่า  ต้องชำระเป็นเงินสด ปีต่อไปจะตัดเงินจากบัญชีของท่านผู้เช่า
ส่วนที่ ๒ เป็นเงินค่ามัดจำกุญแจ จะคืนให้ผู้เช่า  เมื่อยกเลิกสัญญา และได้
ส่งคืนมอบกุญแจครบทุกดอก  ตามระบุไว้ในสัญญาเช่าเท่านั้น
ค่าใช้จ่ายทั้งสองนี้  จะอยู่ในใบเสร็จรับเงิน  ฉบับเดียว  หรือแยกฉบับก็ได้
สำหรับใบเสร็จที่ระบุเป็น ค่ามัดจำกุญแจตู้นิรภัย  ควรเก็บรักษาไว้  จนกว่า
จะมีการยกเลิกสัญญา  และได้รับเงินมัดจำคืน
จากนั้น  พนง.แบงค์ก็จะนำท่านผู้ใช้บริการไปเปิดตู้  ที่ลูกค้าทำสัญญาเช่าไว้
แม้ท่านผู้เช่าจะไม่มีอะไรไปเก็บวันนั้นก็ตาม  ควรขึ้นไปทดสอบ เปิด-ปิดกุญแจตู้ที่ตนเองเช่า
หากจะป้องกันความผิดพลาดของผู้เช่าเอง  ก็ควรทำสมุดทะเบียนบันทึก  ตี  ๓  ช่อง
ช่องแรก “  วันที่นำทรัพย์สินไปเก็บ”
ช่องที่สอง “รายการทรัพย์สินที่นำมาเก็บ และจำนวนชิ้น”
ช่องสุดท้าย “  วันที่นำทรัพย์สินออก”  ป้องกันความสับสน  ป้องกัน
โรคลืม ได้ไม่มากก็น้อย   หรือจะถ่ายรูปไว้คอยเตือนความจำ ก็จะดียิ่งขื้น
แต่สำหรับท่านที่ทำสมุดทะเบียนนำทรัพย์สินเข้า  หรือออก  ท่านจะมีเครื่องมือ
เตือนความทรงจำเป็นอย่างดี ๑ ชิ้น  และจะได้เป็นหลักฐานติดตัวว่าท่านผู้เช่า
ได้เข้า – ออกในธุรกรรมนี้กับแบงค์  วันไหน  ปีไหน คิดว่าน่าจะเป็นหลักฐาน
ที่น่าเชื่อถือในชั้นศาล ได้ไม่มากก็น้อย
แต่อย่าคิดใช้เป็นหลักฐานว่าท่านผู้เช่ามีทองเท่าไร  มีแหวนกี่วงค์  มีเพชรกี่กะรัต
เพราะเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจนกันต่อไปว่า  ทรัพย์สินเหล่านั้นเป็นของแท้  หรือของปลอม
และจำนวนเท่าไร   ต้องไม่ลืมด้วยว่า  แบงค์เปิดบริการให้เช่าตู้(เก็บทรัพย์สิน)   ไม่ได้รับฝาก
ทรัพย์สินจากผู่เช่า   ซึ่งไม่เหมือนกับกับฝากเงิน    ที่พนง.แบงค์  ได้พิสูจน์แล้วว่า  
ท่านได้ฝากเงินวยจำนวนที่ถูกต้อง  และเป็นเงินที่ใช้ได้ตามกฏหมาย
หลังจากเก็บทรัพย์สินไว้เรียบร้อยแล้ว  ขอแนะนำว่า  ควรจะมีกุญแจเล็ก ๆ
คล้องตู้นิรภัยอีกชั้นหนึ่ง  เขย่าตู้เซฟ  ทดสอบความแข็งแรงของตู้ด้วย  และขยับปิดเปิด
ฝาครอบตู้อีกครั้งหนึ่ง เพราะตู้เซฟส่วนใหญ่  จะเป็นฝาปิดเปิดแบบสไลด์   บางครั้ง
