Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
กรมสรรพากร เสนอให้ยกเลิก สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับกองทุน LTF RMF ติดต่อทีมงาน

จ่อเลิกสิทธิลดหย่อนภาษี คลังพบพิรุธสั่งรื้อโครงสร้างอุดช่องเอื้อคนรวย

คลังจ่อเลิกสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เผยกองทุน LTF-RMF-กรมธรรม์ประกันชีวิต โดนหมด หลังพบโครงสร้างภาษีปัจจุบันเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มคนมีตังค์มากเกินไป ระบุให้เหลือไว้เพียงสิทธิลดหย่อนที่จำเป็นเท่านั้น พร้อมเล็งขยับฐานเงินได้สุทธิไม่ต้องเสียภาษี จากปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 1.5 แสนบาทต่อปี

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการประชุมหารือร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างภาษีทั้งระบบนั้น ในที่ประชุมฯ มีข้อเสนอและแนวคิดจากหลายๆ ฝ่ายมากมาย

โดยในเบื้องต้นเรื่องของโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งมีการระบุว่าที่ผ่านมากรมสรรพากรให้สิทธิในการลดหย่อนภาษีมากเกินไป โดยมีทั้งสิ้นกว่า 20 รายการ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิการหักลดหย่อนจากซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 5 แสนบาท หรือไม่เกิน 15% ของรายได้ รวมไปถึงสิทธิการหักลดหย่อนจากการซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิต เป็นต้น

ทั้งนี้ สิทธิการหักลดหย่อนต่างๆ ดังกล่าว ส่วนใหญ่แล้วจะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มคนที่มีรายได้สูง หรือกลุ่มคนรวยมากกว่ากลุ่มคนระดับปานกลาง และคนที่มีรายได้น้อย
ดังนั้น ที่ประชุมฯ จึงเห็นว่าโครงสร้างภาษีที่มีสิทธิการหักลดหย่อนต่างๆ มากมาย ถือเป็นโครงสร้างที่รองรับกลุ่มคนมีตังค์เท่านั้น จึงมีแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเสียใหม่ เพื่อทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในทุกกลุ่มคนในสังคม

อย่างไรก็ตาม ทางกรมสรรพากรเสนอแนวทางในที่ประชุมฯ ว่า ควรที่จะยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์ในการหักลดหย่อนทั้งหมด โดยให้คงเอาไว้เฉพาะสิทธิการหักลดหย่อนที่จำเป็นและติดตัวแต่ละบุคคลมาเท่านั้น เช่น สิทธิการนำบุตรมาหักค่าลดหย่อนได้ 15,000 บาท, สิทธิการให้สามีนำภรรยาที่ไม่ได้ทำงานมาหักลดหย่อนได้ 30,000 บาท, สิทธิการนำรายจ่ายส่วนตัวมาหักค่าลดหย่อนได้ 60,000 บาท และสิทธิการลดหย่อนส่วนตัวได้อีก 30,000 บาท เป็นต้น

ขณะที่สิทธิการหักลดหย่อนประเภทการซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิต, การซื้อกองทุน LTF และ RMF และอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น ก็ให้ยกเลิกทั้งหมด

“ในส่วนของโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ปัจจุบันให้สิทธิในการหักลดหย่อนภาษีมากถึง 20 กว่ารายการนั้น ที่ประชุมฯ เห็นว่าถือเป็นโครงสร้างที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มคนรวยที่มีความสามารถในการซื้อมากๆ เพื่อนำมาหักลดหย่อน ขณะที่กลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลาง และคนที่มีรายได้น้อยนั้น จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวเลย
กรมสรรพากรเสนอว่า ควรที่จะยกเลิกสิทธิการหักลดหย่อนทั้งหมด ให้เหลือเอาไว้เพียงสิทธิที่จำเป็นและติดต่อมาเท่านั้น เช่น การหักลดหย่อนภรรยา บุตร บิดามารดา ค่าใช้จ่ายส่วนตัวต่างๆ เป็นต้น เพื่อทำให้เกิดความเท่าเทียมและได้สิทธิประโยชน์ที่เท่ากัน” แหล่งข่าว กล่าว

แหล่งข่าว กล่าวว่า เมื่อมีการยกเว้นสิทธิในการหักลดหย่อนต่างๆ แล้ว จะดำเนินการขยับฐานรายได้สุทธิที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากปัจจุบันผู้ที่มีรายได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ตั้งแต่ 0-1.5 แสนบาทต่อปี จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำรายได้สุทธิมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ทั้งนี้ เพื่อทำให้คนทุกกลุ่มได้สิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน นอกจากนั้น ที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้ทางกรมสรรพากรดำเนินการศึกษารายละเอียดของสิทธิการหักค่าลดหย่อนของประเทศอื่นๆ ในโลกด้วยว่ามีอะไรบ้าง เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับของไทย

“หากเราเพิ่มฐานเงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว จากปัจจุบัน 1.5 แสนบาทต่อปี ให้สูงขึ้น เช่น อาจจะกำหนดให้ผู้ที่มีรายได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 0-2 แสนบาทต่อปี ไม่ต้องเสียภาษี เป็นต้น มั่นใจว่าคนที่มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อยจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา
โดยทางกรมสรรพากรยืนยันว่าวิธีการดังกล่าวสามารถทำได้ไม่ยุ่งยาก และจะทำให้คนได้สิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียมกันด้วย” แหล่งข่าว กล่าว

แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า ขณะที่เรื่องของการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอนั้น นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการปรับขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ ขณะที่การจัดเก็บภาษีจากรถยนต์หรูราคาแพงนั้น ที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้กรมสรรพากรกลับไปดำเนินการศึกษาและจัดทำรายละเอียดว่าจะมีลักษณะอย่างไร

จากคุณ : anitjung
เขียนเมื่อ : 5 ต.ค. 54 21:36:38




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com