|
แผนภูมิการเชื่อมโยงหนี้ระหว่างกันของ 5 ประเทศที่เศรษฐกิจสั่นคลอน กรีซ อิตาลี ไอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน โดยมีเจ้าหนี้รายใหญ่คือ เยอรมนี อังกฤษ และฝรั่งเศส ตัวเลขครึ่งปีแรกของปีนี้ กรีซมีหนี้ต่างประเทศ (ทั้งในส่วนของธนาคารและภาครัฐ) เพิ่มขึ้นเป็น 5.32 แสนล้านเหรียญสหรัฐ มีทุนสำรองอยู่เพียง 6.84 พันล้านเหรียญสหรัฐ (มีหนี้ต่างประเทศเป็น 77 เท่าของทุนสำรอง), อิตาลี มีหนี้ต่างประเทศรวม 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มีทุนสำรองอยู่เพียง 1.69 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (มีหนี้ต่างประเทศเป็น 13 เท่าของทุนสำรอง), สเปน มีหนี้ต่างประเทศรวม 1.89 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มีทุนสำรองอยู่เพียง 3.38 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (มีหนี้ต่างประเทศเป็น 55 เท่าของทุนสำรอง), โปรตุเกส มีหนี้ต่างประเทศรวม 4.98 แสนล้านเหรียญสหรัฐ มีทุนสำรองอยู่เพียง 2.22 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (มีหนี้ต่างประเทศเป็น 22 เท่าของทุนสำรอง) , ไอร์แลนด์ มีหนี้ต่างประเทศ 1.15 แสนล้านเหรียญสหรัฐ มีทุนสำรองอยู่เพียง 2.11 พันล้านเหรียญสหรัฐ (มีหนี้ต่างประเทศเป็น 54 เท่าของทุนสำรอง) รวมหนี้ต่างประเทศของ 5 ประเทศนี้คือ 5.235 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยที่ประเทศทั้ง 5 ประเทศเหล่านี้ มีหนี้ต่างประเทศมากกว่าทุนสำรองระหว่างประเทศหลายสิบเท่าตัว และเป็น 5 ประเทศที่ต่างขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนักทั้งสิ้น เปรียบเสมือนว่า 5 ประเทศนี้มีหนี้สินต่างประเทศมหาศาลมากกว่าสินทรัพย์ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ แล้วค้าขายต่างประเทศยังขาดทุนทุกปีอีกไม่รู้จะเอารายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศที่ไหนมาชำระหนี้ (สถานภาพคล้ายประเทศไทยก่อนปี 2540) แต่พอหันมาดู 3 ประเทศเจ้าหนี้รายใหญ่ของ 5 ประเทศเหล่านี้ก็มีปัญหาอยู่ไม่น้อยเช่นกัน โดย ฝรั่งเศส มีหนี้ต่างประเทศ 4.698 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่มีทุนสำรองระหว่างประเทศ 1.82 แสนล้านเหรียญ (มีหนี้ต่างประเทศเป็น 26 เท่าของทุนสำรอง) ส่วนอังกฤษหนักสุดมีหนี้ต่างประเทศ 8.98 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศเพียง 1.14 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (มีหนี้ต่างประเทศเป็น 79 เท่าของทุนสำรอง) และทั้ง 2 ประเทศนี้ก็ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนักทุกปีเช่นกัน ส่วนเยอรมนีดูฐานะดีกว่าเพื่อนในกลุ่มนี้ เป็นประเทศที่มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดปีละ 1.62 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และมีทองคำมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา โดยมีอยู่ประมาณ 3.4 พันตัน แต่ก็ยังมีหนี้ต่างประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนรวมสูงถึง 4.