ดูเหมือนปิดดีแล้วแต่ฝาด้านท้ายตู้  ลิ้นฝายังไม่ยึดติดกับรางของตัวตู้  ก็มี จึงควรตรวจสอบ
ให้ดี ก่อนเอาตู้เข้าเก็บไว้ในเซฟ  และควรตรวจสอบด้วยว่า  บนโต๊ะที่แบงค์ตั้งไว้
บริการลูกค้าเช่าตู้  มีสิ่งของหลงลืมไว้หรือไม่ กรณีหลงลืม  มีอยู่หลายครั้ง
เป็นได้ทั้งเครื่องเพชร  นาฬิกา หรือโฉนดที่ดิน  เกิดขึ้นแล้ว สูญหายบ้าง  ได้คืนบ้าง ก็มี
ปรากฏบ่อย ๆ ลงในวารสารของธนาคาร ทีประกาศเกียรติคุณคนของแบงค์ เก็บคืนส่งเจ้าของ
ก่อนอออกจากห้องนิรภัย    ผู้เช่าตู้ควรจะกดทุบ(เบา ๆ) ทดสอบว่าประตูตู้นริภัย
ปิดเข้าเรียบร้อยหรือไม่  แล้วทดลองดึงประตูตู้นิรภัย  ว่าเปิดได้อีกหรือไม่โดยไม่
ได้ใช้กุญแจเปิด
วิธีป้องกันภัยเบื้องต้นแค่นี้   ผู้เช่าก็จะกลับบ้านด้วยความเชื่อมั่นในระบบแบงค์
พอสมควร  ไม่นอนผวา  เสียวหลังอีกต่อไป
ที่สำคัญ  อย่าลืม  ต้องมีสัญญา(คู่ฉบับ) เก็บกลับบ้านเสมอ  เมื่อมีการทำนิติกรรม
สัญญากับแบงค์  เปรียบเสมือนว่า  ผู้เช่าตู้เป็นผู้ถือด้ามจับดาบ  ขณะที่แบงค์ถือคมดาบ
และมีเชือก (สัญญา) ผูกมัดไว้  หนีไปไหนไม่ได้ มีแต่บาดเจ็บ(ความรับผิดชอบ)
ทุกครั้ง    หากมีการขยับมือที่โดนเชือกผูกติดไว้
ขอแนะนำผู้เช่าตู้อีกประการหนึ่ง
ควรจะมีการเปิดตู้นิรภัยที่ตนเองเช่าอยู่  อย่างน้อยปีละ  ๒-๓ ครั้ง
หากมีการยกเลิกสัญญาเช่าตู้นิรภัยในเวลาต่อมา ถ้าแบงค์ไม่มีการระบุ
ไว้ในหลังสัญญาเช่า  ว่าด้วยการยกเลิกสัญญา  ผู้เช่าควรจะให้พนง.แบงค์
บันทึกไว้ด้วย  (อย่างน้อยจะต้องมีข้อความที่ระบุถึง)  จำนวนกุญแจที่ผู้เช่า
ได้ส่งมอบคืนแก่ธนาคารนั้นครบถ้วนแล้ว   ในวันยกเลิกสัญญา  และมีลายมือชื่อ
พนง.ที่รับผิดชอบเซ็นรับทั้งสัญญา  และคู่สัญญา หากเป็นแบบฟอร์มต่างหากของ
แบงค์ก็จะดียิ่งขึ้น

ยิ้มใส  หวังว่า  สิ่งเหล่านี้ที่เล่ามา   น่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะ
กับนักธุรกิจรุ่นใหม่  รุ่นหนุ่มสาว  ที่สร้างฐานะด้วยฝีไม้ลายมือของตนเอง
และไม่มีคนแนะแนวให้   ขอให้ประสพแต่ความโชคดีตลอดไป
 จาก
ยิ้มใสวัยใกล้เกษียณ

จากคุณ : yimsai
เขียนเมื่อ : 19 ก.ย. 54 14:41:22




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com