ตั้งกระทู้แบบนี้น่าอายตรงไหน .... มีแต่คนที่มาอ่านน่ะแหละที่จะอายแทน
อายุแค่นี้ คิดการณ์ใหญ่ได้ขนาดนี้ซะแระ ^^
ความเห็นส่วนตัวนะ
กองที่ 1 เผื่อฉุกเฉิน
ข้อจำกัด : กองเงินกองนี้ ควรมีสภาพคล่องในการแลกกลับออกมาเป็นเงินสดได้ในเวลาไม่นาน ดังนั้นเงินก้อนนี้ควรหลีกเลี่ยงการนำไปลงในประกันชีวิตแบบออมทรัพย์, หุ้นที่ไร้สภาพคล่อง, กองทุน LTF,RMF ฯลฯ
ช่องทางการลงทุน : ปกติแล้ว มีหลาย option ที่สามารถแปลงจากสินทรัพย์กลับมาเป็นเงินสดได้เร็ว แล้วแต่การรับความเสี่ยง
- กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) พวกกองทุนตราสารหนี้ที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี หรือกองทุนตลาดเงินที่แลกเปลี่ยนกลับเป็นตัวเงินได้ใน 1 วันทำการ (เช่น T-Cash ของธนชาต) อย่างตัวที่ จขกท.กำลังทำอยู่ก็โอเคนะ ดอกเบี้ยประมาณ 3-4% .... (ความเสี่ยงต่ำมาก)
- กองทุนรวมตราสารทุน (หุ้น) ความเสี่ยงสูงขึ้นมามากหน่อย มีโอกาสที่เงินต้นจะขาดทุน แต่โอกาสที่ผลตอบแทนจะได้มาก ก็มีเช่นกัน (อาจจะได้ผลตอบแทนทั้งแต่ -10% ไปจนถึง 20%) .... แต่ในสภาพเศรษฐกิจช่วงนี้ ไม่ค่อยอยากแนะนำเลยแหะ
- กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ... ความเสี่ยงมากกว่า ผลตอบแทนประมาณ 6-9% ต่อปี .... ซื้อขายได้ต้องเปิดพอร์ตกับโบรกเกอร์ก่อน ความเสี่ยงขึ้นอยู่กับสภาพการเช่าในอสังหาริมทรัพย์ที่กองทุนดูแลอยู่
เรียงลำดับความเสี่ยงจากน้อย > มาก ง่ายๆ ก็น่าจะประมาณนี้
เงินฝาก,เงินฝากประจำ,ตั๋ว B/E,พันธบัตรรัฐบาล,สลากออมสิน > กองทุนรวมตลาดเงิน > หุ้นกู้ > กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ > กองทุนรวมผสมหุ้นและตราสารหนี้ > กองทุนหุ้น > ทอง > หุ้น > ตราสารอนุพันธ์ (Derivative, TFEX - Gold Future, AFET)
ข้อแนะนำ : ควรสมัครพวกวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคล เผื่อฉุกเฉินไว้ แบบที่ไม่เสียค่าธรรมเนียมรายปีก็มีเยอะนะ สมัครไว้แต่ไม่ต้องใช้จนกว่าจะเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้น เพราะดอกเบี้ยเล็กน้อย แลกกับเหตุการณ์ที่ต้องใช้เงินด่วนมันค่อนข้างคุ้ม
กองที่ 2 เผื่อตกงาน
ปกติตามวิธีวางแผนทางการเงินส่วนใหญ่ เค้าจะแนะนำให้เก็บเงินส่วนนี้ไว้ = ค่าใช้จ่ายต่อเดือน คูณ 3-6 เดือนน่ะนะ .... จำนวนที่ จขกท.บอกมาก็ค่อนข้างโอเค .... เราว่าเงินก้อนนี้เอาเป็นก้อนเดียวกับเงินที่ไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันไปก่อนก็ได้ (ในช่วงที่เก็บเงินใส่กองที่ 1 ... ถ้ามีอะไรก็มีเงินกองที่ 1 คอยซัพพอร์ตอยู่) แต่ถ้ากลัวว่าเห็นยอดเงินในบัญชีเยอะๆ แล้วรู้สึกอยากจะถอนมาใช้ ก็เปิดบัญชีไว้แบบไม่ต้องสมัคร ATM ไม่ต้องทำบัตรใดๆ ทั้งสิ้นไว้ .....
ข้อแนะนำ : ถ้าที่ทำงานมีการจ่ายประกันสังคม .... ถ้าตกงาน ไม่ว่าจะโดนไล่ออก หรือลาออกเอง ก็จะมีเงินจากกองทุนประกันสังคมคอย support ให้อีกส่วนนะ ประมาณ 90 วัน (สูงสุดวันละ 150฿) กรณีลาออก ... หรือให้ประมาณ 180 วัน (สูงสุดวันละ 250฿) กรณีโดนไล่ออก จึงยังไม่ต้องกังวลมากจนเกินไปนักสำหรับเงินก้อนนี้ อ่านข้อกำหนดได้ที่ ....