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีทุนสำรองระหว่างประเทศเพียง 2.31 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (มีหนี้ต่างประเทศเป็น 20 เท่าของทุนสำรอง) การล้มละลายของยุโรปครั้งนี้จึงย่อมต้องเกิดขึ้นแน่นอน เพียงแต่ว่าจะดิ่งลงแรงขนาดไหน ขึ้นอยู่กับ หนี้ระยะสั้น ของแต่ละประเทศนั้นถูกทวงคืนเร็วมากน้อยแค่ไหน และปรับโครงสร้างหนี้ยืดระยะยาวออกไปได้หรือไม่ เพราะยิ่งออกพันธบัตรกู้เงินตราต่างประเทศออกมามากในยามที่ทั่วโลกเห็นสภาพนี้แล้ว ถ้าไม่ถูกโก่งราคาอัตราดอกเบี้ยสูงอย่างหนักก็อาจจะหมดหนทางกู้ ผลก็คือการ ชักดาบ เบี้ยวหนี้ หรือบีบเจ้าหนี้ให้ ลด-ยืดหนี้ หรืออาจถึงขั้นไม่ชำระหนี้เอาดื้อๆ ซึ่งผลร้ายจะทำให้ธนาคารหลายแห่งโดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่นั้นได้รับผลกระทบลามเป็นลูกโซ่ไปเป็นจำนวนมาก และหากความเสียหายของสหรัฐอเมริกาและยุโรปเกิดขึ้น ก็ย่อมส่งผลลามไปถึงภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก เพราะถ้าเศรษฐกิจยุโรปและอเมริกาถดถอยกำลังซื้อหดตัวก็เท่ากับตลาดส่งออกของทั่วโลกย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย ไม่เว้นแม้แต่จีนและประเทศไทย การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารในยุโรปและอเมริกาในช่วงนี้ และการเข้าออกเร็วขึ้นของเฮดจ์ฟันด์จึงเป็นเพียง ยอดภูเขา ของน้ำแข็งที่เพิ่งเริ่มแสดงอาการออกมาเท่านั้น โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ระบุว่าทางรอดของธนาคารในยุโรปต้องเพิ่มทุนสูงถึง 4.6 แสนล้านยูโร (6.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ) นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ธนาคารหลายแห่งในยุโรปเรียกเงินคืนบางส่วนจากเฮดจ์ฟันด์เพื่อมาพยุงฐานะและเพิ่มทุนให้กับธนาคารในยุโรป ทั้งนี้ นางคริสตี ลาการ์ด กรรมการผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ยอมรับเมื่อการประชุมวันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554 ที่กรุงวอชิงตันว่า ศักยภาพการปล่อยกู้ของเราที่มีมูลค่าเกือบ 4 แสนล้านดอลลาร์เป็นตัวเลขที่พอดีสำหรับเศรษฐกิจทุกวันนี้ แต่อาจจะไม่พอหากเกิดวิกฤตการเงินรุนแรงในประเทศต่างๆ ที่มีความจำเป็นต้องกู้เงินจากไอเอ็มเอฟในเวลาเร่งด่วน แปลว่าหากมีเงินไม่พอก็มีโอกาสที่ไอเอ็มเอฟ อาจจะเทขายทองคำบางส่วนจากที่มีอยู่ 2,800 ตันออกมาได้อีก ประเทศไทยจึงต้องเตรียมตัวรับกับสภาพวิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างรู้เท่าทัน รัฐบาลควรต้องพิจารณาถึงการจัดการกับขบวนการสูบความมั่งคั่งของเฮดจ์ฟันด์ และควรสร้างเสริมอุปนิสัยให้กับคนไทยรู้จักการออมและการประหยัดใช้เงินอย่างมีเหตุผล และใช้จ่ายอย่างระมัดระวังเพื่อเตรียมเงินสำรองเอาไว้รองรับวิกฤตที่กำลังจะมาถึง ไม่ใช่เน้นแต่ส่งเสริมกระตุ้นให้ประชาชนสร้างหนี้เร่งใช้จ่ายเพื่อหวังการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวเพื่อ ใช้เป็นตัวเลข ที่จะได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้ขาดดุลกันได้มากขึ้น ท่ามกลางเศรษฐกิจทุนนิยมสุดขั้วกำลังทำร้ายและทำลายตัวเองอยู่ในขณะนี้ ปรากฏการณ์นี้ยิ่งเป็นการยืนยันในพระอัจฉริยภาพอีกครั้งหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงพระราชทานปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะทำให้ผู้นำไปปฏิบัตินั้นสามารถอยู่รอดได้ในยามวิกฤต
เครดิต : http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000122856
โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
********กลัวจัง ******** "การลงทุน(ช่วงนี้)มีความเสี่ยง(มากๆๆ) โปรดใช้วิจารณญาณ ในการลงทุน ทุกๆ ครั้ง"
จากคุณ |
:
Ms_Lamoo
|
เขียนเมื่อ |
:
30 ก.ย. 54 17:07:13
|
|
|
|
|