http://www.tahitech.com/WangNgan.htm
กองที่ 3 วางแผนรับเกษียณ
จขกท.นี่สุดยอดมากๆ ... น้อยคนนักที่จะวางแผนสำหรับการเกษียณตั้งแต่อายุแค่นี้ ขอชมเลย ^^
ตาม VDO การวางแผนรับเกษียณของ Money Channel เค้าบอกว่า การคำนวณเงินที่ต้องใช้หลังเกษียณ คิดจาก
= ค่าใช้จ่ายต่อเดือน x 70% x 12 x จำนวนปีที่เราคิดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณ
สมมติ ค่าใช้จ่ายต่อเดือน 10000 ละกันนะ ... สมมติจะมีชีวิตหลังเกษียณอีก 15 ปี (น้อยไปมะ ^^')
= 10000 x 70% x 12 x 15
= 1,260,000฿ (ไม่รวมค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ค่ารักษาพยาบาล, ค่าบันเทิง, ฯลฯ)
*ที่ต้อง x70% น่าจะเพราะหลังเกษียณ จะมีค่าใช้จ่ายบางตัวที่เราไม่ต้องจ่าย เช่น ค่าเดินทาง ฯลฯ
ช่องทางการลงทุน : ควรจะเป็นการลงทุนระยะยาวในสินทรัพย์หรือกองทุนเป็นระยะเวลา 10 ปีขึ้นไป .... ก็มีหลายอย่างนะ
- หุ้นของบริษัทที่เราคิดว่า ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า บริษัทจะมีการเติบโตอย่างมากจากปัจจุบัน เราจะได้กำไรทั้งจาก Capital Gain (ราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น) และจากเงินปันผล (อันนี้ต้องอาศัย skill ด้านการวิเคราะห์ธุรกิจนิดนึงนะ)
**ถ้าเป็นเรา เราจะเก็บหุ้นของบริษัทที่จ่ายปันผลในอัตราสูง และมีโอกาสเติบโตทางธุรกิจอีกมาก เก็บยาวๆ เป็นหลายๆ ปีเลย น่าจะคุ้มค่าเงินลงทุนที่สุดแล้ว (แนวทางการเล่นหุ้นแบบ VI)
- กองทุน RMF .... อันนี้น่าจะศึกษามาแล้ว ก็น่าสนใจ ส่วนกองไหนนั้น
- ทองคำแท่ง, โปรแกรมออมทอง (ออมเงินในทองเดือนละไม่กี่พัน ไปเรื่อยๆ แบบ DCA แล้วสุดท้ายก็ถอนออกเป็นทองคำไป) .... ตราบใดที่ทองยังคงเป็นที่รักษามูลค่าของเงินจากอัตราเงินเฟ้อ ... แม้ช่วงนี้จะดู bubble ไปบ้าง แต่ในอนาคตทองก็ยังเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในการลงทุนระยะยาว
- ที่ดิน, สินทรัพย์ที่มีค่าในตัวเองและยิ่งจะทวีค่าขึ้นในอนาคต (เช่น เงินเก่า, รูปภาพของศิลปิน, ฯลฯ) อันนี้ช่างมันไปก่อน
ส่วนจำนวนที่แบ่งออม ก็เป็น step ไปตามอายุก็ได้ ไม่ต้อง 2000 ไปตลอดหรอก ยิ่งแก่ รายได้ต้องยิ่งเยอะ
กองที่ 4 ประกันชีวิต
ส่วนตัว ทำประกันชีวิต แบบคุ้มครองตลอดชีวิตไว้อะ ทำตอนอายุน้อยๆ แล้วคุ้มครองไปตลอดชีวิต น่าจะคุ้มกว่าการไปทำประกันชีวิตตอนแก่ๆ เพราะเบี้ยจะแพงขึ้นตามอายุ .... ส่วนประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ เป็นอะไรที่เราไม่ไปแตะเลย เพราะคำนวณอัตราผลตอบแทนจริงๆ แล้ว สู้เงินฝากประจำยังไม่ได้เลย (คิดเฉลี่ยทีไร ก็ตกผลตอบแทนปีละ 2-3% ... แล้วเงิน 2-3% ในอีก 5-10 ปีข้างหน้ามันมีค่าที่ไหนละ - -*) แถมเงินยังหมดสภาพคล่องไปเป็นสิบๆ ปี เป็นอะไรที่ไม่คุ้มอย่างแรง
ข้อแนะนำ : ก็น่าจะเป็นแบบประกันชีวิตที่เน้นคุ้มครองชีวิตหลักๆ 1 กรมธรรม์ละ ที่เหลือถ้ามีเงินมากขึ้น ก็จะทำแบบอื่นๆ ไป ..... เงินกองนี้แค่เก็บกองที่ 1 ครบ ก็เริ่มหาๆ ได้แล้วล่ะ .... อายุ 25 เบี้ยคงไม่เท่าไหร่ต่อปี แล้วเห็นหลายที่ เบี้ยปีแรก ถ้าคุยดีๆ กับตัวแทน ขอเค้าลดเบี้ยได้นะ เพราะการส่งเบี้ยปีแรก ตัวแทนประกัน จะได้ค่าคอมมามากที่สุด ถ้าเค้าอยากได้ยอดเพิ่ม อาจจะยอมให้ส่วนลดเราได้บ้าง
แก้ไขเมื่อ 21 ก.ย. 54 01:49:22
แก้ไขเมื่อ 21 ก.ย. 54 01:46:21
แก้ไขเมื่อ 21 ก.ย. 54 01:32:47
แก้ไขเมื่อ 21 ก.ย. 54 01:21:17